 |
ชัยอนันต์ สมุทวณิช |
|
ประสบการณ์และผลของการพัฒนาในรอบสี่สิบปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนจากข้อมูลและเครื่องชี้การพัฒนาของประเทศไทย ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการทบทวนและประเมินแนวคิดและทิศทางของแผนพัฒนาฯ อย่างจริงจัง โดยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดและทิศทางของแผนพัฒนา อีกทั้งเพิ่มเติมส่วนที่เคยขาดหายไป หรือไม่ได้มีการให้ความสำคัญไว้เท่าที่ควรหลายประการคือ |
|
|
 |
การทบทวนแนวคิดที่เน้นความจำเริญทางเศรษฐกิจ (Growth) แบบพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงดุลยภาพของมิติอื่นๆ ทางสังคม มาเป็นแนวคิดที่เห็นความสำคัญของการดำเนินการในทางสายกลาง ยึดหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" |
|
 |
ความพยายามที่จะหาแนวคิดและทิศทางในการแสวงหาและรักษาความจำเริญทางเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็นต้องมีความโลภ การไขว่คว้าหาประโยชน์มากจนเกินการ (Growth without Greed) ทั้งนี้รวมถึงการแสวงหาความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างพลังที่ขัดแย้งกัน เช่น ระหว่างกระแสการแข่งขันจากโลกานุวัตรและกระแสท้องถิ่นนิยม เป็นต้น |
|
 |
การเห็นความสำคัญของตัวแปรหรือปัจจัยที่มิใช่ตัวแปรหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยทางวัฒนธรรม ทางการเมือง และทางการศึกษา ในแง่ที่เป็นปัจจัยซึ่งมีฐานะและลำดับความสำคัญทัดเทียมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ มิใช่ปัจจัยที่ขึ้นต่อเงื่อนไขและคุณค่าทางเศรษฐกิจ |
|
 |
การยอมรับความแตกต่างระหว่างสาธารณกิจกับรัฐกิจ เศรษฐกิจกับธุรกิจ ภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาชน ด้วยการจัดความสัมพันธ์ใหม่ทั้งแนวดิ่งและแนวราบ โดยเน้นความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย ว่าจะต้องมีส่วนร่วมเป็นภาคีของการพัฒนา |
|
|
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนจาก ชุดภาษา ทางการพัฒนาแตกต่างไปจากชุดภาษาทางการพัฒนาในแผนพัฒนาฉบับที่ 1-7 ยิ่งในการเตรียมการแผนฯ 9 ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีชุดภาษาที่ทำให้คาดแนวโน้มของการพัฒนาได้ว่าจะมีการแสวงหาดุลยภาพระหว่างพลังทางเศรษฐกิจกับพลังทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองมากขึ้น |
|
ในขณะที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เน้นการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันและแผนฯ 9 ยังคงแนวทางนี้ไว้ แต่ก็ได้ให้ความสำคัญต่อแนวทางการพัฒนาของประชาชนอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก กล่าวคือได้กำหนดประเด็นการพัฒนาที่สำคัญในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ดังนี้
|
 |
การพัฒนาคุณภาพคนและคุณค่าวัฒนธรรมไทยจะทวีความสำคัญมากขึ้น |
|
 |
การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นมิติสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ |
|
 |
การแก้ปัญหาความยากจนเป็นพื้นฐานสำคัญไปสู่การสร้างความเป็นธรรมในสังคม |
|
 |
การเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนจะเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคมให้เข้มแข็งมากขึ้น |
|
 |
การอนุรักษ์ฟื้นฟูและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มข้อจำกัดมากขึ้น |
|
 |
การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน |
|
 |
การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ |
|
 |
การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันของไทยในเวทีโลก |
|
 |
การเสริมสร้างกระบวนการกระจายอำนาจเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน |
