กระจูด

 
 

กระจูด

 

        เครื่องสานทุกชนิดที่ผลิตขึ้นจากต้นกระจูด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้มาเป็นเวลาช้านาน มีความทนทานใช้สะดวก วัสดุหาง่าย ผลิตได้ทั้งในรูปภาชนะบรรจุสิ่งของและเครื่องปูลาดที่ชาวบ้านในภาคใต้ทั่วไปเรียกกันว่า "สานจูด" ซึ่งชาวชนบทยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจึงถือได้ว่า เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของปักษ์ใต้ประเภทหนึ่ง

 

กระจูดที่สานเป็นกระเป๋าถือ


ประเภทของผลิตภัณฑ์


 

        ผลิตภัณฑ์กระจูดในภาคใต้แยกได้เป็น 2 ประเภท โดยอาศัยกาลเวลาและการพัฒนาเปลี่ยนแปลงคือ ประเภทดั้งเดิมและประเภทพัฒนาส่งเสริม

1. ประเภทดั้งเดิม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่นิยมทำกันมานาน จนไม่ทราบว่าเริ่มต้นเมื่อไร แยกออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ เสื่อและกระสอบ เสื่อ หรือที่ชาวใต้เรียกกันว่า " สาด " ใช้สำหรับปูลาดในหลายโอกาส เช่นงานประเพณีต่าง ๆ และหลายสถานที่ เช่น ห้องนอน ห้องรับแขก และหน้าโรงมหรสพ เป็นต้น ชาวชนบททั่วไปนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางจนปัจจุบันเพราะมีความทนทานคุ้มค่า ราคาไม่แพง

 

นอกจากนี้ใช้สำหรับปูลาดเพื่อตากข้าวหรือสิ่งของอื่น ๆ หรือจะใช้สำหรับปูลาดเพื่อตากข้าวหรือสิ่งของอื่น ๆ หรือ จะใช้ประกอบทำเป็นฝาบ้าน หรือเพดานบ้านก็ได ้

เสื่อที่นิยมสานมีหลายขนาดตามตามความยาวของต้นกระจูด โดยทั่วไปขนาดกว้างประมาณ 1.0 - 1.5 เมตร ยาวประมาณ 2.0 - 2.5 เมตร ยกเว้นเสื่อที่สานเป็นกรณีพิเศษ เช่น สานเสื่อ ถวายเป็นศาสนสมบัติให้แก่วัด เพื่อใช้เป็นกิจการงานส่วนรวมหรือใช้ปูลาดเป็นอาสนสงฆ์ จะขยายความยาวออกไปถึง 15 เมตร หรือยาวกว่าก็มี โดยวิธีสานต่อไปเรื่อย ๆ เรียกว่า " สาดลวด "

 

ส่วนกระสอบที่พบมีหลายชนิด เช่น นั่งสอบ สอบนอน สอบหมาก สอบหมุก เป็นต้น แต่ละชนิดมีลักษณะรูปแบบขนาดและประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกัน

2. ประเภทพัฒนาส่งเสริม หลังจากที่รัฐมีหน่วยงานในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและพัฒนาอาชีพของประชากร ขึ้นแล้ว

 

เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เข้าไปให้คำแนะนำกรรมวิธีในการผลิต ช่วยเสริมแนวคิดเรื่องรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ สามารถขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม เช่น ทำเป็นสื่อสำหรับใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว กระเป๋าถือ หมวกแบบต่าง ๆ เป็นต้น หน่วยงานสำคัญที่มีส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมประเภทนี้ให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย

 

ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและกรมพัฒนาชุมชนโดยส่งเข้าไปศึกษาหาทางส่งเสริมพัฒนาทั้งในเรื่องรูปแบบ กรรมวิธีและสีที่ย้อม เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กองอุตสาหกรรมในครอบครัวทำการออกแบบผลิตภัณฑ์กระจูดและจัดพิมพ์ออกเผยแพร่

 

เมื่อ พ.ศ. 2527 เพื่อใช้เป็นแบบให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป แต่ความนิยมในการประกอบการตามประเภทที่ 2 นี้ยังมีความแพร่หลายไม่มากนักทั้งนี้เพราะขั้นตอนซับซ้อนกว่า ต้นทุนสูงกว่า ผู้ประกอบการขาดความรู้ความ ชำนาญ ผลงานยังไม่ประณีต ตลาดจึงยังแคบกว่าผลิตภัณฑ์แบบเดิม


