กลับหน้าแรกรวมบทความ
Good Governance ปัจจุบันก็ยังหาคำแปลได้ไม่ถูกต้อง อาจมีอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีคนหนึ่งที่มีความกล้าที่เสี่ยงเสนอคำว่าธรรมรัฐ ในขณะเดียวกัน ในกลุ่มที่ผมกำลังทำงานร่วมอยู่ด้วยพูดเรื่อง Good Governance ที่สถาบันทีดีอาร์ไอ มีคนเสนอใช้คำว่าธรรมภิบาล ในขณะเดียวกัน มีนักวิชาการหลายท่านกำลังคิดค้นคำคำนี้อยู่ สุดท้ายนี้ยังไม่ทราบว่าคำไหนจะสอบผ่านราชบัณฑิตยสถาน เหมือนคำว่าโลกาภิวัฒน์ หรือคำว่าโลกานุวัตน์ ฉันใดก็ฉันนั้น


เรามีคำว่าธรรมรัฐแล้ว เราจะมีคำว่าธรรมาภิบาลซึ่งมาจากคำว่าธรรมและอภิบาล คำสุดท้าย ศุประศาสนกาล ศุแปลว่าดีงาม ประศาสนแปลว่าการปกครอง ถูกรวมกันเข้าเป็นศุประศาสนกาล จึงหมายถึงการปกครองที่ดี


Good Governance เมื่อ 15-20 ปี จะไม่ได้ยินใครใช้คำนี้เท่าไร ทั้งที่เป็นศัพท์ที่มีรากฐานมานานแล้ว เหตุผลหนึ่งก็คือ หลังสงครามโลกครั้งที่สองประเด็นที่ถกเถียงกันคือ ประเด็นที่มีการสงครามต่อสู้กันนั้นไม่ใช่ประเด็นของเรื่อง Good Governance แต่กลายเป็นประเด็นทางด้านการเมือง โดยระบบการเมืองหรือระบบอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นฝ่ายไหนจะดีกว่ากัน ฝ่ายทุนนิยมหรือฝ่ายที่กลไกตลาดจากฝ่ายสังคมนิยม หรือฝ่ายที่ใช้การวางแผนจากรัฐบาลกลาง เราไม่ได้ยินคำว่า Good Governance ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองก็ดี สงครามเวียดนามก็ดี


ศัพท์คำนี้เพิ่งมาเริ่มใช้สักระยะไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา นำมาใช้ครั้งแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปพูดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และผมได้ไปพูดในที่ต่างๆ ต่อมาก็มีคนพูดกันมากขึ้นๆ ศัพท์นี้เป็นศัพท์ที่แปลยากและอธิบายก็ไม่ใช่ง่ายนัก


Good Governance คือผลลัพธ์ของการจัดการกิจกรรม ซึ่งบุคคลและสถาบันทั่วไป ภาครัฐและเอกชนมีผลประโยชน์ร่วมกันได้กระทำลงไปในหลายทาง มีลักษณะเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การผสมผสานประโยชน์ที่หลากหลายและขัดแย้งกันได้ นั่นเป็นการนิยามคำ Good Governance ในลักษณะซึ่งสาระและเข้าใจความไม่แตกต่างกันเท่าไร ส่วนธนาคารโลกได้ให้คำนิยามคำ Good Governance คือลักษณะและวิถีทางของการที่อำนาจได้ถูกใช้ในการจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อการพัฒนา


ไม่ว่าจะใช้คำนิยามอะไรอาจแตกต่างกันไปบ้างในเรื่องของความหมายแต่ในสาระจริงๆ แล้ว Good Governance คือสิ่งที่ผ่านมาในระบอบประชาธิปไตย ระบบพรรคการเมือง ระบบรัฐสภา เราพูดถึงความโปร่งใส ความกล้าหาญในการรับผิดชอบ การขัดผลประโยชน์กัน อาจพูดอะไรได้หลายอย่างแต่ทั้งหมดถือเป็นเรื่องย่อย


ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหน ในรัสเซีย ยุโรปตะวันออก เอเชีย ละตินอเมริกา มักจะพูดว่าวิถีทางที่ถูกต้องคือวิถีทางประชาธิปไตย แต่คำว่าประชาธิปไตยก็มีขั้นตอนแตกต่างกันไป มีรูปแบบแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยใจจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย จุดขายของประเทศขณะนี้ก็คือการเป็นประชาธิปไตย อันนี้เป็นการก้าวสู่ยุคใหม่ เพราะทุกคนไม่ว่าเป็นรัสเซีย ปัจจุบันอาจจะเหลือ 2 ประเทศเท่านั้น คือเกาหลีเหนือและคิวบา ที่ยังยึดถือกับระบบเก่าอยู่ ประเทศอื่นๆ ในระบอบสังคมนิยม ระบอบคอมมิวนิสต์ ระบอบอะไรก็แล้วแต่ แตกสลายไปหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระบอบสังคมนิยม ระบอบคอมมิวนิสต์ไม่ได้แตกสลายไปเพราะความไม่ดีของลัทธิความคิด แต่ที่ต้องถึงจุดจบก็เพราะว่ารัฐหรือรัฐบาลที่อ้างสังคมนิยมก็ดี อ้างคอมมิวนิสต์ก็ดี ปกครองประเทศนั้นถึงความหายนะ เพราะเป็นรัฐบาลเผด็จการ และเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการบริหารประเทศชาติด้วยความยุติธรรม ด้วยจริยธรรม หรือเป็นรัฐบาลเผด็จการและเป็นรัฐบาลที่ไม่มี Good Governance


