บทที่
ปัญหาของพัฒนาการ


ความเจริญแบบยุคอุตสาหกรรม และความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน

 

        เรามาอยู่ในที่นี้ และปัจจุบันนี้เรียกว่าอยู่ในยุคสมัยที่มีพัฒนาการเป็นอย่างมาก คำว่า
พัฒนาการนี้ แปลว่าอาการแห่งความเจริญ อาการแห่งความเจริญนี้เป็นที่ปรากฏทั่วไป
ทุกคนก็ยอมรับกันว่าในสมัยปัจจุบันนี้ โลกมีความเจริญอย่างมากมายแล้วก็เจริญอย่างรวดเร็วมากด้วย ชีวิตมนุษย์นั้นมีความสะดวกสบายเป็นอย่างยิ่ง อย่างเรามานั่งกันอยู่ในที่ประชุมนี้ ปาฐกถานี้ก็จัดขึ้นในห้องประชุมที่มีเครื่องปรับอากาศอย่างดี อากาศข้างนอกร้อน ๆ เรามาอยู่ข้างในก็เย็น เรียกว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง จัดสรรค์แก้ไขเอาชนะธรรมชาติ แทนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานกับความร้อน เราก็มาอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย จัดกิจกรรมกันได้โดยสะดวก ในด้านเสียง แม้เป็นที่ประชุมใหญ่ก็มีระบบเสียง มีเครื่องขยายเสียงมาช่วยทำให้ได้ยินกันทั่วอย่างชัดเจน

        สิ่งที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน ที่ว่าชีวิตมีความสะดวกสบายนั้นมีมากมายเหลือเกิน อย่างเราจะเดินทางไปเชียงใหม่ปัจจุบันนี้ก็ใช้เวลานิดเดียวไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งสมัยก่อนนี้แม้แต่เป็นพระเจ้าแผ่นดินยาตราทัพไปกว่าจะถึงเชียงใหม่ก็เป็นเดือน ๆ ในทางการแพทย์ ถ้าหากว่าเรามีอายุมากขึ้นเรียกว่าเป็นคนแก่ ฟันก็อาจจะหักไปจนกระทั่งหมดปาก ถ้าเป็นสมัยก่อนเราก็จะต้องยอมรับสภาพ คือต้องทนทุกข์ อาจจะต้องเคี้ยวอาหารด้วยเหงือก แล้วก็จะต้องพูดไม่สะดวก พูดไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้เราก็สามารถทำฟันเอามาใส่เป็นเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป หรือพอจะเทียบกับคนที่ยังหนุ่มยังสาวได้ แม้ว่าตาอาจจะเกิดอุบัติเหตุสูญเสียไป เราก็อาจจะแก้ไขเอามาใส่เปลี่ยนใหม่ได้ หรือว่าหัวใจของเราบางทีลิ้นหัวใจอาจจะเสีย หรือเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจอาจจะตีบอะไรต่าง ๆ ก็ผ่าตัดแก้ไขได้ สมองมีก้อนเนื้องอก ก็ผ่าตัดเอาออกทำให้รอดชีวิตไปได้ ซึ่งในสมัยก่อนสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้เลย นี่ก็แสดงว่าโลกปัจจุบันนี้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ความเจริญความสะดวกสบายอย่างนี้พรรณนาไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเรายอมรับความเจริญและเราเห็นความสะดวกสบายอย่างนี้ เราก็ต้องยอมรับประโยชน์ของวิทยาการที่มีความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

        อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าคนจำนวนไม่น้อยในประเทศที่เจริญ โดยเฉพาะคนที่เจริญหรือคนที่เป็นระดับหัวคิดหัวสมองในประเทศที่เจริญแล้ว กลับไม่ค่อยชื่นชมความเจริญเหล่านี้ ไม่ค่อยมองเห็นคุณค่าเท่าไร และมีไม่น้อยที่กลับหันมาหวาดกลัว เห็นความเจริญเหล่านี้เป็นเรื่องของปัญหา และรู้สึกว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเสียด้วย มีความหวาดกลัวกันว่าสภาพความเจริญอย่างนี้ที่จะมีต่อไป ที่จะเดินหน้าไปนี้อาจจะนำโลกไปสู่ความพังทลายแตกสลาย และมนุษย์อาจจะต้องถึงกับสูญสิ้นพันธุ์ก็ได้ คนเหล่านี้จึงกลับมาพิจารณาทบทวนปัญหาที่มากับความเจริญที่กล่าวข้างต้นว่ามันเป็นอย่างไร เพราะเหตุไรมันจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้น

