มื่อผู้อ่านได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการภายนอกของชีวิตที่เกี่ยวกับ " กิน กาม เกียรติ " และ เคล็ดลับในการกระตุ้นแรงจูงใจเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนจึงใคร่ขยายความต่อไปอีกว่า ในความเป็นจริง ความต้องการของมนุษย์มิได้จำกัดเฉพาะ  แต่ความต้องการภายนอกเพียงประการเดียวเท่านั้น เพราะการมุ่งเน้นเฉพาะความต้องการภายนอกอย่างปราศจากขอบเขต มักนำไปสู่การเพิ่มพูน โลภะ โทสะ โมหะ  มากยิ่งขึ้น แม้จะได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม  พระพุทธองค์ได้ทรงอุปมาอุปมัยการกำหนดเป้าหมายชีวิตกับการเสาะแสวงหาแก่นไม้ไว้ว่า

  ถ้าตั้งเป้าหมายชีวิตได้เพียงเพื่อการแสวงหาลาภ สักการะและชื่อเสียงเกียรติยศ บุคคลก็จะได้เพียงใบไม้

  ถ้าตั้งเป้าหมายชีวิตไว้เพียงเพื่อการแสวงหาความสมบูรณ์ด้วยศีล บุคคลก็จะได้เพียงสะเก็ดไม้

  ถ้าตั้งเป้าหมายชีวิตไว้เพียงเพื่อการแสวงหาความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ  บุคคลก็จะได้เพียงเปลือกไม้

  ถ้าตั้งเป้าหมายชีวิตไว้เพียงเพื่อการแสวงหาปัญญาบุคคลก็จะได้เพียงกะพี้ไม้

  แต่ถ้าตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ให้ถึงซึ่งความหลุดพ้นแห่งใจไม่ให้กลับกำเริ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีตัว ไม่มีตน บุคคลจึงได้รับแก่นไม้

ในหลักพุทธธรรมมนุษย์ที่สมบูรณ์ย่อมไม่อาจติดยึดเพียงความต้องการภายนอก และสิ่งตอบสนองจากภายนอก แต่จำเป็นต้องตระหนักถึงความต้องการภายในและสิ่งตอบสนองจากภายในเป็นสำคัญด้วยถึงแม้กระนั้น ปัญหาที่ปรากฏทุกวันนี้ ก็คือมนุษย์จำนวนไม่น้อยขาดความเข้าใจต่อปรัชญาชีวิต  จึงมักหลงติดอยู่เพียงความต้องการภายนอก และสิ่งตอบสนองจากภายนอกหรือที่เรียกว่า "รางวัลภายนอก" ดังที่ปรัชญาของเต๋าใช้คำว่า "หลงติดเพียงสัญลักษณ์โดยละเลยสัจธรรม" ความต้องการภายนอกคือสัญลักษณ์ ในขณะที่ความต้องการภายใน (หรือรางวัลภายใน) คือสัจธรรมในเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่านักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ไขว่คว้าปรารถนาความมั่นคั่งสมบูรณ์ทางวัตถุจนก่อให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัว การแสวงหาผลกำไรเพื่อผลกำไรจาก 10 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท  จาก 100 ล้านบาท เพิ่มความต้องการเป็น 1,000 ล้านบาท  โดยไม่เคยใช้สติยั้งคิดว่าผลกำไรที่รับจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น  ต่อสังคม และต่อมนุษยชาติได้อย่างไร แล้วก็ย่อมเป็นธุรกิจที่พอกพูนความยึดมั่นถือมั่น มิใช่แนวทางธุรกิจแบบพุทธ  ถ้าการแสวงหายศตำแหน่งเพื่อยศตำแหน่ง โดยที่ผู้แสวงหาไม่เคยหวนคิดว่ายศตำแหน่งนั้นคือ โอกาสที่จะบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมคือโอกาสที่จะจุนเจือความเสมอภาพแก่ผู้ที่เสียเปรียบในสังคม คือโอกาสที่จะเผื่อแผ่ทศธรรมต่อมวลมนุษย์แล้ว  ยศตำแหน่งที่ได้มาก็ย่อมไร้คุณค่าในเชิงพุทธ เพราะเป็นการแสวงหาที่ไม่รู้จักจบสิ้น  ดุจดังสุนัขล่าเงาของก้อนเนื้อที่ปรากฏบนผิวน้ำ นอกจากนี้ การไขว่คว้าเช่นที่กล่าวจะเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาก็ต่อเมื่อได้กระทำภายในกรอบของคุณธรรม  และในลักษณะที่พอเหมาะสมควร คำว่า "พอเหมาะสม" นี้ เรามักใช้เรียกอย่างย่อ ๆ ด้วยคำว่า "พอ" หรือ "รู้จักพอ"  ฉะนั้นคำว่า "รู้จักพอ"  ในทางพุทธธรรม จึงมิได้หมายความว่าหยุดนิ่งหรืออยู่กับที่ แต่หมายถึง "รู้จักความพอเหมาะพอควร"  ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อการบริโภคโดยไม่จำกัด โดยไม่จำกัดว่าบริโภคอาหารหรือบริโภคลาภยศสรรเสริญ มิใช่ว่าเห็นอาหารอร่อยก็รับประทานจนอึดอัด ในทำนองเดียวกัน มิใช่ว่าเห็นลาภ ยศ สรรเสริญ มากองอยู่เฉพาะหน้า ก็เร่งกอบโกยจนขาดสติในปรัชญาของเต๋ามีคำคมอยู่ว่า