คุณค่าทางวัฒนธรรม


 

        หัตถกรรมกระจูดในภาคใต้ นอกจากจะให้คุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอยในลักษณะต่าง ๆ ตามประเภทและชนิดของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังให้คุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนผู้ประกอบการและบ้านเมืองอีกด้วย การประกอบการและบ้านเมืองอีกด้วย การประกอบการทั้งส่วนที่จัดหาวัสดุ คือ ต้นกระจูด ส่วนผลิตคือสาน และส่วนจัดจำหน่าย ช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

จากอาชีพหลักทางการเกษตรกรรมอื่น ๆ เช่น ทำนา ทำประมง ฯลฯ ทำให้มีการแบ่งงานกันอย่างทั่วถึงในหมู่สมาชิกของครอบครัวช่วยลดปัญหาการว่างงานในหมู่บ้าน และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ช่วยฝึกเด็กและเยาวชนให้รู้จักงานศิลปะป้องกันการเที่ยวเตร่และประพฤติเหลวไหลในกลุ่มหนุ่มสาวได้ส่วนหนึ่ง จึงนับได้ว่าหัตถกรรมประเภทนี้มีคุณค่าทั้งในตัวมันเองและผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกันอย่างมากมาย


การผลิต


ขั้นตอนการผลิต

 

  1. การเตรียมกระจูด เริ่มตั้งแต่คัดเลือก
หรือแยกกระจูดตามความยาว จนถึงทำกระจูดให้แบนพร้อมที่จะจะนำมาสานได้ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีขันตอนต่างกันไม่มากนัก เช่น การเตรียมกระจูดของชาวทะเลน้อยมีขั้นตอนดังนี้
  • นำกระจูดมาเข้าที่สำหรับคัดเลือก
        หรือแยกความสั้นยาวโดยนำกระจูดมาจับทีละกำป่า หรืออาจจุมากน้อยกว่าเล็กน้อยมาวางในแนวตั้ง แล้วดึงต้นกระจูดที่ยาวออกไปรวมไว้อีกแห่งหนึ่ง เรียกการคัดเลือกกระจูดโดยวิธีนี้ว่า "โซะกระจูด "

 

กระจูดที่คัดเลือกแล้วแต่ละมัดเรียกว่า 1 กำผืน

 

  • ใช้มีดตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก นำ

        กระจูดที่ได้คัดเลือกแล้วคลุกน้ำโคลนดินสอในรางน้ำที่เตรียมไว้เมื่อได้ที่แล้วนำมาจากแห้งประมาณ 2 - 3 วัน แล้วเก็บเข้าที่เก็บไว้ 4 - 5 วัน เพื่อให้ต้นกระจูดคลายตัว เมื่อจะใช้ก็เอากระจูดไปตากน้ำค้าง 1 คืน เพื่อให้ต้นหระจูดลื่นสะดวกในการทิ่ม จากนั้นนำไปทิ่มหรือทุบทีละมัด โดยนำไปไปวางบนแท่งไม้สี่เหลี่ยม ทิ่มหรือทุบให้แบนด้วยสากตำข้าวหัวตัด การทิ่มจะทิ่มคนเดียวหรือสองคนก็ได้แล้วแต่สะดวก

 

โดยใช้เท้าทั้งสองเหยียบมัดกระจูดไว้เดินหน้า ถอยหลัง ทิ่มจนกระจูดแบนตามต้องการจากนั้นก็แก้มัดออกปอกกาบโคนของลำต้นทิ้งแล้วเก็บเข้าที่ไว้สานต่อไป

กระจูดที่ตากแห้งได้ที่แล้ว

 

