ปล้อง อ้ายลูกหมี

ประวัติ

         หนังปล้อง อ้ายลูกหมี มีชื่อ-สกุลจริงว่า นายปล้อง สมคง เป็นบุตรของ นายปลอด-นางนิล สมคง ชาวนาบ้านทุ่งคา ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ (รอยต่อกับอำเภอเชียรมใหญ่ ปัจจุบันคือ ตำบลทางพูน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันอังคาร ปีมะแม พ.ศ.2474
        หนังปล้อง อ้ายลูกหมี เริ่มประกอบอาชีพศิลปินหนังตะลุง เมื่ออายุได้ 25 ปี และมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วแดนใต้ ในช่วงปี พ.ศ.2507-2518 ในขณะที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดนี่เอง เขาก็ได้จบชีวิตลงด้วยกระสุนปืน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2518 อายุได้ 44 ปี
        ตลอดระยะเวลาร่วมสองทศวรรษ หนังปล้อง อ้ายลูกหมี ได้ใช้ชีวิตสร้างสรรค์ผลงานผลงานการแสดงหนังตะลุงจนสามารถกล่าวได้ว่า "เขาเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของผู้ชม" ได้อย่างมหัศจรรย์ สถิติการแสดงหนังตะลุงโดยเฉลี่ย เดือนละ 20-25 คือ โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2507-2518 แข่งขันประชันโรงคราวใด คว้าชัยชนะได้อย่างน่าชื่นชมแทบทุกคราวไป จึงได้รางวัล (ชนะเลิศ) นับชิ้นไม่ถ้วน
        ชีวิตครอบครัว หนังปล้อง อ้ายลูกหมี เป็นศิลปินนักรัก เขามีภรรยาเป็นตัวตนถึง 5 คนด้วยกัน คือ นางผัน นางพัก นางปิ้น นางเครือวัลย์ และนางแนม มีบุตร-ธิดา รวม 11 คน บรรดาภรรยาและบุตรธิดาต่างรักใคร่ปรองดองกันเป็นอย่างดี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งให้วุ่นวาย


การศึกษา

         หนังปล้อง อ้ายลูกหมี ได้รับการศึกษาขั้นต้นพออ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นจากโรงเรียนวัดดอนตรอ ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากบ้านเกิดเท่าใดนัก ด้วยใจรักในศิลปินหนังตะลุง จึงมุ่งศึกษาหาประสบการณ์ ด้านการแสดงหนังตะลุงด้วยการฝากตัวเป็นศิษย์ และติดสอยห้อยตาม ศิลปินหนังตะลุงชั้นครู ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำปากพนังในขณะนั้น
        หนังจันทร์แก้ว บุญขวัญ และหนังล้อม สระกำ เป็นครูของหนังปล้อง อ้ายลูกหมี เป็นครูหนังที่หนังปล้อง อ้ายลูกหมี เคารพบูชาและศรัทธายิ่ง ไม่ว่าหนังปล้อง อ้ายลูกหมีจะแสดงหนังตะลุง ณ ที่ใด เขาจะกราบไหว้บูชา ประกาศอาราธนาครูหนังทั้งสองนี้ทุกราตรีไป
        ผู้ใกล้ชิด หนังล้อม สระกำ และหนังปล้อง อ้ายลูกหมี เล่าว่า หนังปล้อง อ้ายลูกหมี เป็นศิษย์ "ในโรง" รุ่นแรกๆ ของหนังล้อม สระกำ และเล่นหนังโขน (หนังตะลุงคน) ได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะออกโรงมาแสดงหนังตะลุงอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500


การทำงานและผลงานต่าง ๆ

         หลังจากหนังปล้อง อ้ายลูกหมี ได้ออกโรงแสดงหนังตะลุงอย่างจริงจังแล้ว ชั่วระยะเวลาไม่นานเขาก็ได้เพิ่มพูนประสบการณ์และพัฒนาศิลปะการแสดงหนังตะลุงจนเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ชม และนักเลงหนังตะลุง ชื่อ "ปล้อง อ้ายลูกหมี" ศิลปินหนังตะลุงจากลุ่มน้ำปากพนัง จึงขจรขจาย ใครๆ ก็ปองหมาย ใคร่ชมการแสดงหนังตะลุงของเขา คืนแล้วคืนเล่า เดือนทั้งเดือนแทบมิได้ว่างเว้นที่เขาจะเดินทางไปแสดงหนังตะลุง ตามเสียงเรียกหาของประชาชนทั้งในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.2507-2518