ไม่มีภัยอันใดที่ยิ่งไปว่าความไม่รู้จักพอ    ไม่มีโทษอันใดที่ยิ่งใหญ่กว่ามีความโลไม่สิ้นสุด ฉะนั้นผู้ที่รู้จักพอ ความพอของเขาจะเป็นความพอที่มีไปได้ตลอดชีวิต
          
(ล.เสถียรสุต และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,
                                           พ.ศ.2526
: 79)

ด้วยเหตุนี้ บุคคลทั้งหลายไม่ว่าจะทำงานในภาครัฐหรือภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องตระหนักว่ารางวัลภายนอกเปรียบประดุจเปลือกไม้ ส่วนรางวัลภายในเปรียบประดุจเนื้อไม้  บุคคลผู้ยึดมั่นในลาภ ยศ สรรเสริญ  ก็เหมือนช่างไม้ผู้สังเกตอยู่เพียงเปลือกไม้ ซึ่งยอมพลาดโอกาสที่จะชื่นชมต่อลวดลายอันวิจิตรงดงามของแก่นเนื้อไม้ อย่างไรก็ดี ทั้งเปลือกไม้และเนื้อไม้ต้องกอบเข้าด้วยกัน จึงจะทำให้ต้นไม้มีชีวิตยืนต้นอยู่ไม้  ฉันใดก็ฉันนั้น  ชีวิตของปุถุชนที่สมบูรณ์จำเป็นต้องพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าของทั้งรางวัลภายนอกและรางวัลภายใน  การที่มนุษย์มุ่งแสวงหาแต่เพียงรางวัลภายนอก  โดยไม่ใยดีต่อรางวัลภายในย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อน  ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจว่าทำไมบุคคลจำนวนไม่น้อยซึ่งในสายตาของปุถุชนเห็นว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วในแง่ความต้องการภายนอก จึงยังมีความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างหนัก ในประวัติศาสตร์ของโลกมีปรากฏตัวอย่างมากมาย  เช่น ชีวิตของ   โบลิวาร์    นโปเลียน    มุสโสลินี    ฮิตเล่อร์   รวมทั้งบุคคลชั้นนำในสังคมไทยอีกเป็นจำนวนไม่น้อย  บุคคลเหล่านี้ต่างจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าสลด ส่วนบุคคลทั่วไปในสังคมไทยยุคปัจจุบันก็ปรากฏว่านักธุรกิจเป็นโรคประสาทกันมากขึ้นและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ฆ่าตัวตายกันหลายรายขึ้น ส่วนนักบริหารระดับชาติจำนวนไม่น้อยที่มีมลทินมัวหมองในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น ปรัชญาของเซ็น ซึ่งเป็นพุทธปรัชญาของญี่ปุ่นได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า

