สุชาติ ทรัพย์สิน

ประวัติ

         สุชาติ ทรัพย์สิน เป็นนายหนังตะลุงและช่างแกะสลักฝีมือดีคนหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2481 ที่ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา ขณะที่สุชาติเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนวัดสระแก้ว ทางวัดได้จ้างนายด่วน ช่างจากกรุงเทพฯ มาทำพระประธาน สุชาติได้ไปเฝ้าดูด้วยความสนใจ เมื่อนายด่วนมีเวลาว่างจึงสอนให้หัดเขียนลายไทย จุดนี้เองที่ได้วิชาเพราะความรักงานศิลปะขึ้นในจิตใจของสุชาติ


การศึกษา

         ครั้นเขาเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์นายทอง หนูขาว ช่างแกะสลักหนังชาวตำบลสระแก้วนายทองผู้นี้เป็นช่างฝีมือดี ได้แกะรูปหนังตะลุงให้กับนายเอี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นหนังดีคณะหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น นอกจากนายทองจะมีฝีมือในการแกะสลัก หนังแล้วยังมีความสามารถทางด้านกาพย์กลอนด้วย สุชาติจึงได้เรียนวิชาแกะหนังและหัดว่ากาพย์กลอนไปพร้อม ๆ กัน ครั้นเรียนแกะหนังจนสามารถร่างแบบและแกะได้แล้วจึงออกไปแกะรูปหนังตะลุงด้วยกระดาษถุงปูนซิเมนต์จำหน่ายตามงานเทศกาลและตลาดนัดต่าง ๆ พออายุได้ราว 14 ปี เกิดความละอายที่เที่ยวขายรูปกระดาษจึงหันมารับทำเมรุ ทำเบญจาและทำโลงศพ ซึ่งก็ใช้วิชาแกะสลักเช่นเดียวกัน บางครั้งเมื่อไปรับจ้างทำงานเหล่านี้ ตกกลางคืนมีผู้ชักชวนให้เล่นหนังตะลุงก็เล่นเพื่อเป้าหมายหลักเพื่อความสนุกสนาน มิได้มีสินจ้างรางวัลแต่อย่างใด หลังจากนั้นสุชาติได้รับงานใหม่แล้วเปลี่ยนอยู่หลายงาน ได้แก่ เป็นช่างซ่อมรถจักรยาน เป็นช่างรับจ้างถ่ายรูปโดยเดินไปถ่ายถึงหมู่บ้าน และทำสวนอยู่ 2 ปี ในที่สุดก็เบื่อหน่ายจึงได้ออกจากบ้านโดยมิได้บอกกล่าวผู้ใด


