![]() |
|
![]() |
![]() |
จันทร์ลอย
ลูกรัก ![]() |
จดหมายของลูกพ่อได้รับแล้ว พ่อดีใจมากที่ลูกสอบผ่าน ม.๔ ไปได้ด้วยคะแนนที่ไม่ต่ำนัก ลูกไม่ต้องเสียใจที่ไม่ได้คะแนนสูงยอดเยี่ยมในชั้น เพราะคนที่จะทำงานได้ดีมีประโยชน์แก่สังคม ในอนาคตนั้น ไม่จำเป็นต้องสอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในโรงเรียน หรือได้เกียรตินิยมในมหาวิทยาลัยเสมอไป เรื่องการเรียนในโรงเรียนกับการทำงานในอนาคตนั้น ส่วนที่สัมพันธ์กันมากก็คือใบรับรองวุฒิ หรือปริญญาเพื่อให้เข้าทำงานได้ เมื่อเข้าไปแล้วบางคนอาจไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาจากโรงเรียนเลย ต้องไปเรียนกันใหม่ ฝึกกันใหม่ |
|
เด็กที่เรียนอ่อน แต่มีความประพฤติดี มีความตั้งใจดี มีความบากบั่นหมั่นเพียรไปหยุดหย่อน ค่อยๆ เพิ่มพูนความสามารถของตนทีละน้อย เมื่อออกทำงานแล้วอาจล้ำหน้าเพื่อนที่เคยเรียนเก่งเมื่ออยู่โรงเรียน เรื่องทำนองนี้มีตัวอย่างอยู่มาก |
|
หลุย ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ชาวฝรั่งเศส ซึ่งโลกให้เกียรติยิ่งใหญ่ในทางวิชาการนั้น เมื่ออยู่โรงเรียน ครูได้หมายลงในสมุดพกว่า "เป็นเด็กอ่อนโยนที่สุด ตัวเล็กที่สุด และมีหวังสอบได้น้อยที่สุดในชั้นของข้าพเจ้า" |
|
ตามประวัติว่า เขาไม่เคยได้คะแนนดีตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย เขาเพียงแต่พอผ่านไปได้เท่านั้น ประกาศนียบัตรของเขาอวดใครไม่ได้เพราะได้คะแนนต่ำ ลูกต้องไม่ลืมว่าในฝรั่งเศสเขาลงระดับคะแนนที่สอบได้ในปริญญาบัตรด้วย เป็นการประกาศให้รู้ว่าได้มาอย่างดี หรืออย่างพอผ่านไปได้ |
|
แต่พอออกทำงานแล้ว ด้วยความตั้งใจจริง ตั้งใจดี มีความประพฤติดี มีความบากบั่นหมั่นเพียรไม่หยุดหย่อน หลุยส์ ปาสเตอร์ได้กลายเป็นบุคคลยิ่งใหญ่ในวงวิชาการอย่างแท้จริง โลกต้องเป็นหนี้เขาเป็นอันมาก |
|
ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า คนที่เรียนเก่งในโรงเรียนจะทำงานดี มีความสามารถสูงในการทำงานด้วยไม่ได้ เขาอาจเรียนดี ทำงานเก่ง ความสามารถดี และมีความสำเร็จในชีวิตอย่างสุขด้วยก็ได้ |
|
สำหรับลูกนั้น พ่อและแม่ขอแต่เพียงให้สอบได้ทุกปีเท่านั้น ถ้าได้คะแนนสูงด้วยพ่อก็ดีใจมากขึ้น การสอบตกเป็นการเสียเวลา เสียกำลังใจ เสียเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งลูกก็เห็นอยู่ด้วยตัวเองแล้วว่า เวลานี้เราอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพงเพียงใด |
|
