พร้อม บุญฤทธิ์

ประวัติ

         พร้อม บุญฤทธิ์ เป็นชาวจังหวัดพัทลุงโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2478 ตรงกับวันพุธขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน ณ บ้านชายห้วย ต.โตนดด้วน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นบุตรคนแรกของ กรายหรือพรัด-แปรง บุญฤทธิ์ ซึ่งมีน้องสาวอีกคนคือ ปราณี พรหมช่วย สำหรับตระกูลสายบิดานั้นนับว่าสืบเชื้อสายมาจากศิลปินโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นนายหนังตะลุง นายโรงโนรา หรือแม้กระทั่งหัวหน้าคณะลิเก ความที่เป็นทายาทศิลปินนั้น แม้กระทั้งผู้เป็นพ่อเขาเองก็มีชื่อเสียงโด่งดังในนาน "หนังกรายชายแดน" หรือ "หนังพรัดโห" อันเป็นที่นิยมของชาวใต้เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ซึ่งยังเป็นชื่อที่ระบุถิ่นฐานบ้านช่องด้วย เนื่องจากพ่อเขาได้อพยพครอบครัวไปอยู่ยัง บ้านโห ทางตะวันออกของบ้านแหลมโตนด ต.ปันแต อ.ควนขนุน และนับว่าเป็นพื้นที่ชายแดนเชื่อมระหว่าง จ.พัทลุงกับ จ.นครศรีธรรมราช
        พร้อม บุญฤทธิ์" หรือ "หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล" เชื่อว่าทั้ง 2 ชื่อนี้ เป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนใต้ทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่มีสายเลือดสะตอเข้มข้นด้วยแล้ว สมควรต้องจัดว่าเป็นที่คุ้นชินกันเลยทีเดียว กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วที่ หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล ตระเวนสร้างความบันเทิงรื่นเริงใจไปพร้อมๆ กับการสอดแทรกแง่คิดคติธรรมให้กับสังคม จนเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอย่างไม่เลือกชั้น วรรณะ เพศหรือวัย เขาคือคนที่ทำให้ "นายหลำ" "นายยอดทอง" "นายหนูนุ้ย" และ "นายเท่ง" โลดแล่นอยู่บนจออย่างมีชีวิตชีวา เสมือนว่าเป็นคนที่มีตัวตนจริงๆ มิใช่เพียงหนังสัตว์ที่ถูกนำมาเล่นเป็นเงา โดยเฉพาะ "นายหลำ" นั้นเป็นที่รับรู้ของคอหนังตะลุงว่า นั่นคือเอกลักษณ์หรือตัวแทนตัวตนที่แท้จริงของ พร้อม บุญฤทธิ์ เลยทีเดียว
        อายุ 19 ปี พร้อม บุญฤทธิ์ แต่งงานครั้งแรกกับ กิ้มแน่น ปลอดพัก ชาวนาปะขอ หากกล่าวว่าเป็น "วิวาห์เหาะ" น่าจะตรงกว่า เพราะเขาใช้วิธีฉุดแล้วพาหนีก่อนที่จะกลับมาขอขมาลาโทษแต่งงานแบบต้องตามประเพณีภายหลัง กับภรรยาคนแรกนี้มีชาย-หญิงด้วยกันอย่างละคน แต่ปัจจุบันเพียงบุตรชายที่ชื่อ กลิ่น บุญฤทธิ์ จากนั้นมาเขาก็มีภรรยาเพิ่มอีก 9 คน ได้แก่ เนื่อง ศรีวิโรจน์ มีบุตรด้วยกัน 1 คน, สารภี โพธิ์ทอง มีบุตรด้วยกัน 3 คน, สารภี บัวทอง มีบุตรด้วยกัน 5 คน, วิไล อินทฤทธิ์พงศ์, จันทรา แซ่ยิ่ง (เสียชีวิตแล้ว), ละเมียด ชูช่วย, หนูภักดิ์, ศศิธร บัวทอง มีบุตรด้วยกัน 2 คน และ วิมลวรรณ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เขาอยู่กันกับภรรยา 6 คนคือ กิ้มแน่น, วิไล, ละเมียด, หนูภักดิ์, ศศิธร และวิมลวรรณ


การศึกษา

         ตอนวัยเด็กอาศัยอยู่กับยาย ตอน 9 ขวบเข้าเรียนที่โรงเรียนชัยแก้วศึกษา วัดป่าตอ ต.โตนดด้วน เรียนชั้น ป.เตรียมได้ 10 วันก็เลื่อนสู่ชั้น ป.1 ความที่อ่านหนังสือคำกลอนพระอภัยมณีได้ด้วยลุงและน้าช่วยสอนให้ ทำให้เมื่อจบ ป.1 ก็ได้กระโดดไปเรียนชั้น ป.3 เลย ทว่าเรียนได้อีกเทอมเดียวก็หนีไปอยู่กับพ่อที่บ้านโห แล้วเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนบ้านแหลมโตนดในชั้น ป.4 จนอายุ 11 ขวบก็ตัดสินใจหันหลังให้การศึกษา ในระบบเขารักที่จะเดินตามเส้นทางชีวิตศิลปินแบบพ่อ ตั้งแต่ช่วงที่ยังนุ่งชุดนักเรียนอยู่ กลางวันไปเรียนหนังสือ กลางคืนขอหัดหนังตะลุงที่บ้าน เมื่อออกจากโรงเรียนเลยได้โอกาสติดส้อยห้อยตามพ่อไปตระเวนเล่นหนังตะลุง พอเป็นหนุ่นกระทงอายุ 15 ปี พ่อได้ไปปักหลักอยู่ที่สุราษฎร์ธานี อินทร์ ชูเดช ชาวนาปะขอ ต.นาปะขอ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เกลอแก้วเกลอขวัญของพ่อมาขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ทำให้ต้องระหนระเหินมาอยู่ที่บ้านนาปะขอ โบราณว่า "รถไฟ-เรือเมย์-ลิเก-ตำรวจ" พวกมีอาชีพเหล่านี้มักเจ้าชู้ ทว่าสำหรับสายเลือดสะตอเมืองใต้แล้วต้องรวมเอา "นายหนังตะลุง" ไว้ในทำเนียบจอมเจ้าชู้ด้วย


