|
|
เรื่องเกี่ยวกับแรงจูงใจในการทำงานจัดเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญยิ่งต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของงาน
ไม่ว่าในองค์การของภาครัฐหรือภาคเอกชนไม่ว่าในระดับสูงหรือระดับต่ำ
แต่การที่จะกล่าวถึงแรงจูงใจ หรือ "ไฟ"
ในการทำงานของบุคคลโดยไม่กล่าวถึงเรื่องของชีวิตและปรัชญาชีวิตนั้นคงจะเป็นการยาก
ด้วยเหตุนี้เพื่อที่จะให้เรื่องยากได้กลายเป็นเรื่องง่าย
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแรงจูงใจในการทำงานตามความหมายเชิงพุทธ
จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากคำถามพื้นฐานที่ว่า |
(ก)
ชีวิตคืออะไร |
(ข)
ท่านเกิดมาทำไม และ |
(ค) ท่านมุ่งหวังอะไรจากชีวิต |
|
มนุษย์เราส่วนมากในปัจจุบันมักไม่ได้สนใจต่อคำถามเหล่านี้ แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเพราะชีวิตมนุษย์ในปัจจุบันกำลังถูกบดบังด้วยความจำเป็น หลายสิ่งหลายประการของชีวิตประจำวันจนไม่มีเวลาคิดหรือไม่ปรารถนาจะคิดถึงคำถามดังกล่าว ในการทำงานประจำแต่ละวัน แต่ละบุคคลมักประสบปัญหาเฉพาะหน้ารวมทั้งอุปสรรครอบด้านที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนจนทำให้มนุษย์เราหมกมุ่นและเข้าใจว่าสิ่งนั้นที่มี กำลังเป็นอยู่ กำลังทำอยู่ ก็คือทุกอย่างในชีวิต สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตและแรงจูงใจในการทำงานตามแง่มุมของพุทธศาสตร์ ซึ่งแม้จะเป็นมรดกตกทอดของชาวไทยมาเกือบสิบศตวรรษ แต่การเป็นชาวพุทธแต่เพียงในนามมีผลทำให้ชาวไทยจำนวนไม่น้อยขาดความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต และหน้าที่การงานของแต่ละบุคคล สังคมไทยต้องผจญกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรง ปัญหาการแก่งแย่งแข่งดี ปัญหาการสร้างฐานอำนาจเฉพาะนึก และอื่น ๆ แม้พุทธปรัชญามิใช่แก้วสารพัดนึก สำหรับแก้ไขทุกปัญหาในทุกด้านก็ตาม แต่คำสอนของพุทธคือแนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อพัฒนาจิตของมนุษย์ ซึ่งจัดเป็นพื้นฐานของการแก้ไขปัญหานานับประการที่จะติดตามมา ด้วยเหตุนี้ ถ้าผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากจิตของบุคคลก็สมควรที่จะได้ใช้ความเพียรพยายามอ่านบทความนี้ตามหัวข้อย่อยที่ได้เสนอได้คือ (ก) ความหมายของชีวิตในเชิงพุทธ(ข) แรงจูงใจสู่เป้าหมายเบื้องต้นของชีวิต (ค) เป้าหมายขั้นสูงของชีวิตและ (ง) สรุปความ |
|