|
 |
ประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนเป็นเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการเพื่อการแข่งขันในเวทีโลก |
|
|
จุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนาประเทศในระยะ 20-30 ปี ข้างหน้าได้แก่ การมุ่งเน้น "การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย" โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบองค์รวมที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และคำนึงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างมีดุลยภาพ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม |
|
แนวคิดปรัชญาหลัก คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง |
|
สังคมไทยที่พึงปรารถนาในอนาคต ได้แก่ สังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพ ใน 3 ด้าน คือ
|
 |
สังคมคุณภาพ |
|
 |
สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ |
|
 |
สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน |
|
|
ประเด็นมีอยู่ว่า ปัจจัยใด จะมีผลด้านบวกในการผลักดันให้เกิดสังคมที่พึงปรารถนา หากเรามีปรัชญาและเป้าหมายดังกล่าวนี้ ทำอย่างไรจึงจะมีสังคมที่พึงปรารถนาเป็นอุดมคติเช่นนี้ได้ |
|
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จัดเป็นกติกาทางการเมืองที่กำหนดกรอบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลังต่างๆ ทางสังคม จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดสังคมที่พึงปรารถนาในระยะยาวได้ แต่การมีรัฐธรรมนูญที่ดีก็เป็นเพียงก้าวแรกของการปฏิรูปการเมืองเท่านั้น การบริหารจัดการและการปกครองที่ดี (ธรรมรัฐ) ขึ้นอยู่กับการมีปรัชญาแนวทางและทัศนคติที่เหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อการบรรลุเป้าหมายของสังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพทั้งสามด้าน คำถามก็คือ ปรัชญาแนวทางและทัศนคติทางการเมืองของเรานั้นก่อให้เกิดการส่งเสริมให้มีสังคมคุณภาพ สังคมแห่งภูมิปัญญา สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกันหรือไม่ |
|
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปรัชญาและแนวทางที่เหมาะสม และสามารถพึ่งพาอาศัยให้มีสังคม ที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพทั้งสามด้านได้แต่ปัจจัยที่เหนียวรั้งไว้ก็คือ ทัศนคติและพฤติกรรมทางการเมือง ซึ่งจะต้องถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ |
|
ทัศนคติและพฤติกรรมทางการเมืองเกิดจากธรรมเนียมปฏิบัติ๓มิหลังการกล่อมเกลา และประสบการณ์ของนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มการเมือง และส่วนย่อยต่างๆ ในระบบการเมืองและระบบราชการซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายและมีระดับของจิตสำนึกต่างกัน |
|
เงื่อนไขเบื้องต้นในการปรับทัศนคติและพฤติกรรมทางการเมือง การบริหารจัดการ และการปกครองที่ดี ได้แก่ ความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญและการมีระบอบรับธรรมนูญ ที่มีดุลยภาพของประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ในอดีตเรามีการพัฒนาประเทศโดยมีแผนพัฒนาที่ต่อเนื่อง ชัดเจน แต่ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมานี้ เราไม่มีฉันทานุมัติทางการเมืองที่แน่นอน ชัดเจน และต่อเนื่อง เราไม่อาจพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนได้ หากเราไม่มีระบอบรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืน สังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพจะต้องมีความเห็นพ้องต้องกันของสมาชิกสังคมในกติกาการปกครองที่ดีเสียก่อน กติกาการปกครองที่ดีนั้นย่อมไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความเข้มแข็งของกลุ่มที่ได้เปรียบอยู่แล้วจนไปทำลายหรือทำให้กลุ่มที่เสียเปรียบและด้อยโอกาสอ่อนแอลงไปอีก |
