มื่อพูดถึง "ความสำเร็จ" ในชีวิตมีหลักการ แนวคิด ทฤษฎี และสูตรของความสำเร็จมากมาย
             ว่าถึงเรื่องนี้ ผมได้อ่านบทความเรื่อง "อิทธิบาท 7 ของฝรั่ง" โดย ร.อ.นิคม อัลภาชน์ ในวารสารโรงเรียนนายอำเภอ วิทยาลัยการปกครอง เมื่อหลายปีก่อนแล้วชอบใจมาก
             ท่านนิคมได้เขียนไว้ว่า ท่านได้ไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา วันหนึ่งไปที่สมาคมสงเคราะห์แห่งหนึ่งของสตรีชาวเมืองฮาร์ทฟอร์ด มลรัฐคอนเนคติคัท ซึ่งสมาคมนี้ เป็นแหล่งของสตรีค่อนข้างสูงอายุ ซึ่งมีเวลาว่างก็มารวมกันทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ
             ท่านนิคมเล่าต่อไปว่า สิ่งที่สะดุดใจก็คือ คำขวัญของสมาคม ที่เขียนติดไว้ว่า "SUCCESS" ซึ่งแปลว่า "ความสำเร็จ" ซึ่งทำให้คิดถึงหลักอิทธิบาท 4 ของพระพุทธเจ้า ที่ว่า "ฉันทะ (ความพอใจรักใคร่) วิริยะ (ความเพียรพยายาม) จิตต (ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ต่อสิ่งนั้น) และวิมังสา (ความใคร่ครวญต่อสิ่งนั้น)"
             ดังนั้น "SUCCESS" จึงถือเป็นหลัก "อิทธิบาท 7 ของฝรั่ง" ได้ซึ่งหากขยายความ หรือแปลความหมายก็คือ
S = Sense of Direction
             แปลว่า ความรู้สำนึกถึง ทิศทาง แนวทาง คงจะหมายถึงว่า ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องเริ่มต้นในสิ่งที่ถูกต้อง เสมือนกับการเดินทาง ถ้าเดินทางผิดทิศก็จะหลงทางยากที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางหรือที่หมายได้
U = Understanding self and Others
             แปลว่า ความเข้าใจตนเองและผู้อื่น คงจะหมายถึงว่า ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องเข้าใจตนเองเสียก่อนว่าตนมีความสามารถที่จะทำอะไรและจะต้องเข้าใจผู้อื่นว่าเขามีความประสงค์ (Needs) อะไร จะได้เลือกทำในสิ่งที่ตรงกับความต้องการของเขา
C = Charity
             แปลว่า ใจบุญ หมายความว่าการที่จะทำอะไรจะต้องมีศรัทธาต่อสิ่งนั้นๆ หรือ อาจแปลอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำด้วยใจสมัคร หรือชอบพอรักใคร่ต่อสิ่งนั้น
C = Character
             แปลว่า อุปนิสัย หมายความว่าการที่จะทำอะไรจะต้องพิจารณาถึงอุปนิสัยของตนเอง ว่าชอบหรือถนัดกับงานอะไร กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเลือกงานที่เหมาะกับอุปนิสัยของเรานั่นเอง
E = Esteem for Self and Others
             แปลว่า การยอมรับนับถือตัวเองและผู้อื่น หมายความว่าการที่จะทำอะไรนั้นควรที่จะมีความภาคภูมิใจในตนเอง หวังที่จะได้รับการยอมรับนับถือทั้งตัวเองและให้การยกย่องผู้อื่นด้วย
S = Security
             แปลว่า ความปลอดภัย ซึ่งหมายความว่าการที่จะทำอะไรจะต้องพึงยึดหลักแห่งความมั่นคงปลอดภัยของตัวเอง และทำให้ผู้อื่นได้รับความปลอดภัย
S = Satissfaction
             แปลว่า ความพอใจ หมายความว่าการที่จะทำอะไร จะต้องให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้อื่น
             ทั้งหมดนี้ ก็เป็นหลัก "ความสำเร็จ" เรียกว่า "หลักอิทธิบาท 7" ของ "ฝรั่ง" ซึ่งหากพิจารณาดูให้ดี และนำไปถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ผมคิดว่า "ชีวิต" คงก่อให้เกิด "ความสำเร็จ" อย่างมาก
             ส่วนจะมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการกระทำว่า "มาก" เพียงใดด้วย