เพราะฉะนั้น ขอให้ลูกตั้งใจเรียนอย่างดีทุกวิชา แต่ละวิชามีประโยชน์ทั้งนั้น ลูกเสียเงินไปแล้ว ขอให้ลูกเอาวิชาแลกเปลี่ยนมาให้ได้เงินนั้น ถ้าลูกไม่ยอมเสียไปกับวิชา ก็ต้องเสียไปทางอื่น เช่น เสื้อผ้าและอาหาร อันเป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืนอะไร แต่วิชาความรู้เป็นสิ่งยั่งยืนติดตัวลูกไปจนตาย ใช้เท่าไรไม่หมด ยิ่งขุดยิ่งพบ การใช้เงินแลกวิชาความรู้บัณฑิตจึงสรรเสริญกันนัก และก็ขอให้ลูกระลึกไว้เสมอว่า เงินแต่ละบาทนั้นเป็นหยาดเหงื่อแรงงานของพ่อแม่ พ่อไม่ได้ทวงบุญคุณ แต่พ่อพูดเพื่อให้ลูกใช้เงินคุ้มราคา สมค่าของมัน คือให้เป็นประโยชน์ที่สุด พยายามเอาชนะตนเอง อย่าฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย |
นักปราชญ์ท่านว่า "คนโง่ เมื่อมีเวลาก็เพลินในการหาอาหารใส่ปากใส่ท้อง ส่วนคนฉลาด เมื่อมีเวลาก็เพลินในการหาปัญญาใส่สมอง" ปัญญาใส่สมองนั้น ใส่เข้าไปเถอะไม่มีโทษ ส่วนอาหารใส่ท้องนั้น ใส่แต่พอประมาณ |
ข้อที่ลูกปรารภไปว่า ได้ไปเที่ยวดูของตามย่านการค้าซึ่งขายของแพงแล้วตกลงใจกลับไปซื้อที่ย่านการค้าซึ่งขายถูก เพราะรู้สึกจะเหมาะสมกับฐานะของเราดีนั้น พ่อรู้สึกปลื้มใจที่ลูกเป็นผู้รู้จักประมาณ เป็นการให้เกียรติพ่อ เพราะการแสดงความทะเยอทะยานเกินฐานะของตนให้พ่อแม่ได้รู้ได้เห็นนั้น เป็นเสมือนการเหยียดหยามพ่อแม่ไปในตัว ทำนองว่าพ่อแม่ไม่สามารถหาสิ่งที่เขาควรมีมาให้เขาได้ |
|
เด็กๆ ที่ชอบพูดเปรียบเทียบตนกับคนอื่นว่า ของใช้ของเขาราคาตั้งพันสองพัน ส่วนของเรา ๘๐-๙๐ บาท ให้พ่อแม่ได้ยินนั้น เด็กอาจพูดแล้วก็แล้วไป แต่พ่อและแม่คิดอยู่ไม่รู้แล้วว่า เลี้ยงลูกไม่เทียมหน้าเทียมตาคนอื่นเขา พ่ออาจลอบถอนใจใหญ่ๆ เอามือก่ายหน้าผากปวดร้าวอยู่ลึกๆ แม่อาจแอบกรีดน้ำตาอยู่ในห้อง |
|
พ่อแม่ที่มีลูกซึ่งรู้จักประมาณตัว รู้จักฐานะแห่งครอบครัวตน จึงเป็นผู้โชคดีเหมือนได้รับพรจากสวรรค์ |
|
จันทร์ลอย ลูกรัก ลูกคงเคยเห็นผู้หญิงบางคนวางท่าเฉิดฉาย แต่งกายด้วยเสื้อผ่แพรพรรณราคาสูงลิบลิ่ว แต่ไม่สนใจที่จะวางตัวให้น่ารักใคร่วางใจให้น่าชื่นชม หญิงเช่นนั้น ย่อมสู้สตรีแต่งกายแต่พอเรียบร้อย สุภาพ แต่เป็นผู้มากไปด้วยเมตตากรุณา มีแววตาส่อความปราณีไม่ได้ |
|
แววตาที่อ่อนโยน กิริยาสุภาพ วาจาที่อ่อนหวาน และใจที่เปี่ยมอยู่ด้วยพรหมวิหารนั้น เป็นเสน่ห์ดึงดูดคนทั้งหลายให้รักใคร่เคารพยำเกรงไม่จืดจาง เป็นเสมือนที่ลาดลุ่มและร่องลึกเป็นที่ไหลมาแห่งน้ำฉะนั้น |
|
แม้เราจะค่อนข้างยากจนทางทรัพย์สิน แต่ขอให้เราไม่จนความดี ถึงเราจะไม่มีเกียรติอย่างปลอมๆ ในสังคม แต่ขอให้เราลอยล่องอยู่ท่ามกลางแสงสว่างรุ่งโรจน์แห่งสติปัญญาและภูมิธรรม พ่อมีเห็นว่าทุกบ้านควรมีตำราอันเกี่ยวกับภูมิธรรมและภูมิปัญญา ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร พ่อได้เห็นนักต่อนักแล้ว ครอบครัวที่พ่อบ้านแม่เรือนไม่ประพฤติธรรมนั้น ไม่มีความสุข ลูกหลานเดือดร้อนเพราะความชอบบ่น ชอบด่าโดยไร้เหตุผลของหัวหน้าครอบครัวนั้น เรื่องเล็กนิดเดียวกลายเป็นเรื่องใหญ่ พูด ๓ วันไม่จบ ถ้าหัวหน้าครอบครัวประพฤติธรรม ทำใจให้สงบเยือกเย็นมีเมตตาปราณี สั่งสอนลูกหลานด้วยเหตุผล ชี้ผิดชี้ถูกให้เห็นภาพนั้นจะเป็นภาพยั่งยืนอยู่ในใจของลูกหลาน เมื่อลูกหลานเติบโตขึ้นภาพนั้นก็พลอยเติบโตขึ้นไปด้วย |
