บางคนตื่นตอนเช้าหลังลุกจากเตียงแล้วรู้สึกเส้นสายในตัวมันตึงไปหมด โดยเฉพาะบริเวณหลังไหล่และบั้นเอว มายืดๆ เหยียดๆ ให้สรีระกระปรี้ประเปร่าคลายเมื่อย เพื่อรับวันใหม่ปีใหม่ที่สดชื่นกันดีกว่า

          1. ยืนตรง เท้าห่างกันประมาณ 1 ช่วงไหล่ ปลายเท้าทั้งสองวางขนานกัน แขน 2 ข้างเหยียดตรงขึ้นเหนือศรีษะ ฝ่ามือหันเข้าหากัน

          2. ยืนในท่าเกร็งหน้าท้องและสะโพก โน้มลำตัวลงโดยใช้ข้อเอวหลังจะแบน งอเข่าเล็กน้อย พยายามให้สันหลังถึงศรีษะเหยียดเป็นเส้นตรง แขนทั้งสองยืดตรงไปข้างหน้า ฝ่ามือหันเข้าหากัน

          3. ดึงหน้าท้องให้เหมือนกับมีเชือกเหนี่ยวหน้าท้องขึ้นไปด้านหลัง หลังและไหล่อยู่ในแนวโค้ง จะรู้สึกตึงที่สันหลัง เกร็งสะโพกและหน้าท้องโดยตลอด

          ทำท่า 1-3 ต่อเนื่องกัน โดยค้างในแต่ละท่านับ 4 ทำซ้ำทั้งหมด 8 ครั้ง

          ทันทีที่นาฬิกาปลุกดัง หนูนิดก็สะดุ้งสุดตัวเพื่อตื่นมาออกกำลังกายแต่เช้า ก็เขาว่ากันว่ายามเช้าเป็นเวลาดีที่สุดสำหรับการออกกำลังนี่น่า

          ส่วนหนูหน่อยสละสิทธิ์ ขอเลื่อนไปออกกำลังกายยามเย็นแดดร่มลมตกดีกว่า

          อยากรู้จังว่าหนูนิดกับหนูหน่อย ใครถูกใครผิด และใครจะได้ประโยชน์จากการออกกำลังมากกว่ากัน

          สดชื่นยามเช้า
            มีการสำรวจพบว่าโดยปกติคนส่วนใหญ่นิยมออกกำลังกายยามเช้า เพราะเมื่อทำแล้วจะเกิดอาการ "ติด" จนกลายเป็นนิสัยออกกำลังทุกเช้า

            การออกกำลังยามเช้าทำให้กระบวนการเมตาบอลิซึ่มของคุณทำงานได้ดีขึ้น และรักษาระดับต่อเนื่องอีกนับชั่วโมง ช่วยให้คุณเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าคนไม่ออกกำลัง

            คนที่ออกกำลังยามเช้ามักรู้สึกกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉงตลอดทั้งวัน

            หลายคนที่ออกกำลังตอนเช้าจะพบว่าความอยากอาหารของเขาจะเป็นระบบ เป็นต้นว่า เขาจะไม่รู้สึกหิวโหยมากเกินไป ซึ่งทำให้สามารถเลือกกินเฉพาะอาหารที่ดีได้

            ถ้าคุณตื่นและออกกำลังในเวลาเดิมทุกๆ วัน ระบบต่างๆ ของร่างกายจะปรับเวลาจนกลายเป็นนิสัยประจำ ผลก็คือ คุณจะตื่นได้ง่ายขึ้น กระบวนการเมตาบอลิซึ่มของคุณและฮอร์โมนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังจะเริ่มทำงานตั้งแต่คุณยังหลับอยู่ ดังนั้น คุณจะยิ่งรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว และพร้อมจะออกกำลังทันทีหลังจากตื่นนอน
            นักวิจัยพบว่า การออกกำลังจะเพิ่มความปลอดโปร่งในจิตใจ และจะเป็นอยู่อย่างน้อยไปอีก 4-10 ชั่วโมงหลังออกกำลัง

          ผ่อนคลายยามบ่าย
            งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า เวลาบ่ายเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการออกกำลัง เพราะทำให้ออกกำลังได้เต็มที่ ไม่ง่วงเหงาหาวนอนอย่างเพิ่งตื่นนอนตอนเช้า