|
บทบัญญัติในหมวดต่างๆ ของรัฐธรรมนูญเป็นกรอบใหญ่ ซึ่งปรัชญา แนวทาง และทิศทางของการพัฒนาจะต้องมีความสอดคล้องกับบทบัญญัติเหล่านี้ ทั้งนี้ประชาชน นักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องมีความเข้าใจและมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อหลักการสำคัญต่างๆ ของระบอบรัฐธรรมนูญด้วย |
|
หากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีความยั่งยืนถึง 20-30 ปี ท่ามกลางพลังกดดันของกระแสโลกานุวัตร และอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจเสรีที่ถือว่ากลไกตลาดเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมที่เหมาะสมที่สุด และสถาบันทางการเมืองจะต้องเป็นส่วนเสริม เราก็มีความจำเป็นที่จะตรวจสอบความสัมพันธ์ของคุณค่าหลักทางเศรษฐกิจและการเมืองในบริบทของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อปัญหาหลักของสังคมไทย ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้ |
|
|
 |
ต้องปรับความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทระบบเศรษฐกิจเสรีให้ถูกต้องว่า มิได้แยกออกจากมิติทางสวัสดิการและจริยธรรมโดยเด็ดขาด |
|
 |
ความเสมอภาค (Equality) กับอิสระเสรีภาพ (Liberty) อาจเสริมกันหรือขัดแย้งกันก็ได้แล้วแต่กรณี ความเสมอภาคมีความหมายสองนัย คือ ความเสมอภาคที่มุ่งยกระดับสถานภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้มีความเป็นธรรมกับความเสมอภาคทางโอกาสโดยทั่วไปแล้ว ระบอบประชาธิปไตยที่มีระบบเศรษฐกิจเสรีที่เน้นกลไกตลาด เป็นระบอบที่ให้หลักประกันความเสมอภาคทางโอกาส ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค
ความเหลื่อมล้ำอย่างมาก บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยและปรัชญาการพัฒนาของแผนฯ 9 ต้องการส่งเสริมความเสมอภาคทั้งสองแบบ ปัญหามีว่าจะหาดุลยภาพอย่างไร เพราะบางสังคม เช่น สังคมอเมริกัน มีความชัดเจนว่าถือหลักความเสมอภาคทางโอกาส แต่สังคมไทยเรามีปัญหาแตกต่างไป เราจะมีแนวทางและมาตรการอย่างไร จึงจะทำให้รัฐดำเนินนโยบายตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยเฉพาะมาตรา 76 มาตรา 78 มาตรา 79 มาตรา 80 มาตรา 83 มาตรา 84 มาตรา 85 มาตรา 86 และมาตรา 87 ให้มีดุลยภาพ โดยเฉพาะมาตรา 83 (รัฐต้องดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม) กับมาตรา 87 (รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีการสาธารณูปโภค) |
|
|
หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลได้กระตือรือร้นในการดำเนินการตามมาตรา 87 ด้วยการรีบเร่งออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางโอกาส โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเสมอภาคทางการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีน้อยมาก จึงเห็นแนวโน้มว่า รัฐฐาลตามระบอบประชาธิปไตยได้กระทำการสวนทางกับการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพ และในระยะของแผนฯ 9 ผลของการเร่งดำเนินการเช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความไม่สมดุลและการไร้ดุลยภาพมากยิ่งขึ้น แนวโน้มจึงเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อเพิ่มพลังให้กลไกตลาดมากกว่าที่จะเพิ่มพลังให้คนไทยและชุมชนท้องถิ่นหรือประชาสังคม แต่เป็นการเพิ่มพลังให้แก่ภาคธุรกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศมากกว่า |
|
 |
การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม ประเด็นนี้พูดกันมากแต่ยังไม่มีการพินิจพิจารณาถึงที่มาของความคิดเรื่องการกระจายอำนาจ ความคิดนี้เป็นความคิดของอเมริกันที่รู้สึกว่า การที่อำนาจกระจายตัวออกไปนั้นสำคัญกว่า ดีกว่าการกระจุกตัวของอำนาจ สำหรับสังคมไทยนั้น ควรตรวจสอบถึงความเหมาะสมของกิจกรรมและกิจการที่จะมีการกระจายอำนาจ และบางกรณีที่จำเป็นจะต้องมีการระดมพลังรวมอำนาจกันเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเพื่อส่วนของสังคมที่เสียเปรียบ โดยเชื่อมโยงกับพื้นที่ภารกิจ และการมีส่วนร่วม (ภารกิจของทั้งหมดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน) |
|
 |
เศรษฐกิจเสรีนิยม ประชาธิปไตยกับความยากจน ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ 2 แต่ขอขยายความว่า ระบอบประชาธิปไตยมีสถาบันทางการเมืองและนักการเมืองเป็นกลไกสำคัญที่จะจัดการกับความขัดแย้งระหว่างระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมกับปัญหาของความยากจน ทัศนคติของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีต่อปัญหาความยากจน มีผลสำคัญในการจัดการกับปัญหานี้ หากรัฐบาลไม่ถือเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขจัดการกับปัญหานี้ โดยเห็นว่าเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องจัดการแก้ปัญหานี้เอาเอง ก็จะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศที่ตั้งเป้าหมายว่าอยากมีสังคมที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ แนวคิดที่ครอบงำรัฐบาลไทยในระยะนี้ก็คือ แนวคิดที่ว่าควรแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นความไม่เป็นธรรมภายในหรือระหว่างประเทศ |
|
 |
การปกครองที่ดีจะมีความหมายที่แคบหรือกว้างและเป็นไปเพื่อสนองต่อเป้าหมายใด ที่แคบก็คือ การเน้นประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นไปเพื่อรองรับและส่งเสริมระบบและคุณค่าของระบบเศรษฐกิจเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด (ตามแนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 87) ถ้ากว้างก็หมายถึงการเมืองของพลเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพด้วย มีข้อควรระมัดระวัง การปกครองที่ดีจะกลายเป็นอาวุธของมาตรา 87 มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือของหมวด 3 (สิทธิ และเสรีภาพของชนชาวไทย) และบทบัญญัติต่างๆ ในหมวด 5 ที่มีลักษณะที่ก่อให้เกิดภารกิจของรัฐในมิติของความสัมพันธ์ประชาธิปไตยทางสังคม (Social Democracy) |
|
|
สถาบันทางการเมืองที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างดุลยภาพ 3 ด้านดังกล่าวมาแล้ว น่าจะเป็นพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎรแต่ในสังคมไทยนั้น การพัฒนาทางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะได้ส่งผลให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรเอกชน องค์กรประชาชนที่มีความแปลกแยกทั้งด้านหลักปรัชญา แนวทาง และวิธีการดำเนินงานไปจากพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญปัจจุบันยังไม่เป็นฉันทานุมัติเด็ดขาด หากเป็นการประนีประนอมระหว่างพลังสองประเภทคือ ระหว่างนักการเมืองที่มีกลุ่มมีฝักฝ่ายและจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองกับนักกิจกรรมสาธารณะที่ส่วนใหญ่ไม่มีฝักฝ่ายทางการเมืองในลักษณะของการจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง วุฒิสภามีความชอบธรรมเสมอกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง |
|