สังคมของเราที่วุ่นวายอยู่ในเวลานี้ ต้องมีความผิดขั้นมูลฐานอยู่อย่างแน่นอน เหมือนมะเร็งซึ่งกินลึกๆ มองภายนอกไม่เห็น แต่ทำให้คนที่เป็นมะเร็งผอมลงๆ ความผิดขั้นมูลฐานอันนั้น คือคนไม่ประพฤติธรรมให้เหมาะสมแก่ฐานะของตน การแก้ที่ปลายเหตุนั้นไม่ได้ผล เหมือนเอามีดไปตัดยอดหญ้า ยิ่งตัดจะยิ่งแตกงาม |
|
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอันผิดวิธีนั้น ผลที่ออกมาก็คือคนรวยยิ่งรวยมากขึ้น คนจนยิ่งจนหนักลง โครงสร้างแห่งสังคมสั่นคลอน คนในสังคมรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมนั้นเป็นสังคมพิการ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Social Disorganization |
|
ในการเรียน การวางตัว หรือการใดๆ ก็ตาม พ่อขอเตือนลูกว่าจงอย่าประมาท "ลิงยังรู้จักตกต้นไม้" คนเราจะชำนาญสักเพียงใดเฉลียวฉลาดสามารถเพียงใด ถ้าประมาทก็อาจผิดพลาดได้ ความประมาทคือความวางใจ นอนใจว่า "ไม่เป็นไรๆ" แต่พอ "เป็นไร" ขึ้นมาก็สายสุดแก้เสียแล้ว นักเรียนบางคนนอนใจว่าฉลาดหัวดี อีก ๗ วัน ๑๕ วัน จะสอบจึงดูหนังสือก็ได้ ถ้า ๗ วัน หรือ ๑๕ วันก่อนสอบเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาก็เลยไม่ได้ดูหนังสือ อาจสอบตกได้ |
|
ในการวางตัวต่อเพื่อนฝูง อย่าให้สูงเกินเขาจะหมั่นไส้ และถ้าวางตัวต่ำเกินเขาจะดูหมิ่น ขอให้พอดีๆ ส่วนกับครูอาจารย์นั้นขอให้อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้ เพราะท่านว่า |
|
เอาชนะผู้สูงศักดิ์ด้วยการอ่อนน้อม |
เอาชนะผู้ต่ำต้อยด้วยการสงเคราะห์เอื้อเฟื้อ |
เอาชนะผู้เสมอกันด้วยความเพียรพยายาม |
เอาชนะผู้แกล้วกล้าในสงครามด้วยการยุให้แตกสามัคคี |
|
ส่วนการวางตัวต่อเพศตรงข้ามหรือผู้ชายนั้น พ่อได้บอกลูกอยู่เสมอว่า ผู้ชายเกรงผู้หญิงที่วางตัวดี ไม่จองหองเกินไป และไม่ปล่อยตัวเกินไป กิริยาพาที่เป็นผู้ดี สุภาพ เรียบร้อย ไม่พูดเล่นจนเกินวิสัยหญิง เมื่อเป็นดังนี้ ผู้ชายย่อมเกรงใจและนิยมยกย่อง |
แม่ของลูกบอกไม่ว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ ๒ มาติดพันลูก แต่เมื่อเห็นลูกไม่เล่นด้วยในเชิงนั้น เขาก็เลิกราไปแล้ว พ่อได้เคยเขียนจดหมายถึงแม่ของลูก ให้หาทางพูดกับลูกและชายหนุ่มผู้นั้นอย่างบัวไมให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น และก็ปรากฎว่าได้ผล ดังที่ลูกทราบอยู่แล้ว พ่อดีใจที่ลูกเป็นคนว่าง่าย อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ลูกอย่างมากในอนาคต |
โบราณท่านว่า "อย่าชิงสุกก่อนห่าม" |
สุนทรภู่ว่า "เมื่อสุกงอมหอมหวนจึงควรหล่น" |
