ภาวะผู้นำนั้น พูดด้วยภาษาชาวบ้าน แปลง่าย ๆ ก็คือ "ความเป็นผู้นำ" นั่นเอง

คนเรานั้นมาอยู่รวมกันเป็นหมู่ เป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นสังคม แต่ที่เราพูดว่าอยู่รวมกันนั้น ความจริง ถ้าดูลึกลงไปจะเห็นว่าตัวคนรวมกันจริง  แต่มักจะรวมกันแค่เพียงภายนอก ส่วนข้างในนั้นค่อนข้างจะกระจัดกระจาย

ที่ว่ากระจัดกระจาย ก็คือ มีความแตกต่างกันหลายอย่างหลายประการ ต่างจิตต่างใจ  ต่างความรู้สึก ต่างความนึกคิด ต่างความต้องการ ต่างความรู้ ความสามารถ ต่างระดับของการพัฒนาเป็นต้น  เมื่อมีความแตกต่างและกระจัดกระจายอย่างนี้ก็มีปัญหาว่า ทำอย่างไรจะให้คนทั้งหลายประสานกัน ทำการทำงานต่าง ๆ ไปด้วยกันได้ และพากันไปด้วยดี ให้ผ่านพ้นภัยอันตราย อุปสรรค ข้อติดขัดทั้งหลาย ดำเนินไปจนบรรลุถึงประโยชน์สุข  หรือความสำเร็จที่เป็นจุดหมาย

ที่ว่านี้ก็หมายความว่า เราต้องการเครื่องมือหรือสื่อที่จะมาช่วยประสานให้คนทั้งหลายรวมกันหรือร่วมกัน  ทั้งรวมกันอยู่และร่วมกันทำ เพื่อจะให้อยู่กันด้วยดี และทำการด้วยกันได้ผลบรรลุจุดหมาย ประสบความสำเร็จ

เมื่อพูดอย่างนี้ ก็มีคำตอบง่าย ๆ ว่าเรา "ต้องการผู้นำ" นั้นเอง และเมื่อพูดตามสภาพของสังคมมนุษย์อย่างนี้ ก็จะได้ความหมายของผู้นำว่า คือบุคคลที่จะมาประสานช่วยให้คนทั้งหลายรวมกัน  โดยที่ว่าจะเป็นการอยู่รวมกันก็ตาม  หรือทำการร่วมกันก็ตาม  ให้พากันไปด้วยดี สู่จุดหมายที่ดีงาม

ที่ว่าพากันไป ก็ให้พากันไปด้วยดีนั้น  หมายความว่าไปโดยสวัสดี หรือโดยสวัสดิภาพ  ผ่านพ้นภัยอันตรายอย่างเรียบร้อยและเป็นสุข  เป็นต้น  แล้วก็บรรลุถึงจุดหมายที่ดีงาม ซึ่งขอเติมอีกหน่อยว่า "โดยถูกต้องตามธรรม"

ข้อหลังบางทีเราอาจจะมองข้าม เราอาจจะนึกแต่เพียงว่าให้บรรลุจุดหมายที่เราต้องการก็แล้วกัน จุดหมายนั้นถ้าไม่ดีงามและไม่เป็นไปโดยถูกต้องตามธรรม  ก็จะไม่ใช่ประโยชน์สุขที่แท้จริงซึ่งมั่นคงยั่งยืน  แม้ว่าจุดหมายนั้นตามปกติเราย่อมต้องการสิ่งที่เป็นประโยชน์สุข แต่ประโยชน์สุขที่แท้ก็คือสิ่งที่เป็นธรรม หมายความว่า เป็นความจริงความแท้ ความถูกต้อง และได้มาโดยธรรม

เหมือนอย่างว่า  ถ้าเป็นผู้นำคือหัวหน้าโจร  นำหมู่โจรไปปล้นสำเร็จได้สิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์มา อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องตามธรรมเพราะไม่เป็นผลดีแก่ชีวิตแก่สังคมและแก่โลก  หรือพาพวกไปทำสิ่งที่เป็นอบายมุขได้สำเร็จ  พวกที่ไปด้วยกันทั้งหมดอาจจะสนุกสนานบันเทิงใจ  และคนอื่นก็เหมือนจะไม่เดือดร้อนอะไร แต่ไม่เป็นผลดีแก่ชีวิตของตัวเองเลย  ก็ไม่เป็นภาวะผู้นำที่กำลังพูดถึงนี้ เพราะฉะนั้น  จะต้องถูกต้องตามธรรมด้วย

โดยนัยนี้  ภาวะผู้นำ ก็คือคุณสมบัติ เช่น สติปัญญา ความดีงาม ความรู้ความสามารถของบุคคล  ที่ชักนำให้คนทั้งหลาย มาประสานกัน และพากันไปสู่จุดหมายที่ดีงาม ดังที่กล่าวข้างต้นนั้น

เมื่อพูดถึงผู้นำอย่างนี้ จะเห็นว่ามีองค์ประกอบหลายอย่างในความเป็นผู้นำ  หมายความว่า คุณสมบัติของผู้นำมีหลายอย่างหลายด้าน  แยกไปตามสิ่งที่ผู้นำจะต้องเกี่ยวข้อง คือ ผู้นำจะต้องมีความสามารถในการที่จะไปเกี่ยวข้องหรือปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นทุกอย่างให้ถูกต้องและได้ผลดี องค์ประกอบเหล่านั้น คือ

1. ตัวผู้นำ จะต้องมีคุณสมบัติภายในของตนเอง เป็นจุดเริ่มและเป็นแกนกลางไว้

2. ผู้ตาม  โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับผู้ตาม หรือเราอาจจะไม่เรียกว่า "ผู้ตาม"  ในพุทธศาสนาก็ไม่ได้นิยมใช้คำว่า ผู้ตาม เราอาจจะใช้คำว่า "ผู้ร่วมไปได้ด้วย"

3. จุดหมาย  โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กันกับจุดหมายเช่นจะต้องมีความชัดเจน เข้าใจถ่องแท้  และแน่วแน่ในจุดหมายเป็นต้น

4.  หลักการและวิธีการโยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับหลักการและวิธีการที่จะทำให้สำเร็จผลบรรจุจุดหมาย

5.  สิ่งที่จะทำโยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสิ่งที่จะทำ

6.  สถานการณ์ โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม หรือสิ่งที่จะประสบ ซึ่งอยู่ภายนอก ว่าทำอย่างไรจะผ่านไปได้ด้วยดี ในท่ามกลางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่ประสบ เช่น ปัญหา เป็นต้น

นี่คือ องค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้นำที่จะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้เป็นผู้พร้อมที่จะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องบังเกิดผลดี

ในเวลาที่จำกัดนี้ อาตมภาพคงไม่สามารถพูดได้ครบทุกอย่าง แต่ข้อสำคัญจะเห็นได้ว่า เมื่อเป็นผู้นำ  ก็มีผู้ที่ร่วมไปด้วยหรือว่าเพราะมีผู้ร่วมไปด้วยจึงเป็นผู้นำได้  ฉะนั้น คุณสมบัติที่สำคัญมาก ก็คือ คุณสมบัติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้นำเองกับผู้ที่ร่วมไปด้วยนั้น ซึ่งต้องถือเป็นหลักใหญ่  เราอาจจะพูดเน้นที่ข้อนี้  ส่วนคุณสมบัติข้ออื่นจะพูดประกอบไปก็ได้