มันมากับฝน?

หน้าฝนดูจะเป็นฤดูกาลพิเศษ เพราะบรรยากาศที่แตกต่างไปจากฤดูกาลอื่นๆ มีทั้งความชุ่มฉ่ำ สายฝนโปรยปราย ให้ความเย็นชื่น กระทั่งถั่งโถมเป็นพายุกราดเกรี้ยว สำหรับคนหนุ่มสาวแล้วอาจคิดว่าเป็นฤดูกาลที่ช่าง "โรแมนติก" เสียเหลือเกิน สังเกตดีๆ มิวสิควิดิโอมักจะมีฝนตกเสมอ ส่วนมากพระเอกนางเอกจะ "in love"หรือไม่ก็ "อกหัก" กันตอนฝนตกทุกที

แต่ถ้าถามหมอเด็ก (กุมารแพทย์) ก็จะได้คำตอบว่า "โรคหวัด" เปลี่ยนฤดูกาลทีไรหวัดถามหามากที่สุด ส่วนหมอผิวหนังก็ขอตอบเป็นคำตอบสุดท้ายว่า "โรคเชื้อรา" ครับที่มากับความเปียกชื้น เพราะพบบ่อยมากในช่วงหน้าฝนนี้ และบางคนที่เป็นโรคเชื้อราบ้างก็อายหรือไม่ก็คิดว่าไม่สำคัญเดี๋ยวก็หายเลยไม่ไปหาหมอ แต่ซื้อยามาใช้เองถูกบ้างผิดบ้างก็ว่ากันไป

สำหรับโรคเชื้อราที่เกิดกับผิวหนังที่พบบ่อยมักจะเป็นชนิดตื้น (superficial mycosis) ซึ่งมีหลายชนิด แต่คราวนี้ผมจะพูดถึงเฉพาะกลาก เกลื้อน และยีสต์ก่อน เพราะพบเป็นประจำเสมอๆ

อาการที่สำคัญของเชื้อราผิวหนังคือ "คัน" แต่โรคผิวหนังที่คันไม่จำเป็นต้องเป็นเชื้อราเสมอไป (งง ดีมัยครับ) เช่น โรคผิวหนังอักเสบก็มีอาการคันมากได้เหมือนกัน

กลาก

สาเหตุ: เชื้อราชนิด Dermatophytes ที่อยู่ตามพื้นดิน กิ่งไม้ ใบไม้ฯ และตามขนสัตว์ เช่น สุนัข แมว

ลักษณะ: เป็นผื่นเข้มแดง หรือจุดแดงเล็กๆ คันแล้วขยายตัวออกมีสะเก็ด มีขอบเขตชัดเจน แล้วตรงกลางจะค่อยๆ หาย และสีจางลง ถ้าเกิดบนศีรษะจะทำให้ผมหัก หรือร่วงได้

การรักษา: ใช้ยาทาภายนอก เช่น การใช้ Ketoconazole Cream หรือ Clotrimazole Cream ถ้าเป็นเชื้อราที่ศีรษะ หรือเล็บ หรือในรายที่ดื้อต่อการรักษา ต้องใช้ยาชนิดรับประทานซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

เกลื้อน

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อราที่ผิวหนังของคนเรา ชื่อ Malessezia furfur ซึ่งจะพบในคนปกติบริเวณหน้าอก หนังศีรษะ หลังหรือหน้า จะแสดงอาการของโรคเมื่อมีเหตุชักนำ หรือปัจจัยเสริม เช่น มีเหงื่อออกมา ใส่เสื้อผ้าอับชื้นผิวหนัง เป็นต้น

ลักษณะ: เริ่มจากการเป็นผื่นรอบบริเวณรูขุมขน ต่อมาขยายใหญ่เป็นวงกลม และมีขุยละเอียดอาจมีสีต่างๆ เช่น สีขาว สีแดง สีดำ หรือน้ำตาล

การรักษา: ใช้ยาทาภายนอก อาจใช้ Selenium sulfide หรือ Ketoconazole ในรูปของแชมพูฟอกตัวทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาทีแล้วล้างออก หรือใช้ Ketoconazole Cream, Clotrimazole Cream ทาร่วมด้วย ส่วนการใช้ยาชนิดรับประทานควรปรึกษาแพทย์

ยีสต์

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อในกลุ่มแคนดิดา (Candida) โดยพบตามธรรมชาติในร่างกายบริเวณระบบทางเดินอาหาร, ช่องปาก, ช่องคลอด และระบบทางเดินปัสสาวะ พบได้น้อยบริเวณผิวหนังซึ่งเวลาที่จะทำให้เกิดเป็นโรคได้นั้นตัวผู้ป่วยเองมักมีภูมิต้านทานโรคลดลง และมีปัจจัยร่วมหลายอย่างเช่น การเกิดแผล และการบาดเจ็บของผิวหนัง, การใช้ยาบางชนิด, การขาดอาหารหรือภูมิต้านทานลดลง, โรคเบาหวาน

ลักษณะ: 

ทางผิวหนัง  
1.1 บริเวณซอกผิวหนัง (Intertriginous) มักจะเป็นบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม ง่ามนิ้ว มีการอักเสบหนังแดงถลอก หรือมีผื่นกระจายออกไปเป็นลูกเล็กๆ (satellite lesion)


1.2 บริเวณเล็บ ส่วนมากพบในคนที่ทำงานมือแช่น้ำ หรือเปียกชื้นอาจเกิดบริเวณขอบเล็บ (บวมแดง กดเจ็บ) หรือตัวเล็บเอง (เล็บจะเสียเปลี่ยนรูปไป)

ทางเยื่อบุ (Mucocutaneous)  เป็นที่ปากจะมีฝ้าขาวเกิดขึ้นหรือบริเวณช่องคลอดก็จะมีการตกขาว

การรักษา: ยาภายนอก เช่น Ketoconazole Cream, Clortrimazole Cream หรืออาจต้องใช้ยา รับประทานด้วยในกรณีที่เป็นรุนแรงขึ้นอยู่กับการแพทย์

การวินิจฉัยโรคเชื้อราที่ผมกล่าวถึงส่วนมากจะอาศัยประวัติของผู้ที่เป็น ตรวจดูลักษณะของผื่น แต่ในรายที่ไม่แน่ใจหมอผิวหนังอาจจะขูดผิวหนังดูว่ามีเชื้อราหรือเปล่า นอกจากนี้ผู้ที้เป็นเชื้อราที่ผิวหนังควรรู้จักการดูแลตัวเองให้ดีด้วยโดย

ดูแลความสะอาดและอนามัยของร่างกาย

  • อาบน้ำฟอกสบู่ทุกวันแล้วเช็ดตัวให้แห้ง(ใช้สบู่ธรรมดา ไม่ต้องใช้สบู่ฆ่าเชื้อ)

  • เวลาเดินในบริเวณที่น้ำท่วม ควรรีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้งทันที

  • ตัดผม เล็บมือ เล็บเท้าให้สั้น

  • สิ่งแวดล้อม และเครื่องใช้ส่วนตัว

  • ทำความสะอาด และตากแดดเสื้อผ้า, ปลอกหมอน, ถุงเท้า

  • ควรมีรองเท้า 2-3 คู่ไว้เปลี่ยน และนำออกตากแดดสม่ำเสมอ

  • ที่สำคัญคืออย่าแกะ หรือเกาผื่นที่ผิวหนังด้วยความมันมือ เพราะจะยิ่งทำให้เชื้อราแพร่ขยายได้ ยิ่งกว่านั้นอาจอักเสบ และอาจติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเข้าไปอีก ในกรณีที่สงสัยว่าติดจากสัตว์เลี้ยงควรพาสัตว์เลี้ยงไปให้สัตวแพทย์ตรวจดูด้วย เชื้อราบางชนิดที่เกิดขึ้นที่เล็บอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานสักหน่อย ในสมัยก่อนอาจต้องทานยาทุกวันนาน หลายเดือนหรือเป็นปีเลย แต่ปัจจุบันได้มีการคิดค้นยาใหม่ๆ ที่ใช้เวลารักษาไม่กี่เดือน และไม่ต้องทานทุกวัน ส่วนประสิทธิภาพก็มากขึ้นด้วย



    ข้อมูล :  HealthToday