ประวัติ           การศึกษา            การทำงาน            ผลงานต่าง ๆ            เกียรติคุณที่ได้รับ           ชีวิตและครอบครัว


         ครูแนบ ทิชินพงศ์ เรียนวิชาสามัญระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 จากโรงเรียนวัดศรีทวี ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์ และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชเมื่อสำเร็จการศึกษามัธยมปีที่ 6 จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อทางด้านวิจิตรศิลป์ที่โรงเรียนเพาะช่าง (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง ในปัจจุบัน) เมื่อปีพุทธศักราช 2484 เป็นเวลา 3 ปี จนได้รับประกาศนียบัตรประโยควิชาชีพระดับ (ปปช.) และได้สมัครสอบหลักสูตรพิเศษวาดเขียนเอก สามารถสอบได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศในปีนั้นได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ปมช.) และประโยควิชาวาดเขียนเอกด้วย

         ช่วงที่เรียนอยู่ระดับมัธยมครูแนบพอมีประสบการณ์ในการเขียนรูปอยู่บ้าง เพราะมีใจรักในวิชานี้มาตั้งแต่ยังเยาว์วัย จึงพยายามฝึกฝนและทดสอบฝีมือของตนเองมาตลอดเช่น เวลามีงานประจำปีเดือนสิบงานประจำปีของจังหวัด ในงานจะมีการประกวดภาพเขียนทุกปี ครูแนบซึ่งขณะนั้นยังเป็นเยาวชนอยู่ก็จะส่งผลงานของตนเข้าประกวด ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศมาครองทุกครั้ง ช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ครูแนบพักอยู่กับพี่ชายที่วัดศิริอำมาตย์ ใกล้สนามหลวง พ่อส่งเงินค่าใช้จ่ายเพียงเดือนละน้อยนิด เป็นจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปเรียนแทนการนั่งรถเมล์ หรือแม้กระทั่งต้องดื่มน้ำแทนการทานอาหารกลางวันเฉกเช่นเพื่อนคนอื่น

         ครูแนบถือคติในการเรียนศิลปะตามแบบของสถาบันโดยถือครูอาจารย์เป็นแนวทางสร้างงานในสมัยนั้นคติศิลปะแบบอิมเพรชชั่นนิสม์กำลังเป็น ที่นิยมชมชอบในหมู่นักเรียนนักศึกษาขณะนั้นเป็นสมัยสงครามวัสดุอุปกรณ์ในการเขียนรูปมีราคาแพงมากและยังหาซื้อได้ยากยิ่ง แต่ก็มิใช่อุปสรรคของครูแม้แต่น้อยกลับเลือกทางออกอย่างมีสติ ด้วยความรักในงานศิลปะโดยการขึงเฟรมด้วยผ้าดิบแทนผ้าใบและใช้สีฝุ่นแทนสีน้ำมันโดยนำเอาสีฝุ่นมาบดจนละเอียดแล้วผสมกับน้ำมันเขียนรูป แม้กระนั้นผลงานของครูแนบก็ยังได้คะแนนดีจากอาจารย์ผู้สอน ทำให้อาจารย์ภาคภูมิใจในศิษย์คนนี้มาก

         ปีสุดท้ายของการเรียนที่เพาะช่าง ครูแนบต้องเรียนเต็มวันคือต้องแบ่งเรียนเป็นสองรอบ รอบเช้าเรียนที่เพาะช่าง รอบบ่ายเรียนที่ศิลปากร ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันทรงคุณค่าของครูแนบอย่างยิ่ง เพราะครูได้เก็บเกี่ยวความรู้ด้านศิลปะไว้อย่างเต็มเปี่ยมจากอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงและฝีมืออันยอดเยี่ยมทุกท่าน

กลับหน้าแรก