![]() |
สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมเกษตรกรรม มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ
ผู้คนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ มีวิถีการดำรงชีวิต การผลิต ประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่หลากหลาย ซึ่งเกิดการเรียนรู้จากปัญหาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่น
ผู้ตนดำรงชีวิตอยู่บนฐานของเกษตรกรรมเพื่อยังชีพเป็นหลัก ชุมชนมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ช่วยเหลือค้ำจุนซึ่งกันและกัน มีระบบเศรษฐกิจพื้นฐานที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันกันด้วยน้ำใจเอื้ออารี สามารถสร้างความพอเพียงให้กับครอบครัว
และชุมชนได้ สังคมจึงมีความสงบสุข
การพัฒนาประเทศตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ ที่เน้นการเรียนรู้แบบแบ่งแยกเฉพาะด้าน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา หมอเฉพาะโรคระบบการเกษตรแบบพืชเดี่ยวหรือการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นรูปแบบของเกษตรกรรมแผนใหม่ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ดำเนินการโดยใช้เงินลงทุนละเลยคุณค่าของสังคมไทยในอดีต ความรู้และค่านิยมแบบใหม่ซึ่งมิได้พัฒนามาจากรากฐานที่เป็นจริงของสังคมไทย สอนให้คนรู้จักคำว่า "ทุน" แต่ไม่สอนให้คนเรียนรู้การจัดการทุน หาเงินให้ได้มาก ได้เท่าไรนำมาซื้อกิน ซื้อใช้ คนส่วนใหญ่จึงเป็นผู้บริโภคมากกว่าเป็นผู้ผลิต ไม่สามารถเรียนรู้และจัดความสัมพันธ์ของชีวิตกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนและค่านิยมแบบใหม่ ก่อให้เกิดปัญหามากมายทั้งปัญหาหนี้สิน สูญเสียที่ดิน พื้นที่เกษตรกรรมถูกทิ้งว่างเปล่า ครอบครัวแตกแยก ยาเสพติด อาชญากรรม เอดส์ มลภาวะ สุขภาพทั้งกายใจอ่อนแอ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ชุมชนมีความขัดแย้งและขาดความสงบสุข |
![]() |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวคิดทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับสังคมไทยในภาวะวิกฤต
ถ้าทำได้เพียงส่วนหนึ่ง สังคมไทยจะสามารถพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งอาจอาศัยเวลาและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานคุณค่าและความจริงที่เรามีอยู่ สู่การแก้ปัญหาและการพึ่งตนเองต้องเป็นการเรียนรู้เพื่อการประยุกต์และจัดความสัมพันธ์ของชีวิตและรายได้ในแบบใหม่ขึ้นมา
โดยมีเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นฐานของความพออยู่พอกินในระดับครอบครัวขยายสู่ความพอเพียงในระดับชุมชน เรียนรู้คุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ของชุมชน จัดการความสัมพันธ์อย่างเหมาะสมกับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ โดยมีอุตสาหกรรมชุมชนและธุรกิจชุมชนเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้