 

        ว่าถึงความเจริญอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ เราพูดได้ว่ามันมากับอุตสาหกรรม แล้ว
ก็มากับวิทยาการ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยที่ว่าวิทยาการ ระบบการ
สถาบัน อุปกรณ์ต่าง ๆ นี้ ได้รับการพัฒนาก้าวหน้าในแต่ละด้านละเอียดลงไป ละเอียดลงไปจนกระทั่งว่าคนนี้มีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้าน ๆ มากขึ้น เมื่อแต่ละด้าน ๆ ซอยออกไป ๆ ต่างก็มีความเจริญก้าวหน้า มีความรู้เชี่ยวชาญสามารถสร้างสรรค์ความเจริญในด้านของตนกระจายออกไป ๆ แล้วเอาความเจริญด้านต่าง ๆ เหล่านั้นมารวมกันเข้าทั้งหมด ก็กลายเป็นความเจริญก้าวหน้าอย่างมโหฬารอย่างที่มองเห็นนี้ และเมื่อเจริญอย่างนี้มันก็น่าจะดีแล้ว การที่วิตกกันว่ามันจะเป็นปัญหาถึงขนาดที่ว่ามนุษยชาติอาจจะสูญสิ้นพันธุ์ไปนี้ มันจะเป็นปัญหาขึ้นได้อย่างไร ทีนี้ถ้าเราประมวลความคิดของคนที่มองเรื่องนี้เป็นปัญหา ก็จะเห็นว่าเขามองเห็นสาเหตุอยู่ ๒ ประการ ซึ่งสาเหตุ ๒ อย่างนี้มีความสัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน คือ

 

ประการที่หนึ่ง

เขาเห็นว่าวิทยาการและระบบการต่าง ๆ เป็นต้น ที่เจริญนั้น เป็นการ
เจริญออกไปเรื่อย ๆ โดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์เดิมที่จะให้เกิดคุณค่า
แก่มนุษย์ ไม่คำนึงถึงตัวประโยชน์สุขแก่ชีวิตของมนุษย์ที่แท้จริง คือมุ่ง
ให้วิทยาการ ให้ระบบการอะไรต่าง ๆ ในสายของตนนั้นเจริญต่อไป ๆ เป็นเส้นตรงให้มากที่สุดของมันเท่าที่จะทำได้ จนกระทั่งว่าไป ๆ มา ๆ แล้วคำนึงถึงแต่ความเจริญ เพื่อความเจริญในสายวิชา หรือวิทยาการของตนนั้น จนไม่คำนึงว่ามนุษย์จะเป็นอย่างไร

ประการที่สอง

ความเจริญของวิทยาการและระบบต่าง ๆ เหล่านั้น มีความคับแคบอยู่กับด้านที่ตนชำนาญพิเศษแต่ละอย่าง ๆ โดยที่แต่ละด้านแต่ละสายทั้งหมดเหล่านั้น ไม่มาประสานกลมกลืนกัน ไม่เชื่อมโยงกัน เมื่อไม่มาเชื่อมโยงกันก็ไม่เกิดความพอดี ไม่เกิดสมดุล เมื่อเสียสมดุลแล้วก็อาจจะเกิดผลเสียอย่างที่กล่าวมาข้างต้น กลับมาเป็นผลร้ายในข้อที่ว่าความเจริญเหล่านั้นเกิดมาขัดแย้งกัน ทำให้เกิดผลเสียและก่อโทษมหาศาล

 

