ปัญหาของการ "นอนกรน"

หลายคนมีความรู้สึกว่า นอนกรนเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ในระยะหลังมีแพทย์หลายท่านที่พยายามออกมาให้ความรู้เรื่องโรคนอนกรน ว่ามีอันตรายอย่างไร ผู้เขียนเอง ในครั้งแรก เมื่อได้ยินคนกล่าวถึงโรคนี้เมื่อหลายปีก่อน ก็รู้สึกขำอยู่ในใจเหมือนกันว่า แพทย์กำลังไม่มีโรคอะไรจะรักษาแล้วหรือ ถึงเริ่มมารักษาโรคนอนกรน แต่เมื่อได้เข้าไปศึกษาอย่างจริงจัง ก็พบว่า ปัญหาเรื่องนอนกรน เป็นปัญหาที่มีระดับความรุนแรงตั้งแต่น้อย จนถึงขั้นรุนแรงถึงกับชีวิตได้ทีเดียว ดังนั้นวันนี้ เราจะมาคุยกันเรื่อง นอนกรน สักหน่อย

การนอนกรน เป็นอาการที่ผู้ที่เป็นมักไม่ค่อยเดือดร้อน แต่คนรอบข้างที่นอนอยู่ใกล้ๆ มักจะมีปัญหา หลายครั้ง ที่ผู้ที่นอนกรน ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองนอนกรน จนญาติสนิท เพื่อนสนิท หรือสามี ภรรยาของตน เป็นผู้บอกเล่าให้ฟัง เสียงของการนอนกรน เกิดมาจากลิ้นไก่ที่สั่นมากกว่าปกติขณะกำลังนอน การที่ลิ้นไก่จะสั่นได้มากนั้น เกิดจากการที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ แล้วทำให้ลมหายใจถูกอุดกั้น ไม่สามารถผ่านลงสู่ปอดได้อย่างสะดวก จึงทำให้เกิดเป็นลมหมุน ภายในลำคอ ลมหมุนนี้จะไปทำให้ลิ้นไก่ ซึ่งเป็นส่วนที่ขยับได้ภายในลำคอ เกิดการสั่น และทำให้เกิดเสียงกรน ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า การกรนเสียง 'ครอก' จะเกิดขึ้นตอนหายใจเข้า และเสียง 'ฟี้' จะเกิดขึ้นในตอนที่หายใจออก สลับกันไป

ความรุนแรงของการนอนกรน แบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือการกรนที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนธรรมดา แต่ไม่เกิดปัญหาอื่นๆที่เห็นได้ชัดแต่อย่างใด กลุ่มนี้ มักมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ ในระดับน้อยๆ และสามารถแก้ไขด้วยวิธีง่ายๆ ดังจะกล่าวต่อไป อีกกลุ่มหนึ่ง คือการนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย หลายคน คงเคยสังเกตเห็น คนที่นอนกรน จะมีช่วงที่กรนเสียงดังและค่อยสลับกันเป็นช่วงๆ โดยจะกรนดังขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหลับลึกขึ้นเรื่อยๆ แล้วถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าผู้ที่กรนอยู่ จะหยุดกรนไปชั่วขณะหนึ่ง ช่วงนั้นแหละ ที่มีการหยุดหายใจเกิดขึ้น แล้วเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่งจากการหยุดหายใจ ร่างกายจะมีกลไกตอบสนองภาวะนี้ โดยจะทำให้การหลับของคนที่กรนนั้น ถูกขัดขวาง ทำให้ตื่นขึ้น โดยจะมีอาการเหมือน สะดุ้งเฮือก แล้วก็กลับมาเริ่มกรนใหม่ พบว่า ช่วงที่หยุดหายใจนี้เอง ที่ทำให้เกิดอันตราย เนื่องจาก ระดับออกซิเจนในเลือดจะลดต่ำลง ถ้าเป็นโรคอื่นๆร่วมด้วยเช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว ก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงกับชีวิตได้ นอกจากนี้ ภาวะหยุดหายใจที่เกิดขึ้น ยังทำให้การนอนหลับของคนที่นอนกรนไม่ต่อเนื่องยาวนานเพียงพอ ดังนั้นคนที่นอนกรน อาจตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่านอนไม่อิ่ม แม้ว่าจะได้นอนในจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอแล้วก็ตาม

ถ้าอย่างนั้นแล้ว จะทราบได้อย่างไรว่า มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือเปล่า คุณอาจให้คนรอบข้างสังเกตคุณขณะนอนหลับ หรือประเมินตัวคุณเอง ว่าคุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่

  • รู้สึกนอนไม่อิ่ม หรือรู้สึกอ่อนเพลีย แม้จะนอนในจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอแล้ว

  • ตื่นขึ้นมาตอนเช้า พร้อมกับอาการปวดหัว

  • รู้สึกง่วงนอน ในเวลาที่ไม่ควรจะง่วง เช่น นั่งสัปหงกในห้องเรียน ในที่ทำงาน หรือในระหว่างขับรถ ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นคนขึ้เกียจ

  • ขี้หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ

  • รู้สึกว่าความสามารถในการจดจำลดลง ขี้ลืม

  • ในเด็กอาจจะมีการเรียนที่แย่ลง ร่างกายไม่แข็งแรง ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น

  • ปัญหาในการดำเนินชีวิตคู่ บางครั้งอาจจะมาจากการที่คุณนอนกรน จนสามีหรือภรรยาของคุณรังเกียจ แต่ไม่กล้าที่จะบอกให้คุณรู้

  • อย่างไรก็ดี แพทย์จะมีวิธีที่จะทดสอบให้แน่ชัดว่าคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยหรือไม่ และมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

    การนอนกรน มักไม่หายไปได้เอง แต่สามารถรักษาได้ แพทย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องนอนกรน จะประกอบด้วย แพทย์อายุรกรรมด้านทางเดินหายใจ และแพทย์ด้านหู คอ จมูก ลองปรึกษาแพทย์เหล่านี้ เพื่อประเมินดูว่า คุณนอนกรนและมีความรุนแรงระดับใด มีการหยุดหายใจขณะหลับด้วยหรือไม่ เพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป อย่าลืมว่า การนอนกรน ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไปแล้วนะครับ



    ข้อมูล :  HealthToday