การทำงาน และผลงานต่าง ๆ

         แม้พ่อเป็นนายหนังตะลุงชื่อก้อง พ่อเป็นครูคนแรกที่หัดหนังตะลุงให้ ขนาดตอนพ่อขึ้นโรงก็ยังให้ช่วยพากษ์ฤาษีหรือพระอิศวรแทนอยู่บ่อยๆ ทว่าครูหนังตะลุงที่ "ครอบมือ" ให้ พร้อม บุญฤทธิ์ กลับเป็น "หนังสีหมอก" นายหนังตะลุงขาด้วนที่ขี่ควายมาที่โรงหนังแล้วยื่นหนังตะลุงอันถือเป็นการครอบครูให้
         บนเส้นทางสู่ความเป็น หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล ที่ชื่อเสียงเรียงนามนับว่ากระฉ่อนทั่วภาคใต้ในวันนี้ ถือได้ว่าต้องต่อสู้แผ่วถางทางมาอย่างชนิดสมบุกสมบันพอดู กล่าวคือ ขณะอาศัยอยู่กับพ่อตา-แม่ยายชุดแรกที่นาปะขอ เขาต้องปลีกจากเวลางานมาซุ้มฝึกฝนขับกลอนอ่านหนังสือด้วยตัวเองประมาณ 5 ปีเต็ม จึงส่งผลให้พ่อตา-แม่ยายเห็นใจยอมซื้อเครื่องมือเล่นหนังตะลุงให้ยกชุด จากนั้นก็หอบลูกค้า 4 คนออกตระเวนแสดงไปแบบได้รับ "ค่าราด" บ้างไม่ได้บ้าง ต้องอดๆ อยากๆ อยู่ราว 2-3 ปีจึงเริ่มจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และก็เลยวัยเบญจเพสได้ไม่นานก็นับว่าอยู่ในขั้นโด่งดังก็ว่าได้ 'น้ำใจแม่' นับเป็นบทประพันธ์ที่นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์มาแล้วถึงสองรอบ
         เคยมีผู้ศึกษาชีวิตความเป็น หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล ไว้เยอะพอดู ในจำนวนนี้มีที่เป็นผลงานระดับวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ของนักศึกษาจากสถาบันทักษิณคดีศึกษาอยู่ด้วย โดยหากประเมินจากงานต่างๆ เหล่านี้จะพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เขากลายเป็นนายหนังตะลุงยอดนอคมของชาวใต้ ประกอบด้วย
        1. เสียงดี เสียงดัง ฟังชัด เล่น 7-8 ชั่วโมงไม่มีแหบ แถมยังเลียนเสียงได้หลายเสียงด้วย
        2. มีความรอบรู้ทั้งทางโลก-ทางธรรม และใกล้ชิดประชาชนทำให้นำมาสอดแทรกได้เป็นอย่างดี
        3. สามารถสวมวิญญาณให้กับรูปหนังได้ทุกตัว และสับเปลี่ยนได้โดยฉับพลัน
        4. มีไหวพริบปฏิภาณสูง นำเหตุการณ์บ้านเมืองและท้องถิ่นมาดัดแปลงได้ดี
        5. สร้างอารมณ์ขันได้ตลอดเวลา
        6. สามารถจำบทกลอนในวรรณคดีมาใช้ได้ลงตัว
        7. ลูกคู่มีมากถึง 11 คนและเล่นดนตรีได้ถูกใจทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น
        8. สร้างชีวิตให้กับรูปตัวตลกได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะคู่นายหลำ-นายยอดทอง และนายหนูนุ้ย-นายเท่ง ซึ่งสำหรับนายหลำกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวเลยทีเดียว


เกียรติคุณที่ได้รับ

         เขาเคยได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จมาแล้วมากมาย อาทิ
        มงกุฎทองคำฝังเพชรจากสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช
        ต้นศรีตรังทองคำจากสนามแข่งขันโรงเรียนกลึงวิทยา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง
        ถ้วยเกียรติยศประมาณ 140 ใบ
        ขันน้ำพานรองประมาณ 20 ใบ
        โล่เกียรติยศประมาณ 10 โล่
        จอหนังตะลุงประมาณ 100 จอ
        รวมถึงโคถึก 3 ตัว โคธรรมดา 5 ตัว และรกจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นต้น
        ปัจจุบันเขายังรับเล่นหนังตะลุง และเปิดโรงเรียนสอนหนังตะลุงอยู่ที่บ้านท่าแค ต.ท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง ไปพร้อมกับเดินสายเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่สาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ
        ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2546
        นายพร้อม บุญฤทธิ์ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ศิลปะการแสดงหนังตะลุง "พร้อม บุญฤทธิ์" รับรางวัลอันทรงเกียติไปครอง พร้อมรอเข้ารับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในวันศิลปินแห่งชาติ
        ด้วยวัย 68 ปีหย่อนเดือน "พร้อม บุญฤทธิ์" หรือ "หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล" ยังคงมีความสุขกับความเป็นศิลปินพื้นบ้าน กับความเป็นคนของประชาชนอยู่ในเวลานี้

สุชาติ  ทรัพย์สิน
สุชาติ ทรัพย์สิน