ด้วยใจจริงแล้ว พ่อแม่ทุกคนต้องการปลูกฝังลูกให้เป็นหลักฐาน ขอแต่เพียงว่าให้ถึงเวลาก่อนเท่านั้น |
|
ชายหนุ่มหญิงสาวที่กำลังเรียนอยู่ ยังต้องใช้เงินของพ่อแม่ในบริขารแห่งชีวิตทุกประการ พ่อเห็นว่ายังไม่ควรคิดเรื่องนี้ มีมีทางเสียมากกว่าทางดีตั้งหลายเท่า ผู้ชายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียหาย ผู้ชายเอาเปรียบพ่อแม่ที่ต้องเอาเงินหยาดเหงื่อแรงงานของพ่อแม่ไปเลี้ยงคนอื่น เดี๋ยวนี้ดูหนังรอบหนึ่งใช้เงินเกือบร้อยบาท ผู้หญิงทำให้พ่อแม่หวั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะไปเสียทีเขา ราคีนั้นจะติดตัวไปตลอดชีวิต ถึงแม้จะมีสามีมีลูกในภายหน้า ราคีนั้นก็หาได้ลบไปไม่ ขอให้ลูกกลัวเรื่องนี้ไว้ด้วย |
แต่เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว มีงานการทำเป็นหลักฐานแล้ว มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวได้แล้ว พ่อแม่เป็นฝ่ายเตือนเสียอีกว่า "เมื่อไรจะมีครอบครัวเสียที" |
|
เมื่อนั้นฝ่ายชายก็มีสายตายาว ฝ่ายสาวก็มีสายตาไกลแล้ว โอกาสที่จะผิดพลาดก็มีน้อย ขอให้ลูกเชื่อเถิดว่าเป็นความปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งของพ่อแม่ที่ได้เห็นลูกแต่งงานเป็นหลักฐาน มีลู่ทางว่าจะรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต |
|
ที่กล้าพูดมาทั้งหมดนี้ก็ด้วยเห็นว่า ลูกเป็นลูกของพ่อ ถ้าเป็นหญิงอื่นพ่อก็ไม่กล้าสอนเขา เกรงจะเป็นการอวดดีเกินไป |
|
พ่อและแม่มีความตั้งใจว่า จะให้ลูกทุกคนเรียนจนถึงที่สุด คือเท่าที่ลูกอยากจะเรียน เพราะการเรียนเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ ทำคนต้อยทำให้เป็นคนสุง การนำเอาความรู้ที่เรียนไปใช้ให้เป็นประโยชน์นับเป็นอาภรณ์ล้ำค่า |
|
นอกจากเรียนในหลักสูตรแล้ว ลูกต้องขยันอ่านหนังสือที่ดีทั่วไปอีกด้วย หมั่นบันทึกจดจำ เพราะการอ่านมากทำให้กว้างขวาง การเขียนทำให้แม่นยำ การหมั่นตรึกตรองขบคิดทำให้ลึกซึ้ง |
จริงอยู่ หนังสือบางเล่มควรอ่านเพียงบางส่วน บางเล่มเด่นเพียงผิวเผิน บางเล่มสมควรอ่านให้ตลอดด้วยความตั้งใจและพินิจพิเคราะห์ แต่ก็ควรอ่านให้กว้างไว้ การขุดหลุมนั้นถ้าขุดให้ลึกอย่างเดียว ไม่กว้างเมื่อลงไปอยู่ในหลุมจะมืด ถ้ากว้างด้วยไม่มืด การเรียนก็เหมือนกันต้องให้ลึกซึ้งและกว้างขวางพร้อมๆ กันไป จึงจะกำจัดความมืดในใจได้ |
วิชาแต่ละวิชามีคุณอยู่แล้วในตัว ถ้ารอบรู้หลายวิชาก็เป็นการเก็บเอาคุณนั้นๆ มารวมไว้ในตัวเรา ประวัติศาสตร์ทำให้รอบรู้ เพิ่มพูนไหวพริบ วรรณกรรมทำให้หลักแหลมและรื่นรมย์ คณิตศาสตร์ฝึกคนให้ละเอียดถี่ถ้วน ปรัชญาทำให้คนเข้าใจความจริงต่างๆ อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง ทำให้ผู้เรียนรู้มีใจกว้างไปด้วย ตรรกศาสตร์ทำให้พูด คิดอย่างมีเหตุผลจริยธรรมหรือศีลธรรมอบรมคนให้รักความสงบ ดังนี้เป็นอาทิ |
