ความสุขดูจะเป็นเป้าหมายของชีวิตทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ซีกไหนของโลก แต่เป็นการแสวงหาที่ดูเสมือนหาจุดสุดท้ายไม่ได้ ไปไม่ถึง ปลายทางสักที


ตกลงแล้วความสุขคืออะไร คำตอบหลากหลายเข้ามาว่า ความสุขคือความร่ำรวย คือการมีรถหลายๆ คัน มีบ้านหลังใหญ่ๆ ข้าทาสบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง มีตำแหน่งสูงๆ มีอำนาจมากๆ ฯลฯ สารพัดสารเพ แต่ต้องมาดูว่าใช่คำตอบจริงๆ หรือเปล่า


พระอาจารย์สอนว่า จะหาความสุขนั้นไม่ต้องใช้เงินสักอีแปะเดียว เอ๊ะหมายความว่าอะไร ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของเงินตราคืออำนาจ ยุคของสังคมบริโภคหรือยุควัตถุนิยม ยิ่งยากจะเข้าใจ


มนุษย์นั้นจะเป็นมนุษย์ได้คงต้องมีส่วนประกอบสำคัญคือ กายกับใจหรือกายกับจิต ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คงไม่ใช่ตน


กายใดๆ หากปราศจากจิตก็คงเป็นผีดิบหรือซอมบี้ ปฏิกิริยาที่แสดงออกมาคงเป็นลักษณะจักรกล ทางจิตก็เช่นกันขาดกายก็คงเป็นดวงวิญญาณลอยเท้งเต้งอยู่เหมือนอากาศธาตุ


ทีนี้พอมาคิดๆ ดูแล้ว คนเรานี่แปลก สนใจแต่กาย ดูแลรักษาปฐมพยาบาลตกแต่งสวยงาม ปรนเปรอสารพัดนึก ข้าวปลาอาหาร เครื่องประดับประดา ทั้งๆ ที่ร่างกายเป็นบ่อเกิดของทุกข์และความไม่จีรังทั้งหลาย ร่างกายเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา มิไยจะดูแลเขาอย่างไรก็ตาม และร่างกายยังเป็นบ่อเกิดของสิ่งสกปรกโสมมต่างๆ ตื่นเช้าก็ต้องอาบน้ำชำระความสกปรก สวมใส่เสื้อผ้าตกเย็นก็ส่งกลิ่นเหม็น ต้องชำระล้างอีกแล้ว ความสวยงามหรือที่เราคิดว่าสวยงาม เรายังรักษาไม่ได้ข้ามวันเลย


ส่วนที่สำคัญคือ จิตหรือใจ ซึ่งพวกเรากลับไม่ค่อยดูแลเขาเท่าไรนัก หรือเกือบไม่ดูแลเลย ทั้งๆ ที่ทุกข์สุขนั้นเขาเป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น จิตจึงขาดการบำรุงรักษาพัฒนาให้อยู่ในสภาพสะอาดหมดจดเป็นจิตที่สร้างปัญญา สร้างความสุขบนฐานของธรรม แต่กลับปล่อยให้ครอบงำด้วยกิเลส และสั่งร่างกายให้ประพฤติมิชอบทำร้ายสังคม ทำร้ายตนเอง นำตนเองไปสู่ทุกข์


อันที่จริงแล้วจิตและกายจะต้องอยู่ในสภาพสมดุล พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกายที่เสื่อมโทรม กายที่ทุกข์ทรมาน มีผลกระทบถึงจิตด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ตอนบวชได้ทดสอบเรื่องนี้ด้วยตนเอง เวลาออกบิณฑบาต เท้าถูกหินบาด ถูกทิ่มตำจากของมีคม หากจิตไม่สู้ ถอยเสีย ก็ไม่อยากปฏิบัติกิจสงฆ์นี้ แต่ถ้าตั้งจิตสู้ทนทุกข์ทรมาน ไม่ช้าไม่นานร่างกายก็แพ้ยอมทำตามจิตสั่ง แล้วไม่ช้าไม่นานร่างกายก็เปลี่ยนแปลง ฝ่าเท้าหนังเริ่มหนาขึ้นแข็งขึ้น สุดท้ายก็เดินได้สบาย จิตนั้นเหนือกาย สั่งกายได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือตอนนั่งสมาธิ สิ่งแรกที่ต้องเผชิญก่อนคือความปวดเมื่อย ปวดขา เหน็บชากินเลื่อนมาปวดเอว ปวดหลัง ปวดต้นคอ สารพัดทุกข์ทรมาน หากจิตไม่แกร่ง ไม่สู้ร่างกายก็ชนะและเลี่ยงที่จะปฏิบัติ สุดท้ายก็ไม่ได้ผลอะไร หากจิตสู้ชนะ ร่างกายก็ฝึกรับทุกข์ทรมานทีละเล็กละน้อย ผลสุดท้ายความเจ็บความปวดทุเลาลงเรื่อยๆ ในที่สุดสมาธิก็เกิดได้ ร่างกายเจ็บป่วยจิตใจก็เศร้าหมองมองเห็นได้ชัด แต่อย่างไรเสีย พิสูจน์ทราบแล้วว่ากายอยู่ใต้จิต จิตอยู่สูงกว่าอย่างแน่นอน


