ข้าวโอ้ต....กับสุขภาพ

เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่า อาหารที่มีปริมาณเส้นใยสูง มีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพ คนที่กินอาหารที่มีเส้นใยสูงเป็นประจำ จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินอาหาร กระทั่งโรคมะเร็งลดลง เพราะเส้นใย อาหาร เข้าไปเป็นตัวขับเคลื่อน ให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะลำไส้เราทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดอาการ ท้องผูก

ดร.โจเซฟ คีแนน แห่งมหาวิทยาลัยมินิโซต้า ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของใยอาหารที่ละลายน้ำได้ มีความเกี่ยวพันกับโรคหัวใจว่า "ธัญพืชเป็นแหล่งของใยอาหารที่ดีที่สุด และมีส่วนช่วยในการลดความ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (หัวใจวาย) ซึ่งใยอาหารที่ละลายน้ำได้นั้น มีประสิทธิภาพในการ ช่วยลดโคเลสเตอรอล แหล่งอาหารที่มีใยอาหารที่ละลายน้ำ ได้แก่ ข้าวโอ้ต ข้าวบาร์เลย์ ผลไม้ที่มีเปคินสูง ถั่วเมล็ดแห้ง และเม็ดแมงลัก" และถ้าจะพูดถึง "ข้าวโอ้ต" ก็เป็นอาหารที่มีความน่าสนใจ ต่อสุขภาพอย่างมากชนิดหนึ่ง เลยทีเดียว เพราะมีการวิจัยเรื่องข้าวโอ้ตโดยเฉพาะ และพบว่าข้าวโอ้ตมีประสิทธิภาพในการลด โคเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นต่ำ (LDL,Low-density lipoproteins)

ข้าวโอ้ตช่วยลดโคเลสเตอรอลได้อย่างไร?

โคเลสเตอรอลจะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของกรดน้ำดีในตับ ซึ่งจะถูกลำเลียงไปยังลำไส้เล็ก เพื่อช่วยในการย่อยไขมัน เมื่อคุณทานข้าวโอ้ตเข้าไป ใยอาหารส่วนที่ละลายน้ำได้ จะทำให้เกิดเป็นวุ้น ไปล้อมกรดน้ำดีในลำไส้เล็ก เมื่อกรดน้ำดีถูกล้อม ด้วยใยอาหารส่วนที่ละลายน้ำได้เหล่านี้ ก็จะไม่ สามารถถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กอีกได้ และถูกขับออกทางอุจจาระ ขณะเดียวกันตับก็จะดึง โคเลสเตอรอล ในกระแสเลือดมาใช้เพื่อ สร้างกรดน้ำดีใหม่ ดังนั้นจึงเป็นผลให้ระดับโคเสลเตอรอลลดลง

จากงานวิจัย 2 ชิ้นที่ตีพิมพ์ใน Journal of the American Medical Association แนะนำว่าปริมาณข้าวโอ้ตที่ควรกินแล้ว ได้ประโยชน์กับสุขภาพ คือ ข้าวโอ้ตสุก 1 1/2 ถ้วย ต่อวัน (เท่ากับปริมาณข้าวโอ้ตดิบ 3/4 ถ้วย) หากกินข้าวโอ้ตตามปริมาณที่แนะนำนี้ ร่วมกับการลดปริมาณ การกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ในแต่ละวัน ก็จะทำให้การลดปริมาณโคเลสเตอรอลได้ผลยิ่งขึ้น

ข้าวโอ้ตยังช่วยลดระดับความดันโลหิตด้วยจริงหรือ?

การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมหรือเกลือต่ำ อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความดัน โลหิตสูงได้ ซึ่งข้าวโอ้ตเป็นอาหารที่ไม่มีโซเดียมอยู่เลย ดร.โจเซฟ และคณะ ทำการศึกษาเบื้องต้นใน ผู้ป่วยจำนวน 20 คน ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่ไม่เข้ารับการรักษาใดๆ เลย แต่หันมากินข้าวโอ้ต เป็นประจำทุกวัน ผลปรากฏว่า อัตราความดันขณะหลอดเลือดหดตัว(systolic pressure) ลดลง 8 มิลลิเมตรปรอท และอัตราความดันขณะหลอดเลือดขยายตัว(diastolic pressure) ลดลง 3 มิลลิเมตรปรอท ส่วนรายละเอียดที่ศึกษาลึกกว่านี้ยังดำเนินไปเพื่อหาข้อสรุปที่แท้จริงและเชื่อถือ ได้ต่อไป

ข้าวโอ้ต ช่วยในเรื่องความไวต่ออินซูลินด้วย

นอกจากจะศึกษาว่าใยอาหารที่ละลายน้ำได้ในข้าวโอ้ตมีผล ต่อการการลดระดับโคเลสเตอรอลและความดันแล้ว ก็ยังมี การศึกษา รวมไปถึงเรื่องความไวต่ออินซูลินด้วย โดยพบว่า ข้าวโอ้ต สามารถเพิ่มความไวต่ออินซูลินได้ จากการศึกษาผู้ป่วยความดัน โลหิตสูง 20 คน ของดร.โจเซฟ สรุปผลว่าอาหารที่มีใยอาหาร ที่ละลายน้ำได้ จะช่วยให้เกิดการดูดซึม น้ำตาลกลูโคสจากลำไส้ ช้าลง ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร ลดลงเป็นผลให้ร่างกายใช้อินซูลินน้อยลงไปด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่กินข้าวโอ้ตจะรู้สึกอิ่มนาน เพราะรำข้าวโอ้ต และใยอาหารที่ละลายน้ำได้ ในข้าวโอ้ต จะดูดซึมน้ำไว้ในปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้กระบวนการย่อยอาหารเป็นไปอย่างช้าๆ จนทำให้ รู้สึกอิ่มได้นาน นับว่าน่าจะเป็นอาหารของผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เพราะช่วยลดความหิวหรือ ความอยากกินบ่อยครั้งลงได้

อร่อยกับสารพัดรูปแบบของข้าวโอ้ต

ถ้าคุณไม่ได้ใช้ซีเรียลสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมหลักเป็นข้าวโอ้ต คุณก็อาจเลือกซื้อข้าวโอ้ตเปล่าๆ มาปรุงส่วนผสมได้สารพัดวิธีให้อร่อยอย่างง่ายๆ เช่นกัน ในกรณีที่คุณเลือกกินข้าวโอ้ตดิบควรทำให้ สุกก่อนด้วยวิธีที่คุณถนัด (ถ้าใส่ไมโครเวฟ อย่าใส่น้ำเยอะเพราะเมื่อข้าวโอ้ตร้อนจัดจะฟองล้นชามได้)

  • เพิ่มรสชาติข้าวโอ้ต โดยเติมนมพร่องไขมัน น้ำตาล โกโก้

  • ใส่ผลไม้ / ธัญพืช เช่น ลูกเกด กล้วยหอม แอปเปิ้ล ถั่วอัลมอนด์ จมูกข้าวสาลี

  • คุกกี้ข้าวโอ้ต จะทำหรือซื้อไว้รับประทานเป็นประจำก็จะดีต่อ สุขภาพเช่นกัน

  • ถ้าคุณชอบปรุงอาหารลองประยุกต์สูตรจากโจ้กหมูสับ เป็น ข้าวโอ้ตหมูสับรับรองอร่อย ได้อีกแบบ

  • ประยุกต์เป็นข้าวโอ้ตตุ๋นผัก โดยต้มผักกระหล่ำปลีหั่นฝอย หรือ เลือกใช้ผักกาดขาว ต้มในน้ำต้มกระดุกจนผักสุกนุ่มใส แล้วเติม ข้าวโอ้ตลงไปคนจนสุก เป็นสูตรพิเศษที่ไม่มีใครเหมือน



  • ข้อมูล   :HealthToday