ในกรณีที่ต้องการย้อมสี นำกระจูดที่ทิ่มและตากน้ำค้าง 1 คืน แล้วมาทับด้วนลูกกลิ้งน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม จนแบนตามต้องการแล้วนำไปแช่น้ำไว้ ต้มน้ำให้เดือดเอาสีใส่น้ำคนให้สีละลายดี แล้วนำกระจูดที่จะย้อมมาพับจุ่มลงไปในน้ำสีแช่ไว้ประมาณ 2 - 3 นาที จึงนำขึ้นไปผึ่งแดดประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม ข้อควรระวังในการย้อม คือ ระยะเวลาของการย้อมต้องกำหนดให้เท่าเท่ากันทุกครั้ง มิฉะนั้นจะได้กระจูดที่มีสีไม่เสมอกัน การย้อมวีกระจูดจะทำให้ลายจักรสานเด่นขึ้นกว่าปกติ

 

ย้อมสีแล้วตาก

 

2. การสาน ใช้สถานที่ภายในบ้านเรือนหรือชานเรือน หรือลานบ้านที่มีพื้นเรียบเป็นสถานที่สาน ถ้าไม่ค่อยเรียบมักจะใช้เสื่อที่สานเสร็จแล้วรองอีกชั้นหนึ่ง วิธีการสาน นำต้นกระจูดที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้วมาสานเป็นลายต่าง ๆ ตามความสามารถและความต้องการของผู้สานโดยปกติจะสานด้วยลายสอง ถ้าสานเป็นเสื่อจะเริ่มต้นจากริม คือตั้งต้นจากปลายตอกด้านใดด้านหนึ่งไปจนสุดปลายตอกอีกด้านหนึ่ง

 

การสาน

 

แต่ถ้าเป็นถาชนะ เช่น กระสอบนั่ง จะเริ่มต้นจากกึ่งกลางของตอก ท่านั่งสานที่สะดวก คือ นั่งขัดสมาธิและนั่งชันเข่าข้างเดียว เมื่อสานต้องให้ปลายต้นกับโคนต้นสลับกัน มิฉะนั้นจะทำให้เสียรูปได้ เพราะขนาดต้นกระจูดส่วนโคนต้นจะโตกว่าส่วนปลาย เทคนิควิธีสานจะแตกต่างกันตามรูปแบบและชนิดของผลิตภัณฑ์และถนัดของผู้สานโดยเฉพาะเสื่อ มีผู้ศึกษาพบว่าที่หมู่บ้านทะเลน้อยนี้มีสานเป็นลายต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 20 ลาย เช่น ลายสอง ลายสาม ลายสี่ ลายดอกจันทน์ ลายก้านต่อดอก

 

ลายดาวล้อมเดือน ลายพัด ลายดอกจันทน์แขก ลายดอกพิกุล ลายก้างปลา ลายพม่ารำขวาน ลายขนมปัง ลายดอกไม้ ลายตีนสุนัข ลายยายชิงเมือง ลายใยแมงมุม ลายสี่หน่วยใน ลายลูกแก้ว ลายกระดานหมาก และลายประดิษฐ์อื่น ๆ เช่น ลายตัวหนังสือ ลายที่นิยมสานกันมากที่สุด คือ ลายสอง นอกจากสานเป็นลายเสื่อและยังสานเป็นภาชนะต่าง ๆ หมู่บ้านที่มีการประกอบการกันอย่างกว้างขวาง เช่นที่บ้านทะเลน้อย ผู้สานจะมีตั้งแต่วัยเด็กอายุ 7 ขวบ ถึงคนชราอายุ 60 - 70 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ผู้ชำนาญการจะสานเสื่อได้วันละ 3 - 4 ผืน

 

3. การตกแต่ง งานสานเสื่อกระจูดเป็นงานที่เกือบจะพูดได้ว่า ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วในคราวเดียว มีการตกแต่งต่อเติมน้อย คือ มีการเก็บริมหรือพับริม อย่างที่ชาวทะเลน้อยเรียกว่า "เม้ม " และการตัดหนวด คือปลายตอกที่เหลือออกเท่านั้น การเก็บริม หรือการพับริมพบว่า มี 2 แบบ คือ

  • แบบพับกลับ คือ การพับปลายตอกเข้าหาผืนเสื่อสานตามลายสานเดิมประมาณ 3 - 4 นิ้ว แล้วตัดส่วนที่เหลือออก

 

  • แบบช่อริม คือ การพับปลายตอกที่เหลือให้คุมกันเองคล้ายกับการถักแล้วตัดส่วนทีเหลือออก