อันนี้เป็นสัจธรรม ผมเองมีความเคารพในแง่ความคิดของอุดมการณ์ทางการเมืองของทั้งสังคมนิยมและลัทธินิยม ความเคารพในความบริสุทธิ์ในความตั้งใจดีของวิถีทางอุดมการณ์ แต่ในขณะเดียวกันความหายนะที่เกิดขึ้นกับอุดมการณ์นั้นไม่ใช่เพราะตัวอุดมการณ์เอง แต่เป็นเพราะวิธีการปกครอง คือใช้ระบบเผด็จการ มีคอร์รัปชั่น และใช้ระบบที่ไม่มี Good Governance


เราจะอ้างว่าเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเราคิดและหวังว่าดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ แต่ถ้าคนของสังคมคนไทยเราไม่ปฏิรูปตัวเอง ไม่สังคายนาตัวเอง การอ้างอิงว่าเรามีรัฐธรรมนูญดีกว่าคนอื่น ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 15 ฉบับที่ผ่านมา เรามีกลไกการคานอำนาจกันและกัน มีความโปร่งใส มีการตรวจสอบ จะพอหรือไม่ คำตอบคือไม่พอ เราต้องเรียกร้องสิ่งที่มีมากกว่านั้น รัฐธรรมนูญนั้นกินทันทีไม่ได้ รัฐธรรมนูญจะออกผลออกดอกมาก็เป็นระยะไกล แต่ประชาธิปไตยหรือระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีควบคู่ไปกับ Good Governance แล้วผลผลิตจะออกมาทันที อันนี้เป็นจุดสำคัญ และเป็นจุดสำคัญที่เราพูดเรื่องการปฏิรูปการเมืองของไทย


การเขียนรัฐธรรมนูญของไทยฉบับใหม่ การยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การนำรัฐธรรมนูญใหม่ไปใช้ อันนี้เป็นจุดหนึ่งของการเริ่มต้นการปฏิรูปเพื่อให้สังคมไทยปฏิรูปทางการเมือง แต่ยังไม่พอ สังคมไทยต้องปฏิรูปประเทศชาติ และการจะปฏิรูปประเทศชาติได้ก็ต่อเมื่อเรายึดหลักอะไรบางอย่างซึ่งเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญฉบับนี้


สาระของรัฐธรรมนูญฉบับบนี้ หัวใจของรัฐธรรมนูญนี้คืออะไร เราอาจจะมีรัฐธรรมนูญ 336 มาตรา ต่อไปอาจคิดเพิ่มขึ้นอีกหรืออาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่หัวใจและรากฐานของรัฐธรรมนูญนี้คืออะไร หัวใจและรากฐานของรัฐธรรมนูญนี้มีอยู่ 2 จุด จุดแรกคือการใช้อำนาจรัฐ ที่ผ่านมาการใช้อำนาจรัฐในสังคมไทยเป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต เป็นการใช้อำนาจโดยตัวแทนที่อาจไม่มีคุณลักษณะที่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน เป็นการใช้อำนาจโดยรวมอยู่ที่จุดศูนย์กลาง เป็นการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เป็นการใช้อำนาจโดยไม่มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน ไม่มีการตรวจสอบ และไม่มีระบบที่ทำให้โปร่งใสที่นำไปสู่ความรับผิดชอบ เป็นการใช้อำนาจโดยคนกลุ่มหนึ่ง โดยการยินยอมของคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่รู้เรื่อง