            ประสิทธิภาพของการออกกำลังเป็นผลมาจากอุณหภูมิของร่างกาย กล่าวคือ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูง การออกกำลังจะยิ่งทำได้เต็มศักยภาพ ขณะที่เมื่ออุณหภูมิของร่างกายต่ำ ศักยภาพนั้นก็จะลดน้อยลง อนึ่ง ช่วงเวลา 1-3 ชั่วโมงก่อนตื่นนอนในตอนเช้าคือ เวลาที่อุณหภูมิของร่างกายต่ำที่สุด และช่วงเวลาที่อุณหภูมิของร่างกายสูงที่สุดก็คือช่วงบ่ายๆ นั่นเอง

            ช่วงบ่ายกล้ามเนื้อจะยืดหยุ่นได้มากกว่า เพราะได้รับการวอร์มมาตลอดทั้งวัน

            ออกกำลังตอนบ่ายทำให้ได้ความแข็งแรงเต็มที่ถึงขั้นสุดยอด

            จังหวะการเต้นของหัวใจและแรงดันเลือดต่ำ

          ดังนั้นเวลาไหนดีที่สุด
            ถ้าจุดประสงค์ของการออกกำลังของคุณคือบรรเทาความเครียดการออกกำลังก็ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะในเวลาไหน

            ไม่ว่าออกกำลังตอนเช้าหรือตอนบ่ายก็มีประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น แม้จะแตกต่างกันไปบ้าง แต่กฎพื้นฐานสำคัญที่อยากให้พิจารณาคือ เวลาที่ดีที่สุดในการออกกำลังกายคือ เมื่อใดก็ได้ที่คุณพอใจและสะดวก ขอเพียงแต่ให้คุณมีความมุ่งมั่นที่จะออกกำลังกาย ถ้ามันดีต่อชีวิตของคุณเองเท่านั้นก็พอ

            อย่าออกกำลังโดยไม่ได้ยืดเหยียดร่างกายเสียก่อน ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ก่อน ระหว่าง และหลังออกกำลังแบบต่างๆ ไม่ว่าคุณจะวิ่งมาราธอนหรือแค่เดินเล่นกับสุนัข การยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดตึง กล้ามเนื้อฉีก กล้ามเนื้อระบม

            หากคุณเล่นกีฬาประเภทยกน้ำหนัก สิ่งสำคัญคือต้องยกในพิกัดน้ำหนักเท่าที่คุณยกได้ หากยกน้ำหนักมากเกินไปก็เสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ แต่หากยกน้ำหนักน้อยเกินไป การบริหารของคุณก็ไม่เกิดผลอะไร คุณอาจปรึกษาผู้ฝึกเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับน้ำหนักที่เหมาะกับรูปร่าง ความเข็มแข็ง และเป้าหมายของคุณ ผู้ฝึกจะช่วยวางแผนได้ว่าจะค่อยๆ ฝึกอย่างไรเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ

            อีกสิ่งหนึ่งที่มักเข้าใจผิดพลาด คือ คำเตือนที่ว่า "อย่าดื่มน้ำมากในวันปกติ คุณควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว ส่วนในวันที่ออกกำลัง คุณควรดื่มน้ำมากกว่านั้นเพื่อไม่ให้ ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ การดื่มน้ำทันทีหลังออกกำลังยังป้องกันไม่ให้เกิดตะคริวได้ด้วย

          การออกกำลังนั้นมีประโยชน์แต่ต้องเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับอายุด้วย เมื่อถึงอายุ 30 ปีขึ้นไป ความสามารถของร่างกายจะเริ่มลดลงทั้งด้านความทนทาน ความว่องไว กำลังของกล้ามเนื้อ การเล่นกีฬาที่ใช้กำลังมากๆ หรือคนที่มีโรคประจำตัวแล้วออกกำลัง โดยไม่คำนึงถึงความสามารถของตนก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บได้

          มาดูกันซิคะว่า วัยอย่างคุณควรออกกำลังอย่างไร

            อายุ 1-3 ปี
           เล่นและออกกำลังกายเป็นครั้งคราว เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว และเกิดพัฒนาการของร่างกาย โดยใช้กิจกรรม ทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น เดิน วิ่ง กระโดด

            อายุ 4-6 ปี
           ควรได้ใช้ทุกส่วนของร่างกายในการออกกำลัง เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อและระบบหายใจ เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เล่นกายบริหาร กิจกรรมเลียนแบบและเกมเบ็ดเตล็ด