4. การเก็บรักษา เสื่อที่สานเสร็จเรียบร้อยแล้วจะถูกเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้ถูกน้ำฝน เพราะถ้าถูกน้ำฝนจะทำให้เกิดเชื้อราและเสียหายเร็ว วิธีเก็บมี 2 แบบ คือ ม้วนเก็บและซ้อนเก็บ


วัสดุอุปกรณ์


 

        กรรมวิธีในการทำหัตถกรรมกระจูด ประกอบด้วย วัตถุดิบ อุปกรณ์เครื่องมือ และส่วนประกอบเป็นสำคัญ แยกกล่าวได้ ดังนี้

1. วัตถุดิบ คือ ต้นกระจูดขนาดต่าง ๆ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของนาหรือผู้ประกอบการจะไปถอนมาจากบริเวณที่มีกระจูด การถอนนิยมถอนทีละ 2 - 5 ต้น วันหนึ่งคนหนึ่งจะถอนได้ประมาณ 10 - 15 กำป่า (1 มัดกระจูดที่มัดมาจากแหล่งกระจูดเรียก 1 กำปา โตขนาดลำต้นตาลโตนด) 1 กำปา นำมาแยกเป็นกำผืนได้ประมาณ 4 - 5 กำผืน (มัดกระจูดที่มี ปริมาณพอสานเสื่อได้ 1 ผืน เรียก 1 กำผืน)

 

ถอนกระจูด

 

2. อุปกรณ์เครื่องมือ ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เครื่องมือใช้ในการเตรียมวัสดุก่อนสาน ประกอบด้วยที่สำหรับคัดขนาดความยาวของกระจูด ที่สำหรับผึ่งหรือตากกระจูด คือ ลานบ้าน หรือที่โล่งเตียน แท่งไม้ขนาดประมาณ 35 C 200 เซนติเมตร ใช้เป็นที่รองทิ่มหรือทุบกระจูด สากปลายตัดสำหรับทิ่มหรือทุบกระจูด ลูกกลิ้งทรงกระบอกคล้ายครกตำข้าวใช้กลิ้งทับต้นกระจูด ภาชนะสำหรับใช้ในการย้อมสี กรรไกร

 

หรือมีดตัดหนวดเสื่อใช้เมื่อสานเสร็จ และจักรเย็บผ้า ใช้เย็บรอยต่อของผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ เช่น เสื่อพับ และกระเป๋าถือแบบต่าง ๆ เป็นต้น

3. ส่วนประกอบ มีน้ำโคลนดินสอ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า " ดินทรายน้ำ " ใช้คลุกกระจูดก่อนตากแห้ง ช่วยให้กระจูดแข็งตัว ไม่แห้งกรอบเหี่ยวบิดจนใช้การไม่ได้ และสีผงสำหรับย้อมสิ่งของต่าง ๆ มีสีแดง ม่วง เขียว และน้ำเงิน เป็นต้น ใช้ย้อมต้นกระจูดก่อนสาน ช่วยขับลายให้เห็นเด่นชัดดูสวยงามขึ้น

แหล่งวัสดุและแหล่งผลิต


 

        แหล่งวัสดุ(คือต้นกระจูด) ที่สำคัญๆ ในภาคใต้ อยู่แถบลุ่มทะเลสาบสงขลา คือบริเวณทะเลน้อยหรือบริเวณพรุควนเคร็งในเขตพัทลุงและนครศรีธรรมราช และริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย คือ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา และนราธิวาส

 

แหล่งกระจูดในเขตพื้นที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและที่นำมาปลูกทำเป็นนากระจูด รวมพื้นที่เป็นแหล่งกระจูดทุกเขตที่มีไม่น้อยกว่า 10,000 ไร่ แหล่งผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกันกับแหล่งวัสดุ จะมีบางหมู่บ้านที่ทำหน้าที่ผลิตอย่างเดียวไม่มีแหล่งวัสดุ รับวัสดุมาจากหมู่บ้านอื่น หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ

 

1. หมู่บ้านทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อยและตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นแหล่งผลิตที่มีผู้ประกอบการมากทีสุดแห่งหนึ่ง มีการผลิตเครื่องกระจูดออกจำหน่ายตลอดปี มีการปลูกกระจูดขึ้นใช้เองในหมู่บ้านด้วย มีเนื้อที่ปลูกกระจูดไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่