ความวุ่นวายที่เกิดจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2 ครั้งในปี 2543 เป็นผลมาจากความพยายามของการเมืองแบบเก่าในการเข้าไปยึดกุมและควบคุมการเมืองของพลเมือง ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของแผนฯ 9 จึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองแบบเก่ากับการเมืองแบบใหม่ ซึ่งการเมืองของพลเมืองได้มีพื้นที่ทั้งทางการเมือง (ตามรัฐธรรมนูญอย่างชอบธรรม) และทั้งทางการพัฒนา (การปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดทำแผนพัฒนา ตั้งแต่ฉบับที่ 8 และชัดเจนมากขึ้นในแผนฯ 9) และมีมาตรา 89 ของรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดเชื่อมโยงการเมืองสองประเภทนี้ไว้ (การมีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) |
|
ในปลายปี พ.ศ. 2534 ก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ได้เริ่มมีความคิดและการเคลื่อนไหวที่จะปรับเปลี่ยนกติกาหลักของประเทศ มิให้พลังของเหล่ารุ่นในกองทัพอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่คุมกำลังทหารเป็นฐานอิทธิพล และอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจ เป้าหมายร่วม และลำดับความสำคัญของการปฏิรูปการเมืองในระยะนั้น ซึ่งเป็นช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ได้แก่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่วิสัยทัศน์นี้ เป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาประเทศกับเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองยังแยกส่วนกันอยู่ ไม่สัมพันธ์สอดคล้องกัน แม้ว่าคณะ รสช.จะสิ้นอำนาจลงในปี พ.ศ. 2535 แต่ก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนกติกาหลักที่เป็นกรอบของความสัมพันธ์กับคณะทหาร-ข้าราชการและนักการเมือง) กับพลังของภาคประชาชน ซึ่งแม้จะก่อเกิดและประผลในการผลักดันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาเป็นระยะๆ ในช่อวงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 แต่ก็ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้เป็นไปในทางที่เปิดโอกาสให้พลังของภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวางได้ |
|
การเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญนี้ใช้เวลาถึง 6 ปี คือตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2534-2540 ความคิดและการเคลื่อนไหวนี้เกิดจากความกดดัน และความเกรงกลัวว่าระบอบทหารเหล่ารุ่นจะครอบงำวิถีการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เมื่อพลังร่วมของ รสช. สลายลง การเมืองก็ถูกชี้นำและครอบงำโดยพรรคการเมืองนักการเมือง ซึ่งอาศัยความชอบธรรมของการมาจากการเลือกตั้งเข้ามายึดพื้นที่ทางการเมือง พลังจากภาคประชาชนจึงต้องเริ่มการกดดันต่อสู้ใหม่ ด้วยการผลักดันและเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ นอกจากนั้นก็ได้มีการเคลื่อนไหวควบคู่กันไปในการร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และแนวทางในการพัฒนาประเทศจึงสอดคล้องรองรับเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังมิได้มีการยอมรับว่าพลังของภาคประชาชนนอกระบบราชการมีคุณประโยชน์และจำเป็นในการเป็นพลังหลักร่วมกันในการพัฒนาประเทศ เพราะบวนการทัศน์ของการพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ยังมีความเจริญเติบโตอยู่ ตราบจนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในต้นแผนพัฒนาฯฉบับที่ 8 แนวคิดของกระแสรองที่เรียกร้องให้มีการทบทวนและเหนี่ยวรั้งแนวคิดเศรษฐศาสตร์และการพัฒนากระแสหลัก
(พัฒนาอุตสาหกรรมเน้นการส่งออก เปิดเสรีทางการเงิน การลงทุน การค้าอย่างไม่จำกัดส่งเสริมกลไกตลาด) จึงเริ่มมีน้ำหนักและมีการคิดอย่างจริงจัง |
|
อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องของระบบรัฐสภามีผลทำให้เกิดการเมืองที่มีพรรคการเมือง-นักการเมืองเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐสามารถทำให้การเมืองกลายเป็นธุรกิจมากขึ้น นักการเมืองมีผลประโยชน์และอาศัยอำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์เชิงธุรกิจทั้งทางตรงและด้วยการร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจทั้งภายในประเทศและข้ามชาติมากขึ้น จะเห็นได้ว่าภาคประชาชนได้มีการเคลื่อนไหวในทางตรงข้าม หรือการทัดทานนโยบายหลักด้านต่างๆ ของรัฐบาลมากขึ้น โดยขยายวงจากประชาชนที่เป็นเกษตรกรไชชอนไปสู่นักวิชาการ นักธุรกิจ และข้าราชการทหาร-พลเรือนบางส่วน |
|
แผนพัฒนาฉบับที่ 9 ให้ปรัชญาแนวทางและประเด็นการพัฒนาที่กว้างพอในการรองรับการปกครองที่ดีในความหมายที่กว้าง ดังนั้นจึงต้องหาจุดที่เป็นกลไกและกระบวนการในการเชื่อมโยงการเมืองสองประเภทนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดี การปกครองที่ดีมีความหมายกว้างไปกว่าการเป็นเพียงเครื่องมือของระบบเศรษฐกิจเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด ในระหว่าง พ.ศ. 2541-2542 เราไปเน้นการดำเนินการตามมาตรา 87 มากเกินไป รวดเร็วเกินไปจนเกิดการลัดวงจรของระบอบประชาธิปไตย (กรณีพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ) และอาศัยรัฐสภาออกกฎหมายตามเงื่อนไขของ IMF ซึ่งเป็นการอาศัยอำนาจรัฐไทยเพื่อออกกฎหมายให้สอดคล้องกลมกลืนกับระบบเศรษฐกิจเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดสังคมไทยที่จะเคลื่อนเข้าสู่อนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้า จึงจะขาดดุลยภาพอย่างแน่นอน เพราะได้มีการจัดทำกฎหมายเศรษฐกิจเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางของสังคมไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงขอให้มีการทบทวนหรือเพิ่มมิติของประชาธิปไตยทางสังคม - วัฒนธรรมและการเมืองมาถ่วงดุลประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจไว้บ้าง ก็จะช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมายของการมีสังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพอย่างแท้จริงได้ |
|
สังคมไทยที่พึงปรารถนาในอนาคตจะเกิดขึ้นได้ในระยะยาวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายแต่ละด้าน แรงผลักทางเศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศ และพลังทางการเมืองที่หนุนด้วยแรงผลักทางธุรกิจทำให้ความหมายของคำว่า "คุณภาพ" หนักไปในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจให้แข่งขันได้ นโยบายเศรษฐกิจที่ได้รับการผลักดันมากกว่านโยบายด้านอื่นๆ ก็คือ นโยบายเศรษฐกิจที่ยึดหลักการแข่งขันเสรีโดยกลไกตลาด ดังนั้นการพัฒนาสู่สังคมคุณภาพจึงต้องมีการพัฒนานโยบายและนำนโยบายด้านการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมควบคู่กันไปด้วย |
|
การพัฒนาสู่สังคมที่สมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน น่าจะมีลำดับความสำคัญสูงสุดเป็นแกนหลักของการพัฒนา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายใหญ่ของเป้าหมายย่อยทั้งปวง การพัฒนาสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ กับการพัฒนาสังคมคุณภาพนั้นต่าจะเป็นส่วนประกอบที่มุ่งสนองเป้าหมายใหญ่ของการมีสังคมที่สมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน หากเป็นเช่นนี้ การบริหารจัดการและการปกครองที่ดีก็จะต้องเปิดช่องทางให้กลไกและกระบวนการที่จะพัฒนานโยบายและมาตรการต่างๆ ในการแสวงหาความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างกระแสโลกานุวัตรกับการเพิ่มพูนความสามารถของคนชุมชนและกลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ในการร่วมกันดำรงไว้ซึ่งคุณค่าเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันหลากหลาย ภายใต้ฉันทานุมัติของการมีสังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน การพัฒนาเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง การดูแลช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนในสังคมจะต้องเป็นนโยบายที่มีลำดับความสำคัญสูง ผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนในสังคมต้องมีความสามารถในการเข้าถึงผู้มีอำนาจการตัดสินใจและมีช่องทางอย่างเป็นทางการ เช่น ตามกลไกและกระบวนการทางรัฐสภาเพื่อรับฟังและพิจารณาให้ความช่วยเหลือ |
