ปรีชา สงวนศิลป์

ประวัติ

         หนังปรีชา สงวนศิลป์ (ลุยจันทร์) เป็นบุตรคนแรกในจำนวน 6 คน ของนายผก-นางแป้น ลุยจันทร์ เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคม 2481 ณ บ้านสระไคร หมู่ที่ 9 ตำบลเชียรเขา อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดามารดา มีอาชีพทำนา และหมอแผนโบราณ
        หนังปรีชา สงวนศิลป์ เริ่มประกอบอาชีพศิลปินหนังตะลุงอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.2500 ขณะอายุได้ 19 ปี ปี พ.ศ.2502 บรรพชาอุปสมบทที่วัดสระไครบ้านเกิด และจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพมงคล ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี พ.ศ.2503 เข้าสู่พิธีวิวาห์มงคลสมรส กับนางสาวพรรณี คุ้มรักษา บุตรของนายเพิ่ม-นางพริ้ม บ้านแร่ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ ครองชีวิตคู่กันมาอย่างมีความสุข จนกระทั่งปัจจุบัน มีบุตร-บุตรี ด้วยกันรวม 6 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 2 คน บุตร-บุตรีทุกคนล้วนได้รับการศึกษาอย่างดี และมีอาชีพที่มั่นคงความสำเร็จในครอบครัวเป็นผลพวงมาจากอาชีพศิลปินหนังตะลุงของหัวหน้าครอบครัวเป็นหลัก


การศึกษา

         การศึกษาวิชาการ หนังปรีชา สงวนศิลป์ ได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ปี พ.ศ.2493 สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดสระไคร ตำบลเชียรเขา อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2496 สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) จากโรงเรียนภูมิสถิตวิทยา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนการศึกษาทางธรรมสอบได้นักธรรมศึกษาชั้นตรี สำนักวัดเทพมงคล ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ ขณะที่เป็นภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดนั้น เมื่อปี พ.ศ.2502
        การศึกษาวิชาหนังตะลุง หนังปรีชา สงวนศิลป์ สนใจศึกษาวิชาหนังตะลุงมาตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนจะเป็นศิลปินหนังตะลุงมืออาชีพ เขาได้เพียรพยายามศึกษาและฝึกหัดปฏิบัติจริงตามที่ตั้งใจ

         วัยเยาว์ เมื่อหนังปรีชา สงวนศิลป์ ยังเรียนอยู่ระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดสระไคร เขามักจะเอากระดาษสมุดมาวาดเป็นรูปหนังตะลุง แล้วเชิดให้เพื่อน ๆ ดูเป็นประจำ จนครูประจำชั้นชื่อ ครูเบื้อน ศรีไสยเพชร ได้สังเกตเห็นความสนใจจริง และเห็นว่า มีแวว "ศิลปิน" จึงสนับสนุนด้วยวิธีการใช้กระดาษแข็งบ้าง กาบหมากบ้าง และใบตาลบ้าง มาตัดเป็นรูปหนังตะลุง แล้วมอบให้เด็กชายปรีชา ลุยจันทร์ ได้ใช้เชิดให้เพื่อน ๆ ดูทุกวันสุดสัปดาห์ จนกระทั่งเด็กชายปรีชา ลุยจันทร์ สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียน

         วัยรุ่น เมื่อหนังปรีชา สงวนศิลป์ ไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่อำเภอปากพนังโดยอาศัยอยู่กับพระภิกษุวัดคงคาสวัสดิ์ (วัดใต้ฝั่งตะวันตก) นั้น หนังปรีชา สงวนศิลป์ ได้มีโอกาสดูหนังตะลุงบ่อยครั้ง เพราะที่วัดนันทาราม วัดนาควารี วัดเสาธงทอง และวัดคงคาสวัสดิ์ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกัน จะมีหนังตะลุงไปแสดงอยู่ตลอด การได้ดูหนังตะลุงบ่อยครั้ง ในขณะที่เรียนอยู่ที่อำเภอปากพนัง ช่วยให้เขาศึกษาศิลปะการแสดงหนังตะลุงอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และในคืนหนึ่งเขาได้ดูหนังตะลุง "โพธิ์ทอง" แสดงที่วัดนันทาราม (วัดใต้ฝั่งตะวันออก) เกิดความประทับใจเป็นพิเศษจนตัดสินใจกลับบ้าน เพื่อฝึกหัดเป็นนายหนังตะลุงให้ได้ ขณะนั้นอายุได้ 16 ปี (พ.ศ.2496)

