ประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์

ประวัติ

         หนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง มีชื่อ-สกุลจริงว่า ประยูร บัวพันธ์ เป็นบุตรของนายแมง-นางโค บัวพันธ์ บ้างบางหว้า ตำบลเชียรเขา อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2472 ณ บ้านเลขที่ 009 หมู่ที่ 2 บ้านบางหว้า ตำบลเชียรเขา อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

        หนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง เริ่มประกอบอาชีพ หนังตะลุงเมื่ออายุ 17 ปี และมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคใต้ ในช่วงปี พ.ศ.2500-2524 ชื่อเสียงของเขาโด่งดังเป็นดาวค้างฟ้าอยู่นานเกือบสามทศวรรษ จนกระทั่งลูกๆ เห็นว่าคุณพ่ออายุมากแล้ว จึงพากันขอร้องให้เลิกแสดงหนังตะลุง และย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนไปอยู่กับครอบครัว ลูกๆ หลานๆ ในกรุงเทพฯ จนถึงแก่กรรม ด้วยโรคเบาหวาน และเส้นโลหิตในหัวใจตีบ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536

        ตลอดระยะเวลาแห่งการประกอบอาชีพศิลปินหนังตะลุงเกินสี่ทศวรรษ หนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง ได้ใช้ชีวิตสร้างสรรค์ผลงานการแสดงหนังตะลุงจนสามารถ "เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของผู้ชม" ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ประจักษ์พยานอยู่ที่สถิติการแสดงเดือนละ 20-30 คืน และรางวัลชนะการแข่งขันประชันโรง นับชิ้นไม่ถ้วน เช่น "ถ้วยเงิน" "เทพธิดาทองคำ" และ "ถ้วยทองคำ" เป็นต้น

        ชีวิตครอบครัวหนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง สมรสกับนางสมกิจ สุขหวาน ธิดานางค่ำ นางพร้อม มีบุตร-ธิดา รวม 9 คน คือ
            1. นายสุเมธ บัวพันธ์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบางหว้า
            2. นางพรสุดา บันพันธ์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
            3. นางนิติยา หาญกิตติชัย สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบางหว้า
            4. นางสุภาณี ชุมทอง สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
            5. นางสาวเยาวดี บัวพันธ์ สำเร็จการศึกษาอนุปริญญา จากวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช
            6. นางสาวรัตพิมล บัวพันธ์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีศึกษาศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
            7. นางสาวสุมนรัตน์ บัวพันธ์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ จากสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
            8. นายเชิดชัย บัวพันธ์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
            9. นางสาวอรพิน บัวพันธ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

        ชีวิตครอบครัวของหนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง เป็นชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ภรรยาและบุตรธิดาต่างเป็นปลื้ม และชื่นชมความสามารถ


การศึกษา

         หนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง เรียนหนังสือสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบางหว้า ตำบลเชียรเขา อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านปากเชียร อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

        เรื่องการศึกษาวิชาหนังสือ และวิชาการแสดงหนังตะลุง ของหนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง พรสุดา บัวพันธ์ (ธิดา) เขียนเล่ามาดังนี้
        "เนื่องจากพ่อเป็นคนฉลาด เรียนหนังสือเก่ง ปู่จึงส่งให้พ่อได้เรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม 3 ที่โรงเรียนบ้านเชียรใหญ่ พ่อเล่าให้ฟังว่าปู่ตั้งใจจะให้พ่อเป็นหมอ เมื่อจบมัธยม 3 ปู่จึงให้ลุงผลเพื่อนของปู่สมัยที่เป็นทหารด้วยกัน พาพ่อไปฝากให้ฝึกกับหมอที่อนามัยบ้านเชียรใหญ่ ตอนนั้นพ่อฝึกอยู่นานเท่าไหร่ไม่ทราบ พ่อไม่ได้บอกไว้ พ่อบอกแต่ว่าวันหนึ่งพ่อจำได้ติดตาว่า หมอที่พ่อไปฝึกอยู่พาพ่อไปพิสูจน์ศพคนร้ายที่ปล้นชาวบ้านจนตำรวจยิงตาย ซึ่งพ่อกลัวมาก เมื่อกลับมาภาพศพมันติดตาจนนอนไม่หลับ พ่อบอกว่าเมื่อก่อนพ่อเป็นคนกลัวผีมาก และคิดว่าคงฝืนเรียนหมอต่อไปไม่ได้แน่ เพราะใจของพ่อคิดแต่จะเป็นหนังตะลุง รักและสนใจการเชิดหนังตะลุงมาตั้งแต่เด็ก เหตุที่ยอมมาฝึกเรียนหมอ เพราะไม่กล้าขัดความประสงค์ของปู่ ปกติพ่อเป็นคนที่รักและเชื่อฟังพ่อแม่มาก ไม่เคยขัดใจพ่อแม่"

