[ ประวัติความเป็นมา ]    [ สภาพภูมิประเทศ ]    [ พรรณไม้ ]    [ สัตว์ป่า ]     [ สิ่งที่น่าสนใจ ]    [ การเดินทาง ]

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
        ประวัติศาสตร์และตำนานของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ถูกเล่าสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี ชุมชน บ้านเมือง รวมถึงธรรมชาติแห่งขุนเขา "เขาหลวง" จึงมีความสำคัญสำหรับคนเมืองนี้ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวหาความเพลิดเพลินกับธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว และเป็นที่น่าสนใจสำหรับหาความรู้และค้นคว้าวิชาการเป็นอย่างยิ่ง

        อุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีเนื้อที่ 567 ตารางกิโลเมตร หรือ 354,375 ไร่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอุทยานฯ ที่มีสภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงมีสถานที่น่ารื่นรมย์ สำหรับพักผ่อนหย่อนใจเช่นน้ำตกภูเขายอดเขา ทิวทัศน์ ซึ่งเป็นทัศนียภาพที่สวยงามและเป็นธรรมชาติชวนฝัน ยากที่จะหาชมได้แห่งหนึ่งที่สำคัญของภาคใต้ เส้นทางคมนาคมก็สะดวกสบาย เพราะอยู่ไม่ห่างไกลจากตัวจังหวัดอันเป็นชุมชนใหญ่มากนัก ดังนั้น "ป่าเขาหลวง" นี้จึงเป็นอุทยานที่เหมาะสมยิ่งสำหรับการท่องเที่ยวหาความเพลิดเพลินกับธรรมชาติที่แท้จริง และเป็นที่น่าสนใจสำหรับหาความรู้และค้นคว้าทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง
         จากการสำรวจอย่างยังไม่เป็นทางการโดยนักพฤกษศาสตร์หลายคณะ พบว่า เขาหลวงมีพืชพรรณของป่าฝนเขตร้อนอยู่มากมาย โดยมีพืชไร้ดอกจำพวกเฟิร์นกว่า 200 ชนิดที่สำคัญ คือ มหาสะดำ เฟิร์นขนาดยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีพืชจากยุคดึกดำบรรพ์หลายชนิด อาทิ หวายทะนอย ช้องนางคลี่ หญ้ารังไก่ และ Psilotum Complanatum พืชมีท่อลำเลียงยุคเริ่มแรกซึ่งเป็น 1 ใน 2 ชนิด ของสกุลนี้ที่ยังเหลืออยู่ในโลก อีกทั้ง บัวแฉกใหญ่ (Depteris Conjugata) และบัวแฉกเล็ก (Cheiropleuria Bicuspis) ที่หายากอีกด้วย และสำหรับกล้วยไม้ป่า ก็มีการสำรวจพบกล้วยไม้พันธุ์หายากและพันธุ์ใหม่ของโลกอยู่หลายชนิด เช่น สิงโตใบพัดเขาหลวง Liparis Bicolor และกล้วยไม้บางชนิดในสกุล Didymoplexiella ซึ่งคาดว่าเป็นพันธุ์ใหม่ของโลก เขาหลวงจึงนับเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทาง ชีวภาพที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยและของโลก


        ประวัติความเป็นมา
        ป่าเขาหลวงเป็นป่าแห่งหนึ่งในบรรดา 14 แห่ง ที่คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7ตุลาคม 2502 ด้วยเหตุผลที่ว่า ป่าเขาหลวงประกอบด้วยเทือกเขาสูงมีภูเขาหลายลูกสลับซับซ้อนเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายที่ไหลผ่านตัวจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นต้นน้ำส่วนหนึ่งของแม่น้ำตาปีที่สำคัญยิ่งสายหนึ่ง เหตุที่ตั้งชื่อว่าอุทยานแห่งชาติเขาหลวงนั้น ก็เนื่องจากเอาชื่อของป่าเขาหลวงที่มีอยู่เดิม มาตั้งเป็นชื่ออุทยาน ฯ แห่งนี้ และได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชกฤฎีกา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 216 วันที่ 18 ธันวาคม 2517

