จากทรรศนะแบบแยกย่อย สู่ทรรศนะแบบองค์รวม

พวกนักวิเคราะห์ที่พูดถึงข้างต้น ได้มองพบปัญหาเหล่านี้และเอามาพิจารณาทบทวนแล้วก็มองเห็นว่า เรื่องความชำนาญพิเศษแต่ละด้าน หรือความเจริญทางวิชาการที่แต่ละด้านแยกออกไป แล้วก็พยายามที่จะพัฒนาตัวเองให้มากที่สุด ให้เจริญที่สุดเป็นเส้นตรงออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้มาจากทรรศนะแบบที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นชิ้นส่วน เขามีศัพท์เรียกว่าเป็น ทรรศนะแบบชิ้นส่วน หรือ fragmentarist view หรือจะเรียกว่าเป็น ทรรศนะแบบแยกย่อยหรือแบ่งซอย (reductionistic view) นักวิเคราะห์พวกนี้บอกว่า ทรรศนะแบบนี้เป็นตัวสาเหตุสำคัญของการพัฒนาความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน และเป็นลักษณะพิเศษของยุคอุตสาหกรรม ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดทรรศนะแบบนี้ ซึ่งทำให้คนไม่มองสิ่งทั้งหลายอย่างมีความสัมพันธ์กัน มุ่งแต่ความเจริญเฉพาะด้าน ๆ เสร็จแล้วมันจะเป็นปัญหาอย่างไร มันเป็นปัญหาก็เพราะว่ามันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ความเป็นจริงก็คือว่า สิ่งทั้งหลายทุก ๆ อย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน

 

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าในชีวิตของเราก็ตาม ในโลกหรือในจักรวาลทั้งหมดก็ตาม ล้วนมีความสัมพันธ์อิงอาศัยกันทั้งนั้น อวัยวะของเราแต่ละอย่างไม่ใช่ว่ามันอยู่โดยลำพัง และเจริญโดยลำพังตัวมันเองอย่างเดียว แต่มันต้องมีความสัมพันธ์ทำงานประสานกันกับอวัยวะอื่น ๆ มันจึงจะทำงานอยู่ด้วยดีและเจริญต่อไปได้ และร่างกายทั้งหมดจึงจะเจริญเติบโต เมื่อร่างกายส่วนรวมเจริญเติบโตหรืออยู่ในสภาพกลมกลืนเป็นปกติ อวัยวะแต่ละชิ้นแต่ละส่วนนั้นก็จึงจะอยู่ด้วยดีได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในกระบวนการของชีวิตก็ตาม ในโลกหรือในจักรวาลก็ตาม วิปริตไปสักส่วนหนึ่งแล้วก็จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งอื่น แล้วปัญหาก็จะเกิดขึ้นแล้วผลกระทบนั้นก็จะสะท้อนกลับมาถึงสิ่งนั้นด้วยเหมือนกัน

ในเรื่องการแพทย์ก็อย่างที่ว่าแล้ว เรามองโรคที่อวัยวะนั้นว่าเกิดความวิปริต แต่บางทีความวิปริตของอวัยวะนั้นไม่ได้เกิดที่ร่างกาย จากโรคทางกายที่มองเห็นอย่างเดียว ในระยะที่ไม่นานนักนี้แพทย์ได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตว่า จิตใจนั้นก็มีอิทธิพลต่อเรื่องโรคภัยไข้เจ็บมาก โรคหลายอย่างที่เราเห็นว่าปรากฏขึ้นทางร่างกายนั้น ความจริงมันมีสาเหตุมาจากจิตใจ แม้แต่มะเร็ง สมัยนี้ก็มีจำนวนของผู้ที่คิดค้นคว้าไม่น้อยเหมือนกันที่เห็นว่ามาจากเรื่องจิตใจ เช่นความเครียดเป็นต้น ก็เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลขึ้นในระบบของร่างกาย ทำให้เกิดความบกพร่องย่อหย่อนของระบบต้านทานของร่างกาย แล้วก็ทำให้เกิดเซลล์ที่ผิดปกติเพิ่มมากขึ้นเป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของอิทธิพลทางจิตใจ และที่เราเห็นกันง่าย ๆ ก็คือว่าความเครียดนี้อาจจะทำให้เราเป็นโรคเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย ๆ หรือว่าอาการปวดศีรษะที่หาสาเหตุไม่ได้ก็อาจจะเกิดจากปัญหาทางจิตใจดังนี้เป็นต้น แพทย์ก็จึงเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจมากขึ้น