        "พ่อเล่าว่า เมื่อพ่ออยู่ฝึกหมอไม่ได้ พ่อก็ไม่อยากฝืนใจตัวเองอีกต่อไป จะกลับบ้านบอกความจริงกับปู่ก็ไม่กล้ากลับ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่พ่อท้าความประสงค์ของปู่ จึงตัดสินใจเดินตามทางที่พ่อรัก พ่อจึงตัดสินใจหนีออกจากอนามัยไปอยู่กับหนังจันทร์แก้ว บุญขวัญ ที่บ้านหนองศรีขวัญ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พ่อฝึกฝนการเชิดหนังตะลุงกับหนังจันทร์แก้ว อยู่พักหนึ่ง จึงได้เขียนจดหมายไปบอกปู่ว่าพ่อเรียนหมอไม่ได้ เพราะใจของพ่อรักและชอบที่จะแสดงหนังตะลุงปู่จะโกรธก็ไม่ว่า แต่พ่อขอปู่ว่าขออย่าให้ปู่สาปแช่ง เพราะพ่อถือคำสาปแช่งของพ่อแม่เป็นปกาศิต ที่ทกให้ลูกตกต่ำ ทำอะไรไม่เจริญ เมื่อปู่และย่าทราบก็รีบเดินทางไปหาพ่อ ขอร้องให้พ่อกลับไปฝึกหมอต่อ แต่พ่อก็ไม่ยอม พ่อบอกว่าลูกเกิดมาไม่เคยขัดใจพ่อแม่ ขอครั้งนี้ครั้งเดียว เพราะรักศิลปะการแสดงหนังตะลุงด้วยชีวิต และวิญญาณเสียแล้ว ปู่และย่าเห็นว่าพยายามกล่อมพ่ออย่างไรก็ไม่เปลี่ยนแปลงก็ต้องปล่อยเลยตามเลย
        พ่อได้ฝึกฝนหนังตะลุงกับอาจารย์จันทร์แก้ว บุญขวัญ 4 ปีกว่า โดยติดตามหนังจันทร์แก้วไปทุกที่ ที่ไปแสดง ได้ศึกษาลักษณะท่าทางการแสดงต่างๆ"

        นายสุวรรณโน ถนอมกาย (หนังมโนน้อย บันเทิงศิลป์) ศิษย์หนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง เล่าว่าในทางการศึกษาวิชาหนังสือและกาพย์กลอน หนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง ยังเป็นศิษย์ของพระครูประภาตภูมิสถิต (นุ่ม เกสรเถระ) เจ้าคณะอำเภอเชียรใหญ่ และเจ้าอาวาสวัดคงคาสวัสดิ์ ปากพนังอีกด้วย


การทำงาน

         นายเหี้ยง ถนอมกาย ปัจจุบันอายุ 72 ปี เป็นชาวบ้านบางหว้า (บิดาของนายสุวรรณโน ถนอมกาย ศิษย์หนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง) ผู้คุ้นเคยกับหนังประยูรใหญ่ เล่าว่า
        "หนังประยูรใหญ่ เริ่มเล่นหนังมาตั้งแต่อายุ 17 ปี โดยคอยติดตามหนังจันทร์แก้ว บุญขวัญ ผู้เป็นครูหนังไปทุกหนทุกแห่ง อยู่เป็นเวลาหลายปี จึงมาออกโรงแสดงเป็นอาชีพได้"

