อำเภอลานสกา

 
 

ประวัติความเป็นมา

 

การกล่าวถึงชื่อ”ลานสกา” ครั้งแรกก่อนที่จะเป็นอำเภอลานสกา จะมีมาเมื่อใดและด้วยเหตุอะไร ยังไม่มี หลักฐานแน่ชุด เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน บ้างก็ว่าน่าจะมาจาก คำว่า “แลงกา” หมายถึงอ่าวเขาหรือหุบเขา บ้างก็ว่าเป็น “ลาน” ที่มีฝูงอีกาลงมารวมพวกกันเป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกว่า ลานกา หรืออาจจะเป็นเพราะบริเวณนี้เคยเป็นเสมือนป่าช้าแบบเก่า จึงมีฝูงแร้งและอีกาพากันมากินซากศพ แล้วต่อมามีผู้แต่งเติมศัพท์เพื่อเลี่ยงไม่ให้น่ารังเกียจหรือเป็นอัปมงคลจึงกลายเป็น “ลานสกา” อำเภอลานสกา เดิมเป็นหมู่บ้านขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อทางราชการได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล หมู่บ้านลานสกาซึ่งชาวบ้านเรียกว่า

 

“บ้านลานกา” ก็ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ประกอบด้วยพื้นที่ของ ตำบลลานสกา ตำบลกำโลน ตำบลท่าดี ตำบลขุนทะเล และตำบลเขาแก้ว เรียกว่า “กิ่งอำเภอเขาแก้ว” เมื่อ พ.ศ.2454 เพราะที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในกิ่งอำเภอเขาแก้ว ต่อมาได้ยุบตำบลเขาแก้วรวมกับตำบลลานสกา ที่ว่าการกิ่งอำเภอจึงต่อในเขตตำบลลานสกา จึงได้เปลี่ยนชื่อกิ่งอำเภอนี้เป็น “กิ่งอำเภอลานสกา” ตามชื่อของตำบลอันเป้นที่ตั้งที่ว่าการ และถึงแม้ว่าต่อมาจะแยกตำบลเขาแก้ว ออกไปจากตำบลลานสกาอีกครั้งหนึ่งจนที่ว่าการต้องอยู่ในเขตตำบลเขาแก้วก็ยังคงใช้ชื่อกิ่ง ”อำเภอลานสกา”ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2500 จึงได้ยกฐานะเป็น”อำเภอลานสกา” มาจนทุกวันนี้


สภาพทั่วไป


 

ลานสกาเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเขาแก้ว ริมทางหลวงแผ่นดินสายที่ 4015 (ถนนสายนครศรีธรรมราช-ฉวาง) อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตก 21 กิโลเมตร อำเภอลานสกา มีพื้นที่ทั้งหมด 342.891 ตารางกิโลเมตร

 

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่ออำเภอพรหมคีรี

ทิศใต้ ติดต่ออำเภอร่อนพิบูลย์ และ อำเภอทุ่งสง

ทิศตะวันออก ติดต่ออำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และอำเภอพระพรหม

ทิศตะวันตก ติอต่ออำเภอช้างกลางและอำเภอพิปูน


ลักษณะภูมิประเทศ


 

อำเภอลานสกาส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง เป็นทิวยาวสลับซับซ้อนทอดตัวจากทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ลาดเทไปทางทิศตะวันออกของอำเภอ มีพื้นที่ เป็นภูเขาประมาณร้อยละ 75 หรือประมาณ 160,734 ไร่ เป็นที่ราบประมาณร้อยละ 25 หรือประมาณ 53,538 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 เขต คือ

เขตที่ 1 เป็นเขตที่ราบทางทิศตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าดี ตำบลขุนทะเล และตำบลกำโลนบางส่วน เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำนา มีพื้นที่ประมาณ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมดของอำเภอ

เขตที่ 2เป็นพื้นที่ตอนกลาง เป็นที่ตั้งของตัวอำเภอลานสกาและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของตำบลเขาแก้ว ตำบลลานสกา และตำบลขุนทะเลบางส่วน มีประชากรอยู่หนาแน่นกว่าพื้นที่ในเขตอื่น ๆ ประชากรส่วนมากมีอาชีพทำสวนยางพารา ทำสวนกาแฟและสวนผลไม้

 

เขตที่ 3 เป็นเขตพื้นที่รอบนอก มีบริเวณรอยต่อที่ติดต่อกับบริเวณใกล้เคียง พื้นที่เป็นภูเขาและที่ราบสูง อำเภอลานสกามีภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน คือทิศเหนือในพื้นที่ตำบลกำโลน ทิศตะวันออกในพื้นที่ตำบลเขาแก้ว และทิศใต้ในพื้นที่ตำบลลานสกา บริเวณเขตนี้ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนกาแฟ และสวนผลไม้อื่น ๆ ทุเรียน มังคุดและลางสาด เป็นต้น อำเภอลานสกามีลำน้ำที่สำคัญ 2 สาย คือคลองท่าดี ต้นน้ำเกิดจากภูเขาหลวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา ไหลผ่าน ตำบลกำโลน ตำบลท่าดี ไปออกอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชน้ำในลำคลองนี้ใสสะอาด ประชาชนใช้ประโยชน์ในการทำนา คลองเขาแก้ว ต้นน้ำเกิดจากน้ำตกกระโรมในเทือกเขาหลวง ตำบลเขาแก้ว ไปออกอำเภอร่อนพิบูลย์ ลำน้ำสายนี้กรมชลประทานได้ปิดทำนบเพื่อส่งน้ำไปใช้ในการทำนาในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชและหมู่ที่ 3, 4 และ5 ของตำบลขุนทะเลอำเภอลานสกา ยังมีแหล่งแร่ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ แร่เหล็กและแร่วุลแฟรม