            อายุ 7-11 ปี
           เน้นการออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกาย เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วและเกิดการประสานงาน เช่น เล่นกีฬา ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ และเล่นเกมที่ยากขึ้นรวมถึงกิจกรรมที่นำไปสู่การเล่นกีฬา

            อายุ 12-17 ปี
           ออกกำลังกายให้ครบทุกส่วนของร่างกาย โดยเน้นสมรรถภาพของร่างกาย และพัฒนาทักษะทางกลไกให้มีการทำงานที่สัมพันธ์กัน เช่น วิ่ง ถีบจักรยาน เล่นบาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค เต้นรำ แบดมินตัน และอื่นๆ

            อายุ 18-35 ปี
           ออกกำลังเพื่อเน้นฝึกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของร่างกาย และเน้นการฝึกทักษะที่ยากและซับซ้อน เพื่อเป็นพื้นฐานความสามารถของร่างกาย ส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายทุกรูปแบบ กิจกรรมควรเน้นความหลากหลาย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อให้ครบทุกส่วนของร่างกาย และเน้นการออกกำลังให้เป็นกิจวัตรประจำวันหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 20-30 นาที

            อายุ 36-59 ปี
           การออกกำลังต้องมีหลายรูปแบบและสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกาย เวลา สถานที่ เนื่องจากเป็นวัยที่มีภาระหน้าที่ในการทำงานและครอบครัว ส่วนใหญ่มักมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาว่าง แต่ร่างกายมีความต้องการที่จะให้ดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายที่เสื่อมถอย ถ้าไม่ได้ออกกำลังมานาน ควรปรึกษาแพทย์ หากอายุ 45 ปี ขึ้นไป ควรตรวจร่างกายและการทำงานของหัวใจด้วย ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่เคยทำ แต่ลดความเร็วและความหนักลง เช่น ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน กายบริหาร วิ่งเหยาะๆ ในวันที่ไม่ได้ออกกำลังก็ควรมีกิจกรรมที่ออกแรงเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ เช่น ทำงานบ้าน ยกแขนขึ้นลง บิดลำตัว ก้มเงย

            อายุ 60 ปีขึ้นไป
           การออกกำลังกายในวัยนี้มีข้อจำกัดต้องยึดแนวทางการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจจะเกิดโทษต่อสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกายโดยเฉพาะการทำงานของหัวใจ กิจกรรมที่ออกกำลังควรเป็น แบบเบาๆ เช่น เดิน วิ่ง รำมวยจีน รำกระบอง กายบริหารประกอบดนตรี ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงมากในระยะสั้นๆ

  คนที่มีอาการปวดหลังส่วนใหญ่มักกลัวที่จะเล่นกีฬา เพราะคิดว่าจะยิ่งทำให้อาการปวดหลังรุนแรง
ยิ่งขึ้น อันที่จริงคุณยังสามารถออกกำลังและเล่นกีฬาได้แต่ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้นเอง
 
ก่อนที่คุณจะเล่นกีฬาหรือเริ่มออกกำลัง คุณควรต้องวอร์มอัพเสียก่อน เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น
เช่น วิ่งช้าๆ จากนั้นก็ต้องยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ทั้งแขน ขา ไหล่ และหลัง แล้วต่อด้วยการทดลองเคลื่อนไหวร่างกายลักษณะเดียวกับกีฬาที่คุณจะเล่น เพียงแต่ช้ากว่า ลองสังเกตว่าแม้แต่นักกีฬามืออาชีพก็ไม่มาที่สนามด้วยความสดใส แต่จะเหงื่อโชกมาเลย เพราะผ่านการวอร์มอัพและขยับเนื้อขยับตัวมาแล้ว
 
แถมด้วยเคล็ดลับเล็กๆ น้อย ในการเล่นกีฬาเพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดหลัง:
 
  เริ่มช้าๆ กล้ามเนื้อหลังของคุณอาจอ่อนแอและบาดเจ็บได้ง่าย เพราะฉะนั้นควรเริ่มด้วยการออก
กำลังอย่างช้าๆ เป็นเวลาประมาณ 15 นาที ต่อการออกกำลังแต่ละครั้ง
 