พุทธธรรมมุ่งเน้นไปที่จิตสำนึกเป็น
สำคัญเพราะจิตสำนึกเท่านั้นที่เป็นสิ่งชี้ขาด
การกระทำของคนในขณะที่ "สิ่งภายนอก"
เป็นเงื่อนไขกำหนดสภาวะอยู่ภานอกเท่านั้น
           (ล.เสถียรสุต และเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์,
                                          พ.ศ.2526
: 134)

นอกจากนี้ พุทธภาษิตบทหนึ่งได้บัญญัติได้ว่า

ในสภาพชีวิต มนุษย์มีใจเป็นตัวชี้นำ
จะทำงานสำเร็จได้ด้วยใจ  ถ้าจิตใจบริสุทธิ์
มั่นคง จะทำหรือพูด ความสุข ความสำเร็จ
ย่อมเป็นของคนนั้น เสมือนเงาติดตามตัว
           (บุญทัน   ดอกไธสง, พ.ศ.2523 : 158)

กล่าวโดยย่อ  การทำงานเพื่อสร้างตนและสร้างชาตินั้น  จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงการพัฒนาสั่งสมวัตถุ แต่ต้องครอบคลุมการพัฒนาสั่งสมคุณธรรมขึ้นในจิตด้วยเป็นสำคัญ อีกนัยหนึ่ง การทำงานเพื่อสร้างตนและสร้างชาติย่อมต้องครอบคลุมเป้าหมายในชีวิตอีก 2 ประการ

(ก) ความต้องการสัจธรรมในตนเอง

(ข) ความต้องการหลุดพ้นหรือไม่ยึดมั่นถือมั่น

การทำงานที่ก่อให้เกิดสัจธรรมในตนนั้นหมายถึงการทำงานที่ควบคู่กันไปกับการฝึกกายวาจา และใจของบุคคลให้ตั้งมั่นอยู่ในกรอบของพุทธธรรม โดยไม่ปล่อยให้จิตไหลเลื่อนไปตามสายธารแห่งกิเลสตัณหา ในทางตรงข้ามบุคคลควรฝึกตนให้มีความเสียสละและรับผิดชอบต่องานโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง  ไม่อ้างว่ายังร้อนนักหรือยังหนาวนัก กล่าวขยายความก็คือพยายามปลูกฝังฆราวาสธรรม 4 ประการ ในการทำงานซึ่งได้แก่ สัจจะ(สัตย์ซื่อแก่กัน) ทมะ(รู้จักข่มจิตของตน) ขันติ(รู้จักอดทน) และจาคะ (สละทรัพย์ของตนแก่ผู้ที่ควรให้ปัน) หน้าที่การงานของบุคคลทั่วไป ย่อมเปิดโอกาสแก่ทุกท่านอยู่แล้วที่จะสร้างสมสัจธรรมขึ้นในตน

ส่วนการทำงานเพื่อความหลุดพ้น ในที่นี้หมายถึงการทำงานที่เป็นธรรมชาติ ดังเช่นต้นไม้ผลิตดอกออกผลตามฤดูกาล โดยไม่ใยดีต่อคำติหรือ คำชมของมนุษย์ผู้ที่ทำงานเพื่อความหลุดพ้นในหลักของพุทธธรรม ก็คือบุคคลผู้มีความปิติว่าได้ทำงานในหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถแล้วความรู้สึกอิ่มเอิบเบิกบาน จึงได้ปรากฏขึ้นแม้ผู้นั้นจะไม่ได้รับผลตอบแทนในทางวัตถุแม้แต่น้อยก็ตาม บุคคลผู้ทำงานเพื่อความหลุดพ้น ย่อมไม่ทะนงตนเพราะคำชมและไม่ท้อถอยเพราะคำติ ดุจดังตัวอย่างของบิดารมารดาที่ดีย่อมเลี้ยงดูบุตรก็เพียงปรารถนาให้บุตรเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีประโยชน์ต่อทั้งตนเองและส่วนรวม เพียงเท่านี้บิดามารดาก็มีความอิ่มเอิบใจ โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทนใดจากบุตร เหลี่ยวฝาน นักปรัชญา ชาวจีนได้กล่าวไว้เมื่อสามร้อยกว่าปีมาแล้วว่า