ทรรศนะที่มองสิ่งทั้งหลายแบบภาพรวมนี้กำลังเจริญแพร่ขยายมากขึ้น เช่นอย่างในเรื่องนี้ ตอนแรกก็มองเห็นในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต ต่อมาก็เห็นกว้างขึ้นไปอีกว่าปัญหาที่เกิดกับจิตนี้บางทีก็มาจากสังคม เมื่อสืบดูว่าทำไมคนนั้นจึงมีความเครียด ก็พบว่าเขามีความเครียดเพราะลักษณะของการดำเนินชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม ความเป็นไปในสังคมปัจจุบันนี้ เช่นความเป็นอยู่และระบบงานเป็นต้น อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเครียดขึ้นในบุคคล ตกลงว่าความเครียดนั้นอาจจะเกิดจากปัญหาทางสังคม ส่วนปัญหาทางสังคมนั้น เมื่อสืบต่อไปบางทีก็สัมพันธ์กับปัญหาสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่นว่าเราอยู่ในสังคมกรุงเทพฯ นี้ เมื่อเดินทางไปในท้องถนนรถติดมากก็ทำให้กลุ้มใจ ทำให้ขัดเคืองทำให้หงุดหงิดอะไรต่าง ๆ พอไปถึงที่ทำงานอารมณ์ค้างที่ติดมาก็พลอยทำให้เกิดปัญหากับผู้ร่วมงานด้วย ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานเครียด และจิตใจของแต่ละคนก็เลยเครียดไปหมดเป็นต้น นี่ก็เป็นปัญหาทางจิตที่มาจากสภาพแวดล้อมซึ่งไปสัมพันธ์กับปัญหาทางสังคมเข้าอีก หรือแม้แต่ตัวโรคร้ายนั้นเองก็อาจจะมาจากปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมโดยตรง เช่นว่าสภาพแวดล้อมเสีย สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อาหารมีสารเคมีผสมมาก ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งขึ้นได้ ผลที่สุดก็คือว่าสิ่งทั้งหลายมันสัมพันธ์กันไปหมด

 

เพราะฉะนั้นการเกิดโรคที่อวัยวะอย่างหนึ่ง เมื่อสืบค้นลงไปแล้วก็มีความสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นเรื่องของวิชาแพทยศาสตร์ที่เรียนมาเฉพาะด้านโดยตรงเท่านั้น เมื่อพิจารณาในแง่การรักษาพยาบาลก็เช่นเดียวกัน มองในมุมกลับเมื่อจะรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บสักอย่างหนึ่ง องค์ประกอบทางด้านจิตใจก็มีอิทธิพล ซึ่งอาจจะมาช่วยให้การรักษาโรคได้ผลดี หรืออาจจะทำให้รักษาไม่ได้ผล หรือทำให้อาการโรคทรุดลงไป สภาพแวดล้อมก็มีผล องค์ประกอบทางสังคมก็มีผล เพราะฉะนั้นผู้มีทรรศนะแบบนี้จึงเห็นว่าการแพทย์นี้จะต้องเปลี่ยนไป เราจะต้องมองสิ่งทั้งหลายแบบภาพรวมของความสัมพันธ์ วิชาการแพทย์จะต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่ โดยมองว่าจะต้องรักษาคนโดยการรักษาคนทั้งคน ทั้งร่างกายและจิตใจ และโดยสัมพันธ์กับสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องทุกอย่างทั้งองค์ประกอบทางสังคม และองค์ประกอบทางสภาพแวดล้อมหรือนิเวศวิทยาด้วย อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง

ทางด้านเศรษฐกิจก็เหมือนกัน เห็นได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจนี้จะพัฒนาไปแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้และไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อพัฒนาไปแล้วมันก็มีผลต่อสภาพแวดล้อมด้วย เช่นอาจจะทำให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเสียเป็นพิษ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจมาก เมื่อเกิดปัญหาทางสภาพแวดล้อมแล้วคนก็อยู่ไม่ดี เมื่อคนอยู่ไม่ดีก็อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพขึ้นมาแล้วก็เกิดเป็นผลกระทบต่อสังคม เพราะคนนี้ไม่มีสมรรถภาพหรือเกิดปัญหาแก่ตัวบุคคลแล้วสังคมก็พลอยได้รับปัญหาไปด้วย แล้วผลก็ย้อนกลับมากระทบเศรษฐกิจเป็นปัญหาเศรษฐกิจขึ้นมาอีก เพราะคนที่สุขภาพไม่ดีก็ทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจลดน้อยลง ในเวลาเดียวกันก็ต้องใช้จ่ายเงินทองมากมาย ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคน แล้วก็ต้องลงทุนใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษนั้นอีกด้วย พันกันไปหลายชั้นหลายทอด เพราะฉะนั้นทางเศรษฐศาสตร์ก็เหมือนกัน จะต้องมีทรรศนะที่กว้างขึ้นไม่มองเฉพาะสายวิชาของตัวอย่างเดียว การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจะต้องประมวลโยงไปถึงปัญหาทางด้านอื่น ๆ และจะต้องนำเข้ามาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาโยงถึงกันทุกด้าน

 

แม้ในด้านการศึกษาก็เช่นเดียวกัน อันนี้เข้ามาถึงเรื่องที่จะพูดโดยตรง ถ้าหากว่าการศึกษาไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบทั้งหมดทุกด้านอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาอย่างแน่นอน เช่นวิชาการที่เชี่ยวชาญอย่างโดดเดี่ยวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กลับกลายเป็นก่อโทษแก่สังคม ซึ่งอาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ บางทีเจตนาดีแต่ไม่เข้าใจปัญหาทางสังคม ก็อาจจะใช้วิชาการไปในทางที่ทำให้เกิดโทษแก่สังคมได้ เป็นโทษแก่สภาพแวดล้อมได้ เกิดความเสื่อมโทรมของคุณภาพชีวิต เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็มีทรรศนะว่าการพัฒนาคนจะต้องพัฒนาคนขึ้นมาทั้งคน และไม่ใช่เฉพาะตัวคนเท่านั้นจะต้องมองดูสิ่งที่เกี่ยวข้อง คือองค์ประกอบทางสังคมตลอดจนสภาพแวดล้อมด้วย

รวมความก็เป็นอันว่าที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างของปัญหาของมนุษย์ในโลกปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราแยกออกไปแล้วก็มีปัญหาของมนุษย์ ปัญหาของสังคม แล้วก็ปัญหาของสภาพแวดล้อม

ในด้านตัวมนุษย์เองก็แบ่งได้เป็นกายกับใจ ทางด้านกายนั้นโรคทางกายก็ยังมีอยู่ แม้ว่าเราจะมีความสามารถในการรักษาโรคได้มากขึ้น อย่างชนิดที่ว่าโบราณทำไม่ได้เลยอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้นี้ เช่นการผ่าตัดรักษาโรคต่าง ๆ ได้ผลชะงัดเด็ดขาด นับว่าเราได้ก้าวหน้าไปมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็มีโรคภัยไข้เจ็บอย่างใหม่ ๆ เกิดขึ้น และโรคเก่าก็พัฒนาตัวของมันให้มาสู้กับแพทย์ปัจจุบันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะก็มีโรคใหม่ ๆ ที่เกิดจากความแปรปรวนของจิตใจ โรคที่มาจากปัญหาทางสังคม และโรคที่เกิดจากปัญหานิเวศวิทยา โรคประเภทนี้กลับมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่าการแพทย์กำลังจะเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บไม่สำเร็จ หรือว่าจะล่าถอยอันนี้ก็เป็นด้านกาย