ลักษณะภูมิอากาศ


 

อำเภอลานสกามีภูมิอากาศชุ่มชื้นตลอดปี มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดผ่านในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ทำให้ฝนตกชุกเป็นเวลาประมาณ 7 เดือน คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมกราคมช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน เป็นระยะที่ฝนทิ้งช่วง หรือเป็นฤดูร้อน จากลักษณะภูมิอากาศเช่นนี้เหมาะแก่การกสิกรรม โดยเฉพาะการทำสวนยางพารา ทำนา ทำสวนผลไม้อำเภอลานสกาแบ่งการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 38 หมู่บ้าน

 

มีตำบลต่าง ๆ ดังนี้ ตำบลเขาแก้ว ตำบลลานสกาตำบลท่าดี ตำบลกำโลน และตำบลขุนทะเล จากการสำรวจเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2539 อำเภอลานสกามีจำนวนประชากร 39,636 คน ประชากรทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนยางและการทำสวนผลไม้ต่าง ๆ ส่วนการทำนาเป็นการทำเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น พืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่ทำรายได้ให้แก่ประชากร คือ ยางพารา เงาะมังคุด และทุเรียน

 

อำเภอลานสกา มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่สำคัญได้แก่น้ำตกกระโรม อยู่บริเวณหมู่ที่ 6 ตำบลเขาแก้ว เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลวง อยู่ห่างที่ทำการอำเภอลานสกา ประมาณ 8 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช 33 กิโลเมตร น้ำตกกระโรมมีความสวยงามมาก มีน้ำตกตลอดปีผู้คนชอบไปเที่ยวกันมากในฤดูแล้ง เป็นต้นน้ำของคลองกระโรมพ.ศ.2440 พระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ได้เคยเสด็จที่น้ำตกแห่งนี้และใน พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จประภาสน้ำตกนี้เช่นกัน ถ้ำแก้วสุรกานต์ อยู่ในตำบลเขาแก้ว มีความลึกประมาณ 800 เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก น้ำตกวังไม้ฟักเป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง มีน้ำไหลตลอดปี อยู่ในหมู่ที่ 10 ตำบลกำโลน อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอลานสกาประมาณ 14 กิโลเมตร นอกจากนี้น้ำตกหนานโจน มีความสวยงามพอ ๆ กับน้ำตกวังไม้ปัก อยู่ในเขตตำบลลานสกา

 

ในด้านศิลปหัตกรรมของอำเภอลานสกา เนื่องจากประชากรประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและสวนผลไม้เป็นส่วนมาก ดังนั้นการประดิษฐศิลปหัตถกรรมจึงมีการทำกันน้อยมีงานประดิษฐอยู่บ้าง เช่น การแกะสลักหินโดยการทำครกหิน การสานตะกร้าขนมจีน ฯลฯ

สถานที่สำคัญของอำเภอลานสกา ได้แก่ วัดวาอารามซึ่งเป็นวัดเก่า เช่น วัดวังไทร อยู่ริมคลองท่าใหญ่ตำบลกำโลน เคยร้างมาก่อน แล้วมีพระสงฆ์เข้าไปพำนัก

 

มีเจดีย์ขนาดย่อม 5 องค์ ถูกดินถล่มอันเนื่องมาจากมีการถมดินเพื่อปรับพื้นสร้างอุโบสถ ฐานเจดีย์จึงถูกถมไปส่วนหนึ่ง เจดีย์มีรูปทรงที่มีค่าทางสถาบปัตยกรรม ที่แปลกไปจากสถาปัตยกรรมในท้องถิ่น ยอดเจดีย์คล้ายยอดปรางค์ย่อส่วน มีกาบเกล็ดคล้ายกลีบมะเฟือง เจดีย์บางองค์ย่อมุมแบบไม้สิบสองมีสัดส่วนสวยงาม ส่วนยอดบางองค์ถอดแยกส่วนได้ (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา 1 ยอด) บ้านและวังไทรอยู่ริมคลองท่าดีบริเวณนี้เคยมีต้นไทรใหญ่จึงเรียกว่า “วังไทร”

 

หลวงพ่อเอียด อดีตเจ้าอาวาสวัดนี้บอกเล่าตามปากคำของคนรุ่นเก่า บริเวณแถบนี้เป็นป้าดง มีสัตว์ป่า มีช้างโขลง บริเวณวังไทรเป็นที่ราบ จึงเป็นที่พักของผู้ที่พักของผู้มาอำนวยการจับช้าง และเนื่องจากบริเวณนี้เคยมีพะเนียดของพระยาไทรบุรี ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วังพระยาไทร” ตอนหลังกลายเป็นวังไทร

 

วัดโคกโพธิ์สถิตย์ อยุ่ในเขตตำบลกำโลน เคยร้างไปครั้งหนึ่งแล้วมีพระสงฆ์เข้าจำพรรษาตั้งเป็นวัดขึ้นใหม่ เมื่อประมาณสมัยราชกาลที่ 4 มีโบราณสถานวัตถุ เช่น ใบเสมาดินเผา และมีลายแทงบอกแหล่งซ่อนทรัพย์ว่า “วัดโคกโงกคลลงมา เห็นน้ำเห็นท่า เห็นนาสามมุม เงินทองสองตุ่ม อยู่ใต้ข่อยหยอง”ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดโคก”


   ......Back