         วัยหนุ่ม เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 ปีพ.ศ.2497 หนังปรีชา สงวนศิลป์ได้ฝึกหัดการแสดงหนังตะลุง บนโรงหนังเป็นครั้งแรก ด้วยการสนับสนุนของนายเคลื่อน กลัดทอง นายห้อง ลุยจันทร์ และนายเพิ่ม นาคแป้น
        ในปี พ.ศ. 2500 เขามีความมานะพยายามใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาเทคนิควิธีต่าง ๆ เกี่ยวกับการแสดงหนังตะลุง จาก นายหนังตะลุง รุ่นอาวุโสอยู่เสมอ จนกระทั่งได้เข้าเป็นศิษย์ หนังจันทร์แก้ว บุญขวัญ บ้านการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้ทำพิธี "ครอบมือ" หรือ "ยกครู" ตามแบบอย่างพิธีกรรมของศิลปินหนังตะลุงทุกประการ เมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยจับรูปเสี่ยงทายได้ "รูปฤาษี" ซึ่งเชื่อกันในวงการหนังตะลุงว่า "ยอดเยี่ยม" จะได้เป็น "ครูหนัง" ในกาลข้างหน้า


ผลงานการแสดง ช่วงปี พ.ศ. 2500 - 2509

         ช่วงต้นแห่งอาชีพศิลปินหนังตะลุง หนังปรีชา สงวนศิลป์ ได้สร้างผลงานการแดสงให้เป็นที่ชื่นชอบของประชาคมทั้งที่เป็นผู้ชมโดยทั่วไปและศิลปินหนังตะลุงอาวุโสในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและต่างจังหวัดมีหลักฐานปรากฏเด่นชัด ในปีแรก ๆ ที่แสดงหนังตะลุงอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรี ตามที่ได้รับขันหมากไว้ มีนายหนังตะลุงชั้นครูในขณะนั้น หลายคณะ แสดงความชื่นชม และให้กำลังใจ เช่น หนังจันทร์แก้ว บุญขวัญ แสดงความชื่นชมและให้กำลังใจ หนังปรีชา สงวนศิลป์ เมื่อหนังปรีชา สงวนศิลป์ ไปแสดงที่บ้านท้องลำเจียก อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า "ถ้าลูกไม่ทิ้งหนังเสียก่อน ลูกต้องเป็นหนังที่มีชื่อเสียงโด่งดังแน่นอน" หนังโพธิ์ทอง ปากพนัง แสดงความชื่นชมและให้กำลังใจ หนังปรีชา สงวนศิลป์ เมื่อหนังปรีชา สงวนศิลป์ไปแสดงที่บ้านตาหมอ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า "อย่าทิ้งหนังตะลุงเสียก่อนจะมีชื่อเสียงโด่งดังในอนาคต เพราะมีแวว มีปัญญาโดดเด่นทางการแสดงหนังตะลุง" ฯลฯ
        
        ตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 เป็นต้นมา ได้รับขันหมากเพิ่มมากขึ้นและมีขันหมากแข่งขันประชันโรงหลายครั้ง ล้วนได้รับชัยชนะทั้งสิ้น เช่น
            ครั้งแรก : แข่งขันประชันโรงกับหนังเก็ง หนังจวนแม่นาง และหนังถนอม ในงานฝังลูกนิมิต วัดพัทธสีมา อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
            ครั้งที่สอง : แข่งขันประชันโรงกับหนังเกลื่อน
            ครั้งที่สาม : แข่งขันประชันโรงกับหนังสำอางค์ และหนังอื่นๆ หลายคณะ
        เมื่อศิลปินหนังตะลุงรุ่นอาวุโสเห็นว่า หนังปรีชา สงวนศิลป์ มีประสบการณ์การแสงดหนังตะลุง เป็นที่ชื่นชมของชาวนครศรีธรรมราช พอสมควรแล้ว และได้รับชัยชนะในการแข่งขันประชันโรงมาหลายครั้งแล้ว ควรจะได้เผยแพร่ผลงานให้ปรากฎในต่างจังหวัดบ้าง หนังปรีชา สงวนศิลป์ จึงได้รับการเชื้อเชิญจากหนังครูแจ้ง แสงศรี ศิลปินหนังตะลุงอาวุโส ให้ไปแสดงที่กรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง ติดต่อกันครั้งแรก ปี พ.ศ.2506 ไปแสดงพร้อมกับหนังจูลี่ จังหวัดตรัง หนังจูเลี่ยม กิ่งทอง หนังศรีพัฒน์ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และหนังสงค์ สามดาว จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2507 ไปแสดงพร้อมกับหนังครูแจ้ง แสงศรี ครั้งนี้แสดงอยู่หลายคืนกว่าครั้งแรก
        