        ยกตัวอย่างเช่นวิชาการแพทย์ ปัจจุบันนี้ได้มีความเจริญเป็นอย่างยิ่งแล้ว และแพทย์ก็มีความชำนาญเฉพาะด้าน ๆ ของตน มีแพทย์ผู้ชำนาญพิเศษทางด้านสมอง ทางด้านหัวใจ ทางด้านหู ทางด้านตา ทางด้านไต ทางด้านอะไรต่าง ๆ ซึ่งนับวันแต่จะมีความเจริญแบบจำเพาะด้าน จำเพาะสายละเอียดลงไป ซอยลงไปทุกที ๆ ซึ่งความเจริญแบบนี้บางทีเจริญไปเจริญมา แพทย์มีความรู้สึกที่จำกัดอยู่กับสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องและชำนาญนั้น จนเห็นคนเหมือนกับเป็นเครื่องยนต์ แล้วตนก็ทำงานอยู่กับชิ้นส่วนของเครื่องยนต์นั้นอย่างหนึ่งอย่างเดียวด้วยความชำนาญ พยายามจะรักษาแต่ส่วนนั้นให้สำเร็จ จนกระทั่งเราพูดว่าเป็นการรักษาโรค หรือรักษาตา รักษาหู เป็นต้นไม่ได้รักษาคน เดี๋ยวนี้เขาพูดกันว่าอย่างนั้น

        ทีนี้เมื่อแพทย์รักษาชิ้นส่วนของร่างกาย รักษาอวัยวะไม่ได้รักษาคน บางทีก็เลยลืมนึกถึงความเป็นคน ความสัมพันธ์กับคนก็ไม่มี นอกจากนั้นแล้วก็ยังไม่คำนึงถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนอีก ด้านที่หนึ่งคือการรักษาโรคของแพทย์ส่วนมากจะเป็นการรักษาร่างกาย รักษาอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คนนั้นประกอบด้วยกายกับใจ เมื่อแพทย์ไม่คำนึงถึงความเป็นคน รักษาแต่เฉพาะอวัยวะนั้นก็ไม่คำนึงถึงจิตใจของคนไข้ นี้เรียกว่าขาดความสำนึกในความเป็นมนุษย์ ไม่คำนึงถึงจิตใจของมนุษย์ ด้านที่สองมนุษย์นั้นย่อมได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะจากสังคม แม้แต่ตัวแพทย์เองก็มาสัมพันธ์กับคนไข้ในทางสังคม แต่เมื่อสัมพันธ์กันแพทย์ก็อาจจะไม่ได้คำนึงถึงว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นจะมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของคนไข้อย่างไร ซึ่งจะมีผลไปถึงการรักษาพยาบาลด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ในที่สุดแล้วความชำนาญเฉพาะอย่าง ก็ทำให้มีความรู้สึกคับแคบแล้วก็เกิดผลเสียขึ้น

        ทางด้านเศรษฐกิจวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็มีความเจริญมาก แต่ความเจริญของเศรษฐศาสตร์นั้น บางทีก็ลืมนึกถึงความเป็นคนอีกเหมือนกัน จนพูดได้ว่าเป็น เศรษฐศาสตร์แห่งโภคทรัพย์ หรือที่เรียกว่า economics of wealth คือไม่ใช่เศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นอยู่ดีของมนุษย์เสียแล้ว แต่เป็นเศรษฐศาสตร์แห่งตัวเลขเงินตรา เป็นเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งให้มีให้มากที่สุด บริโภคให้มากที่สุด โดยที่ไม่ต้องรู้ว่าความมั่งมีและการบริโภคที่มากที่สุดนั้น มันจะช่วยให้มนุษย์เป็นสุขได้จริงหรือไม่ เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ชีวิตอย่างไรเป็นต้น นี่ก็เป็นเรื่องของวิชาการอีกด้านหนึ่งซึ่งเจริญออกไปทางด้านเป็นเส้นตรงให้มากที่สุด