        พรสุดา บัวพันธ์ ธิดาหนังประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์ อัศวินผ้าขาวม้าแดง เล่าถึงประวัติอาชีพและผลงานของบิดาว่า
        "...พ่อออกโรงแสดงไปเรื่อยๆ แต่ตอนแรกๆ ส่วนใหญ่พ่อจะขอเขาแสดงเองมากกว่า และแสดงให้เขาฟรีๆ เพราะพ่อยังไม่มีชื่อเสียง...
        ต่อมาในปี พ.ศ.2495 พ่อก็เริ่มมีคนรู้จักและก็มีคนมาติดต่อไปแสดงเรื่อยๆ จนกระทั่งระหว่างปี พ.ศ.2500-2525 ชื่อเสียงของพ่อก็เป็นที่รู้จักของคนทางใต้เกือบทุกจังหวัดในสมัยนั้น ถ้าหากคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ต้องรู้จักชื่อของหนังประยูรใหญ่ เมื่อก่อนพ่อใช้ชื่อหนังประยูร บันเทิงศิลป์ เฉยๆ ตอนหลังมีหนังรุ่นน้องของพ่อชื่อประยูรเหมือนๆ กัน ในฐานะที่พ่อเป็นศิลปินรุ่นพี่ จึงใช้ชื่อหนังประยูรใหญ่
        พ่อมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ก็ราว พ.ศ.2508 พ่อได้ทำการแข่งขันกับหนังตะลุงหลายคณะ ตอนนั้นได้ถ้วยเงินเป็นรางวัลครั้งแรก
        ปี พ.ศ.2512 ได้มีการแข่งขันหนังตะลุงหลายคณะที่สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พ่อก็ได้ชัยชนะได้รับรางวัลเป็น "เทพธิดาทองคำ"
        พ่อภูมิใจมากกับรางวัลที่ได้รับ พ่อบอกว่านี่แหละคือสิ่งที่พ่อต้องการมาตลอดตั้งแต่เริ่มรักที่จะแสดงหนังตะลุง พ่อถือว่านี่คือจุดสำเร็จอันสูงสุดในชีวิต เมื่อพ่อได้รับรางวัล เมื่อปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมา พ่อก็เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น งานแสดงก็มีมากขึ้น บางครั้งพ่อไปแสดงเป็นเดือนๆ ติดต่อกัน โดยไม่ได้กลับบ้าน ช่วงนั้นพ่อจะมีชื่อเสียงอยู่แถวจังหวัดสงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตอนนั้นถ้าเอ่ยชื่อ หนังประยูรใหญ่ ไม่มีใครไม่รู้จัก
        หลังจบการแสดงพ่อกล่าวบทกลอน ร่ำลาผู้คน ฉันจำได้อยู่บทหนึ่งว่า
       "นิทานจบก็พบกับความสว่าง   ให้พี่น้องแยกทางกลับเคหา
  ไม่ปีนี้ปีหน้าค่อยมาเล่า   ไม่ทันแก่ ทันเฒ่า เข้ามาใหม่ฯ"

        ต่อมาในปี พ.ศ.2514 บริษัทตัวแทนจำหน่ายยานีโอติก้า ได้จัดการแข่งขันหนังตะลุงคณะต่างๆ โดยให้ประชาชนซื้อยานีโอติก้า แล้าเอาซองยาเขียนชื่อ ที่อยู่ พร้อมกับชื่อหนังตะลุงที่ตนชื่นชอบ หากหนังตะลุงคณะไหนได้คะแนนนิยมจากประชาชนมากที่สุด ก็จะได้รับชัยชนะ ปรากฏว่าพ่อได้คะแนนมากที่สุด พ่อเลยได้รับรางวัลเป็น "ถ้วยทองคำ"


ผลงานต่าง ๆ

        1. พ.ศ.2508 ได้รับรางวัล "ถ้วยเงิน"
        2. พ.ศ.2512 ได้รับรางวัล "เทพธิดาทองคำ"
        3. พ.ศ.2518 ได้รับรางวัล "ถ้วยทองคำ"

ปล้อง   อ้ายลูกหมี
ปล้อง อ้ายลูกหมี
ปรีชา  สงวนศิลป์
ปรีชา สงวนศิลป์