ผมป่วยทางใจ! ใครช่วยได้บ้าง

ท่านผู้อ่านครับ ผมในฐานะที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยทางใจหรือผู้ป่วยจิตเวชอยู่ตลอดมา มักจะถูกถามจากผู้ป่วยเสมอว่า เขาเป็นโรคอะไรแน่ ที่ใครๆ เขาว่าป่วยทางจิตนั้น เป็นโรคจิตหรือไม่ อยากรู้จริงๆ

ผมขอตอบได้เลยว่า บุคคลที่ถามเช่นนี้มักจะรู้ว่าตนเองป่วย และถูกผู้อื่นมองว่าเป็นโรคจิต ถึงแม้บางครั้งไม่มีใครพูดออกมา แต่ตัวเองกลัวไปเสียเอง บางรายไปอ่านหนังสือแล้วพบว่ามีอาการตรงกันกับของผู้เป็นโรคจิตชนิดใดชนิดหนึ่งในหนังสือนั้น

เมื่อผมค่อยๆ อธิบายว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ป่วยตามที่คิดหรอก เพียงแต่มีจิตใจอ่อนแอลงเท่านั้น หากได้รับการช่วยเหลือรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย พยายามปฎิบัติตามคำแนะนำ ผมบอกได้เลยว่า อาการจะดีขึ้นแน่ๆ โอกาสจะเป็นโรคจิตไม่มีเลยครับ นอกจากนั้นมีอยู่บ่อยๆ ที่ผู้ป่วยกลับสามารถพัฒนาตนเองได้ดีขึ้นกว่าเดิมเสียอีกจนทำให้กลายเป็นคนเข้มแข็งอดทน คิดอย่างมีเหตุผล และมองผู้อื่นในแง่ดี ท่านผู้อ่านอาจเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้นะครับ ขอให้สบายใจได้

เมื่อผู้ป่วยเข้าใจตามที่ผมอธิบายแล้วจะเริ่มยิ้มได้ บางรายก็ถอนหายใจก่อน แล้วพูดว่าดีใจที่ได้รู้เช่นนี้ หวังว่าหมอไม่ได้หลอก หรือพูดเพียงให้สบายใจเท่านั้น ถ้าหมอยืนยันคงทำให้เขาเป็นสุขมากเมื่อกลับบ้าน ผู้ป่วยมักยิ้มได้หลังจากคุยกันได้ครึ่งชั่วโมงแล้ว

ท่านจะเห็นได้นะครับว่า ผู้ป่วยสบายใจขึ้นแล้ว เพียงได้พบพูดคุยกันเป็นครั้งแรกเท่านั้น เนื่องจากได้รับรู้ข้อเท็จจริง และได้รับคำยืนยันจากผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ด้านนี้ ด้วยทีท่าที่เป็นมิตร เยือกเย็น ยิ้มแย้มเป็นกันเองและจริงใจ ในบรรยากาศสบายๆ พูดกันอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าพึงกระทำต่อกัน ผู้ป่วยยอมรับได้ และเชื่อว่าผมพูดความจริงด้วย เมื่อสบายใจขึ้น และรู้สึกว่าจิตแพทย์จะเป็นผู้ช่วยเหลือได้ ความกลัวเรื่องความเจ็บป่วยก็น้อยลง ยินดีที่จะมาพบกันอีก พร้อมจะปฎิบัติตนตามคำแนะนำ ผมคงจะให้คำตอบหนึ่งข้อแล้วนะครับว่า ป่วยทางใจใครช่วยได้บ้าง

ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีบุคคลอีกหลายท่าน และมีอีกหลายวิธี ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ครับ

ท่านผู้อ่านครับ ต้นเหตุของการแปรปรวนทางจิตใจที่พบบ่อยที่สุดคือ ความอ่อนแอทางจิตใจโดยเฉพาะเริ่มตั้งแต่เมื่อยังเป็นเด็ก เป็นคนไม่หนักแน่นมั่นคง อาจเจ้าอารมณ์มองตนเองเป็นใหญ่และถูกต้องอยู่ตลอดเวลา

เมื่อศึกษาชีวิตของผู้ป่วยรายนี้จะพบว่า ครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ พี่น้อง เป็นต้นเหตุที่ทำให้รู้สึกขาดรัก ขาดความอบอุ่น ขาดความมั่นใจ ต้องการอยากได้รับความรัก การยอมรับจากครอบครัว อย่างไม่มีวันสิ้นสุด หากไม่ได้รับแต่เริ่มแรกของชีวิตแล้ว ความรู้สึก ความต้องการ จะยังแน่นจนกลายเป็นนิสัยประจำตัว มีพฤติกรรมไม่ดีขยายออกไปสู่สังคมภายนอก ซึ่งแน่นอนพฤติกรรมของเขามีมีใครยอมรับได้ จึงเกิดความเครียด คิดมาก มองตนเองมีปมด้อย หรือมองผู้อื่นในแง่ร้าย