        การศึกษาวิทยาการต่าง ๆ ได้แบ่งแยกออกไป ซอยละเอียดเป็นสาขาย่อย ๆ และเราก็เรียนกันให้ชำนาญเฉพาะด้านนั้น ๆ เมื่อเรียนกันไปกันมาแล้วมันไม่เชื่อมโยงเข้ามาสัมพันธ์กัน เมื่อเรามุ่งแต่ความชำนาญพิเศษทางด้านนั้น ๆ ก็ลืมมองความเป็นคน จนบางทีก็ไม่ได้พัฒนาความเป็นคน ความเป็นคนนั้นก็คงอยู่ตามเดิม เคยเป็นอย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น พูดภาษาทางศาสนาว่ามีกิเลสมาอย่างไรก็มีกิเลสอยู่อย่างนั้น เสร็จแล้วคนที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาตัวชีวิตที่แท้นี้ แต่มีความรู้ความชำนาญพิเศษในด้านนั้น ๆ ก็นำเอาวิชาการที่ตนได้เรียนรู้นั้นไปใช้ประโยชน์สนองความเห็นแก่ตัว ก็เกิดโทษต่อชีวิตและสังคม แม้แต่การสอนเอง สอนกันไปสอนกันมาโดยมุ่งให้มีความชำนาญพิเศษในด้านนั้น ๆ ครูอาจารย์ก็ชำนาญพิเศษเฉพาะในสายของตน ไป ๆ มา ๆ ก็เลยกลายเป็นอย่างที่เราเรียกกันว่าสอนหนังสือหรือสอนวิชา ไม่ได้สอนคน ก็มีปัญหาอีก ตกลงตัวคนกำลังถูกทอดทิ้งไปเรื่อย ๆ เหลือแต่วิชาการสายนั้น ๆ

 

        ทีนี้หันมาพูดถึงตัวความเจริญที่เรียกว่าอุตสาหกรรมเอง อุตสาหกรรมนี้ก็เป็นตัวการสำคัญและเป็นระบบใหญ่ที่ทำให้วิชาการต่าง ๆ ทั้งหลายพลอยเป็นไปในแนวเดียวกับตนด้วย เพราะวิทยาการต่าง ๆ เหล่านั้นเจริญเติบโตก้าวหน้าขึ้นมาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม ระบบอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไร ระบบอุตสาหกรรมนั้นก็มีการแบ่งงานตามความชำนาญเฉพาะด้านอย่างซอยละเอียดทีเดียว เพื่อให้ได้ผลในการผลิตให้อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้า ตั้งแต่งานที่ต้องการความชำนาญเฉพาะพิเศษจริง ๆ จนกระทั่งว่างานที่ไม่ต้องใช้ความชำนาญอะไรแต่จะต้องทำเฉพาะส่วนนั้น ๆ โดยทำเพียงชิ้นเดียวที่ตนทำจนกระทั่งชำนาญ ยกตัวอย่างเช่น เขามีสายพานที่สำหรับประกอบผลิตภัณฑ์ เรียกว่า assembly line ตอนแรกสายพานนั้นก็ไม่มีอะไรว่างเปล่า แล้วต่อมาก็เริ่มมีชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์นั้นถูกเอาเข้ามาใส่เป็นชิ้นแรก จากนั้นสายพานก็เดินต่อไปจนถึงจุดของคนที่สอง ซึ่งเอาส่วนประกอบชิ้นต่อไปผนวกใส่เข้าไปอีก แล้วสายพานก็เดินต่อไปผ่านคนที่สาม สี่ ห้า ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนเฉพาะตามหน้าที่ของตน ๆ ใส่เข้าไปเพิ่มเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุดผลิตภัณฑ์นั้นก็กลายเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์ เช่นอาจจะเป็นรถยนต์เป็นต้น