        ปี พ.ศ.2508 มีขันหมากแข่งขันประชันโรงบ่อยครั้งขึ้น และได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ชมมากเป็นพิเศษจนสามารถเอาชนะหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียงหลายคณะ เช่น หนังประทิ่น บัวทอง หนังล้อม สระกำ หนังปล้อง อัายลูกหมี หลังเคล้าน้อย หนังจูลี่ เสียงเสน่ห์ หนังพร้อมน้อย หนังอิ่มเท่ง และหนังแคล้วเสียงทอง เป็นต้น
        
        ในปีเดียวกันนี้เอง หนังปรีชา สงวนศิลป์ ได้ไปแข่งขันประชันโรงกับหนังตะลุงชื่อดังของจังหวัดนครศรีธรรมราชอีก 3 คณะในงานฉลองเจดีย์วัดธาตุน้อย อำเภอฉวาง งานนี้ไม่เก็บค่าผ่านประตูคนดูมีมากเป็นประวัติการณ์ หนังตะลุงทั้ง 3 คณะยุติการแสดงไปนานแล้ว แต่คนดูหน้าโรงหนังปรีชา สงวนศิลป์ ยังแน่นขนัด และไม่ยอมให้หนังปรีชา สงวนศิลป์ ยุติการแสดงเพราะชื่นชอบมาก หนังปรีชา สงวนศิลป์จึงต้องแสดงต่อไปจนสว่าง นาฬิกาบอกเวลา 06.00 น. พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เจ้าอาวาสเดินลงมาจากกุฏิ และสอบถามชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทราบความตามเหตุการณ์โดยตลอด จึงออกปากชมว่า "หนังโรงนี้ดีมาก" เมื่อหนังปรีชา สงวนศิลป ์ไปกราบลาพ่อท่านคล้ายได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และอวยพรให้ว่า "ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปนะ และดีไปนานๆ"
        
        ปี พ.ศ.2509 ปีทองของหนังปรีชา สงวนศิลป์ วันที่ 4 มิถุนายน 2509 เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตและผลงานการแสดงครั้งสำคัญยิ่งของหนังปรีชา สงวนศิลป์ เขาได้ "รางวัลตุ๊กตาทองตัวแรกของวงการศิลปินหนังตะลุง" จากบริษัท สหวัฒนา เพราะชนะเลิศการแข่งขันประชันโรง คณะหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง 10 คณะ ในภาคใต้ ณ สนามหน้าเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช
        ผลงานครั้งนี้ส่งผลให้หนังปรีชา สงวนศิลป์ ได้รับฉายาหรือสร้อยชื่อใหม่ว่า "หนังปรีชา ดาราตุ๊กตาทอง" และมีขันหมากแทบทุกคืน
        
        ผลงานการแสดง ช่วงปี พ.ศ. 2510 - 2519
        ช่วงเวลาทศวรรษที่ 2 แห่งอาชีพศิลปินหนังตะลุง หนังปรีชา สงวนศิลป์ ได้พัฒนาอาชีพและสร้างสรรค์ผลงานการแสดงหนังตะลุงจนเป็นที่ชื่นชอบของประชาคมอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นศิลปินหนังตะลุง "ขายดี" ที่สุดคณะหนึ่ง มีขันหมากมากที่สุด มีรางวัลมากที่สุด มีการแข่งขันประชันโรงในรายการหารายได้ของนักจัดรายการมากที่สุด มีการเดินสายจัดรายการสวนสนุกร่วมกับศิลปินโนรามากที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่หนังปรีชา สงวนศิลป์ เริ่มหันไปสนใจการเมืองระดับท้องถิ่นด้วย มีหลักฐานปรากฎเด่นชัดตามช่วงเวลา
        
        ปี พ.ศ.2510 ได้รางวัล "เทพบุตรพิณทอง" และ "เทวาทองคำ" เพราะชนะเลิศการแข่งขันประชันโรง หนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง 10 คณะ ณ สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายพ่วง ช่วยคงทอง เป็นผู้จัดรายการ
        