กุศลใด    ถ้าทำด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจ 
  
 ไม่หวังตอบแทนเป็นส่วนตัวไซร้   แม้กระทำครั้ง
เดียว       ก็เท่ากับกระทำหมืนครั้งได้ทีเดียว
            (เจือจันทร์  อัชพรรณ, 2524 : 26-27)

นอกจากนี้ พุทธทาสภิกขุใช้คำว่า "ทำงานเพื่องาน" หรือ "ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่"  โดยอรรถาธิบายเสริมว่า

"การทำงานเพื่องาน" เป็นการปฏิบัติธรรมะ
อยู่ในตัว      หัดทำงานเพื่องาน  จะเป็น การปฏิบัติ
ธรรมะเพื่อหมดตัวกูหมดของกู   บรรลุนิพานได้ไม่ต้อง
ไปทำวิปัสสนาที่ไหน

                      
(พุทธทาสภิกขุ, พ.ศ.2525 : 5)

ประเด็นสำคัญของการตอบสนองความต้องการสัจธรรมในตนเองและความต้องการหลุดพ้นนั้นก็คือบุคคลไม่จำเป็นต้องรอให้ความมั่นคง ยศ หรือตำแหน่งเพิ่มพูนหรือก้าวหน้าจนถึงระดับใดระดับหนึ่ง เพราะในความเป็นจริงบุคคลในทุกฐานันดรไม่ว่าระดับใดต่างก็สามารถสนองความต้องการภายในเหล่านี้ได้โดยทัดเทียมกัน อาจต่างกันเพียงที่ความมุ่งมั่นตั้งใจเท่านั้น กล่าวได้ว่ามนุษย์ทุกรูปทุกนามสามารถตอบสนองความต้องการภายในของชีวิตได้โดยไมจำกัดตำแหน่งทางสังคม ทั้งนี้เพราะค่าของคนในเชิงพุทธ วัดจากผลของงาน ไม่ใช่จากชาติตระกูล เป้าหมายของชีวิตสองประการหลังนี้จึงมีความเป็นไปได้ระดับสูงซึ่งต่างจากแนวคิดทฤษฎีทางตะวันตกของโรเบิร์ต  เมอร์ตัน ที่ตั้งฐานคติดว่า "ถนนทุกสายในสหรัฐอเมริกามุ่งสู่ทำเนียบขาว" การที่ชาวอเมริกันทุกคน ต่างจะมุ่งมาดปรารถนาตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น น่าจะมีความเป็นไปได้ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดีชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะการทำงาน ซึ่งมุ่งสู่ความหลุดพ้น ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะไม่เคยประกาศตนเป็นชาวพุทธ  แต่ก็ได้ปฏิบัติตนในแนวทางที่สอดคล้องกับพุทธธรรมอย่างน่าหยิบยกมาเป็นแบบอย่าง