 

2. หมู่บ้านควนยาว ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งและเป้นที่ที่มีกระจูดขึ้นตามธรรมชาติมาก เคยเป็นแหล่งวัสดุของหมู่บ้านทะเลน้อย ก่อนที่จะมีกระจูดขึ้นใช้เอง

 

  1. หมู่บ้านบ่อกรัง ตำบลท่าสะท้อน
อำเภอพูนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ผลิตไม่มากนัก ส่วนใหญ่นำกระจูดซึ่งมีมากไปจำหน่ายให้กับหมู่บ้านอื่นที่มีการประกอบการมาก

4. หมู่บ้านสะกอม ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งผลิตที่รับวัสดุ

 

มาจากหมู่บ้านอื่นในเขตอำเภอจะนะและเทพาซึ่งมีกระจูดขึ้นเองตามธรรมชาติ รวมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่

5. หมู่บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส เป็นทั้งแหล่งผลิตและแหล่งวัสดุ


การทำนากระจูด


 

        เดิมทีไม่มีการทำนากระจูด ผู้ประกอบการจะนำกระจูดจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ซึ่งในที่บางแห่งต้องหระสบปัญหาด้านการขนส่งและระยะทาง ต่อมาในบางหมู่บ้านได้มีผู้ริเริ่มนำต้นกระจูดมาปลูกในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านของตน เช่น ที่หมู่ที่บ้านทะเลน้อย เรียกได้ว่า เป็นการทำนากระจูดอย่างแท้จริง

 

นากระจูด

 

        เดิมหมู่บ้านนี้ใช้กระจูดที่นำมาจากตำบลเคร็ง ซึ่งห่างจากหมูบ้านประมาณ 7 - 8 กิโลเมตร โดยทางเรือ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 นายสุข เดชนครินทร์ กำนันตำบลพนางตุง ได้ริเริ่มนำกระจูดจากแหล่งธรรมชาติมาทดลองปลูก จนในปี พ.ศ. 2504 การปลูกกระจูดบริเวณที่ลุ่มชายฝั่งทะเลน้อยก็มีขึ้นอย่างกว้างขวางทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเหนือ ด้านตะวันออก และด้านใต้

 

พื้นที่จะปลูกกระจูดได้ต้องมีน้ำขังตลอดปี หรือ จะแห้งสัก 2 - 3 เดือน การปลูกหรือการทำนากระจูดมีกรรมวิธีคล้ายกับการทำนาข้าว (นาดำ) คือ ก่อนปลูกชาวนาจะต้องตกแต่งพื้นที่ให้เรียบ แต่ไม่ต้องยกคันนา เพียงแต่ทำเขตให้มองเห็นเป็นสัดส่วนว่า พื้นที่ใดเป็นของใครก็เพียงพอ การปลูกกระจูดต้องทำในช่วงเวลาที่ในนามีน้ำขังหรือน้ำแฉะๆ โดยนำกล้ากระจูด (หัวกระจูด) มาเป็นกอ ๆ กอ หนึ่ง ๆ จะมีกระจูดประมาณ 10 - 20 ต้น

 

        ปักให้ห่างกันประมาณ 70 -100 เซนติเมตร จากนั้นก็คอยกำจัดวัชพืชอื่น ๆ เช่น จำพวกตั๊กแตนกินดอก หนูและนากที่คอยจะถอนหัวหรือต้นอ่อนของกระจูด ประมาณ 12 เดือน กระจูดก็จะโตพอถอนมาใช้งานได้ กระจูดส่วนหนึ่งก็จะถูกถอนไปใช้งาน เหลือต้นอ่อนหรือต้นที่ความยาวยังไม่พอไว้ถอนครั้งต่อไป นากระจูดแต่ละแปลงสามารถถอนกระจูดหมุนเวียนต่อเนื่องกันไปได้ 9 - 10 ปี จึงจะมีการปลูกใหม่ ทั้งนี้หลังจากที่เห็นว่ากระจูดงอกหนาเกินไปและมีต้นแห้งตายมาก

 

 

การเลือกถอนต้นกระจูด


   ......Back