อำเภอทุ่งใหญ่

 
 

ประวัติความเป็นมา

 

ตำบล”กุแหระ”เป็นตำบลที่สำคัญตำบลหนึ่งในอำเภอทุ่งใหญ่

ตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นรัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2354) กุแหระ ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอทุ่งใหญ่ ในปัจจุบันเป็นเมืองที่ต้องนำดีบุกไปผูกแก่กรมสุรัสวดี ฝ่ายขวาซึ่งมีออกพระเทพเสนายดพศรีสุมหพระสุรัสวดี เป็นนายกรมปีละ 7 ตำลึง 10 บาท พ.ศ.2449 ตำบลกุแหระ ตำบลท่ายาง และตำบลปลิกรวมกันเป็นกิ่งอำเภอกุแหระ ตัวที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลกุแหระ

ต่อมา พ.ศ.2450 จึงย้ายมาอยู่ที่ตำบลท่ายางได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอำเภอท่ายาง ขึ้นอยู่กับอำเภอทุ่งสงและเป็นกิ่งอำเภอท่ายางอยู่ประมาณ 50 ปี

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2502 กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะกิ่งอำเภอท่ายางเป็น”อำเภอท่ายาง”

 

ภายหลังปรากฎว่า “อำเภอท่ายาง”ไปพ้องกับชื่ออำเภอท่ายาง ในจังหวัดเพชรบุรี กระทรวงมหาดไทยจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอทุ่งใหญ่” ตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าคนถิ่นเดิมได้อพยพมาจากหลายแห่ง คือครั้งสงครามพม่าศึก 9 ทัพ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2328 พม่าตีเมืองถลางและทางตอนใต้ของประเทศไทย มีคนบางส่วนอพยพมาจากจังหวัดสงขลาพัทลุง สุราษฎร์ธานี และบางอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น อำเภอฉวาง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านทับควาย ตำบลทุ่งใหญ่ บ้านท่ายาง บ้านกรุงหยันใต้ ตำบลท่ายาง บ้านบางปรน บ้านเสม็ดจวน ตำบลกุแหระ เป็นต้น การร่วมสงครามคงจะมีบ้าง เพราะมีหลักฐานจากเครื่องใช้และอาวุธโบราณ เช่น ดาบไทรบุรีของคนสมัยนั้น มีชื่อสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ หลายแห่ง เช่น ทุ่งไสค่าย ทุ่งหัดม้า ทอนราชา วังจอมภักดี เป็นต้น


สภาพทั่วไป


 

อำเภอทุ่งใหญ่ขึ้นอยู่กับอำเภอนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ 603,287 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ของตัวจังหวัดห่างจากตัวจังหวัดโดยทางรถยนต์ประมาณ 102 กิโลเมตร

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอฉวาง อำเภอถ้ำพรรณราจังหวัดนครศรีธรรมราช และเขตอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทุ่งสง อำเภอบางขันจังหวัดนครศรีธรรมราชและอำเภอลำทับจังหวัดกระบี่

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอฉวาง อำเภอนาบอนและอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่

 

อำเภอทุ่งใหญ่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 ตำบล 56หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลกรุงหยัน ตำบลกุแหระ ตำบลท่ายาง ตำบลทุ่งสัน ตำบลทุ่งใหญ่ ตำบลบางรูป และตำบลปลิก

จากการสำรวจเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2540 มีประชากรทั้งสิ้น 63,649 คน มีจำนวนครัวเรือน 13,842 ครัวเรือน

ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบสูงประมาณ 3 ใน 4 ส่วน นอกจากนั้นเป็นที่ราบลุ่มสล้างเนินหรือควน พื้นที่ทางตอนใต้สูงกว่าทางตอนเหนือ พื้นที่โดยทั่วไปเหมาะแก่การทำนา ทำสวนยาง บางพื้นที่พบแหล่งแร่ยิบซัมและถ่านหินสภาพอากาศ