 

ทีนี้ด้านจิตใจ มนุษย์ก็มีปัญหามากขึ้น มีความอ้างว้างว้าเหว่ความรู้สึกแปลกแยก ความเครียด ความกระวนกระวายอะไรพวกนี้ จนกระทั่งเป็นโรคจิตกันมากขึ้น ซึ่งถือกันว่าเป็นสภาพของสังคมที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะเห็นว่าปัญหาทางจิตใจมากขึ้น คนเป็นโรคจิตมากขึ้น ฆ่าตัวตายมากขึ้น

ต่อไปก็ด้านสังคม สังคมก็มีการแข่งขันแย่งชิงมีความไม่ยุติธรรม การว่างงาน อาชญากรรมมากขึ้น การติดยาเสพติด พฤติกรรมเบี่ยงเบนต่าง ๆ ความรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนกระทั่งความขัดแย้งในระดับกว้างออกไปเป็นสงคราม ทั้งสงครามในประเทศและสงครามระหว่างประเทศ ตลอดกระทั่งสงครามที่คนหวาดกลัวที่สุดในประเทศที่เจริญแล้ว ก็คือหวาดกลัวสงครามนิวเคลียร์ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าสังคมเจริญขึ้น อารยธรรมเจริญขึ้น แต่เราก็ต้องแก้ปัญหากันไม่รู้จักจบสิ้น แล้วปัญหาบางอย่างก็รุนแรงมากขึ้น

จากนั้นก็มาถึงข้อสำคัญที่สุดซึ่งไม่เคยเป็นปัญหามาก่อนเลย แต่กลับมาเป็นปัญหามากในยุคปัจจุบัน ก็คือปัญหาสภาพแวดล้อมที่ปัจจุบันนี้มาบัญญัติศัพท์ใช้ว่านิเวศวิทยา คือสภาพแวดล้อมปัจจุบันนี้มีความเสื่อมโทรมมาก สภาพแวดล้อมเป็นพิษ เกิดความร่อยหรอของทรัพยากร เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่ห่วงใยต่ออารยธรรมของมนุษยชาติก็หวั่นเกรงว่า สิ่งเหล่านี้จะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศย่อยยับในที่สุด หรือว่าสูญพันธุ์อย่างที่กล่าวมาแล้ว

เป็นอันว่าปัญหาของมนุษย์ในปัจจุบันนี้มันร้ายแรงขึ้น แล้วก็มีปัญหาใหม่ ๆ ฉะนั้นเราก็จะต้องมาคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อมองในทรรศนะใหม่นี้ก็ถือว่าเรื่องทั้งหมดนั้นมีจุดเน้นอยู่ที่ว่า จะต้องมองปัญหาทั้งหมดนี้ว่ามันเป็นเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงกันทั้งหมด เรามองมนุษย์จะแยกจากสังคมไม่ได้ สังคมจะแยกจากนิเวศวิทยาไม่ได้ มนุษย์ก็จะแยกจากนิเวศวิทยาไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะต้องมองเป็นองค์รวม ที่มีส่วนประกอบเชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกันทั้งหมด

 

