ธรรมรัฐแห่งชาติ (Good Governance) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศ  ถ้าปราศจากธรรมรัฐแห่งชาติประเทศไทยไม่มีทางหายวิกฤติ เพราะธรรมรัฐแห่งชาติ หมายถึงชาติที่มีความถูกต้อง ถ้าปราศจากความถูกต้องเราเจริญไม่ได้  ความไม่ถูกต้องนำไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดอย่างที่เห็นๆกันอยู่
      ความถูกต้อง(ธรรม)แห่งชาติ หรือ ธรรมรัฐแห่งชาติ หมายถึงอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

          - ธรรมรัฐในภาครัฐ (ทั้งการเมือง และระบบราชการ)

          - ธรรมรัฐในภาคธุรกิจ (Corporate Good Governance)
          - ธรรมรัฐภาคสังคม (ประชาสังคม Civil Society)

      ความถูกต้องในภาครัฐและภาคธุรกิจมีลักษณะอย่างน้อย ๕ ประการ คือ

      (๑) มีความสุจริต

      (๒) มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

      (๓) มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

      (๔) มีความร่วมมือกันทำความดี (ไม่ร่วมมือกันไปปล้นผู้อื่น)

      (๕) มีความเข้มแข็งทางปัญญา เรียนรู้ และปรับตัวได้

      ภาคสังคมต้องเป็นสังคมเข้มแข็งหรือประชาสังคม (Civil Society) ความเป็นประชาสังคมเป็นปัจจัยชี้ขาดให้เศรษฐกิจดี การเมืองดีและศีลธรรมดี จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของธรรมรัฐแห่งชาติ  คนไทยทุกคนควรทำความเข้าใจและมีส่วนสร้างประชาสังคม



      ประเทศมีปัญหาสลับซับซ้อนมากมายหลายเรื่อง การจะแก้ปัญหาให้ได้ผลต้องหาจุดคานงัด หรือจุดเชื่อมโยงใหญ่ ๆ ที่เมื่อทำให้ดีแล้วจะเชื่อมโยงไปได้หมดทุกเรื่อง  ทำให้สังคมสามารถพัฒนาไปได้ด้วยดี ไม่ว่าจะทำเรื่องอะไรควรมองเห็นภาพใหญ่ และทราบว่าเรื่องที่จะทำนั้นอยู่ตรงไหนในภาพใหญ่ และเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ อย่างไร

      ประเทศไทยมีเรื่องใหญ่ ๆ หรือ ระเบียบวาระแห่งชาติ (National Agenda) ที่ควรทำอยู่ ๗ เรื่อง คือ

          (๑) สร้างคุณค่าและจิตสำนึกใหม่

          (๒) สร้างเศรษฐกิจพอเพียง และประชาสังคม

          (๓) ปฎิรูประบบเศรษฐกิจมหภาคและการเงิน

          (๔) ปฎิรูประบบรัฐ ทั้งการเมืองและระบบราชการ

          (๕) ปฎิรูปการศึกษา

          (๖) ปฎิรูปสื่อเพื่อสังคม

          (๗) ปฎิรูปกฎหมาย

      ทั้ง ๗ เรื่อง เชื่อมโยงกันทั้งหมด ดังภาพ

      ทั้ง ๗ เรื่อง เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยควรทำให้ได้ภายใน ๑๐ ปี ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฐานที่เข้มแข็ง สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างสมดุลทั้ง ๗ เรื่องควรทำให้เชื่อมโยงซึ่งกันและกันและกัน กล่าวคือ  เรื่องหนึ่งโยงไปสู่อีก ๖ เรื่อง โดยเฉพาะทุกเรื่องต้องนำไปสู่คุณค่าและจิตสำนักใหม่

      ความเป็นคนและสังคมที่ดีนั้นอยู่ที่การมีคุณค่าและจิตสำนึกที่ดี การมีคุณค่าจะให้ความภูมิใจ ความมีศักดิ์ศรี ความมีพลัง และความสำเร็จ การมีคุณค่าเชื่อถือได้เป็นทุนทางเศรษฐกิจชนนิดหนึ่ง เราจะพัฒนาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ  ถ้าบ้านเมืองเป็นสังคมที่ขาดคุณค่าน่าเชื่อถือ