ตัวอย่างที่หนึ่งคือ หลุย ปาสเตอร์ นักวิชาการผู้ค้นพบจุลินทรีย์ ตลอดชีวิตของท่านผู้นี้ได้ทำคุณประโยชน์มากมายแก่มนุษย์ชาติ เรื่องหนึ่งในหลายเรื่องที่ปาสเตอร์ประสบในชีวิตก็คือเมื่อคราวที่เกิดโรคระบาดตัวไหมในประเทศฝรั่งเศส และรัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบหมายให้ปาสเตอร์ค้นคว้าหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นงานใหญ่ ปาสเตอร์ได้ใช้ความพากเพียรค้นคว้าทดลองวันละเกือบ 20 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่พบทางแก้ไข สำหรับชาวฝรั่งเศสทั่วไปแทนที่จะเห็นใจหรือให้กำลังใจปาสเตอร์ในการทำงานหนักกลับด่าทอเสียดสีรวมทั้งหมิ่นประสาทปาสเตอร์ที่ยังไม่สามารถหาวีธีการแก้ไขโรคระบาดในตัวไหมได้ อย่างไรก็ตามคำส่อเสียดหมิ่นประมาทเหล่านี้ไม่ได้ให้ปาสเตอร์ท้อแท้หมดกำลังใจ แต่ปาสเตอร์กลับทำงานให้เป็นธรรมชาติและมุ่งความสนใจเพียงที่งานค้นคว้าทดลองอย่างขะมักเขม้น จนในที่สุดประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาโรคระบาดของไหม  จากนั้นคำตำหนิติเตียนก็เปลี่ยนมาเป็นคำแซ่ช้องสรรเสริญ  แต่ปาสเตอร์ก็มิได้หวั่นไหวทั้งคำติและคำชม  เพียงแต่มีความปิติในผลสำเร็จในการค้นคว้าทดลองของท่านเป็นสำคัญ

ตัวอย่างที่สองคือ มารี คูรี  นักวิชาการหญิงผู้ค้นพบแร่เรเดียม  ขณะที่ค้นพบแร่ดังกล่าวในปี พ.ศ. 2453 บรรดาญาติมิตรต่างแนะนำให้คูรีจดทะเบียนลิขสิทธิ์การสลัดแร่เรเดียม  ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างมหาศาลแก่คูรี  แต่นักวิชาการสตรีท่านนี้กลับปฏิเสธการสงวนสิทธิ์ดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าเรเดียมไม่ใช่สมบัติของท่านแต่เพียงผู้เดียวแต่เป็นสมบัติของมนุษย์ของมนุษย์ชาติที่สามารถจะใช้ประโยชน์ร่วมกัน

กรณีตัวอย่างทั้งสองคือแบบอย่างที่งดงามของการทำงานเพื่องาน หรือการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการภายในชีวิต  อนึ่งการทำงานโดยมุ่งเน้นรางวัลภายในเป็นหลัก  และรางวัลภายนอกเป็นรองนั้นสามารถก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ กล่าวคือ

(ก) รางวัลภายในไม่ต้องรอผู้อื่นมอบให้ เพราะบุคคลสามารถมอบให้ตนเองได้โดยตรง
 

(ข) รางวัลภายในได้รับแน่นอนจึงไม่ก่อให้เกิดความท้อถ่อยหมดกำลังใจ  ซึ่งต่างจากรางวัลภายนอก
 

(ค) รางวัลภายในก่อในเกิดสัจธรรม และความเชื่อมั่นในตนเองที่จะไม่บิดเบี้ยวไปตามระบบงานที่มักบิดเบี้ยวฉ้อฉล
 

(ง) รางวัลภายในจรรโลงความกล้าในบุคคล ให้กล้าคิด กล้าพูด กล้าเขียน และกล้าทำในสิ่งที่เป็นพุทธธรรม
 

(จ) รางวัลภายในช่วยให้บุคคลไม่ยึดมั่นในสัญลักษณ์แต่มุ่งใฝ่หาสัจธรรมและความหลุดพ้น

ในประการสุดท้าย พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนภิกษุทั้งหลายความว่า

หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  เป็นของไม่
เที่ยง  สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์  สิ่งใด
เป็นทุกข์  สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน  สิ่งใดไม่ใช่
ตัวตน  สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา  เราไม่ได้เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

                               (พระไตรปิฏก, 2525:98)