มีฝนตกมากระหว่างเดือน พฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเมษายน ฤดูฝนเดือน พฤษภาคมถึงธันวาคม จึงมีฤดูฝนประมาณ 8 เดือน ฤดูร้อนประมาณ 4 เดือน

 

อำเภอทุ่งใหญ่มีภูเขาและลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่เขานางนอน อยู่ที่หมู่ 2 ตำบลกรุงหยัน เป็นต้นน้ำของครองสัง สภาพป่า ยังค่อนข้างสำบูรณ์ เขาถ้ำเพดาน และเขาย่านยาว อยู่หมู่ที่ 1

รูป เจดีย์วัดเขาหลัก อำเภอทุ่งใหญ่ ศิลปะแบบศรีวิชัย

ตำบลกรุงหยัน เป็นอำเภอต้นน้ำของครองบางปรง สภาพป่ายังสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า และเป็นที่สงวนสัตว์ป่าบางชนิด เช่น ค่าง เลียงผา เขารูป อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบางรูป มีถ้ำเป็นจำนวนมาก

 

อำเภอทุ่งใหญ่มีลำน้ำที่สำคัญ ๆ คือ แม่น้ำตาปี เป็นแม่น้ำสำคัญที่แบ่งเขตแดนระหว่างอำเภอทุ่งใหญ่กับอำเภอฉวางและอำเภอถ้ำพรรณรา ท้องที่แม่น้ำตาปีไหลผ่านคือตำบลทุ่งใหญ่ ตำบลทุ่งสัง และตำบลบางรูป ประชาชนทั้ง 3 ตำบล ได้อาศัยประโยชน์ใช้น้ำเพื่อการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการประมงน้ำจืด ลำน้ำคลองสัง เป็นลำน้ำธรรมชาติ ต้นกำเนิดจากภูเขานางนอน ไหลผ่านอำเภอจากใต้ไปเหนือ ผ่านตำบลกรุงหยัน ตำบลปริก ตำบลท่ายาง และตำบลทุ่งสังไปจบกันที่แม่น้ำตาปี

 

คลองสินปุน เป็นลำคลองเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ต้นน้ำเกิดจากเขาหน้าแดง จังหวัดกระบี่ ลำน้ำผ่านตำบลกุแหระ ตำบลท่ายาง และตำบลบางรูป

คลองบางปรน ต้นน้ำเกิดจากเขาถ้ำเพดาน หมู่ที่ 1 ตำบลกรุงหยัน ไหลผ่านตำบลกรุงหยันและตำบลกุแหระ

นอกจากนั้นยังมีแหล่นน้ำอื่น ๆ เช่น หนองทะเลปรน อยู่ที่ตำบลกรุงหยัน เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่เศษ หนองทะเลสองห้อง ตำบลกรุงหยัน และ หนองหลวง อยู่ตำบลทุ่งใหญ่ประมาณ 50 ไร่ ประชาชนประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ยางพารา ปลูกข้าว ปลูกกาแฟ ปาล์มน้ำมัน

       
 

นอกนั้นเป็นสวนผลไม้ นอกจากอาชีพทางการเกษตร แล้วยังมีการประมงเป็นอาชีพรอง คือการประมงน้ำจืดตามฤดูกาลจัดเป็นการประมงหมู่บ้านจัดทำเป็นลักษณะทำนบปลา 2 แห่งคือ ทำนบปลาป่าสระพัง และทำนบปลาหนองเตย นอกจากนี้ยังมีโครงการประมงอีกหลายแห่ง เช่น โครงการประมงโรงเรียน โครงการบำรุงพันธ์ปลาแบบประชาอาสา

ด้านการอุตสาหกรรมมีการทำเหมืองแร่ยิปซัม และแร่ดินขาว ในอำเภอทุ่งใหญ่มีวัตถุดิบที่นำเข้าโรงงานจำนวนมาก จึงมีโรงงานอาหารกระป๋อง และโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา

การคมนาคม มีเส้นทางคมนาคมจากน้องไปสู่อำเภอทุ่งใหญ่ ซึ่งนับเป็นเส้นทางที่ยากลำบากกว่าทุกอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช

 

เพราะสามารถไปยังอำเภอทุ่งใหญ่ได้ เฉพาะทางรถยนต์เพิ่งได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อ พ.ศ.2521 เป็นต้นมา เส้นทางหลักที่ผ่านอำเภอทุ่งใหญ่คือ ทางหลวงหมายเลข 41 (สุราษฎร์-พัทลุง) ทางหลวงอีกสารคือทางหลวงหมายเลข 4019 เป็นเส้นทางอำเภอทุ่งใหญ่ถึงสถานีรถไฟหลักช้าง อำเภอฉวาง ความยาว 28 กิโลเมตร

ด้านสังคม ชาวอำเภอทุ่งใหญ่นับถือพุทธศาสนาประมาณร้อยละ 99.5 นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 0.3 มีผู้นับถือศาสนาคริสต์บ้างเล็กน้อย เป็นสังคมเกษตรกรรมและสังคมชนบทที่วัดถ้ำเพดานและเจดีย์วัดภูเขาหลักเป็นหลักฐาน แสดงจุดเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมศรีวิชัยกับวัฒนธรรมศรีวิชัยกับวัฒนธรรมพุทธศาสนาลังกาวงศ์

 

เมื่อมีประชากรมากขึ้นชาวอำเภอทุ่งใหญ่เริ่มประสบปัญหาเช่นเดียวกับสังคมชนบทอื่น ๆ ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาความยากจน ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหาการคมนาคม

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2531 ได้เกิดอุทกภัย ครั้งร้ายแรงขึ้นในภาคใต้ ความรุนแรงของกระแสน้ำได้พัดพาทำให้ทรัพย์สินและบ้านเรือนของราษฎรเสียหายเป็นอย่างมาก

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอจุฬาภรณ์วิลัยลักษณ์อัครราชกุมารี องค์ประธานวิจัยจุฬาภรณ์มีพระมหากรุณาธิคุณ ร่วมรับรัฐบาลให้มี “หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา” ขึ้นในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ โดยใช้ที่ดินบริเวณทุ่งนาเมืองชัย หมู่ 1 ตำบลท่ายาง

 

จัดตั้งเป็นหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 1 และได้ดำเนินการก่อตั้งหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 3 ขึ้น ในลักษณะเดียวกัน ตั้งในท้องที่หมู่ที่ 6 ตำบลกุแหระ มีเนื้อที่ 2,000 ไร่ แบ่งตามประโยชน์ใช้สอย 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (700 ไร่ ลึก 5 เมตร ) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจไปในตัว ส่วนที่ 2 เป็นที่ทำกินและเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และส่วนที่ 3 เป็นอาคารสำนักงาน ศาลาอเนกประสงค์และสวนป่า จัดสรรที่ดินให้รายละ 9 ไร่ พร้อมกับปลูกบ้านแบบเดียวกันครอบครัวละ 1 หลัง มีอาชีพหลัก 3 กลุ่มคือ การปลูกไม้ผล การรับจ้าง และการทำขนมอาหารสำเร็จรูป จำหน่ายหมู่บ้านทั้ง 2 และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องนับเป็นคุณูปการและเป็นศรีสง่าแก่อำเภอทุ่งใหญ่อย่างเอกอุ

 

อำเภอทุ่งใหญ่มีสถานที่สำคัญ ได้แก่ เจดีย์วัดภูเขาหลัก ตำบลทุ่งสัง วัดภูเขาดิน ตำบลกุแหระ ถ้ำเพดาน ตำบลกรุงหยัน ถ้ำวัดเขาหน้าเหลียง ตำบลกรุงหยัน หนองทะเลสองห้องหรือทะเลปรน ตำบลกรุงหยัน

 

อ่างเก็บน้ำเสม็ดจวน ในหมู่บ้าน ในหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 3 เป็นต้น สถานที่เหล่านี้นอกจากจะมีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นแล้วยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนทั่วไปด้วย


   ......Back