      คนไทยทุกคนควรถือเป็นหน้าที่ ที่จะช่วยกันสร้างคุณค่า และจิตสำนึกใหม่ ไปให้พ้นจากการฉ้อฉลคอร์รัปชัน เอาเปรียบ ทำร้ายผู้อื่น ไม่ขยัน ไม่พูดความจริง ไม่โปร่งใส ไม่นึกถึงคนอื่น ไม่รับผิดชอบ  ใช้อำนาจ ไม่ทะนุบำรุงของที่เป็นส่วนรวม ไม่ขวนขวายสร้างและใช้ความรู้ ใช้แต่ความเห็นและการคาดเดา ขาดความภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง ต้องใช้ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟื่อยมาเติมให้ตัวเอง และชักนำกันให้เกิดค่านิยมความฟุ่มเฟื่อยสุรุ่ยสุร่ายอย่างน่าอนาถใจ



      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐  ที่จริงทรงมีพระราชดำรัสทำนองนี้มาเป็นเวลานานถึง ๒๗ ปีแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครได้ยิน ต่อเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ๒๕๔๐ จึงได้ยินกันมากขึ้น แต่กระนั้นก็ตาม ก็มีผู้พูดถึงทางสายกลาง  โดยนัยว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง เรื่องนี้ไม่ควรกล่าวแบบง่าย ๆ หรือกล่าว "ตู่" แต่ควรทำควรทำความเข้าใจเชิงให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

      เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้แปลว่าไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น ไม่ทำเศรษฐกิจมหภาค สิ่งเหล่านี้หลายคนอาจคิดเอาเอง พูดเอาเอง และกลัวไปเองทั้งนั้น  ถ้าจะกระตุกก้นสสักหน่อยก็ขอกล่าวว่า "พระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่คนโง่" ที่ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้

      ประเทศเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เป็นตัวอย่างของประเทศที่เคยยากลำบากและเสียสมดุล ต่อเมื่อพัฒนาประเทศแบบเศรษฐกิจพอเพียงจึงกลับเข้มแข็ง ได้สมดุล และเติบโตไปได้ด้วยดี

      เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึงพอเพียงในอย่างน้อย ๗ ประการด้วยกัน คือ

      ๑. พอเพียงสำหรับทุกคน ทุกครอบครัว ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบทอดทิ้งกัน

      ๒. จิตใจพอเพียง ทำให้รักและเอื้ออาทรคนอื่นได้ คนที่ไม่พอจะรักคนอื่นไม่เป็น และทำลายมาก

      ๓. สิ่งแวดล้อมพอเพียง การอนุรักษ์และเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อมทำให้ยังชีพและทำมาหากินได้ เช่น การทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งได้ทั้งอาหารได้ทั้งสิ่งแวดล้อม และได้ทั้งเงิน

      ๔. ชุมชนเข้มแข็งพอเพียง การรวมตัวกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็งจะทำให้สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหความยากจน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม

      ๕. ปัญญาพอเพียง มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฎิบัติ และปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง

      ๖. อยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมพอเพียง วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของกลุ่มชนที่สัมพันธ์อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ดังนั้นเศรษฐกิจจึงควรสัมพันธ์และเติบโตขึ้นจากฐานทางวัฒนธรรม จึงจะมั่นคง เช่น เศรษฐกิจของจังหวัดตราด  ขณะนี้ไม่กระทบกระเทือนจากฟองสบู่แตก ไม่มีคนตกงาน เพราะอยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เอื้อต่ออาชีพการทำสวนผลไม้ ทำการประมง และการท่องเที่ยว

      ๗. มีความมั่นคงพอเพียง ไม่ใช่วูบวาบ เดี๋ยวจนเดี๋ยวรวยแบบกะทันหัน เดี๋ยวตกงานไม่มีกินไม่มีใช้ ถ้าเป็นแบบนั้นประสาทมนุษย์คงทนไม่ไหวต่อความผันผวนที่เร็วเกิน จึงสุขภาพจิตเสีย เครียด เพี้ยน รุนแรง  ฆ่าตัวตาย ติดยา เศรษฐกิจพอเพียงที่มั่นคงจึงทำให้สุขภาพจิตดี