|
การตั้งเป้าหมายการพัฒนาไว้อย่างเป็นอุดมคติกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น มักขัดแย้งกันเสมอ โลกสากลกำลังถูกชี้นำโดยความใฝ่ฝันเพื่อบรรลุถึงสังคมอุดมคติแบบทุนนิยมที่เน้นความสำคัญของวัตถนิยมและระบบการเมือง การปกครอง การบริหาร จัดการก็มีการปรับปรุงพัฒนาภายใต้หลักการปกครองที่ดี (Good Governance) ให้สนองตอบต่อสังคมอุดมคติแบบนั้น กล่าวได้ว่าระบอบประชาธิปไตยที่เรากำลังทำการเร่งปฏิรูปการเมืองอยู่ในขณะนี้ ได้รับการออกแบบและพัฒนามาเพื่อธำรงรักษาและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับสังคมอุดมคติแบบทุนนิยมที่เน้นความสำคัญของวัตถุนิยม หากแผนฯ 9 ต้องการให้เกิดสังคมไทยที่พึงปรารถนาอย่างที่ต้องการ แผนฯ 9 น่าจะต้องมีการส่งเสริมให้เรามาร่วมกันคิดออกแบบระบบการเมืองใหม่ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการปรับปรุงระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก คงไว้เฉพาะแกนหลักที่เป็นคุณค่าสากลที่เป็นสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐาน โดยจะต้องคำนึงถึงความเสมอภาคในแง่ของการขจัดและลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ-สังคมให้มากกว่าความเสมอภาคในแง่ของการเปิดให้ปัจเจกบุคคลมีโอกาสเท่าเทียมกัน นอกจากนั้จะต้องหายุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางการเมืองในการรับการรุกของขบวนการทุนสากลและทุนต่างชาติในการแสวงหาทรัพยากรและผลกำไรจากสังคมไทยด้วย |
|
การมีการเลือกตั้งและรัฐสภาเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่พอเพียงสำหรับการมีสังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน เพราะกลไกและกระบวนการทางรัฐสภาไม่อาจดูแลแก้ไขปัญหาของผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนซึ่งอยู่ชายขอบของวงการเมืองได้ จะต้องมีกลไกและกระบวนการที่สามารถช่วยเหลือกลุ่มด้อยโอกาสและคนยากจน รวมทั้งกลไกและกระบวนการในการสร้างสังคมคุณภาพกับวังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่อยู่ในภาคประชาชนด้วย แล้วเชื่อมโยงกลไกและกระบวนการของภาคประชาชนเข้ากับกลไกและกระบวนการของภาคประชาชนเข้ากับกลไกและกระบวนการของภาครัฐและภาคการเมือง |
|
หากวุฒิสภาใหม่จะคิดพัฒนากลไกและกระบวนการของวุฒิสภาที่จะเชื่อมโยงกับภาคประชาชนได้ โดยร่วมมือกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นสามเส้า ไตรภาคีของเครือข่ายองค์กรประชาชน วุฒิสภา และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินี้ จะเป็นกลไกและกระบวนการสำคัญที่จะดูแลให้เป้าหมายของสังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพทั้งสามด้านเป็นไปได้ ส่วนการดำเนินงานจะเป็นเช่นไรนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดต่อไปนี้ เมื่อวุฒิสภาและสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว ในช่วงเวลานี้ควรจะมีการคิดร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งสามฝ่ายถึงโครงสร้างกระบวนการ และวิธีการร่วมงานกันล่วงหน้าไว้ ที่สำคัญคือ สภาที่ปรึกษาฯ นี้จะต้องให้องค์กรประชาชนได้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมที่แท้จริง หาไม่แล้วองค์กรประชาชนก็จะจัดเครือข่ายสัมพันธ์โดยตรงกับวุฒิสภา  |
|
 |
|
ที่มา: ชัยอนันต์ สมุทวณิช. วิสัยทัศน์ไทยในสังคมโลก, กรุงเทพฯ: อมรินทร์, สิงหาคม 2543, |
|
|
|
|