        ความมีชื่อเสียงโด่งดังของหนังปล้อง อ้ายลูกหมี นอกจากจะช่วยสร้างฐานะให้ครอบครัวของเขาและลูกคู่แล้ว (ค่าราดโรงในช่วง พ.ศ.2507-2518 คืนละ 1,200 - 1,500 บาท จ่ายลูกคู่ 5 คน คนละ 20 - 30 บาท ณ ช่วงเวลานั้น ข้าวสารถึงละ 16 บาท หมูเนื้อแดงกิโลกรัมละ 7 - 8 บาท) ยังสร้างรายได้อย่างงดงามให้แก่นักจัดรายการอีกด้วย เพราะไม่ว่าจะจัดรายการที่ไหน เมื่อใด หากมีหนังปล้อง อ้ายลูกหมี อยู่ด้วยจะเป็นโรงเดี่ยวหรือโรงแข่ง ผู้คนก็เข้าชมอย่างล้นหลาม ทำกำไรงามๆ ให้แก่ผู้จัดรายการทุกคราวไป (อัตราค่าเข้าชม ช่วงเวลานั้นคนละ 3 - 5 บาท)

        ผลงานการแสดงหนังตะลุงของหนังปล้อง อ้ายลูกหมี เป็นที่ชื่นชอบของนักเลงหนังตะลุงคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

        นิยายหนังตะลุงที่หนังปล้อง อ้ายลูกหมี แสดงแล้วผู้ชมติดใจ และเรียกร้องให้เขาแสดงอยู่เสมอๆ มีอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องต่อไปนี้
        ไอ้บอดยอดวีรชน หวานใจวัยคะนอง สิงห์เหนือเสือใต้ ขุนศึกใจสิงห์ สองเจ้าฟ้าพเนจร น้ำใจพระราชาน้ำตาคนยาก บุกแดนเสือ บ้านนอกเข้ากรุง ตุ๊กตาสวรรค์ ศึกทหารเอกในเมืองหลวง ฯลฯ

        นิยายหนังตะลุงเหล่านี้ หนังปล้อง อ้ายลูกหมี ได้จากหนังล้อม สระกำ บ้าง หนังจันทร์แก้ว บุญขวัญ บ้าง นายทิ้ง พังยาง และนายเขียน โทวันจะ แต่งให้บ้าง นอกจากนั้น เข้าได้ใช้ปฏิภาณโวหารไหวพริบ ปรับปรุง ผสมผสานจากนิทานพื้นบ้าน และนิยายหนังตะลุงเรื่องต่างๆ ที่เขาได้ยินได้ฟังได้ประสบพบเห็นมาบ้าง

        นิยายหนังตะลุงของหนังปล้อง อ้ายลูกหมี จึงมีลักษณะสอดคล้อง และผสมผสานจากนิทานกลืนกับวิถีชีวิตของผู้ชม โดยเฉพาะเรื่อง "ไอ้บอดยอดวีรชน" และ "ขุนศึกใจสิงห์ เป็นนิยานหนังตะลุงที่สร้างชื่อเสียงให้หนังปล้อง อ้ายลูกหมี เป็นอย่างยิ่ง เขาชนะการแข่งขันประชันโรงกับหนังตะลุงหลายคณะ และได้รับรางวัลโล่ทองคำ มงกุฎทองคำ และถ้วยเกียรติยศ เพราะเขาแสดงสองเรื่องนี้ได้ถึงอกถึงใจผู้ชมทั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดตรัง

        ทั้งสถิติการแสดง (เดือนละ 20 - 25 คืน) และรางวัลที่ได้รับเพราะชนะการแข่งขันประชันโรงหลายครั้ง หลายสถานที่ ย่อมเป็นประจักษ์พยานที่บ่งชี้ให้เห็นว่า หนังปล้อง อ้ายลูกหมี มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของชุมชนและสังคมเพียงใด


ผลงานต่าง ๆ

         การถ่ายทอดและสืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุง

         ความสามารถด้านศิลปะการแสดงหนังตะลุงจนมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วดินแดนภาคใต้ของหนังปล้องอ้ายลูกหมี เป็นเสน่ห์หนุนนำให้นักเลงหนังตะลุงต่างหลั่งไหลกันมาฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษยานุศิษย์รุ่นแล้ว รุ่นเล่า การถ่ายทอดและสืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงของหนังปล้อง อ้ายลูกหมี จังส่งผลให้เกิดศิลปินหนังตะลุงสายสำคัญสืบมาจนบัดนี้

ปานบอด  ชีช้าง
ปานบอด ชีช้าง
 ประยูรใหญ่   บันเทิงศิลป์
ประยูรใหญ่ บันเทิงศิลป์