        สภาพภูมิประเทศ
        อุทยานแห่งชาติเขาหลวงนี้มีพื้นที่ครอบคลุมตำบลต่าง ๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราชดังต่อไปนี้ คือ ตำบลเขาแก้ว ตำบลท่าดี ตำบลกำโลน - อำเภอลานสกา ตำบลท่างิ้ว ตำบลพรหมโลก ตำบลบ้านเกาะ ตำบลอินคีรี - อำเภอเมือง กิ่งอำเภอพรหมคีรี ตำบลดอนตะโก ตำบลโมคลาน ตำบลหัวสะพาน ตำบลกะหรอ ตำบลนบพิตำอำเภอท่าศาลา ตำบลละอาย ตำบลช้างกลาง - อำเภอวาง ตำบลเขาพระ ตำบลกะพูน - อำเภอพิปูน ป่าเขาหลวงมีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนทอดยาวจากเหนือจรดใต้ ระยะทาง ประมาณ 40 กิโลเมตร ทิศเหนือจรดคลองกลาย อำเภอท่าศาลา
        ทิศใต้จรดป่าเขาเหมน มียอดเขาหลวงเป็นยอดเขาสูงสุด(สูง 1,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล) อยู่บริเวณตอนกลางของเนื้อที่ ซึ่งเป็นจุดเด่นและสันเขานี้ก็จะค่อย ๆ ต่ำลงไปทางทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนลาดเขาก็จะลาดไปทางทิศตะวันออก แต่ละด้านประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนมากมายหลายลูก อันเป็นต้นน้ำลำธารและคลองต่าง ๆ หลายสายกว่า 15 คลอง เช่น คลองกรุงชิง คลองเขาแก้ว คลองท่าแพ คลองละอาย เป็นต้นซึ่งภูมิประเทศบางแห่งเป็นที่ราบแคบ ๆ ระหว่างหุบเขามีน้ำไหลผ่าน

        โดยเหตุที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวงนี้ ตั้งอยู่บนคาบสมุทรทำให้ได้รับลมมรสุมที่พัดผ่านทะเลทั้งสองด้าน จึงทำให้มีฝนตกเกือบตลอดปีและอากาศค่อนข้างเย็น ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและตกหนักในเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม ฝนจะเริ่มน้อยลงในเดือนมกราคม ระหว่างกุมภาพันธ์ ถึงเมษายนเป็นฤดูแล้ง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 3,500 - 4,000 มิลลิเมตร อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 15 - 17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28 - 30 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล
        ส่วนสภาพของดินและหินบนภูเขาต่าง ๆ นั้นเกิดจากการบุบสลายของหินแกรนิตเป็นส่วนใหญ่ บางแห่งดินมีสภาพเป็นลูกรัง (Laterity) และดินแดง Red-carth แร่ที่สำคัญมีอยู่บริเวณเขาหลวงนี้มีแร่ดีบุก วุลแฟรม และแร่เหล็ก

        พรรณไม้
        เนื่องมาจากการที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวงนี้มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง มีปริมาณฝนตกชุก ทำให้คลุมไปด้วยป่าดงดิบชื้น หรือแทบทั้งหมด ซึ่งมีบางแห่งมีสภาพเป็นป่าพรุหรือ ป่าบึง มีพันธุ์ไม้ที่พบมากมายทั้งประเภทไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งมีค่าทางเศษฐกิจและน่าศึกษาค้นคว้าทางวิชาการและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มากมาย ไม้ยืนต้นขนาดต่าง ๆ คือ มีไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม้พุ่มไม้พื้นล่างชนิดต่าง ๆ เถาวัลย์ ไม้จำพวกหวายและปาล์มขึ้นปะปนกันอย่างหนาแน่น สภาพส่วนใหญ่บนเทือกเขาเป็นป่าดั้งเดิม โดยไม่เคยผ่านการทำไม้มาก่อน
        พันธ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจที่พบมาก ได้แก่ ไม้หลุมพอ ไม้ตะเคียงทอง ไม้ตะเคียน ทราย ไม้ตะเคียนหิน ไม้จำปาและไม้ยางชนิดต่าง ๆ ฯลฯ ไม้พื้นล่างพวกเฟิร์น พวกตระกูลขิง ข่า มีขึ้นทั่วไปรวมทั้งเถาวัลย์ชนิดต่าง ๆทั้งขนาดใหญ่และเล็กทำให้สภาพป่าแน่นทึบมาก เพราะเฟิร์นนี้ชอบขึ้นตามริมห้วย หรือบริเวณที่ขึ้นมาก ๆ เช่น กูด ว่านกีบแรก มหัสดำและเฟิร์นต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้เป็นไม้ประดับได้ด้วย


        สัตว์ป่า
        ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวงนี้ มีสัตว์ป่าชุกชุมมากมายหลายชนิด แหล่งสัตว์ป่าชุกชุมส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอท่าศาลา โดยเฉพาะในบริเวณลุ่มน้ำคลองกรุงชิงตำบลนบพิตำ อำเภอท่าศาลา พื้นที่ภูมิประเทศเป็นที่ราบกลางหุบเขา เส้นทางคมนาคมกันดารและอันตรายมากทำให้บริเวณป่าแห่งนี้ไม่ค่อยถูกรบกวน จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเพราะปลอดภัย และมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์
        สัตว์ป่าที่อาศัยในเขาหลวงมี เช่น สมเด็จ หมี เสือโคร่ง เสือลายตลับ กวางขนาดเล็ก เช่น นกกะฮัง นกหว้า นกชนหิน นกกาเขาหรือนกเงือกดำ นกกางเขนดง นกแซงสวรรค์ และนกปรอดต่าง ๆ