ในทางพระพุทธศาสนา ทฤษฎี หรือ ทิฐิ หมายถึง ความเห็น ทฤษฎีจึงไม่ใช่รูปแบบ ทฤษฎีใหม่ จึงเป็น ความเห็นใหม่ เป็นหลักคิดที่ต้องนำมาปรับใช้ให้เป็นรูปธรรมอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขของ "ทุน" เช่น ความรู้ ที่ดิน แหล่งน้ำ พันธุ์ไม้ กลุ่ม ฯลฯ ที่มีอยู่จริงในครอบครัวและชุมชน มีการทบทวนวิเคราะห์ และสังเคราะห์เกิดเป็นความเห็นใหม่ขึ้นมา ดำเนินการตามความเห็นใหม่นั้น สู่รูปธรรมพื้นฐานแห่งความ "เป็นจริง" และ "เป็นอิสระ" |
![]() |
ความจริง หรือของจริง ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน รูปธรรมของ
ทฤษฎีใหม่ที่จะนำไปสู่การพออยู่พอกิน และพึ่งตนเองได้ของเกษตรกรไทยจึงไม่ตายตัวเป็นแบบเดียวทั้งหมด แต่จำเป็นต้องสร้างกระบวนการสำคัญคือ "การเรียนรู้" ให้เกิดกับคน ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้ได้
เพื่อให้มี "ปัญญา" ที่เพียงพอที่จะรู้ว่า อะไรคือ "ความจริง" หรือ "ของจริง" ที่เรามีอยู่ อะไรคือ "ความไม่พอ" ที่ทำให้เกิดทุกข์ อะไรคือสาเหตุ และเราจะแก้ไขได้อย่างไร
เช่น ปัญหา คือ เราต้องกินทุกวัน วันละอย่างน้อยสามมื้อ แต่เรามีไม่พอกิน ต้องยืมเขากินก่อน พืชที่ปลูกนั้นกินไม่ได้ทั้งนั้นเลย ปีหนึ่งเก็บเกี่ยวขายได้ครั้งเดียว ขายให้ได้เงินแล้วจึงนำเงินนั้นไปซื้อกินอีกต่อหนึ่ง
เช่นนี้แล้วทำไมเราไม่ทำการเกษตรที่ทำให้มีกินเป็นพื้นฐานก่อน จัดการที่ดินที่มีอยู่ให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ กิจกรรมที่เลือกทำขึ้นอยู่กับแรงงานในครอบครัว ทำให้เรามีกินอย่างพอเพียง ทั้งในด้านคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
และคุณค่าต่อชีวิต เช่น ขนุน เป็นไม้มงคลอย่างหนึ่งที่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้านสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งขนุนอ่อน ขนุนสุก ไม้ขนุนเป็นไม้มีค่า เครื่องดนตรีไทยบางชนิดต้องทำจากไม้ขนุนเท่านั้น จึงจะสวยงาม
และมีเสียงที่ไพเราะ หากเรามีขนุนในบ้านหลายต้นกินไม่ทันก็สามารถที่จะขายเป็นขนุนอ่อนต้มได้ หรือ ถ้าสุกก่ก็ทำเป็นขนุนกวน อร่อยไม่เบาทีเดียว การปลูกขนุนไว้หลังบ้านจึงเชื่อว่าจะมีคนเกื้อกูลสนับสนุนค้ำจุน
เมื่อได้มาซึ่งสิ่งที่เราไม่มีและมีไม่พอมาแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้และสร้าง "ความรู้จักพอ" ให้เกิดขึ้นด้วย เพราะหากไม่รู้จักพอปัญหาความไม่พอก็จะเกิดขึ้นเช่นเดิม กระบวนการ สำคัญที่จะเสริมความพอเพียงให้กับชีวิต ครอบครัว ชุมชน และสังคม คือระบบเศรษฐกิจพื้นฐานที่มีอุตสาหกรรมชุมชน และธุรกิจชุมชนเป็นเครื่องมือ เพราะนอกจากการเกษตรที่ทำให้มีกินเป็นพื้นฐานแล้ว เราต้องยอมรับว่าในเงื่อนไขที่เป็นจริงเราผลิตทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นความจำเป็นของชีวิตเราได้ไม่ทั้งหมด เราจึงต้องสร้างเครื่องมือขึ้นมาจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนส่วนเกินที่เรามี กับส่วนขาดที่เราไม่มี หรือมีไม่พอให้กับครอบครัว ชุมชนและสังคม เกิดพอเพียงและยั่งยืน จากการศึกษาเรื่องแนวทางการพัฒนาเกษตรรายย่อยในพื้นที่ชนบทของคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาได้ข้อสรุปของกระบวนการเรียนรู้ มีอยู่ ๑๐ ระบบที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างเป็นกระบวนการ เรียกว่า "แนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของชุมชน" หรือ "ชุมชนยั่งยืน" (Sustainable Community) ดังนี้ ๑. ระบบคุณค่า เป็นนามธรรมที่คอยกำกับกิจกรรมหรือการดำเนินกิจกรรมของระบบอื่น ๆ โดยมี "คน" และ "การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน" เป็นเป้าหมายสำคัญ ระบบคุณค่าจะเน้นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน (สังคมหรือชุมชน) ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ (การผลิตการจัดการทรัพยากรและการเลือกใช้เทคโนโลยี) และคนกับคุณธรรม (กายและจิต) ระบบคุณค่าจึงปรากฎอยู่ในกฎระเบียบต่าง ๆ ของสังคม ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และกระบวนการถ่ายทอดเรียนรู้ของชุมชน ๒. ระบบการเรียนรู้ เป็นแกนกลางของกิจกรรมทุกระบบ เป็นการเรียนรู้ที่ต่อเชื่อมความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนเข้ากับความรู้ทางสากล พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่สอดคล้องและรับใช้ชีวิตและชุมชนในปัจจุบัน กิจกรรมหรือระบบอื่น ๆ จึงต้องมีการเรียนรู้เฉพาะระบบหรือเฉพาะด้าน โดยมี "ภูมิปัญญา" เป็นแกนกลาง เชื่อมร้อยความรู้ทุกส่วนเข้าด้วยกันเป็นองค์ความรู้ใหม่ของชุมชนไทย ๓. ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน คือการเกษตรที่คำนึงถึงวงจรความอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ หลีกเลี่ยงเทคนิคหรือวิธีการทางการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อวิถีธรรมชาติ เกษตรกรรมยั่งยืนในทางรูปธรรม จึงหมายรวมถึงเกษตรผสมผสาน วนเกษตร สวนสมรม (ภาคใต้) ไร่นาสวนผสม เกษตรธรรมชาติ พุทธเกษตรกรรม ฯลฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อการบริโภค และมีส่วนเกินเพื่อการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนทั้งผ่านระบบการแลกเปลี่ยนแบบวัฒนธรรมชุมชนและแบบใหม่ ๔. ระบบทุนชุมชน ความคิดก่อตัวขึ้นจากปัญหาหนี้สินและการพึ่งพาสถาบันทุนของระบบใหม่ คือ การพึ่งตนเองด้านทุน หรือนัยหนึ่งคือระบบการสะสมทุนของชุมชน ที่มีรูปแบบและวิธีการทางวัฒนธรรมเข้ามามีบทบาท ทั้งในด้านการระดม การบริหารจัดการ หลักเกณฑ์ และกฎระเบียบต่าง ๆ รากฐานความคิดจึงแตกต่างจากการสะสมทุนของระบบทุนนิยม และมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองปัจจัยพื้นฐานของสมาชิกในชุมชน ๕. ระบบธุรกิจชุมชน หรือการตลาดที่ชุมชนต้องการ ซึ่งประกอบด้วย การจัดการด้านการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตของตนเอง การจัดการด้านการตลาดเพื่อลดต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชุมชนผลิตเองไม่ได้ ต้องนำเข้ามาจากภายนอกชุมชน และสุดท้ายคือการจัดการด้านระบบการแลกเปลี่ยน ผลผลิตระหว่างชุมชนต่อชุมชน และระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ๖. ระบบอุตสาหกรรมชุมชน