การทำงาน และผลงานต่าง ๆ

         อยู่จังหวัดกระบี่ได้มอบตัวเป็นศิษย์ของหนังกราย และเริ่มจับงานเล่นหนังตะลุงอย่างจริงจัง ได้เที่ยวเล่นไปในหลายจังหวัดในภาคใต้ ระยะแรกที่เล่นหนังตะลุงใช้ชื่อว่า “หนังสุชาติ ฉลามดำ” ต่อมา พ.ศ.2506 เขาชนะประกวดกลอนทางวิทยุ มทบ.5 ค่ายวชิราวุธ นครศรีธรรมราช จึงเปลี่ยนชื่อคณะเป็น “หนังสุชาติ กลอนงาม” ได้ประชันกับหนังที่มีชื่อเสียงหลายคณะ เช่น หนังประทิ่น บัวทอง หนังเคล้าน้อย และหนังจูเลี่ยม เป็นต้น ทั้งยังยอมรับจ้างว่ากลอนโฆษณาขายสินค้าทางสถานีวิทยุให้แก่บริษัทห้างร้านหลายแห่ง
        ในช่วงที่สุชาติเริ่มมีชื่อเสียงในการเล่นหนังตะลุง เขาได้กลับมาอยู่บ้านเดิมที่สระแก้ว หลังจากแต่งงานเมื่อายุ 29 ปี ได้แยกครอบครัวมา ตั้งบ้านเรือนหลังวัดสระเรียง ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช และที่นี่เองสุชาติเริ่มงานแกะรูปหนังตะลุงอย่างจริงจัง รูปที่แกะส่วนใหญ่เป็นรูปที่ใช้ประดับฝาผนังอาคารบ้านเรือน ซึ่งมีรูปแบบต่างไปจากรูปหนังตะลุงที่ใช้ในการแสดง ด้วยฝีมืออันปราณีต ทำให้ผลงานของเขาได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจนไม่สามารถผลิตตามลำพังของตนเองได้ทัน สุชาติจึงคิดรวมช่างแกะหนังในจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุงขึ้น โดยเขาเป็นผู้กำหนดแบบและให้ช่างแกะและระบายสี สำหรับแบบ เนื่องจากต้องการทำเหมือนกันเขาจึงนำเอาแบบพิมพ์เขียวมาใช้ ซึ่งแต่เดิมการแกะหนังจะจารด้วยเหล็กแหลมลงไปบนพื้นหนัง เป็นเฉพาะรูปเฉพาะชิ้นงานเท่านั้นในการจำหน่ายผลงานทั้งหมดในระยะแรก ๆ สุชาติไม่ได้ทำด้วยตนเอง แต่มีผู้เดินตลาดเฉพาะชื่อ นายเจริญ วิริยทูรจากระบบ
        การผลิตและจำหน่ายเช่นนี้จึงทำให้กิจการของเขาคล่องตัวมาก ในปี พ.ศ.2511 เขาได้ส่งผลิตภัณฑ์ให้บริษัทอุตสาหกรรมไทยในครัวเรือน (กรุงเทพฯ) เป็นผู้จำหน่าย และยังผูกพันกันมาจนบัดนี้
        แม้สุชาติจะทำหัตถกรรมแกะรูปหนังเป็นแบบพาณิชย์แต่เขาคำนึงถึงคุณค่าทางศิลปะวัฒนธรรมเป็นพิเศษ ผลงานของเขาจึงมีราคาสูงกว่ารูปหนังที่จำหน่ายอยู่ในภาคใต้โดยทั่วไป และข้อสำคัญเขามิได้วางจำหน่ายในส่วนภูมิภาค สิ่งที่จะประกันมือของเขาอย่างหนึ่งคือ ผลการตัดสินของคณะกรรมการประกวดรูปหนังซึ่งให้เขาได้รับรางวัลที่ 1-3 จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหลายปีติดต่อกัน (ประกวดที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช) จนระยะหลังเขาได้รับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดซึ่งหมายถึงว่าเขาหมดสิทธิ์ในการส่งผลงานเข้าประกวดโดยปริยาย
        สำหรับผลงานที่เขาภูมิใจมากที่สุดเป็นงานที่ชนะการประกวดชิ้นแรก ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช งานดังกล่าวเป็นรูปช้างเอราวัณหลังจากชนะการประกวดแล้ว เขาได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “ขอบใจนะที่รักษาของเก่าไว้ให้ อย่าหวงวิชา”
        สุชาติมีความรู้เกี่ยวกับการแกะหนังและเรื่องหนังตะลุงเป็นอย่างดี ทั้งเป็นคนที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ความคิดและมี
        มนุษยสัมพันธ์ดี มีจิตใจกว้างขวาง ชอบช่วยเหลืองานสาธารณะ จึงได้รับเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เช่น งานกองส่งเสริมหัตถกรรมและสมาคมนักออกแบบแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช เป็นต้น โดนเฉพาะงานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชนั้น สุชาติได้ฝากฝีมือที่เขาภูมิใจอีกชิ้นหนึ่งคือ การจัดแสดงลักษณะและประวัติของรูปหนังตะลุงทั้งหมดไว้ในอาคารศูนย์วัฒนธรรมของวิทยาลัยครู ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้า เยี่ยมชมศูนย์ฯ เป็นอย่างมาก
        ผลงานของสุชาติ ไม่เพียงแต่ทำให้เขามีชื่อเสียง มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังทำให้ต่างชาติปราถนาจะได้ตัวเขาไปถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการแกะหนังให้แก่ชาติของเขาด้วยดังปรากฏว่าในปี พ.ศ.2523 ได้มีฝรั่งชาติเยอรมนีมาติดต่อว่าจ้างให้เขาไปสอนการแกะหนังที่เยอรมนี โดยเสนอค่าจ้างปีละ 1,500,00 บาท จ้างเป็นเวลา 5 ปี เมื่อเขาได้รับข้อเสนอจึงตอบว่า “งานแกะหนังเป็นสมบัติของชาติ ถ้าต้องการตัวเขาให้ติดต่อกับรัฐบาล”ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ที่มาติดต่อได้เงียบหายไป


เกียรติคุณที่ได้รับ

         สุชาติ ทรัพย์สิน ได้รับรางวัลชีวิตหลายสิ่งหลายอย่างทั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพฯ ตลอดจนหน่วยราชการ สถาบัน และบุคคลต่าง ๆ มากมายเช่น ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาทัศนศิลป์ของ สวช. (การแกะหนัง) ได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหลายครั้ง ได้เป็นกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์สาขาวัฒนธรรมศึกษา ของสถาบันราชภัฎนครศรีธรรมราช เป็นกรรมการที่ปรึกษาการซ่อมแซมหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี ตามพระดำริของสมเด็จพระเทพฯ
        สุชาติ ทรัพย์สิน ได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาคือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ประดิษฐ์และแกะหนังใหญ่เรื่องพระมหาชนกรวม 45 ภาพ

ปรีชา  สงวนศิลป์
ปรีชา สงวนศิลป์