จุดที่สอง หัวใจของรัฐธรรมนูญนี้คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผ่านมาเราเพียงแต่บ่นแต่คำว่าเขายื้อแย่งอำนาจเราไป แล้วเขาไปใช้อำนาจในทางไม่ถูก คำถามที่คนไทยต้องถามตัวเองว่า ใครที่ยอมให้เขายื้อแย่งอำนาจไป ตบมือข้างเดียวไม่ได้ เสียงจะไม่ดัง คนไทยเราเอง สังคมไทยเราเอง ในระยะ 65 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ประชาชนที่นั่งอยู่ที่นี่และที่อื่นๆ นั้นต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย ไปนั่งด่านักการเมืองตลอดเวลามันเป็นไปไม่ได้เขาผิด มีข้อบกพร่อง แต่ตัวประชาชนเองก็ผิดและมีข้อบกพร่อง และนี่คือประชาชนที่ผิดมีข้อบกพร่อง จะไปโทษชาวไร่ชาวนาไม่ได้ เพราะรากฐานการมีระบอบประชาธิปไตยคือด้านการศึกษา เราจะไปโทษชาวไร่ชาวนาที่การศึกษาไม่ถึงไม่ได้ ความจริงความผิดก็ตกอยู่กับคนที่ผ่านรั้วมหาวิทยาลัยที่ทำงานเป็นผู้บริหาร เป็นนักธุรกิจ บุคคลชั้นกลางของสังคมไทย คนที่มีการศึกษา คนที่มีแต่บ่นด่าแต่ไม่ทำอะไร


ระบอบประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้ ถ้าอาศัยการตรวจสอบเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบอยู่ในใจของตัวเอง ใช้ความคิดวิจารญาณแล้วหาความจริง ฝักใฝ่ในความจริง และนับถือความจริง เพราะโดยรัฐธรรมนูญนี้มีรากฐาน มีสาระหัวใจ 2 ประการ คือ การใช้อำนาจรัฐและการมีส่วนร่วมของประชาชนฉันใดก็ฉันนั้น การปกครองบริหารที่ดีของประเทศชาติต้องยึดถือ 2 หลักนี้ Good Governance หรือจะเรียกว่าธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล ศุประศาสนกาล ก็แล้วแต่ แต่สิ่งเหล่านี้จะเปิดฉากใหม่ เรากำลังเรียนรู้ปรัชญาความคิดใหม่ เรากำลังมาเรียนรู้ปรัชญาความคิดใหม่ เรากำลังมาเรียนรู้ว่าสังคมไทยจะขอรับรู้ถึงแนวทางความคิดที่ใช้ประโยชน์ในสังคมอื่นมาแล้ว เรากำลัง มาเรียนรู้ว่าสังคมไทยจะรับช่วงความคิดนี้และนำไปปฏิบัติต่อไปได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสังคมไทยว่าเรามีความต้องการ เรามีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้พอเพียงหรือไม่ ที่จะไปเปลี่ยนสภาพแนวความคิดให้ออกมาเป็นรูปปฏิบัติ ให้ออกมาเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ทิ้งไว้เป็นนามธรรมเก็บไว้บูชาเล่น


องค์ประกอบ Good Governance จำเป็นจะต้องมี
Accountability คือความรับผิดชอบและมีเหตุผลที่อธิบายได้
ต้องมีการมีส่วนร่วมชองประชาชน
จะต้องมีการคาดการณ์ไว้
จะต้องมีความโปร่งใส
จะต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบทั้ง 4 องค์ประกอบนี้


ถ้าจะให้ผมเติมว่า (Good Governance) ต้องมีองค์ประกอบอีก 2 -3 อย่างที่คิดว่าธรรมรัฐจะขาดไม่ได้ จะเป็นสิ่งที่สังคมไทย ต้องหาทางออกให้ได้ ก็คือการมีระบบกฎหมายที่มีความยุติธรรมต่อทั้งสังคมและปัจเจกบุคคลและจะต้องมีผู้ใช้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ใช้กฎหมายจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมและมีความเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง สังคมที่เราอยากจะสร้าง คือสังคมที่ขาดระบบกฎหมายที่ดีไม่ได้ สังคมที่เข้มแข็งเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Good Governance


การที่จะบอกว่ามี Civil Society นอกจากจะต้องมีระบบกฎหมายที่ดีแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องมีตุลาการที่เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อผลประโยชน์หรืออำนาจ โดยเฉพาะอำนาจทางการเงินของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากนั้น จะต้องมีสื่อที่เป็นอิสระและรับผิดชอบ


ถามว่าถ้ามีธรรมรัฐ หรือ Good Governance แล้ว สังคมไทย สังคมในอนาคตจะมีปัญหาอีกหรือไม่ คำตอบก็คือปัญหายังมีอยู่ ปัญหาของประเทศชาติของสังคมมันยังไม่หมดไป อย่าไปคิดว่ามีธรรมรัฐแล้วปัญหาจะหมดไป ไม่มีทาง ฉันใดก็ฉันนั้น มีทั้งระบอบประชาธิปไตย มีทั้งธรรมรัฐ มีทั้งพรรคการเมืองที่ดี มีทั้งรัฐบาลที่ดี ก็ยังมีปัญหาอยู่ อันนี้เป็นสัจธรรมที่เราจะต้องรับ ไม่มีอะไรที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือว่า ปัญหาที่มันไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะปัจจัยอื่นโดยเฉพาะปัจจัยภายนอก ภัยอันตรายหรือความหายนะมันจะลดน้อยลงไป