เป็นระบบคู่กับระบบธุรกิจ แต่มีรากฐานมาจากระบบการพึ่งตนเอง เดิมที่ครอบครัวเป็นผู้แปรรูป เก็บถนอมผลผลิตของตนเองไว้บรริโภคในระยะยาว และเทคนิควิทยาการแปรรูปต่าง ๆ เช่น เครื่องสีมือ การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านต่าง ๆ เป็นต้น ที่ไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาโดยชุมชนและเป็นชุมชนเอง อุตสาหกรรมชุมชนจึงมี ๓ แบบ คือ อุตสาหกรรมชุมชนแปรรูปผลผลิต อุตสาหกรรมชุมชนผลิตผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรในท้องถิ่น และอุตสาหกรรมชุมชนที่นำวัตถุดิบจากภายนอกมาผลิต เพื่อตอบสนองการบริโภคและใช้สอยในชุมชน ๗. ระบบสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการเกษตรและอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ระบบสิ่งแวดล้อมของชุมชนยังครอบคลุมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อวิถีชีวิต ระบบสิ่งแวดล้อมจึงหมายรวมถึง ดิน น้ำ ป่า อากาศ การจัดการทางกายภาพของชุมชน เช่น ถนนหนทาง แหล่งศูนย์กลางชุมชน เป็นต้น และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อต่อการเจริญชีวิตด้วย ๘. ระบบสวัสดิการชุมชน การคิดในครั้งแรกของชุมชน คือ ชาวบ้านต้องมีสวัสดิการเหมือนข้าราชการ เมื่อรัฐให้ไม่ได้ ชุมชนต้องต้องดำเนินการเอง จึงมีกองทุนที่เกิดจากการนำผลกำไรของกองทุนชุมชนต่าง ๆ มาจัดสรรเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ บำนาญ ฯลฯ เมื่อสำเร็จแล้วพบว่า เป้าหมายที่สำคัญของระบบสวัสดิการชุมชน คือ การสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตร่วมกันหลักประกันที่ว่านี้อาจหมายรวมเอาถึง การช่วยเหลือให้ผู้ไม่มีที่ดินทำกินมีที่ดินทำกินของตนเองได้ด้วย ๙. ระบบการรักษาสุขภาพของชุมชน ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ด้านการแพทย์ที่เรียกรวม ๆ ว่าแผนไทย ซึ่งไม่ได้เน้นที่การรักษา แต่เน้นการดูแลสุขภาพ ซึ่งเชื่อมโยงตั้งแต่ ภาวะร่างกายของตน (ธาตุ) ฤดูกาล อาหารและยาสมุนไพร เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและระบบการรักษา สิ่งแวดล้อมของชุมชน ๑๐. ระบบการจัดการของชุมชน นอกเหนือจากการที่ทุกระบบมีการจัดการของตนเองแล้ว ทั้งชุมชนจะต้องมีการจัดการร่วมเพื่อให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน ระบบการจัดการชุมชนนี้อาจหมายถึงระบบแม่ของทั้ง ๙ ระบบที่ทำให้องค์กรชุมชน (ใหม่) ที่เกิดขึ้นพัฒนาภาวะความเป็นสถาบันทางสังคมที่สมาชิกในชุมชนพึ่งพาได้ทดแทนบทบาทของสถาบันหมู่บ้าน (เดิม) ที่อ่อนตัวลง ดังกรณีของกลุ่มออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะ หรือกลุ่มเกษตรกรทำนานาโส่ เป็นต้น |
![]() |
![]() |