ทีนี้เมื่อจิตเป็นสิ่งสำคัญกว่า ก็ต้องมุ่งมาพัฒนาจิต รักษาจิต เพราะแท้ที่จริงทุกข์สุขนั้น จิตเป็นตัวกำหนด ความสุขจริงๆ แล้วคือสภาพไร้ทุกข์นั้นเอง แต่ผู้คนหลงผิดไปนึกว่าสุขหรือสนุก สุขคือการสนองกิเลส ความอยาก อยากได้โน่น อยากได้นี่ คิดว่าได้แล้วเราก็มีความสุขซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะถึงแม้จะได้ ก็สนุกไปสักประเดี๋ยวประด๋าวแล้วความโลภก็จะผลักดันให้ต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพิ่มมาอีกไม่รู้จบ เมื่อไม่ได้ก็ทุกข์ฉะนั้นจะสุขจริงๆ ก็ต้องหยุดทุกข์ คือหยุดอยากนั่นเอง


พิจารณาดูโดยตั้งสติ ใช้ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของจิต เราจะเห็นว่าสิ่งที่เราอยากนั้นเป็นแหล่งก่อทุกข์ทั้งสิ้น อยากได้ทองหยอง อยากได้รถแพงๆ เรามีเงิน เราก็เสียเงินไป หากไม่มีเงินก็ต้องขวนขวาย โกงเขาบ้าง เป็นหนี้เป็นสินเขาบ้าง ผลสุดท้ายก็ทุกข์ มีแล้วเกิดเสียหายบนสลายก็เป็นทุกข์อีก อยากได้ตำแหน่งก็ต้องวิ่งเต้น เสียศักดิ์ศรีประจบประแจงผู้มีอำนาจ พอได้แล้วก็กลัวคนมาแย่งชิงและเมื่อความรับผิดชอบมากขึ้น บางทีเราก็รับไม่ไหว ได้มาอย่างไม่เหมาะไม่สมปฏิบัติในตำแหน่งนั้นไม่ได้ก็ทุกข์ทรมานใจอีก


ฉะนั้น จริงๆ แล้วเราสร้างภาพลวงของความสุขมาหลอกตัวเองต่างหาก มันไม่ใช่หรอก จิตไปติดยึดกับสิ่งไร้สาระเสียมากกว่า ขจัดทุกข์ไม่ได้แล้วจะสุขได้อย่างไรคำถามคำตอบมันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่จิตที่ถูกปิดบังไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ก็ผลักดันชีวิตเราให้เป็นไปตามทางของกิเลสหรือทางของความทุกข์อย่างนั้น


ทางไปสู่ความสุขในเบื้องต้นคือ ต้องฝึกจิตให้มีปัญญาเสียก่อน จะได้รู้จักแยกแยะอะไรทุกข์อะไรสุข เพราะหากเราไม่รู้จักก็เวียนว่ายอยู่อย่างนี้แหละ สิ่งแรกสำคัญที่สุดคือ ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ถึงแก่นสารของชีวิต และตำราที่สูงสุดก็คือธรรมะของพระพุทธองค์นั้นเอง ทรงกำหนดองค์ความรู้อย่างลึกซึ่ง ละเอียดลออ จากขั้นพื้นฐานเบื้องต้นไปจนถึงขั้นสูงสุด คือ พระอภิธรรม หรือ Metaphysic การศึกษาพระธรรมไม่จำเป็นต้องศึกษาละเอียดลออลึกซึ้ง ขอแต่เบสิกพื้นฐานก็เพียงพอแล้วแก่การดำรงชีวิต เพราะคงจะไม่ถึงกับจะบรรลุนิพพานอะไร รู้พอให้เป็นทางขจัดทุกข์และมีความสุขตามอัตภาพก็เพียงพอแล้ว