  เลือกชนิดกีฬาอย่างระมัดระวัง ถ้าคุณเคยมีปัญหาปวดหลัง เลือกการออกกำลังที่ไม่สร้างแรงกด
ต่อข้อของคุณมากเกินไป การว่ายน้ำ หรือออกกำลังในน้ำจะปลอดภัยที่สุด เพราะน้ำจะช่วยพยุงร่างกายและไม่สร้างแรงเค้นต่อหลังของคุณ
 
 หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในท่าที่เสี่ยง คนที่เคยปวดหลังควรระวังการเคลื่อนไหวซึ่งอาจสร้างแรง
กดต่อกล้ามเนื้อหลังมากขึ้น กีฬาที่ต้องบิดตัวมากๆ เช่น กอล์ฟ กีฬาที่ต้องเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว เช่น เทนนิส บาสเกตบอล และกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น ฟุตบอล ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงต่อหลังของคุณ ถ้าคุณต้องการเล่นกีฬาเหล่านี้ ควรฝึกฝนวิธีที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เช่น คนที่เล่นบาสเกตบอลต้องพยายามรักษาลำตัวให้ตั้งตรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

  วิ่งเป็นการออกกำลังที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนมาก ซ้ำยังมีผลดีช่วยบำรุงหลอดโลหิตกล้ามเนื้อหัวใจ
ป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อน ลดความดันโลหิต ปริมาณไขมันและน้ำหนักตัว
 
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การวิ่งมักทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย สาเหตุเป็นเพราะการวิ่งทำให้เกิดแรง
กระแทกต่อเท้าและร่างกายได้มาก ยิ่งวิ่งระยะทางไกลๆ โอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บก็ยิ่งมีมากขึ้น บางคนยังมีปัญหาที่ความผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย เช่น มีภาวะเท้าแบน ขาโก่ง ขาสั้นข้างยาวข้าง นอกจากนี้พื้นที่รองรับการวิ่ง รองเท้าและสิ่งแวดล้อมก็มีผลเช่นกัน รองเท้าที่แข็งหรือเสื่อมสภาพมากแล้ว พื้นผิววิ่งไม่เรียบ เอียง หรือมีความแข็งเกินไป ก็ล้วนทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ทั้งนั้น
 
เพราะฉะนั้นถ้าคุณคิดจะเริ่มทำการวิ่งเพื่อออกกำลัง ก็ควรศึกษาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ
ด้วยเทคนิคง่ายๆ ดังนี้
 
  ตรวจสภาพร่างกาย หาความผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย ถ้าคุณมีปัญหาเช่น เท้าแบน ขาโก่ง
หลังคด ขาสั้นยาวไม่เท่ากันก็ควรหาทางแก้ปัญหาเสียก่อน หรือปรึกษาแพทย์ หรือไม่อย่างนั้นก็เปลี่ยนไปเล่นกีฬาอย่างอื่นที่ไม่ต้องการกระทบกระแทกขนาดนี้
 
 ตรวจสอบอุปกรณ์กีฬา สนามวิ่งหรือพื้นผิวในการวิ่ง รวมทั้งรองเท้าและเสื้อผ้า
 
พื้นวิ่งที่ถูกอัดจนแน่นและแข็งกว่าธรรมดา จะทำให้คนที่วิ่งมากๆ เกิดอาการปวดข้อเท้า ส้นเท้า
หรือเจ็บพังผืดฝ่าเท้าได้ง่าย ควรเริ่มฝึกวิ่งบนพื้นผิวที่อ่อนกว่า เช่น สนามหญ้าไปสู่พื้นสนามที่แข็งกว่า เช่น พื้นถนนยางมะตอย จะช่วยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บได้ รองเท้าควรมีพื้นที่นิ่มพอสมควรยืดหยุ่นได้ดี ไม่แข็งเกินไป และไม่ควรสวมชุดแน่นหนาลงวิ่งในที่ที่อากาศอบอ้าวเพราะจะทำให้เหงื่อออกมาก ทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ จนร่างกายเหนื่อยและล้าเกินไป
 
 อบอุ่นร่างกาย (วอร์มอัพ) เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนที่จะไปออกกำลังอย่างเต็มที่ เพื่อให้กล้าม
เนื้อคล่องตัว ยืดหยุ่น และอดทนได้ดี เป็นการเลี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยอาจจะวิ่งเหยาะๆ ดัดตัว บีบนวดกล้ามเนื้อหรือโดยการใช้อุปกรณ์ เช่น ใช้น้ำมันหรือยาทาภายนอกทาถูบีบนวด ประคบด้วยความร้อน
 