เราไม่ได้พยายามที่จะขวนขวายหาสังคมที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียจนไม่มีปัญหาอะไรในโลก ประเทศหลายประเทศในยุโรป แม้ที่อื่นๆ ที่เขามี Good Governance มีระบอบประชาธิปไตยที่ดี เขาก็ยังมีปัญหามากมาย แต่อย่างน้อยปัญหาที่เคยมีในอดีตมันจะลดบรรเทาความรุนแรงลงไป และปัญหาที่เคยมีมาในอดีตบางปัญหามันจะไม่เกิด


สิ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อเรามีธรรมรัฐ เราต้องเริ่มสร้างชุมชน เริ่มสร้างประชาสังคมทั้งในเมืองและชนบท Good Governance จะมีไม่ได้ แม้จะมีการปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปกรมตำรวจ ปฏิรูประบบการศึกษา อาจพยายามเปลี่ยนค่านิยมของสังคม


แต่รากฐานของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และรากฐานของการมีธรรมรัฐ ก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่ลักษณะของการมีส่วนร่วมแต่ละไม้แต่ละมือ แต่ต้องมีส่วนร่วมโดยองค์กรเอกชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ องค์กรเอกชนที่อาจเกิดขึ้นมาจากวิถีชีวิตของเขา คุณลักษณะของเขา หรือตามประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนที่อยู่ตามซอกซอย เพราะทั้งชุมชนและประชาคมทั้งในเมืองและชนบทจะเป็นรากฐานที่สำคัญของธรรมรัฐ


ทิศทางอนาคตของเมืองไทย ของสังคมไทย นอกจากเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว จะต้องไปในทิศทางของการมีธรรมรัฐ โดยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากฐานของประชาชน องค์กรอิสระ องค์กรเอกชน ทุกอย่างในยุคใหม่นี้ ชุมชนและประชาสังคมจะต้องเกิดขึ้นให้ได้ และไม่ได้เกิดขึ้นจากการจัดตั้ง จะต้องเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนรู้สึกว่ามีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจพิจารณา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการกระจายอำนาจและงบประมาณออกไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น


ไม่มีที่ไหนในโลกที่ทุกครั้งที่มีปัญหาของชาติ ซึ่งเป็นปัญหาของพื้นที่ เป็นปัญหาของคนบางกลุ่ม จะต้องเดินขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาลตลอดเวลา อันนี้เป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย เมื่ออำนาจรวมอยู่ที่ศูนย์กลางคือที่ทำเนียบรัฐบาล ข้อโต้แย้งขัดแย้งในสังคมนั้นจะมีต่อไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นชีวิตประจำวันของคนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ถ้าเราไม่สร้างระบบการแก้ไขปัญหาขัดแย้งของคนในสังคม ไม่สร้างระบบ ไม่สร้างวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ทุกๆ ครั้งปัญหาจะมาสู่ที่ทำเนียบฯ และเมื่อมาถึงทำเนียบฯ เมื่อไร การที่จะแก้ไขปัญหานั้นตามข้อเท็จจริงตามเหตุผลที่ถูกต้องมันจะน้อยลงไป เพราะเมื่อถึงทำเนียบฯ เมื่อไรแล้วมันจะกลายเป็นเรื่องของทางการเมืองไปเสียหมด


เมื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาจริงๆ ของสังคมโดยใช้ปัจจัยทางการเมืองอย่างเดียว ปัญหานั้นจะไม่สิ้นหายไป ปัญหานั้นจะเลื่อนไปอีก 6 เดือน หรือ 1 ปี เพราะฉะนั้น ระบบที่เราอยากจะสร้างขึ้นมาคือธรรมรัฐนั้น ส่วนหนึ่งปัญหาของชาติไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นเรื่องการเมืองหมด ปัญหาท้องถิ่นมันไม่ใช่เรื่องการเมืองเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ เราอยากจะเห็นว่าอะไรก็ตามที่เป็นปัญหาทางการเมืองก็แก้ทางด้านการเมือง แต่ถ้าปัญหาของสังคม ซึ่งต่อไปนับวันจะเป็นปัญหาความขัดแย้งทางด้านสังคมมากขึ้น


ถ้าใช้วิธีการแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างเดียว มองเห็นแต่ผลประโยชน์ ผลได้ผลเสียทางด้านการเมืองอย่างเดียวนั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาในวิธีการที่ถูกต้อง และปัญหานั้นจะกลับมาสู่ตัวเองตลอดเวลา

ที่มา: อานันท์ ปันยารชุน.   มุมมองนายอานันท์, กรุงเทพฯ: มติชน, ตุลาคม 2541

[อ่านบทความย้อนหลัง]