โดย อานันท์ ปันยารชุน ปาฐกถาพิเศษ ในการสัมมนาเรื่อง
ประธานสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย/ "ความพอดีของวิถีพัฒนาไทย ในกระแสโลกาภิวัฒน์"
ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 21 พฤศจิกายน 2544 ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ


ท่านผู้มีเกียรติ

          ท่านทั้งหลายต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าโลกปัจจุบันนี้เป็นโลกของการแข่งขัน มีทั้งการแข่งขันเพื่อให้มีการพัฒนาขึ้น และแข่งขันเพื่อให้มี อำนาจเหนือกว่ากัน การแข่งขันประเภทหลังทำให้บางส่วนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดภายใต้กระแสที่เชี่ยวกราก เพราะเป็นการแข่งขัน ที่ไร้คุณธรรม นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบของผู้มีอำนาจกว่า เกิดความไร้ระเบียบของสังคมโลก และเป็นชนวนไปสู่การสู้รบ แล้วยังก่อให้ เกิดการทำลายล้างทั้งชีวิตมนุษย์ ระบบนิเวศ และระบบวัฒนธรรม รุนแรงและรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

   หากเราปล่อยให้วิถีโลกยังคงดำเนินไปอย่างนี้ ก็ไม่ต้องมาพูดถึง "ความยั่งยืน"  กันให้เสียเวลา จะประชุม Earth Summit อีกร้อยครั้ง Agenda อีกสักร้อยฉบับ ก็คงไม่มีความหมาย และเวลาของโลก จะอยู่รอดให้เรามีการประชุมกันถึงร้อยครั้งหรือไม่นั้น ผมไม่มั่นใจ

          แต่สิ่งที่ผมมั่นใจก็คือ เราจะสามารถสร้างพลังขับเคลื่อนสังคมเล็กๆ ของเรา ให้รอดพ้นจากกระแสของโลก ด้วยจุดยืนที่ตั้งมั่น และก้าวไป สู่วิถีของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ถ้าเราลงมือทำวันนี้และนาทีนี้ แล้วเราจะรอด

          ท่านทั้งหลาย ผมไม่ได้ชี้นำให้เราเอาตัวรอดแบบที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมโลกโดยรวม ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริง เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเป็นสมาชิกของสังคมโลก และเรารู้ตัวดีว่าเราไม่ใช่ ชาติมหาอำนาจที่จะไปชี้นำหรือควบคุมใครได้ นั่นจึงทำให้ เราจำเป็นจะต้องเอาตัวเองออกมาให้พ้นกระแสของความรุนแรง วิถีการแข่งขัน และความไร้ระเบียบของสังคมโลก เราจำเป็นต้องทำ และไม่ใช่ทำคนเดียว เราต้องแสวงหาพันธมิตรมาร่วมในขบวนการการอยู่รอดอย่างรับผิดชอบนี้ด้วยกัน

          หากหันกลับมามองสังคมไทยของเราบ้าง ผมว่าตอนนี้เราก็ไร้ระเบียบไม่แพ้สังคมโลกแล้ว มองลงไปสู่สังคมที่เล็กกว่านั้นจนถึงระดับ ครอบครัว ท่านเห็นอะไรบ้าง สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือความเป็น ธรรมชาติของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมระดับต่างๆ ท่านจะเห็นว่า แม้แต่ในบ้านหลังเล็กๆ ของท่าน ก็ยังมีความหลากหลายรวมกันอยู่ แต่ความผาสุกก็บังเกิดขึ้นได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมอยากให้คิด

   สำหรับผมเองแล้ว ความผาสุกและสันติในสังคมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากความเอื้ออาทรและการเคารพซึ่งกันและกัน และมาจาก วิถีการ พัฒนาที่มีความพอดี  และหากเกิดคำถามตามมาว่า ความพอดีอยู่ ที่ไหน เป็นความพอดีของใครนักลงทุนหรือเกษตรกร ผมอยากให้คิด อย่างนี้ว่า ความพอดีของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับที่หลายท่านอาจกำลังคิดอยู่ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละกลุ่มคนแต่ละ ประเทศ ก็ต้องมีวิถีและบริบทที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ  ความพอดีของการพัฒนาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของทุนที่มีอยู่  ซึ่ง ไม่ได้หมายถึงทุนที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุนทั้งหมดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพยากร ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรคน ทุนทางปัญญา และรวมทุนทางวัฒนธรรมด้วย

          ที่ผ่านมาเราได้ประเมินทุนเหล่านี้ผิดพลาด เราละเมิดความสำคัญของทุนบางอย่าง ทำให้เราพยายามก้าวกระโดดไปสู่ความมั่งคั่งโดย ขาดความมั่นคง ผลที่ตามมานั้น เราก็พูดกันมามากแล้วว่าเราประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวในเรื่องนี้อย่างไร ผมจึงอยากให้เรา ใช้เวลานี้ ให้ความสำคัญกับการ ทบทวน แล้วใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นมองไปข้างหน้า

   และนอกจากนี้ วิถีการพัฒนาที่พอดี จะต้องสอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติ ก็คือ ความเป็นปรกติ ความเป็นธรรมดา

           ความเป็นธรรมชาติจะต้องมีความหลากหลาย  ซึ่งตรงกันข้ามกับโลกาภิวัฒน์ที่กำลังลดทอนความหลากหลายของโลกในทุกด้าน ไม่ว่าจะ เป็นเรื่องทิศทางการพัฒนาหรือเรื่องของวัฒนธรรม  ความเป็นธรรมชาติจะต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งทั้งหลาย  มีการ พึ่งพาอาศัย และมีความเป็นเอกภาพในความหลากหลาย เช่นเดียวกับการพัฒนา หากเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เราก็จะ ต้องให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับระบบนิเวศ ระบบวัฒนธรรม และจริยธรรมของสังคมด้วย