  มีสมาธิ นักวิ่งที่ดีควรมีสมาธิ เพราะจะทำให้จิตใจมั่นคง รู้จักควบคุมอารมณ์
 
  คลายร่างกาย (คูลดาวน์) หลังการวิ่ง อย่าหยุดโดยทันทีเพราะหัวใจยังเต้นเร็วอยู่ การหยุดทันทีจะ
เป็นอันตรายถึงตายได้ ควรค่อยๆ วิ่งช้าลงและเคลื่อนไหวต่อไปเรื่อยๆ สักครู่ ให้หัวใจเต้นช้าลงจนใกล้เคียงปกติเสียก่อนจึงหยุดพัก

  คุณหรือเปล่าที่เกิดอาการงงเป็นไก่ตาแตกเวลาเข้าไปในร้านขายเครื่องกีฬาเพื่อหาซื้อรองเท้าสักคู่
แต่ต้องเจอกับกองทัพรองเท้าหลากรุ่นหลายแบบที่ออกมาวางขายมากมาย ตั้งแต่รองเท้าสำหรับเดิน วิ่ง บาสเกตบอล หรือฟุตบอล อะไรกันนักหนานี่!
 
เป็นเพราะว่าเท้าของคนเรามีลักษณะแตกต่างหลากหลาย อีกทั้งชนิดกีฬาและระดับของการเล่นของ
แต่ละคนก็แตกต่างกันด้วย เป็นต้นว่า ถ้าคุณแค่วิ่งวันละนิดหน่อยทุกสัปดาห์ แล้วต่อด้วยเล่นบาสเป็นครั้งคราว รองเท้ากีฬาแบบอเนกประสงค์ก็คงเพียงพอ แต่ถ้าคุณเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นประจำ 3 ครั้งหรือ มากกว่าต่อสัปดาห์ คุณควรสวมรองเท้าที่ออกแบบเฉพาะเจาะจงกับลักษณะกีฬานั้นๆ เพราะจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้
 
การจ๊อกกิ้งเป็นกีฬาที่พร้อมจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หัวเข่าและข้อเท้าได้ง่าย รองเท้าวิ่งที่ดีควรช่วย
ลดแรงกระแทกหรือแรงเค้นที่จะเกิดกับหัวเข่าหรือข้อเท้า จึงควรต้องมีพื้นที่สามารถรองรับน้ำหนักจากการกระแทกได้มาก
 
ขณะที่กีฬาที่ใช้แร็กเกต เช่น เทนนิส ต้องเคลื่อนไหวแบบไปด้านข้าง รองเท้าที่เหมาะสมจึงควรมี
แถบข้างที่ให้ความมั่นคงกับข้อเท้า ส้นรองเท้าไม่สูงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง
 
เวลาที่คุณคิดจะซื้อรองเท้ากีฬาควรเริ่มต้นด้วยการไปที่ร้านขายเครื่องกีฬาโดยเฉพาะ ซึ่งพนักงาน
ขายน่าจะมีความรู้พอสมควร และเขาควรใส่ใจถามไถ่ถึงกีฬาที่คุณเล่น และลักษณะเท้าของคุณก่อนที่จะช่วยหารองเท้าที่เหมาะสมให้ แต่อย่างน้อยที่สุดคุณเองก็ควรรู้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับรองเท้าติดตัวเสียหน่อย ดังนี้ค่ะ
 
  ซื้อรองเท้าในช่วงที่เท้าขยายใหญ่ที่สุด คือช่วงบ่ายหลังจากเดินมาตลอดทั้งวัน
 
  สวมถุงเท้ากีฬาด้วยขณะที่จะลองรองเท้า
 
  ลองสวมรองเท้าก่อนซื้อเสมอ เพราะขนาดของแต่ละยี่ห้ออาจไม่เท่ากัน
 
  ลุกขึ้นเดินให้แน่ใจว่ารองเท้าพอดีกับเท้าทั้งสองข้าง
 
  ส่วนกว้างช่วงนิ้วเท้าควรกว้างพอ และเหลือช่องว่างเล็กน้อยระหว่างปลายนิ้วถึงหัวรองเท้า
 
  อย่าใช้งานหนักกับรองเท้าใหม่ เช่น ใส่วิ่งมาราธอนหรือระยะทางไกลๆ ควรให้เท้าของคุณได้
ปรับเข้ากับรองเท้าสักระยะหนึ่งเสียก่อน
 