เป็นอันว่าคนที่มีความห่วงใยในอารยธรรมก็มีความคิดอย่างนี้แล้ว และปัจจุบันนี้ก็เริ่มยอมรับกันว่าผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ในสายวิชาของตนกำลังหมดความสามารถ หมดประสิทธิภาพลงไปทุกที ๆ จากการแก้ปัญหาในสายวิชาของตนเอง หมายความว่าถ้าเป็นอย่างนี้ แพทย์ซึ่งมีความก้าวหน้าชำนาญมากในวิชาการแพทย์ ก็กำลังแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเป็นความชำนาญพิเศษของตนไม่ได้ นักการศึกษาก็กำลังแก้ปัญหาการศึกษาซึ่งตนชำนาญพิเศษไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญก็กำลังแก้ปัญหาในด้านเศรษฐกิจไม่ได้

เมื่อผู้ชำนาญในสายของตนซึ่งเจริญมาจนอย่างยิ่งแล้ว มาถึงยุคที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในสายของตนได้ มันก็เป็นการสิ้นสุดอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นการสิ้นสุดของยุคอุตสาหกรรม เพราะยุคอุตสาหกรรมเป็นยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ในเมื่อชำนาญพิเศษถึงที่สุดเขาคิดว่าจะต้องแก้ไขปัญหาได้จบสิ้น แต่มันกลับมาถึงจุดอับจนที่ว่าเมื่อเจริญด้านอุตสาหกรรมถึงที่สุด วิชาการสายของตนเจริญถึงที่สุดแล้ว กลับมีปัญหาวกกลับไปย้อนต้นว่าไม่สามารถแก้ปัญหาในสายวิชาของตนได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความตื่นตัวกันมาก แล้วก็ทำให้ทรรศนะแบบที่เรียกว่ามองสิ่งทั้งหลายเป็นภาพรวมนี้ กำลังได้รับความสนใจเจริญขึ้น ทรรศนะแบบองค์รวม นี้เขาเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า holism หรือ holistic view ตรงกันข้ามกับทรรศนะแบบแยกย่อย หรือความคิดแบบแบ่งซอยที่เรียกว่า reductionism หรือ reductionistic view

 

พวกที่นิยมคือมีทรรศนะที่มองแบบภาพรวมนี้ ก็หันไปโจมตี ทรรศนะแบบแบ่งซอย
หรือ ทรรศนะแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ว่าพฤติกรรมและความเจริญในแบบนั้นนี่แหละ เป็นตัวสาเหตุที่ทำให้มนุษยชาติกำลังประสบปัญหาในปัจจุบัน ถึงกับจะย่อยยับไป และจากการที่มีทรรศนะแบบองค์รวมนี้กันมาก บางคนก็เลยถึงกับว่าจะกลับไปมีชีวิตแบบเก่า ไม่เอาแล้วเลิกกันทีความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการแบบเป็นเส้นตรงออกไปแต่ละสาย ๆ นี้ ขอเลิกเสียเลย ซึ่งอาตมภาพคิดว่าเป็นทรรศนะที่เอียงสุด

 

มนุษย์เรานี้มักจะมีความโน้มเอียงที่จะไปสุดทาง พอไปด้านหนึ่งแล้วก็มุ่งไปอย่างเดียว จะไปให้ถึงที่สุด แต่พอเห็นว่าไม่ใช่ไม่ถูกก็ทิ้ง เกิดปฏิกิริยาแล้วก็ไปที่สุดอีกด้านหนึ่งที่ตรงกันข้าม อันนี้น่าจะต้องระวังว่าเราอาจจะมาสู่สภาพเอียงสุดอีกครั้งหนึ่ง พอเห็นว่าทรรศนะแบบแบ่งซอยชำนาญพิเศษเฉพาะด้านของยุคอุตสาหกรรมนี้มีปัญหา ก็เลยหันกลับจะไปในทางตรงข้ามคือจะไปแบบสมัยเก่า ที่ว่าไม่ต้องมีความเจริญอะไรเลย ซึ่งเราจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้กำลังมีคนหันมานิยมแบบนั้นมากขึ้น และอันนี้จะเกี่ยวข้องกับการแบ่งขั้นตอนของความเจริญ หรือวิวัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์

 


Back