แต่เรียนรู้อย่างเดียวก็คงได้ผลบ้างสิ่งสำคัญที่เกิดจากประสบการณ์ของตนเองคือต้องปฏิบัติ ถ้าบวชได้ หาวัดที่ปฏิบัติได้ด้วยความสงบ วิเวก และมีอาจารย์ชี้หนทางให้ ก็จะเรียนรู้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเหมือนกับกีฬา รู้ทฤษฎีคงไม่พอ คงต้องลงสนามฝึกฝน สัมผัสกับของจริงจึงจะรู้สึก เพราะรู้นั้นไม่ใช่ทำได้เสมอไป การไปบวชเป็นพระป่านั้นถือว่าเรียนปฏิบัติทางลัดเลย โดยเบื้องต้นคุมร่างกายให้อยู่ก่อนฉันอาหารมื้อเดียว ก็คือร่างกายได้รับอาหารแค่พอดี ไม่มีส่วนเกิน แต่แปลก เรานึกว่าร่างกายคงแย่ อยู่ด้วยอาหารเพียงเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วร่างกายมีความต้องการนิดเดียว นี่เราเติมเข้าไปๆ ตามวิถีชีวิตสังคมปัจจุบันยุคโลกาภิวัฒน์ กินอาหารฟุ่มเฟือย หรูหรา อุดมไปด้วยไขมัน น้ำตาล ล้วนแล้วแต่ทำลายร่างกายเราทั้งสิ้น โรคภัยต่างๆ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินอยู่ในยุคนี้จึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย สูญเสียเงินทองของตนเองและชาติบ้านเมืองไปมหาศาล


พอกินอยู่แบบพระป่าเท่าที่จำเป็นร่างกายกลับดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ น้ำหนักลดลงไปถึง 5 กิโลกรัม ภายในอาทิตย์แรก น้ำตาลเคยสูง ลดลงเหลือปกติ ร่างกายแข็งแรง คล่องแคล่ว ทำงานออกกำลังกาย กวาดวัด เดินบิณฑบาตไกลๆ ทำกิจต่างๆ ได้อย่างดียิ่ง ถึงได้มีความรู้สึกขึ้นมาว่า ความต้องการของชีวิตนั้นช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน ทางด้านจิตก็สวดภาวนาพิจารณา นั่งสมาธิ เดินจงกรม บังคับจิตให้มีสติ พิจารณาเห็นธรรมะจากสิ่งรอบกายและในกายได้อย่างชัดเจน ปลอดโปร่ง โสตประสาทบางเบาขึ้น รับรู้ได้เร็วและดีขึ้นอย่างน่าประหลาด


ฉะนั้นจากที่นึกว่าเราสูงเสียบางอย่างไปกลับเป็นกำไรทั้งสิ้น อาหารอย่างดีที่ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรส ได้อาหารธรรมชาติมาแทน เหงื่อที่สูญเสียไปจากการทำงานทางกายกลับทำให้ได้กำไรคือร่างกายรีดส่วนเกินทิ้งไป วัตถุเหลือเท่าที่จำเป็นต่อชีวิต และเงินทองที่ไม่เคยติดกาย กลับทำให้ไม่ต้องมีห่วงกังวลใดๆ และขจัดความอยากที่ไร้สาระออกไปจากดวงจิตเกือบทั้งหมด Our loss is our gain พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานคำสอนอย่างนั้น


อาวุธสำคัญที่จะสร้างความสมดุลในชีวิตอย่างหนึ่งก็คือคำว่า "พอ" คำสั้นๆ คำเดียว จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราจัดการกับกิเลสตัณหาได้อย่างเด็ดขาดที่สุด จะต้องการอะไร จะปรารถนาอะไร เมื่อมีคำว่า "พอ" มาขจัดความอยากนั้น ความทุกข์ก็หายไปสิ้น