  เมื่อได้รองเท้าใส่เล่นกีฬาที่ถูกใจแล้ว คุณอาจหารองเท้ารุ่นที่เหมือนกันสำรองไว้อีกคู่ จะได้ไม่
ต้องเที่ยวหาซื้อกันใหม่ไงล่ะ
 
 คนที่เท้าแบน อุ้งเท้าโค้งน้อย ควรเลือกรองเท้าที่มีส่วนเสริมอุ้งเท้ามากกว่าปกติ
 
  เลือกรองเท้ากีฬาไม่ได้ยากกว่าที่คุณคิด หลักสำคัญวัดกันที่ความพอใจของคุณ ถ้าลองสวมแล้ว
รู้สึกสบายไม่เจ็บ เคลื่อนไหวได้สะดวก ก็เป็นอันใช้ได้ อย่าลืมพิจารณาความเหมาะสมเรื่องราคา เพราะหลายยี่ห้อพยายามเพิ่มเติมสรรพคุณในรองเท้าโดยที่ประโยชน์กับคุณอาจไม่ได้มากขึ้น มันเป็นเพียงเหตุผลในการขึ้นราคาเท่านั้นเอง

  ยามที่เกิดความเครียดคุณจะทำอย่างไร ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ ตีอกชกหัว ฯลฯ สิ่งท้ายๆ
ที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือ ลุกขึ้นออกกำลัง ทั้งๆ ที่เป็นวิธีคลายเครียดที่ได้ผลและดีต่อสุขภาพด้วยซ้ำ
 
เชื่อหรือไม่ว่า การได้ออกกำลังประมาณ 30 นาทีเท่านั้น ก็ช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้แล้ว
 
ศูนย์การแพทย์ดุ๊คส์ ศึกษาพบว่า การออกกำลังด้วยการเดินเร็วแค่ 10 นาที ก็เพียงพอที่จะทำให้คน
เครียดรู้สึกดีขึ้นได้ มีการทดลองในอาสาสมัครอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งกำลังรู้สึกเครียด โดยทดสอบอารมณ์ก่อนและหลังออกกำลังกาย อาสาสมัครร้อยละ 82 บอกชัดเจนว่าเขารู้สึกดีขึ้น ไม่เครียด ไม่โกรธ และว้าวุ่นน้อยลง
 
นอกจากการเดินช่วยให้คุณหนีความเครียดได้ ยังช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในสมอง กระตุ้นการหลั่ง
สารสุข (แอนโดฟินส์) ทำให้ปอด หัวใจ กระบังลม กล้ามเนื้อต่างๆ แข็งแรง

  ความฝันของเด็กๆ มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันก็คือ "อยากจะมีจักรยานสักคันไว้ปั่นเล่น"
 
เด็กปั่นจักรยานเพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก ขณะเดียวกันเขาได้ฝึกทรงตัว ใช้กำลังขา กำลังแขน
โดยที่ไม่รู้ตัว
 
ผู้ใหญ่ต้องฝึกมีหัวใจแบบเด็กๆ บ้าง การปั่นจักรยานถึงจะสนุก...
 
ก่อนอื่น หากคุณเลือกที่จะออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน ไม่ต้องมุ่งมั่นว่า "ฉันจะฝึกกำลังแขน
กำลังขาให้แข็งแกร่ง" นึกถึงความเพลิดเพลินเป็นหลักดีกว่า
 
ทราบไหมว่า ภูมิอากาศบ้านเรา เหมาะแก่การออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานเป็นที่สุด ปั่นได้
หลายฤดู คือทั้งร้อนและหนาว ส่วนหน้าฝนก็ปั่นแถวๆ บ้าน ไม่ต้องปั่นไปไกลนักหรอก
 
บางประเทศอากาศหนาวจัด หิมะตก พายุลมแรง สารพัดที่จะมีอุปสรรคต่อการได้ใช้สองเท้าเล็กๆ ของ
เรา พาตัวเองที่นั่งอยู่บนอานเคลื่อนที่ออกไปข้างหน้า ลมโชยอ่อนมาปะทะ ทำให้ชีวิตในเขตร้อนชื้นอย่างเราๆ มีความสุข มีสีสันต่อการออกกำลังกายโดยไม่ต้องคร่ำเคร่งหรือตั้งใจอย่างยิ่งยวดก็ได้
 