        ในระบบงานอย่างนี้เราจะเห็นว่า เขามีความรู้สึกนึกคิดต่อคนที่ทำงานนั้นเหมือนกับเป็นเครื่องจักร ยกตัวอย่างเช่น บริษัทรถยนต์ฟอร์ดเป็นบริษัทที่มีความคิดสำคัญอันเป็นที่มาของระบบการทำงานแบบนี้ นายเฮนรี่ ฟอร์ดนั้นมีเรื่องเล่าว่าได้คิดออกแบบที่จะให้คนงานประกอบชิ้นส่วนของรถเข้าเป็นตัวรถ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนกระทั่งถึงเป็นคันรถโดยสมบูรณ์ แกแบ่งหน้าที่หรืองานย่อยออกไปเป็น ๗,๘๘๒ หน่วย แล้วแกก็จัดงานให้เหมาะกับคน แกบอกว่าในจำนวนงาน ๗,๘๘๒ หน่วยนี้ ๙๔๙ หน่วยต้องใช้คนที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ต่อไป ๓,๓๓๘ หน่วยใช้คนที่มีกำลังปานกลางระดับธรรมดาสามัญหรือขนาดเฉลี่ย ทีนี้งานส่วนที่เหลือนอกจากนั้นอีกหลายพันหน่วย ให้ใช้ผู้หญิงและเด็กโตก็ทำงานได้ ทีนี้ในบรรดางานที่ใช้คนที่มีกำลังไม่แข็งแรงนักนี้ก็ยังแบ่งออกไปอีก แกบอกว่า ๖๗๐ ชิ้นใช้คนงานที่ขาด้วนทั้ง ๒ ข้างได้ ต่อไปอีก ๒,๖๓๗ ชิ้นใช้คนขาเดียวได้ ต่อไป ๒ ชิ้น
ใช้คนที่แขนด้วนทั้งหมดได้คือไม่มีแขนเลย ๗๑๕ ชิ้นใช้คนแขนเดียวได้ แล้วก็ ๑๐ ชิ้นใช้คนตาบอดได้

 

        อันนี้ก็เป็นทรรศนะแบบธุรกิจ ที่จริงมองในแง่หนึ่งมันก็ดี คล้าย ๆ ว่ารู้จักใช้คนให้
เป็นประโยชน์ แม้แต่คนที่ร่างกายบกพร่องก็เอามาใช้ประโยชน์ทำงานได้ อันนี้ก็เป็นแง่ที่ดี
แต่ทีนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นทรรศนะทางธุรกิจที่ว่าไม่มองคนเป็นคน แต่มองเพียงเพื่อเอามาใช้ประโยชน์สนองความประสงค์ทางธุรกิจ คือมองเหมือนเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ด้านที่หนึ่งคนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยก็มีความบกพร่องทางร่างกาย เป็นคนที่ไม่เต็มบริบูรณ์ทางร่างกาย แต่ความไม่เต็มบริบูรณ์ทางร่างกายนี้ยังไม่สู้กระไร ข้อสำคัญด้านที่สอง มันจะมีผลโยงไปถึงความไม่เต็มบริบูรณ์หรือบกพร่องทางจิตใจด้วย เพราะว่าคนเหล่านี้เมื่อถูกแบ่งแยกเป็นกลุ่ม ไปอยู่เฉพาะกลุ่มเฉพาะพวกของตนเอง ก็มีความรู้สึกว่าตนเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องไม่เหมือนคนอื่น ต้องมาทำงานในหน้าที่นี้ที่ต่ำต้อย แล้วก็ทำให้มีความรู้สึกแปลกแยกจากสังคมได้ มีความรู้สึกบกพร่องไม่เต็มทางจิตใจ เป็นปมด้อยเป็นต้น แม้แต่คนที่ร่างกายสมบูรณ์ก็เหมือนกัน เมื่อต้องมาทำงานจำเจเฉพาะอย่าง ก็มีความรู้สึกเบื่อหน่าย แล้วก็เกิดปัญหาทางจิตใจขึ้นเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ในยุคอุตสาหกรรมคนจึงมีความรู้สึกแปลกแยกสูงมาก

        แต่ก่อนนี้เราไม่มีคำไทยสำหรับ alienation เพิ่งมามีในสมัยหลังนี้เอง เราต้องมาคิดบัญญัติศัพท์กันตั้งนาน ในเมืองไทยนี้คำว่า alienation เราพยายามแปลกันต่าง ๆ และใช้เวลานานพอสมควรทีเดียวกว่าจะได้ศัพท์มา เป็นความรู้สึกแปลกแยก และก็ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้ตกลงร่วมกันหมดหรือยัง แต่จะเห็นว่ามันเป็นลักษณะจิตใจของยุคอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของความบกพร่องทางจิตใจ

 


Back