  ดี ไ ห ม ค รั บ
มชอบใจคำกล่าวของอลิซาเบท เทเลอร์ ดาราฮอลิวู้ด ดาวค้างฟ้าแห่งโลกภาพยนตร์ของโลกที่ว่า
             "ไม่มีกลิ่นหอมหวลยวนใจใด จะยิ่งไปกว่ากลิ่นของความสำเร็จ"
             แน่นอนเหลือเกิน ใครๆ ก็ต้องการประสบความสำเร็จ
             แต่ปัญหาก็คือ อะไรล่ะ ที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ
             เกี่ยวกับเรื่องของ "ความสำเร็จ" นี้ อาจารย์วัลลภ ปิยะมโนธรรม หัวหน้าหน่วยให้คำปรึกษาสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) กล่าวไว้ในบทให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม 2540 ว่า
             "ในชีวิตของคนเรา ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าประสบความสำเร็จเสียก่อน การประสบความสำเร็จเป็นจุดหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางความล้มเหลว คนเราจะประสบความสำเร็จได้มีอยู่ 2 ทาง คือ แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด และกล้าเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ แม้ว่าจะต้องล้มนับครั้งไม่ถ้วน ก็ต้องไม่ยอมแพ้ที่จะเริ่มต้นใหม่ เห็นได้ว่า คนที่ประสบความสำเร็จ จะกล้าเริ่มต้นและแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดอยู่ตลอดเวลา เพราะเบื้องหลังจิตของเขามี 2 ตัวนี้อยู่ตลอดเวลา นั่นคือพยายามอดกลั้นต่อความยากลำบาก และอดทนต่อความทุกข์ยากเพื่อรอคอยความสุขในอนาคต"
             นอกจากอธิบายความถึงการประสบความสำเร็จแล้ว อาจารย์วัลลภยังยกตัวอย่างให้ฟังว่า
  นักเบสบอลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นซุปเปอร์สตาร์ในขณะนี้ ชีวิตของเขาผ่านการปรับปรุงแก้ไข แพ้ชนะมานับครั้งไม่ถ้วน เขาตีเบสบอลผิดมา 7 ครั้ง ตีถูก 3 ครั้ง ก็เรียกได้ว่า เขาประสบความสำเร็จถึง 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว
             จิตวิทยาข้อหนึ่งของผมคือ "จะไม่มีความล้มเหลวเกิดขึ้นเด็ดขาด ถ้าเรายังไม่ล้มเลิก" ผมเคยคุยกับคนๆ หนึ่ง เขาเป็นหนี้สินกับธนาคารนับ 100 ล้านบาท เขาเป็นคนที่ฉลาดมาก คิดสิ่งต่างๆ ไว้ล่วงหน้า จนคนอื่นๆ ตามไม่ทัน เป็นเหตุให้ธุรกิจเขาพังและล่มสลายในที่สุด
             แต่ในขณะนี้เขากลับมาร่ำรวยมหาศาลอีกครั้ง เพราะเขากล้าตัดสินใจซื้อที่ดินราคาในเวลานั้นตารางวาละ 1,000 บาท อยู่ต่อมาที่ผืนนั้นขายได้ราคาตารางวาละ 10,000 บาท
             การคิดสั้น ฆ่าตัวตายคือการมองเฉพาะที่ตัวปัญหาเท่านั้น ไม่ยอมมองไปในทางอื่นๆ หรืออาจมองไปว่า ในอดีตเขาเคยทำกำไรได้มาโดนตลอด ซึ่งถือว่าคุ้มค่าแล้ว
             เมื่อธุรกิจตรงจุดนี้ไม่ดี ก็หันไปทำอย่างอื่นแทน มนุษย์เรามีทางออกให้เลือกมากมาย เพียงแต่อย่าไปมัวแต่นั่งคิดถึงแต่อดีต เมื่อถูกปลดออกจากงาน ต้องรีบช่วยเหลือและค้นหาตัวเองว่า ชอบและมีอะไรที่เป็นจุดเด่น ในตัว เมื่อคิดได้แล้ว ก็รีบดำเนินการ อาจลงทุนเอง หรือหากไม่มีทุนก็ขายความคิดได้"
             ครับ ก็นับว่าเป็นข้อคิดที่ดี ฟังแล้วกำลังใจดี ฟังแล้วเกิดกำลังใจดีก่อให้เกิดความเข้าใจ ถึงการประสบความสำเร็จในชีวิตดีโดยเฉพาะประโยคที่ว่า
  "จะไม่มีความล้มเหลวเกิดขึ้นเด็ดขาด ถ้าเรายังไม่ล้มเลิก"
  ดังนั้น เราควร "ลุกสู้"
  และ "เริ่มต้นใหม่"
  กั น ดี ก ว่ า



ที่มา:   สุเมธ แสงนิ่มนวล.  คนควรคิด, กรุงเทพฯ: บุ๊คแบงก์, 2541,

กลับหน้าแรก