|
ลูกจะเห็นว่า วิชาต่างๆ มีคุณอยู่ในตัวมันดังกล่าว ทางโรงเรียนจึงจัดหลักสูตรให้มีหลายสาขาวิชา แต่ลูกอย่าลืมว่า วิชาที่เรียนในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยนั้น เป็นพื้นฐานหรือแนวทางเท่านั้น เหมือนรากฐานของตึก หรือโครงสร้างของบ้าน วิชาการนั้นๆ จะเต็มบริบูรณ์หรือสูงส่งเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการขวนขวายเพิ่มเติมของลูกเมื่อเรียนจบแล้ว |
|
มนุษย์เราที่จะได้ดี นอกจากต้องมีการศึกษาแล้ว ต้องได้รับการอบรมที่ดีด้วย ดูเหมือนประการหลังจะมีความสำคัญกว่าประการแรกเสียอีก |
|
จุดเริ่มต้นแห่งการอบรมที่สำคัญที่สุด คือบ้านหรือครอบครัว ครอบครัวที่อยู่ในสภาพเรียบร้อยนั้น น้อยนักที่เด็กจะเกเร เด็กเลียนแบบและติดนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่งได้ง่าย โดยเฉพาะนิสัยใจคอของมารดาหรือคนใกล้ชิด สุภาษิตกรีกโบราณว่า "ถ้ามีทาสอยู่คนเดียว และให้บุตรของท่านหมกหมุ่นอยู่กับทาสตลอดเวลาแล้ว ในไม่ช้าท่าจะมีทาสสองคน" แปลว่า ในไม่ช้าบุตรของท่านจะมีกิริยาวาจาอย่างทาสไปด้วย |
|
ทำนองเดียวกับสุภาษิตสเปนที่ว่า "ถ้าท่านอยู่ในหมู่สุนัขป่าไปนานๆ ลงท้ายท่านก็จะหอนเป็น" |
|
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ยํ เว เสวติ ตาทิโส คบคนเช่นใด มักเป็นคนเช่นนั้น" |
|
เมื่อเราเติบโตขึ้นต้องพยายามคบหาสมาคมกับคนดี เพื่อได้ถ่ายทอดลักษณะที่ดีของเขา การคบคนดีจะเป็นคุณประโยชน์แก่เราไปตลอดชีวิต |
|
ชาโตบริยังค์ นักการเมืองคนสำคัญคนหนึ่งของฝรั่งเศส นับถือประธานาธิบดียอร์จ วอชิงตัน ของสหรัฐอเมริกามาก อุตส่าห์เดินทางด้วยความยากลำบากไปให้เห็นยอร์จ วอชิงตัน ด้วยการเห็นเพียงครั้งเดียว ชาโตบริยังค์ถ่ายทอดเอาคุณลักษณะของยอร์จ วอชิงตันได้มาก เขาเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่า "นัยน์ตาของยอร์จ วอชิงตัน ที่ทอดมายังข้าพเจ้านั้น ทำให้ข้าพเจ้ามีความอบอุ่นไปตลอดชีวิต" |
|
การทอดสายตาของคนดี และมีประโยชน์นั้น ให้ความอบอุ่นและชื่นสุขแก่ผู้เข้าใกล้ได้อย่างแน่นอน" |
|
เพียงแต่ได้เห็นเซอร์วอลเตอร์ สก็อตเท่านั้น แอลแลน คันนิงแฮม ก็ได้รับประโยชน์อย่างเหลือหลาย ทำให้เขาเป็นนักประพันธ์ที่ดีขึ้นมาได้ |
|
คนดี เมื่อเราเข้าใกล้ ทำให้เรารู้สึกอยากเป็นคนดี คนสงบ เมื่อเราเข้าไกล้ได้ยินเสียงเขาพูด ทำให้เรารู้สึกอยากสงบ นี่เป็นตัวอย่าง |
|
นอกจากอาศัยคนอื่นช่วยอบรมฝึกฝนแล้ว การฝึกฝนตนเองก็มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการฝึกฝนตนเองให้เอาชนะอำนาจฝ่ายต่ำไม่ยอมทำสิ่งที่ฝืนมโนธรรมของตน คนที่ชนะตนเองได้เป็นคนประเสริฐแท้จริง |
ฝึกฝนตนเองให้เป็นคนขยันหมั่นเพียร ถือหลักของพระพุทธเจ้าที่ว่า "คนขยันที่มีชีวิตอยู่ปีเดียว ประเสริฐกว่าคนเกียจคร้านที่มีชีวิตอยู่ถึงร้อยปี" |