จะเห็นว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง จะเป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ช่วยป้องกันรักษาจิตใจของผู้ป่วยได้

เท่าที่ผมพบมา ปรากฎว่าบุคคลเหล่านี้จะไม่ยอมรับว่าเป้นความผิดของตน กลับชอบตำหนิว่ากล่าวผู้ป่วยมากขึ้นด้วยซ้ำไป ทำให้ผู้ป่วยยิ่งมีจิตใจอ่อนแอลงตามลำดับ เมื่อโตขึ้นก็มองสังคมนอกบ้าน เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ ในแง่ร้ายเพิ่มไปด้วย

ผลก็คือจิตเขาเหมือนลูกโป่งแตกออกดังโพล๊ะ เนื่องจากมีลมอัดเพิ่มเข้าไปตลอดเวลา ลมที่เข้าไปในลูกโป่งเสมือนความกดดันทางจิตใจครับ ต้องระเบิดออกมา นั่นคืออาการแสดงออกของความผิดปกติทางจิตใจในหลายรูปแบบ

สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นได้ทั้งต้นเหตุ และเป็นตัวช่วยเหลือผู้ป่วยได้ด้วย การไม่มีมลพิษของอากาศ อาหาร และน้ำดื่ม ความพอใจในงานที่ทำ เจ้านายและผู้ร่วมงาน รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จะทำให้มีชีวิตอยู่อย่างสุขกายสบายใจ เมื่อมองสิ่งต่างๆ ล้อมรอบในด้านดีก็อยากทำดีกลับสู่สังคมบ้าง

ท่านผู้อ่านครับ สิ่งแวดล้อมจึงเป็นปัจจัยที่สร้างหรือทำลายความสุขได้ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเลยครับ

ท่านจะต้องดูแลสุขภาพกายของตนเองให้ดีด้วย มีอะไรผิดปกติไม่ควรทิ้งไว้นาน ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาเสียแต่เริ่มแรกไม่ปล่อยให้รุนแรงเรื้อรัง จะมีส่วนช่วยป้องกันและรักษาจิตใจได้ครับ แม้จะมีคำพังเพยที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ก็จริง แต่ถ้าบ่าวไม่ดี นายก็แย่เหมือนกันครับ

ฉะนั้นสรุปแล้วท่านจะเห็นว่า พ่อแม่ผู้เลี้ยงดู ญาติพี่น้อง สิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลสุขภาพกายและใจตนเอง สามารถช่วยเหลือเมื่อป่วยทางใจได้

สำหรับวิธีการรักษาด้วยการพูดคุย ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า จิตบำบัด ดังที่ผมได้เรียนท่านแล้วนั้น จะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง เกิดความมั่นใจในความเจ็บป่วย การมาพบมาพูดคุยกับผู้รักษาตามนัด แล้วนำไปปฎิบัติ จะเป็นการรักษาที่ได้ผลเร็ว จนอาจมีต้องใช้ยากินเลยก็เป็นได้

ในระยะหลังมานี้ ยาทางจิตเวชสมัยใหม่ช่วยทำให้จิตใจที่แปรปรวนดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีการพัฒนายาเช่นเดยวกับยารักษาทางกาย แต่ราคายังแพงอยู่ คำว่า “30 บาทรักษาได้ทุกโรค” หมายความรวมถึงโรคทางจิตใจด้วยครับ ดังนั้นผู้ป่วยและครอบครัวที่ยากจน ก็สามารถรับการรักษาเช่นเดียวกับคนรวยได้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำนี้ แต่อย่ากลัวไปเลยนะครับ อย่ามองประเทศไทยในแง่ร้ายนัก วันหนึ่งในไม่ช้าสถานะการทางเศรษฐกิจของประเทศเราจะดีขึ้น

ยังมีการรักษาอีกหลายวิธีที่ใช้กับผู้ป่วยทางจิตใจ เช่นที่เรียกว่า สิ่งแวดล้อม-สังคมบำบัด พฤติกรรมบำบัด การรักษาด้วยไฟฟ้าสำหรับรายที่ป่วยรุนแรงที่อาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับตนเองและผู้อื่น การรักษาวิธีหลังนี้เห็นผลดีทันตา มีการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการที่ใช้อยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอีกหลายวิธีครับ ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดได้จากผู้รักษาโดยตรง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของท่าน

ผมหวังว่าท่านจะสามารถนำเอาความรู้จากบทความนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตัวท่านเองและบุคคลที่ท่านรักได้นะค

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 92