http://www.tungsong.com

ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เทศบาลเมืองทุ่งสง

 

เทศบาลเมืองทุ่งสง ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยซึ่งได้ดำเนินการในพื้นที่โรงงานบ้านลุ่มพ้อ หมู่ที่ 2 ตำบลควนกรด อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งในครั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และสาธิตการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โดยการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เช่น การรีไซเคิล การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน และสารปรับปรุงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะเป็นต้นแบบ และแหล่งเผยแพร่ความรู้ต่อชุมชนองค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ

ซึ่งภายในศูนย์เรียนรู้ฯ นี้จะประกอบด้วย อาคารต้อนรับผู้เยี่ยมชมโครงการซึ่งสามารถรองรับได้ถึง 100 คน ทีมวิทยากรของเทศบาลเมืองทุ่งสงที่จะบรรยาย และถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่เข้าเยี่ยมชม โดยเน้นให้ผู้ที่เข้าศึกษาเรียนรู้ได้ร่วมลงมือปฏิบัติจริงในแต่ละสถานีตามฐานเรียนรู้ต่างๆ ดังนี้

1. สถานีสาธิตการแปรรูปสารอินทรีย์ประเภทเน่าเสียยาก และพลังงานความร้อนต่างๆ

เป็นการนำสารอินทรีย์ประเภทกิ่งไม้ต่างๆ มาผลิตเป็นถ่านอัดแท่งโดยใช้เตารูปไข่หลังคาโค้งที่มีการกระจายความร้อนที่ถูกพัฒนาโดยชาวญี่ปุ่น เรียกว่า เตาอีวาเตะ ชนิดเตาเผาถ่านดำ ซึ่งมีอุณหภูมิในเตาประมาณ 300-400 C อุณหภูมิปากปล่องประมาณ 80 C น้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการควบแน่นจะมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการป้องกันแมลง และปรับปรุงดิน ถ่านสามารถนำมาขึ้นรูปเป็นถ่านอัดแท่งที่มีคุณสมบัติค่าความร้อนประมาณ 7,100 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม

2. สถานีสาธิตการแปรรูปสารอินทรีย์ประเภทย่อยสลายยากเป็นปุ๋ยหมักสารปรับปรุงดิน

เป็นการนำสารอินทรีย์ ประเภทกิ่งไม้มาทำปุ๋ยหมัก (Arobic Digestion Composting) วัสดุพวกนี้ได้แก่ เศษพืชผัก ผลไม้ ใบไม้ หรือกิ่งไม้เล็กๆ ไม่เกิน 1 เซนติเมตร จากการนำมาบดย่อยแล้วผสมกับมูลสัตว์นำไปหมักควบคุมความชื้นไว้ประมาณ 50-60% ตรวจวัดอุณหภูมิ โดยระยะแรกจะมีอุณหภูมิประมาณ 50-60 C เมื่อย่อยสมบูรณ์แล้วอุณหภูมิจะเหลือประมาณ 25-30 C ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยได้ โดยมีหลายสูตรขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ

3. สถานีสาธิตการแปรรูปสารอินทรีย์ย่อยสลายง่ายเป็นสารสกัดชีวภาพ

เป็นกระบวนการนำสารอินทรีย์ ประเภทเศษพืชผัก หรือเศษปลามาหมักกับกากน้ำตาล ซึ่งแบ่งได้ 2 สูตร ดังนี้

สูตรที่ 1 การผลิตสารสกัดชีวภาพโดยใช้เศษพืชผัก กับกากน้ำตาล อัตราส่วนโดยน้ำหมัก 3:1 ใช้เวลาหมักประมาณ 7 วัน

สูตรที่ 2 ใช้เศษปลา อัตราส่วน 1:1 ใช้เวลาหมัก 3-6 เดือน สารสกัดที่ได้จะประกอบด้วย แร่ธาตุ วิตามิน เอนไซค์ ออร์โมน และจุลินทรีย์ ที่เป็นประโยชน์ มีคุณสมบัติในการปรับปรุงดิน ป้องกันแมลง และบำรุงพืชผัก

4. สถานีสาธิตการจัดการขยะรีไซเคิล

มีกระบวนการของธนาคารวัสดุรีไซเคิลในชุมชน โรงเรียน หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจโดยรับฝาก/ซื้อ วัสดุรีไซเคิลจากสมาชิก และเปลี่ยน เป็นเงิน หรือในรูปแบบดีลิเวอร์รี่ขยะรีไซเคิลโดยเทศบาลเมืองทุ่งสง มีรถรับฝาก/ซื้อ วัสดุรีไซเคิลถึงที่ บริการเฉพาะในเขตเทศบาลเป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชน รวมทั้งเด็ก และเยาวชนในการคัดแยกขยะ และเป็นการเพิ่มมูลค่าของขยะ เพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน

5. สถานีสาธิตการแปรรูปกระดาษใช้แล้ว

เป็นการนำแผ่นกระดาษที่ใช้แล้ว นำมาบดย่อยด้วยเครื่องบดย่อยจะได้เยื่อกระดาษที่ละเอียดแล้วนำเยื่อกระดาษที่ได้มาใส่บนแผ่นเฟรมตะกอนร่อนในอ่างน้ำ ให้เยื่อกระดาษกระจายเต็มแผ่นเฟรม นำไปตากในที่ร่มเมื่อแผ่นกระดาษแห้งดีแล้วลอกออกจากแผ่นเฟรมจะได้แผ่นกระดาษรีไซเคิลที่สามารถนำมาจัดทำเป็นซองจดหมาย ซองใส่แผ่น CD ซองใส่เอกสาร กระดาษโปสเตอร์ กระดาษห่อของขวัญ หรือดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากกระดาษก็ได้

6. สถานีสาธิตการนำสารอินทรีย์ที่เน่าเสียง่ายมาย่อยและหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและปุ๋ยน้ำในถึงปฏิกรณ์แบบไร้อากาศ (Anaerobic digestion)

เป็นขบวนการนำสารอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร เศษพืชผัก และผลไม้มาบดย่อยแล้วผสมน้ำป้อนสู่ถึงปฏิกรณ์ จะได้ก๊าซชีวภาพ ก๊าซนี้สามารถเก็บรวบรวมโดยใช้ถึงเก็บ แล้วนำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานความร้อนทดแทนก๊าซหุงต้ม LPG ได้ลดรายจ่ายให้กับครัวเรือน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำศูนย์เรียนรู้ฯ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมพลังงาน และสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาและจัดทำศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งสามารถเปิดศูนย์เรียนรู้ให้เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานได้ในต้นเดือนมกราคม 2552 ได้

ดังนั้น งานประชาสัมพันธ์ เทศบาลเมืองทุ่งสง จึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนทุกท่าน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจในการเข้าศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการขยะของเทศบาลเมืองทุ่งสงสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองช่างสุขาภิบาล เทศบาลเมืองทุ่งสง หมายเลขโทรศัพท์ 075-411501 หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 075-411342-3 ต่อ 113 ได้ทุกวันในวันและเวลาราชการ

 

งานประชาสัมพันธ์ เทศบาลเมืองทุ่งสง

18 พฤศจิกายน 2551