        ปี พ.ศ.2511 ได้รางวัลดังนี้ เช่น
        รางวัล "แหวนเพชร" เพราะชนะเลิศการแข่งขันประชันโรง หนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง 10 คณะ ณ สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายพ่วง ช่วยคงทอง เป็นผู้จัดรายการ
        รางวัล "มงกุฏทองคำฝังเพชร" ครอบครองคนละครึ่งปีกับหนังเคล้าน้อย โรจนเมธากุล เพราะเสมอกันในการแข่งขันประชันโรงหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง 10 คณะ ณ สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายพ่วง ช่วงคงทอง เป็นผู้จัดรายการ
        รางวัล "ถ้วยเกียรติยศ" เพราะชนะเลิศการแข่งขันประชันโรง หนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง 4 คณะ ณ สนามบ้านนา อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
        นอกจากนี้ยังมีรางวัล ถ้วยเกียรติยศ" เพราะชนะเลิศการแข่งขันประชันโรงอีกจำนวนมากมาย
        
        ปี พ.ศ.2512 ได้รางวัลดังนี้ เช่น
        รางวัล "ถ้วยเกียรติยศ" เพราะชนะเลิศการแข่งขันประชันโรงหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง 10 คณะ ณ สนามกีฬากลางจังหวัดพัทลุง จากบริษัทผู้ผลิตยาสีฟันไวท์ไลออนส์
        รางวัล "ถ้วยเกียรติยศ" เพราะชนะเลิศการแข่งขันประชันโรงหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง 7 คณะ ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ฯลฯ
        
        ปี พ.ศ.2513-2514 ผลงานการแสดงหนังตะลุงของหนังปรีชา สงวนศิลป์ เปลี่ยนแนวใหม่จากการตั้งรับขันหมากอยู่ที่บ้านเป็นการเดินสายจัดรายการสวนสนุก โดยมีโนราชื่อดังแห่งภาคใต้ คือ "โนราเติมวิน-วาด" แห่งจังหวัดตรัง เป็นผู้นำ จัดรายการเดินสายประชันระหว่างหนังปรีชา สงวนศิลป์ กับโนราเติม ณ สนามอำเภอและจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ และประเทศมาเลเซีย เป็นรายการสวนสนุกที่จัดเอง แสดงเอง
        
        ปี พ.ศ.2515-2519 ประชาชนเรียกร้อง จึงต้องเลิกจากรายการสวนสนุกมารับขันหมาก ตามปกติมีงานการแสดงมากมายแทบไม่ได้ว่างเว้นแต่ละคืน
        
        ผลงานการแสดง ช่วงปี พ.ศ.2520-2541
        ทศวรรษที่ 3-4 แห่งอาชีพศิลปินหนังตะลุงของหนังปรีชา สงวนศิลป์ เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ 1-2 ปรากฏว่า ผลการแสดงมีปริมาณลดน้อยลงตามบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ แต่ชั้นเชิงและฝีไม้ลายมือการแสดงหนังตะลุงของหนังปรีชา สงวนศิลป์ ยังเป็นหนึ่งอยู่เสมอ หนังปรีชา สงวนศิลป์ จึงยังมีขันหมาก และมีรางวัลแห่งความเป็นศิลปินมืออาชีพอยู่จนบัดนี้ เช่น
        
        ปี พ.ศ.2520 ได้รางวัล "ถ้วยเกียรติยศ" เพราะชนะเลิศการแข่งขันประชันโรงหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง 7 คณะ ณ สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จากสรรพากรจังหวัดนครศรีธรรมราช
        
        ปี พ.ศ.2524 แสดงหนังตะลุง ให้นักศึกษาชาวเดนมาร์ก จำนวน 96 คน ได้ชม ณ วัดมุมป้อม อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
        
        ปี พ.ศ.2525 ได้รางวัล "ถ้วยเกียรติยศ" เพราะชนะเลิศการแข่งขันประชันโรงหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง 3 คณะ ณ กรุงเทพมหานคร จากคณะทำงานซุปเปอร์แมน ประมงน้ำจืด กรุงเทพมหานคร
        
        ปี พ.ศ.2530 แสดงหนังตะลุงให้ชาวต่างประเทศชมอีกหลายครั้งหลายกลุ่ม ปี พ.ศ.2538 และ 2539 แสดงหนังตะลุง ณ ประเทศมาเลเซีย ฯลฯ
        
        กว่าสี่ทศวรรษที่หนังปรีชา สงวนศิลป์ ได้ใช้อาชีพศิลปินหนังตะลุงสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นผลงานการแสดงหนังตะลุงที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของบรรดาศิลปินด้วยกัน และชาวนครศรีธรรมราชโดยส่วนรวม

 ประยูรใหญ่  บันเทิงศิลป์
ประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์
สุชาติ  ทรัพย์สิน
สุชาติ ทรัพย์สิน