|
ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เพราะเวลาที่ล่วงไปแล้วไม่หวนกลับมาอีก เสียไปแล้วก็เป็นอันเสียไปเสีย ค่าของเวลาอยู่ที่เราใช้มันให้เป็นประโยชน์ คนไม่ทำอะไรชีวิตสึกหรอไปเปล่าๆ ส่วนคนขยันเมื่อชีวิตล่วงไปก็นำเอาประโยชน์ติดไปด้วย |
|
คนทำงานมาก อาจไม่ได้เป็นคนสำคัญทุกคน แต่คนสำคัญทุกคนต้องทำงานมากและขยันเสมอ ค่าของคนวัดกันที่ผลงานและที่ความดีประจำตน |
|
เวลลิงตัน คนที่รบชนะนโปเลียนที่วอเตอร์ลู ปรากฎว่าเป็นคนขยันมาก อ่านและคัดลอกเรื่องราวจากหนังสือต่างๆ ไว้ตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ทราบว่ายังเก็บกันไว้จนกระทั่งบัดนี้ ยังมีเรื่องคนอื่นๆ อีกมาก พ่อเกรงลูกจะเบื่อจึงไม่นำมากล่าวมากนัก แต่หวังว่าลูกคงไม่เบื่อจนถึงกับไม่ยอมอ่านเสียเลย เนห์รูเขียนจดหมายถึงลูกสาว อินทิรา เล่าถึงประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่อินทิราอายุ ๑๐ ขวบ พูดถึงเรื่องที่ยากกว่าที่พ่อกำลังพูดกับลูกอยู่เสียอีก จดหมายนั้นมีอิทธิพลให้อินทิรา คานธี สนใจต่อการเมืองและประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติตั้งแต่เยาว์ และเป็นผลให้อินทิราเป็นผู้นำของอินเดียเป็นเวลาช้านาน |
|
ระหว่างบัณฑิตเนห์รูกับพ่อนั้น มีความแตกต่างกันมากในชาตินี้ ถึงอย่างไรพ่อก็ไม่อาจทำประโยชน์ให้ถึงเศษหนึ่งส่วนพันของท่านเนห์รูได้ แต่ลูกจันทร์ลอยของพ่อนั้นไม่แน่ อาจเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเมืองไทยก็ได้ อีก ๒๐ ปีข้างหน้าเหตุการณ์บ้านเมืองคงเปลี่ยนแปลงไปถ้าพ่อยังไม่ตายก็จะได้ชมบุญของลูก |
|
แต่ถ้าตามใจพ่อแล้ว ระหว่างความยิ่งใหญ่ทางการเมืองกับความยิ่งใหญ่ทางวิชาการนั้น พ่ออยากให้ลูกเลือกเอาความยิ่งใหญ่ทางวิชาการเพราะยั่งยืนกว่า เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติมากกว่า โบราณท่านยืนยันไว้เหมือนกันว่า "พ่อบ้านได้รับความนับถือในบ้านของตน พระราชาได้รับความนับถือในแว่นแคว้นหรือประเทศของตน แต่นักปราชญ์ได้รับความนับถือทั่วโลก" |
|
มหาวิทยาลัยที่พ่อสอนอยู่นั้นดำเนินไปตามปกติไม่มีเหตุการณ์พิเศษอะไรจะเล่าให้ฟัง ส่วนตัวพ่อเองก็มีความสุขสบายดีตามสมควร |
|
พ่อขอจบจดหมายอันค่อนข้างจะยืดยาวฉบับบนี้เพียงเท่านี้ก่อน ขอให้ลูกและน้องๆ รวมทั้งแม่ของลูก จงได้รับความคุ้มครองจากธรรมตามสมควรแก่ธรรมที่ครอบครัวของเราได้ประพฤติมานั้นด้วย |
|
ด้วยรักและปรารถนาจะให้เป็นสุข |
พ่อของลูก |
ที่มา
: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.
จดหมายถึงลูก:หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดพระพุทธศาสนาและจริยธรรม .--กรุงเทพฯ
: |
อัจฉรา แผ่นทอง : ออกแบบ จัดทำ |