       เมื่อทุกอย่างพอเพียงก็เกิดความสมดุล ความสมดุลคือความเป็นปกติ และยั่งยืน ซึ่งเราอาจเรียกเศรษฐกิจพอเพียงในชื่ออื่น ๆ เช่น

         - เศรษฐกิจพื้นฐาน

         - เศรษฐกิจสมดุล

         - เศรษฐกิจบูรณาการ

         - เศรษฐกิจศีลธรรม

       และนี่แหละคือเศรษฐกิจทางสายกลาง หรือเศรษฐกิจแบบมัชฌิมาปฎิปทา เพราะเชื่อมโยงทุกเรื่องเข้ามาด้วยกัน ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ที่จริงคำว่าเศรษฐกิจ เป็นคำที่มีความหมายที่ดีที่หมายถึงความเจริญที่เชื่อมโยงกายใจ  สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน แต่ได้มีการนำเอาคำว่าเศรษฐกิจไปใช้ในลักษณะแบบแยกส่วน ที่หมายถึงการแสวงหาเงินเท่านั้น เมื่อแยกส่วนก็ทำลายส่วนอื่น ๆ จนเสียสมดุลและวิกฤติ

       เศรษฐกิจพอเพียงเชื่อมโยงกับความเป็นประชาสังคม ดังนั้นเศรษฐกิจพอเพียงและประชาสังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมรัฐแห่งชาติและเป็นเรื่องใหญ่ หรือระเบียบวาระแห่งชาติอย่างหนึ่งตามที่กล่าวมาแล้ว



      ในหนังสือ พระราชดำรัส ที่บริษัทบางจากปิโตรเลียมพิมพ์แจก ได้เรียบเรียงสิ่งที่เรียกกันว่า ทฤษฎีใหม่  ของพระเจ้าอยู่หัวเป็น ๓ ขั้น ซึ่ง ขอขยายความดังต่อไปนี้

 ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑  ผลิตอาหารบริโภคเอง เหลือขาย ทำให้มีกินอิ่ม ไม่ติดหนี้ มีเงินออม

 ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๒  รวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชน ทำเศรษฐกิจชุมชนในรูปแบบต่าง  ๆ เช่น เกษตร หัตถกรรม อุตสาหกรรม แปรรูปอาหาร ทำธุรกิจ ปั้มน้ำมัน ขายอาหาร ขายสมุนไพร  ตั้งศูนย์การแพทย์แผนไทย จัดการท่องเที่ยวชุมชน มีกองทุนชุมชนหรือธนาคารหมู่บ้าน

 ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๓  เชื่อมโยงกับบริษัททำธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งการส่งออก

      ที่จริงเรื่องเศรษฐกิจพื้นฐานหรือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ดูเหมือนยาก เพราะข้างบนได้ทิ้งข้างล่างไปเสียนาน ถ้ามีใจและไปดูให้เข้าใจ มีทางที่ฝ่ายต่าง ๆ จะส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงได้มาก ไม่ ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สื่อมวลชน ราชการ ธุรกิจ นักกฎหมาย หรือผู้ที่กำหนดนโยบาย



      ผมไม่มีความรู้ทางทฤษฎีใหม่ในเรื่องที่กล่าวมา แต่จากประสบการณ์ที่สนใจ เรื่องของชุมชนมากกว่า ๒๐ ปี ผมมีความมั่นใจมากกว่าประเทศไทยสามารถฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการเมือง  พร้อมกันไปได้ จากการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ในบริบทของสมัยใหม่ และผมเห็นว่าพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความล้ำลึกและตรงต่อธรรมชาติความเป็นจริง  ขอให้คนไทยศึกษาให้เข้าใจพระราชดำรัส แล้วเราจะสามารถฟื้นฟูบูรณะประเทศของเราครั้งใหญ่ และป้องกันวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ให้เกิดขึ้นอีก

      โดยสั้น ๆ การสนับสนุนควรมีดังนี้

      ๑. นโยบายและกระแสสังคม รัฐบาลควรทำความเข้าใจและทำเรื่องนี้ให้เป็นเจตจำนงทางการเมือง แต่ดูจะเป็นเรื่องยาก หากสังคมเคลื่อนไหวจนเป็นกระแสสังคมแล้วการเมืองเข้ามาเชื่อม  ทำนองเดียวกับการปฎิรูปการเมือง ดูจะเป็นไปได้มากกว่า