- เป็นเกษตรกรรมเพื่อให้มีกินเป็นพื้นฐาน - เป็นการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมชุมชน -. เป็นการสร้างสวัสดิการชีวิตยามแก่ชรา - เป็นการฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อจัดระบบสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ วนเกษตร เป็นการทำกิจกรรมการเกษตรหลาย ๆ อย่างผสมผสานในพื้นที่เดียวกัน พัฒนาขึ้นมาเพื่อเสริมความมั่นคงของที่ดินในชนบท เป็นหลักประกันว่าพื้นที่ในชนบทจะได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูก สนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของเกษตรกรหรือปัจจัย ๔ ได้แก่ พืชอาหาร ไม้ผล ยาสมุนไพร พลังงาน ไม้ใช้สอยสร้างบ้านเรือน และไม้ยืนต้นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกิดประโยชน์หลายอย่างแบบต่อเนื่อง โดยคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสภาพแวดล้อมไว้ ไม้ยืนต้นในระบบวนเกษตร หมายถึง พืชไม้เนื้อแข็งมีชีวิตยืนนานหลายปี อาจเป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ไผ่ หรือไม้ตระกูลปาล์ม เช่น หมาก มะพร้าว วนเกษตร เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในการจัดการทรัพยากรในไร่นาและในป่าธรรมชาติ วนเกษตร เป็นแนวคิดและทางเลือกปฎิบัติทางการเกษตรแบบหนึ่งซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยทั่วไปเน้นบทบาทของคนและความรู้พื้นบ้านดั้งเดิม ผสมผสานกับเทคนิคการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตจากพืชพรรณที่ปลูกทั้งไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชผัก และสัตว์เลี้ยง วนเกษตรมีหลายแบบ วนเกษตรแบบบ้านสวน มีต้นไม้และพืชผลหลายชั้นความสูง โดยปลูกไม้ปล ไม้ยืนต้น สมุนไพร พืชผักสวนครัว ผักพืชบ้าน ในบริเวณบ้าน วนเกษตรที่มีต้นไม้แทรกในนาหรือในทุ่งหญ้า เหมาะกับพื้นที่มีลักษณะสูง ๆ ต่ำ ๆ โดยปลูกต้นไม้เสริมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับพืชผล เช่น ที่เนินหรือที่ลุ่มน้ำขัง และปลูกพืชในที่ราบหรือที่สม่ำเสมอ วนเกษตรที่มีต้นไม้ล้อมไร่นา เหมาะกับพื้นที่ไร่นา ซึ่งมีลมแรง พืชผลได้รับความเสียหายจากลมพายุอยู่เสมอ จึงต้องปลูกไม้เพิ่มความชุ่มชื้น บังแดดบังลมให้กับไม้ผลที่ต้องการรมเงาและความชื้น วนเกษตรที่มีแถบต้นไม้และพืชผลสลับกัน เหมาะกับพื้นที่ที่มีความลาดชันเป็นแนวยาวน้ำไหลเซาะหน้าดินมาก แถบต้นไม้ซึ่งปลูกไว้สองหรือสามแถวสลับกับพืชผลเป็นช่วง ๆ ขวางความลาดชัน จะช่วยรักษาหน้าดินและในระยะยาวจะทำให้เกิดบันไดดินแบบธรรมชาติให้กับพื้นที่ อาจให้มีความกว้าง ๕ ถึง ๒๐ เมตร ตามความเหมาะสมของพื้นที่ วนเกษตรใช้พื้นที่หมุนเวียนปลูกไม้ยืนต้นพืชผล และสัตว์เลี้ยง เหมาะกับพื้นที่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่พอที่จะปลูกพืชผลเป็นแปลงหมุนเวียนโดยมีแปลงไม้ยืนต้นร่วมกับการเลี้ยงสัตว์แบบหมุนเวียนเพื่อ ฟื้นฟูดิน วนเกษตรทำได้อย่างไร การเลือกทำวนเกษตรต้องมีความตั้งใจเชื่อมั่นว่าจะทำสำเร็จ เริ่มจากการปรับพื้นฐานความต้องการของเกษตรกรและครอบครัวทำความเข้าใจในตัวเกษตรกรเองและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ตลอดจนความรู้ในการปลูก การบำรุงรักษา และการจัดการ หากความรู้ความเข้าใจยังไม่เพียงพอต้องหาเพิ่มเติมและจัดสอนให้เลือกรูปแบบวิธีการ ตลอดจนเลือกพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แล้วลงมือปฎิบัติที่จะจัดการพืชและสัตว์ให้ได้หากเริ่มในพื้นที่ว่างเปล่าจะต้องตัดสินใจเลือกชนิดพืชหรือสัตว์ที่จะเลี้ยง วนเกษตรมีทางเลือกปฎิบัติได้หลายแนวทาง ในพื้นที่โล่งเตียนหรือที่ดินรกร้างว่างเปล่า - ปลูกไม้ยืนต้นเป็นหลักหรือเป็นประธานก่อน แล้วจึงปลูกไม้พุ่มเตี้ยหรือไม้ล้มลุกแทรกระหว่างไม้หลัก หรือ - ปลูกพืชล้มลุกก่อนแล้วจึงปลูกไม้ยืนต้นเสริมตามช่องว่างและขอบแปลงเพื่อบังลม รักษาความชุ่มชื้น ยึดดิน และดูดยึดปุ๋ยในดิน ในพื้นที่ไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง แต่ผลผลิตต่ำ - วางแผนปลูกไม้ผลยืนต้น เช่น กระท้อน มะม่วง ระหว่างแถว ๒๐ ถึง ๓๐ เมตร ในปีแรก แล้วปลูกพืชไร่ระหว่างแถว ปีที่สองหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่แล้ว ปลูกไม้ผลยืนต้นแทรกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแถว จะเหลือช่องว่างอีก ๑๐ ถึง ๒๐ เมตร ปีที่สามปลูกเพิ่มอีกหนึ่งแถว จะทำให้ต้นไม้เริ่มชิด ช่องว่างเหลือเพียง ๕ ถึง ๑๐ เมตร ปีที่ ๔ อาจเลิกปลูกพืชไร่ อย่างไรก็ดีหากมีพื้นที่ขนาดใหญ่อาจปลูกพืชไร่หมุนเวียนด้วยก็ได้ - วางแผนปลูกพืชในร่มเสริม ทั้งไม้พุ่มเตี้ย เช่น ละมุด น้อยหน่า และพืชคลุมดิน เช่น ข่า กระชาย เป็นต้น เมื่อถึงระยะนี้จะเริ่มเก็บไม้ผลได้บางส่วน ในพื้นที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว - สำรวจไม้ยืนต้นและพืชผลที่มีอยู่เดิม หากมีขึ้นอยู่หนาแน่นหรือชิดกันเกินไปให้เอาชนิดที่ไม่เหมาะสมออก เช่น ไม้ที่อยู่ร่วมกับพืชอื่นไม่ได้ ควรให้มีพืชแต่ละระดับความสูงตามชนิดและจำนวนที่เหมาะสม - หากมีไม้และพืชผลน้อยเกินไปให้เลือกชนิดไม้และพืชที่ปลูกเสริมทีละน้อยจนกว่าจะมีชนิดและจำนวนที่ต้องการ วนเกษตรในพื้นที่ราบ ควรเริ่มด้วยการสร้างแหล่งน้ำและแหล่งเก็บสะสมความชุ่มชื้น เช่น ขุดบ่อน้ำ คูน้ำ ยกร่องสวน และปลูกไม้ประธานให้ร่มเงากันลมและให้ปุ๋ย เช่น ต้นกล้วย ต้นทองหลาง ปลูกเสริมพืช สมุนไพร พืชผักสวนครัว เมื่อที่ดินมีไม้ประธานขึ้นเป็นไม้พี่เลี้ยง ดินจะร่วนซุยและชุ่มชื้นขึ้น การเตรียมดินเพื่อปลูกพืชเสริม ควรมีน้อยที่สุดโดยอาจปลูกโดยใช้ไม้ทิ่ม จอบขุดแล้ว หยอดเมล็ดหรือหว่านก็ได้ การดูแลรักษาพืชในระบบวนเกษตร ควรเน้นเรื่องการควบคุมน้ำ แสงและปุ๋ยในดิน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด หรือปลูกพืชคลุมดิน วนเกษตรในที่ลาดชัน มีแนวทางปฎิบัติได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับรูปร่างลักษณะของพื้นที่เป็นสำคัญ ในที่ลาดชันควรทำแนวระดับให้กับพื้นที่ก่อน โดยใช้เครื่องมือง่าย ๆ เช่น โครงไม้สามเหลี่ยม เมื่อได้ระดับแล้ว ปลูกไม้ยืนต้นยึดดิน รักษาความชุ่มชื้นและดูดยึดปุ๋ยในดิน ในที่ลาดชันมาก พื้นที่ตอนบนควรปลูกไม้ยืนต้นถาวรยึดดิน พื้นที่ตอนตอนกลางและตอนล่างปลูกพืชผล การปลูกไม้ยืนต้นบำรุงดินตามแนวระดับ จะช่วยยึดดินและบำรุงดินระหว่างแถวไม้ยืนต้นด้วย |
ที่มา: ทฤษฎีใหม่ในหลวง ชีวิตที่พอเพียง" กรุงเทพฯ. ร่วมด้วยช่วยกัน 2542. หน้า 61 - 72 |
[อ่านบทความย้อนหลัง] |