อยากจะปั่นจักรยานให้มีความสุขจริงๆ ต้องเริ่มจากการวิ่งเสียก่อนเพื่ออะไรหรือครับ เพื่อฝึก
กล้ามขาให้แข็งแกร่ง ก่อนจะเริ่มปั่นจักรยาน จะได้ไม่ล้าที่ต้นขาจนอาจเข็ดไปเสียก่อน
 
เมื่อกล้ามเนื้อขาแข็งแรงดีแล้ว จะทำให้เราปั่นจักรยานได้สนุกสนานและไม่เหนื่อยง่าย ใช้ระยะทาง
สั้นยาวได้ตามใจ อาจจะปั่นเป็นเส้นตรงแบบไปกลับ หรือปั่นเป็นวงกลมรอบสนามหรือรอบพื้นที่ ที่ใดที่หนึ่งก็ได้
 
เวลาปั่นจักรยานไปด้วยกันประสาเพื่อนๆ หรือประสาพ่อแม่ลูกนี่มีความสุขอย่าบอกใคร แข่งกันนำ
แข่งกันตาม ครึกครื้นเสียจนลืมว่าได้เหงื่อ
 
การออกกำลังกายที่ได้ยิ้มหัวไปด้วยเช่นนี้ หาได้ไม่ง่ายนัก...
 
จักรยานยังมีเสน่ห์ในตัวเอง ตรงที่ไม่สร้างความเบื่อหน่ายให้แก่ผู้ขี่ บางทีคนที่ออกกำลังกาย
ด้วยการวิ่งอยู่บ่อยๆ จะเกิดอาการเบื่อหน่ายขึ้นได้ และหากเปลี่ยนสถานที่ออกกำลังกาย มักจะไม่ค่อยอยากวิ่งหรือไม่คุ้นเคยกับเส้นทางวิ่ง แต่หากมีจักรยานประจำตัว จะกระตือรือร้นที่จะได้ผจญภัยในเส้นทางใหม่ๆ มากกว่า
 
จักรยานจึงเป็นวิธีการหลอกล่อให้คนที่ไม่ค่อยสนใจการออกกำลังกายได้เริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประชากรของเราที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ที่ให้ความสนใจต่อการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย มีเพียงร้อยละ 16.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30.7 ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้นเองสถิติการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ขาดการออกกำลังกายจึงมีมากขึ้นทุกทีๆ จะดีขนาดไหนหากเราฝึกฝนให้เราและคนใกล้ชิดรักการออกกำลังกายจนเป็นนิสัยหรือเป็นความเคยชินได้
 
การปั่นจักรยานให้ได้ประโยชน์ ต้องเริ่มจากปั่นช้าๆ และเร็วขึ้นสักพัก เพื่อเป็นการอบอุ่นร่างกาย
ต่อจากนั้นให้ปั่นด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอต่อเนื่องกันนาน 20-30 นาที จะพบว่าชีพจรเต้นแรงขึ้นและเป็นจังหวะสม่ำเสมออยู่ที่ 130-160 ครั้งต่อนาที จากนั้นให้ปั่นช้าลงแล้วค่อยๆ หยุด ไม่ควรเร่งปั่นอย่างเร็วแล้วหยุดกะทันหัน เพราะไม่เป็นผลดีต่อกล้ามเนื้อและชีพจร
 
การปั่นจักรยานยังช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดีเป็นปกติ ให้ผลดีต่อปอด หัวใจ
และช่วยกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ ตลอดจนควบคุมน้ำหนักได้ด้วย
 
หลังปั่น ยืด - คลายกล้ามเนื้อขาสักพัก เพื่อที่กล้ามเนื้อจะได้ไม่ล้า...จักรยานยังสามารถบรรทุกติดรถ
ไปปั่นตามสถานที่ต่างๆ ได้ด้วย ปัจจุบันตามจังหวัดต่างๆ จะมีชมรมจักรยานของเขาอยู่ และตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็มีเส้นทางจักรยานไว้ด้วย
 
หากคุณอยากจะเริ่มต้น "รัก" การออกกำลังกายให้ง่ายขึ้นละก็
 
เริ่มต้นฝันที่จะมีจักรยานสักคันก่อนดีกว่า...

ที่มา: คัมภีร์ครอบครัว ประจำปี 2544. กรุงเทพฯ: สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย, 2544.
(หน้า206-218)

[อ่านบทความย้อนหลัง]