        สิ่งที่น่าสนใจ
        ในป่าเขาหลวงนี้มีจุดเด่นที่สำคัญ และน่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยวที่เป็นภูเขาแม่น้ำลำคลองและน้ำตกหลายแห่ง ซึ่งเกิดจากต้นน้ำลำธารต่าง ๆ ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี สิ่งที่น่าสนใจคือ
        ยอดเขาหลวง เขาลูกนี้เป็นยอดเขาที่มีความสำคัญมากและมีความสูงที่เห็นเด่นชัด จากเทือกเขาที่มีอยู่อย่างสลับซับซ้อนมากมายหลายลูก ซึ่งยอดเขาหลวงนี้ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของเนื้อที่มีอยู่ 3 ยอดด้วยกัน ยอดเขาหลวงนี้อยู่อำเภอลานสกา มีความ สูง 1,835 เมตร จาก ระดับน้ำทะเลอีกสองตอนที่อยู่ใกล้เคียงก็มีความสูงลดหลั่นกันลงมานอกจากนี้ยังมีเขามหาชัย เขากล้วยไม้ เขาขี้แรด เขาไปร์ห เขาอบ เขาสำโรง เขาปริง เป็นต้น ซึ่งเขาเหล่านี้รวมกันเป็นเทือกเขาหลวงนั่นเอง
        ลำน้ำ ลำน้ำที่เกิดจากเทือกเขามี 2 ด้าน คือ ด้านตะวันออก มีคลองท่าดี คลองท่างิ้ว คลองนกท่า คลองในเขียว คลองท่าพุด (หรือชุมขลิงค์)
        คลองกาย คลองกรุงชิง คลองบิตำ และคลองเขาแก้ว (ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลำน้ำ คือคลองกะโรม ต้นกำเนิดของน้ำตกกะโรมอันสวยงามมากอยู่ในบริเวณส่วนหนึ่งของน้ำตก เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ)


        น้ำตกกะโรม อยู่ในท้องที่ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง ด้านตะวันตกมีคลองจันดีคลองท่าแพ คลองเลาะ คลองใหญ่ คลองรอแนะ และคลองดินแดง คลองทั้งหมดนี้ไหลไปรวมกันเป็นแควคิรีรัตน์ ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำตาปีไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  คลองละอายใหญ่
  และคลองละอายน้อย
  อยู่ในท้องที่ตำบลละอาย   อำเเภอฉวาง
  น้ำตกท่าแพ   อยู่ในท้องที่ตำบลช้างกลาง   อำเภอฉวาง
  น้ำตกพรหมโลก   อยู่ในตำบลพรหมโลก   อำเภอเมือง
  น้ำตกคลองในเขียว   อยู่ในเขตแดนท้องที่อำเมือง   และอำเภอท่าศาลา
  น้ำตกคลองท่างิ้ว   อยู่ในตำบลท่างิ้ว   อำเภอเมือง
  น้ำตกกรุงชิงฝนแสนห่า   อยู่ในตำบลนบพิตำ   อำเภอท่าศาลา
        น้ำตกแต่ละแห่งที่กล่าวมานี้มีหลายชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันไปนอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง คือ "ถ้ำแก้วสรกานต์" อยู่ในท้องที่ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา


        การเดินทาง
        เดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช ถนนลาดยางเป็นระยะทาง 800 กม. จากนครศรีธรรมราช-อำเภอลานสกา เป็นระยะทาง 33 กม. ทางลาดยางและถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 1.7 กม. โดยทางลูกรัง

สิ่งอำนวยความสะดวก
ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยวดังนี้
  สาลิกา   จำนวน 5 คน   ราคา 500 บาท
  สาวหยุด   จำนวน 5 คน   ราคา 500 บาท
  สาริกา   จำนวน 5 คน   ราคา 500 บาท
  กรุงชิง 1   จำนวน 6 คน   ราคา 400 บาท
  กรุงชิง 2   จำนวน 6 คน   ราคา 400 บาท
  กรุงชิง 3   จำนวน 5 คน   ราคา 300 บาท
  เต็นท์ 30 หลังๆ   ละ 2 คน   ราคา หลังละ 50 บาท
ติดต่อสอบถามได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
ที่อยู่  อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
หมู่ 4  ต.เขาแก้ว อ.ลานสะกา
จ.นครศรีธรรมราช 80230
โทร. 075-309047
ขุนเขากว้างใหญ่เสียดฟ้าที่เรียงรายรอบตัวเมืองนครศรีธรรมราช มีความหมายต่อชีวิตผู้คนบนพื้นล่าง เฉกเช่นเดียวกับ "เขาหลวง"ที่มอบสายน้ำ ซึ่งก็คือ เส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนเมืองนี้นั่นเอง


ข้อมูลโดย อุทยานแห่งชาติเขาหลวง


[ หน้าแรกเทศบาลตำบลปากแพรก ]  [ หน้าแรกอำเภอลานสกา ]