           ความเป็นธรรมชาติจะต้องมีความสามารถที่จะจัดการกับตัวเองได้  ซึ่งปัจจุบัน ธรรมชาติพังไปมาก ก็เพราะน้ำมือมนุษย์ที่เข้าไปจัดการ หรือยุ่งกับธรรมชาติจนเกินความจำเป็น และทำให้ธรรมชาติปรับตัวเองได้ ไม่ทัน  อีกประการหนึ่งของความเป็นธรรมชาติ ก็คือ การ เปลี่ยนแปลง  ดังนั้น การที่อ้างว่าต้องรักษาทุกสิ่ง ทุกอย่างไว้ให้เหมือนเดิม ก็เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติ ประเด็นสำคัญ ของการเปลี่ยนแปลง คือ การคงความสมดุลของความหลากหลายไว้ให้ได้

   ฉะนั้น ทิศทางการพัฒนาไทยในอนาคต จะต้องสำรวจเพื่อรู้จักตัวเอง การรู้ทุนของตัวเองให้มากขึ้น และดำเนินไปตามวิถีของธรรมชาติ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่

   บนพื้นฐานแนวคิดข้างต้น เราจึงจะต้องเปลี่ยนเป้าหมายของการพัฒนาประเทศให้มุ่งไปสู่ความมั่นคงมากกว่าความมั่งคั่ง มั่นคงในด้าน เศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับชาติ มั่นคงทางด้านจิตใจ ด้านวัฒนธรรม การเมือง และด้านนิเวศ การพัฒนาประเทศที่จะก่อ ให้เกิดความมั่นคงในทุกระดับได้นั้น สัมมาทัศนะของวิถีดำเนินชีวิตระดับปัจเจกบุคคลจะต้องเกิดขึ้นก่อน

          ทุกวันนี้ ผู้คนจำนวนมากดำเนินวิถีชีวิตของตนจนเกินความพอดี ขัดแย้งกับความเป็นธรรมชาติ แข่งขัน ไขว่คว้าเพื่อบริโภคและครอบ ครองทรัพย์จนเกินความจำเป็น หาได้มีความพอเพียงในชีวิต หลายต่อหลายคนได้ทุ่มเทต่อการทำงานเพียงเพื่อให้เกิดความมั่งคั่ง แต่ ชีวิตกลับขาดความมั่นคง แล้วจะมีประโยชน์อะไร

          ซ้ำร้าย วิถีการพัฒนาที่ไม่มีความเป็นธรรมชาติ มีการแข่งขันที่ไร้คุณธรรม กลับทำให้สังคมเรา ไร้ระเบียบมากขึ้น สร้างความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคลให้ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศเสื่อมโทรม จริยธรรมเสื่อมถอย และระบบครอบครัวล่มสลาย

          เสียเวลาที่จะตั้งคำถามว่า สัมมาทัศนะของพวกเราและของผู้นำในสังคมไทยในเรื่องการพัฒนาเกิดแล้วจริงหรือ เพราะคำตอบชัดเจน อยู่แล้ว

          ณ นาทีนี้ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการพัฒนาแบบเดิมให้ได้ การเปลี่ยน-แปลงที่แท้จริงและยั่งยืนถาวร ตามที่ประวัติศาสตร์ของมนุษย ชาติได้บันทึกไว้นั้น ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดจากชายขอบ (Marginal) ก่อนเสมอ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากศูนย์อำนาจ แม้จะเกิดขึ้นมากครั้ง แต่ไม่มีความยั่งยืน เพราะฉะนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับพวกเราที่ทำงานในลักษณะชายขอบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น องค์กร สาธารณะ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรประชาชน ซึ่งจักต้องทำงานต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ และควรผนึกกำลังกัน เพื่อจะได้มี พลังในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จุดประกายวิถีการพัฒนาเพื่อความมั่นคง บนพื้นฐานของความเป็นธรรมชาติดังที่ได้กล่าว มาแล้ว

          สุดท้าย ผมขอฝากไว้ว่า หากประชาชนไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อกระบวนการพัฒนาประเทศ แต่กลับเรียกร้องถึงการมีส่วนร่วม โดยไม่รู้จักหน้าที่และมองเป็นองค์รวม ปล่อยให้เป็นเพียงภาระหน้าที่ของรัฐดำเนินการไปตามลำพัง ความคาดหวังที่จะได้เห็นการ พัฒนาที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคง เกิดความผาสุกและสันติของทุกกลุ่มคนในสังคม ก็ย่อมเกิดได้ยาก

          ในทางกลับกัน หากภาครัฐซึ่งพูดถึงการมีส่วนร่วมอยู่เสมอ บอกว่ารับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับไม่ได้ยินหรือไม่นำไปใช้ ก็ไร้ประโยชน์เช่นกัน

          ในโอกาสที่ท่านได้มารวมกันในสัมมนาครั้งนี้ ขอให้ท่านได้ใช้เวลา ณ นาทีนี้ เป็นต้นไป ร่วมกันคิด และหากมีความเห็นที่แตกต่างกัน นั่นก็คือความเป็นธรรมชาติที่ต้องเรียนรู้เพื่อหาทางออก และเมื่อคิดแล้วก็ขอให้ทำ โดยต้องทำมากกว่าที่คิด การสัมมนาครั้งนี้จึงจะ สัมฤทธิผล ผมขออวยพรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และขอเปิดการสัมมนา ณ บัดนี้

ขอขอบคุณ

ที่มา : http://www.tei.or.th/viewpoint11.htm