      ๒. ควรมีการสำรวจศักยภาพชุมชน ว่าชุมชนไหนเข้มแข็งอยู่แล้วบ้าง ในเรื่องอะไร จะได้สนับสนุนได้ถูก และส่งเสริมให้ชุมชนอื่นมาเรียนรู้เพื่อขยายตัว

      ๓. ศูนย์บริการวิชาการชุมชนเบ็ดเสร็จ ( One - stop - service )

      ๔. บริษัทเชื่อมโยงธุรกิจชุมชน ให้โยงได้ไกลมากขึ้น

      ๕. กฎหมาย ออกกฎหมายส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน

      ๖. กองทุน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน

      ๗. ปรับวิธีการงบประมาณ ของหน่วยราชการต่าง ๆ ให้เอาชุมชนเป็นตัวตั้ง

      ๘. สื่อเพื่อสังคม สื่อควรสื่อเรื่องของชุมชน และให้ชุมชนใช้เพื่อสื่อเรื่องของชุมชน ควรมีวิทยุชุมชน

      ๙. การวิจัยเพื่อชุมชน ทั้ง ๘ เรื่องข้างบนล้วนต้องการการวิจัย การวิจัยจะสร้างความรู้ให้รู้ความจริงและใช้ความจริง การใช้ความจริงทำให้สำเร็จ ฉะนั้นรัฐบาล หรือเอกชนควรสนับสนุนงบประมาณวิจัยให้มากขึ้น แต่ต้องมีการจัดการการวิจัยที่ดี ส่วนใหญ่ขณะนี้ยังจัดการไม่ดี



      ผมได้พบคนไทยจำนวนมาก มีอาชีพต่าง ๆ กัน ไม่ว่า จะเป็นครู ทหาร พลเรือน สื่อมวลลชน นักวิชาการ นักธุรกิจ หรืออาชีพภาคบริการที่มีความหวังดีต่อบ้านเมือง มีความเป็นห่วงและวิตกกังวลว่าประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป  โดยเฉพาะด้วยพฤติกรรมของนักการเมือง ปัญหาที่ประเทศเผชิญอยู่ใหญ่และยากเกินไป จนปัจเจกชนคิดไม่ออกว่าจะมีส่วนช่วยแก้ไขอย่างไร จึงรู้สึกหดหู่ ท้อถอย หรือโกรธแค้น

      ที่จริงทุกคนมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า และมีศักยภาพ ไม่ว่าท่านจะมีอาชีพอะไร ขอให้ทำในเรื่องนั้น ๆ ให้ดีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งให้นึกถึงว่าจะทำอะไรเพื่อเพื่อนมนุษย์ได้บ้าง  โดยเฉพาะคนจน คนด้วยโอกาส คนเสียเปรียบ ควรรวมกลุ่มกับคนที่มีวัตถุประสงค์ตรงกัน จะเป็น ๕ - ๖ คน หรือมากกว่าก็ตาม พบปะกันบ่อย ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันว่าจะทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้บ้าง  ท่านจะพบความสุขอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนจากความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์ได้พรากจากกันด้วยลิ่มทางสังคมและเทคโนโลยี จนไม่รู้จักความสุขของความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  การรวมกลุ่ม ๕ - ๖ คนหรือกว่าของท่านก็คือ การสร้างความเป็นชุมชน พยายามสร้างความเป็นเครือข่ายกับกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดความเป็นประชาคมขึ้นในระดับต่าง ๆ เช่น ประชาคม ละแวกบ้าน ประชาคมตำบล  ประชาคมอำเภอ ประชาคมจังหวัด หรือประชาคมในเรื่องต่าง ๆ เช่น ประชาคมปฎิรูปการศึกษา เป็นต้น

      ความเป็นประชาคมจะให้ความสุข ศักดิ์ศรี และศักยภาพ ในการแก้ไขและพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ ทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความเป็นประชาคม ซึ่งเป็นอนาคตของมนุษยชาติร่วมกันทั้งโลก

ที่มา: เศรษฐกิจพอเพียงและประชาสังคม แนวทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจสังคม. 
          ประเวศ วะสี. มีนาคม 2542. หน้า  1 - 10

[อ่านบทความย้อนหลัง]