คำว่า "พอ" ไม่ใช่ความขาดแคลนหากแต่เป็นความเต็มเปี่ยม ความสมบูรณ์ตามอัตภาพของเรา กินแต่พอ อยู่แต่พอ อยากแต่พอ ทุกอย่างก็อยู่ในความสมดุล ความพอดี อะไรที่เป็นส่วนเกินนั้นไร้ประโยชน์และทำร้ายเราเสียด้วยซ้ำไป


หากพฤติกรรมทางสังคมเรายึดจุดพอในทุกสิ่ง ความขัดแย้งในสังคมก็คงไม่เกิด เราก็ไม่ต้องแย่งชิงทรัพย์สมบัติ ตำแหน่งลาภยศ จิตใจเราก็ไม่กระวนกระวาย ไม่กระหายโหยหิวอย่างไม่รู้จบ อันนำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งสิ้น


เมื่อไม่ต้องการ เราก็ให้ส่วนเกินกับสังคม ทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์ เมื่อส่วนรวมมีสันติสุข สงบร่มเย็น เอื้ออาทรมีเมตตาธรรมต่อกัน ชาติบ้านเมืองก็สงบเจริญ อยู่เป็นสุข เราทุกคนก็มีความสุขไปด้วย เพราะทุกอย่างถูกจัดสรรแบ่งปันกันอย่างพอเพียง พอดี พออยู่ พอกิน นี่ไม่ใช่หรือที่ชีวิตเราต้องการ โลกทั้งโลกก็คงจะไม่มีการต่อสู้ ทำลายล้าง เกิดทุกข์แย่งชิงผลประโยชน์กันอย่างไม่รู้จบ นำไปสู่ความหายนะของมนุษยชาติ ดังที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในปัจจุบันนี้


โลกาภิวัตน์ไม่ใช่ปรากฏการณ์ดีๆ ที่แผ่กระจายกระแสครอบคลุมโลกอยู่เท่านั้น หากเป็นกระแสทั้งดี ทั้งเลวทั้งมีประโยชน์และทั้งทำลาย ทั้งทุกข์และทั้งสุข คงจะต้องมีจิตที่ผูกกับสติเพื่อเกิดปัญญาเพียงพอที่จะคัดสรรสิ่งดีงามให้กับตัวเรา สังคมของเรา และชาติบ้างเมืองของเรา เราจึงจะมีความสุขได้อย่าได้หลงใหลในกระแสวังวนของกิเลส ของวัตถุ จนหลงผิดคิดว่ากระแสโลกนั้นเป็นกระแสที่ถูกต้องเสมอ ต้องลอยตัวตามไปอย่างที่เป็นกันอยู่ทุกหมู่เหล่าในขณะนี้เพราะนั้นคือความหลงผิด คิดหาสุข แต่ไปไขว่คว้าความทุกข์มาแทน นั่นเรียกว่าความเขลา หาใช่ปัญญาไม่


เราเป็นศิษย์ตถาคต คงจะต้องสู่เอาชนะทุกข์ให้ได้ เอาชนะทุกข์ได้ก็คือสุขนั่นเอง ความสุขไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อความสุขไม่จำเป็นต้องลงทุน ความสุขไม่จำเป็นต้องแย่งชิง เพราะความสุขนั้นอยู่ในตัวเรา อยู่ในจิตใจของเรา เราเป็นเจ้าของคนเดียว เพียงแต่เราจะค้นหาให้พบหรือไม่เท่านั้นเอง หากจิตไม่ปรารถนา ชีวิตเราก็คงจะแหวกว่ายอยู่ในวิบากกรรมต่อไป จนกายสลายสูญสิ้นกลับคืนสู่แหล่งเดิมที่เรากำเนิดมา คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ดูเป็นการใช้ชีวิตที่น่าเวทนา น่าสังเวช มีของมีค่าอยู่กับตัว แต่มองไม่เห็น หาไม่เจอ ก็คือชีวิตที่เขลา ชีวิตที่ทุกข์ ชีวิตที่ไร้ประโยชน์ ไม่ผิดกับสัตว์


พระตถาคตจึงต้องออกโปรดสัตว์เพื่อให้หลุดพ้นจะได้เป็น ฅนโดยสมบูรณ์ ซึ่งก็คือ ฅนที่สุขนั้นเอง
ที่มา: แพรว. 22, 511(10 ธ.ค. 43) หน้า 344-346

[อ่านบทความย้อนหลัง]