ผลงานวิจัย ศึกษาตัวอย่างเฉพาะในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะอนุกรรมการวิจัยวัฒนธรรมภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2538 โดย

1. นายมาโนช วามานนท์

2. น.ส.พนิตนาฎ ลัคนาโฆษิต

3. นางวีณาพร สำอางศรี

4. นายสมชาย ลี่สิน

พืชผักพื้นบ้าน (Indigenous Plants) ในที่นี้หมายถึงพืชผักที่มีอยู่ในท้องถิ่นและมีชื่อตาม
ท้องถิ่นนั้นๆ มีทั้งไม้ล้มลุก และไม้ยืนต้น มีลักษณะทั้งไม้เลื้อย ไม้ทรงพุ่ม และไม้ต้น เติบโตจากปัจจัยในธรรมชาติ ที่แวดล้อมอยู่และกระจายพันธุ์ด้วยสภาวะ ธรรมชาติในแต่ละฤดูกาล พบได้ในแห่งพื้นที่ต่างกันทั้งที่ราบลุ่ม ทุ่งนา ริมห้วยหนอง คลอง บึง ชายทะเล บริเวณป่าเขา เนินโคก บนควน ชาวบ้านในท้องถิ่นมี ประสบการณ์และเรียนรู้วิธีนำมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารและยาสมุนไพร ทั้งในส่วนของยอด ใบ ดอก ผล หน่อ  หัวเหง้า รากและลำต้น

การเพาะปลูก และแสวงหาพืชผักพื้นบ้านเพื่อใช้เป็นอาหารของชาวบ้าน เป็นตัวอย่างที่ดีของการพึ่งพาตนเองทางโภชนาการ พืชผักพื้นบ้านปลูกและหาได้ง่ายในชนบททั่วๆ ไปและเป็นอาหารที่บริโภคมาแต่บรรพกาล สืบสานต่อเนื่องถึงปัจจุบัน จนเป็นอาหารประจำถิ่นที่ชาวบ้านบริโภคกันเป็นประจำทุกมื้อ ประการสำคัญ คือ เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะสารอาหารที่เป็น เส้นใยมีชีวิตและเกลือแร่ต่างๆ พืชผักพื้นบ้านจึงสามารถใช้เสริมควบคู่ไปกับอาหารประเภทอื่น

จุดเด่นที่น่าสนใจของพืชผักพื้นบ้าน กล่าวคือเป็นทรัพยากรในท้องถิ่นที่หาได้ง่ายขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในหลายสภาพท้องที่ ขยายพันธุ์ได้หลายวิธีและมีอายุยืนยาว นอกจากนั้นยังมีความหลากหลาย ทางสายพันธุ์ที่ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช โรคพืช และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถใช้ผลผลิตทุกฤดูกาลการเก็บเกี่ยวไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการตลาดในขณะที่เมล็ดพันธุ์ใหม่กลับไม่แข็งแรงและอ่อนต่อโรคและแมลงทุกชนิดอีกทั้งการ เก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น จะต้องกระทำตามช่วงระยะเวลา นอกจากนี้ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า พืชผักพื้นบ้านนั้น มีสารอาหารครบถ้วนไม่แตกต่างไปจากพืชพันธุ์ต่างประเภทหรือผักจีนที่วางจำหน่ายในตลาด ดังตารางต่อไปนี้

ชื่อ

คุณค่าอาหารในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม

โปรตีน
(ก.)

แคลเซียม
(มก.)

เหล็ก
(มก.)

วิตามินเอ
(หน่วยสากล)

วิตามินซี
(มก.)

ยอดแค 8.7 404 - 10,383 58
สะเดา 6.1 72 1.2 2,729 88
ใบขี้เหล็ก 6.0 101 0.3 - 24
ชะพลู 5.5 420 9.8 15,800 31
ดอกสลิด 5.0 70 1.0 3,150 45
ใบยอ 3.8 350 4.9 9,164 78
ผักกูด 3.7 226 5.7 10,417 42
มะข่วง 3.0 14 1.4 5,086 80
ผักติ้ว 2.8 54 1.9 1,657 15
มะแว้ง 2.6 50 1.0 1,383 6
ผักเสม็ด 2.3 31 1.1 - 9
ผักเบี้ย 2.2 115 1.4 2,200 21
ผักแว่น 2.0 37 3.5 - 5
ดอกกระเจียว 1.2 31 1.9 - -
           

ผลจากการศึกษาในเบื้องต้น ผู้วิจัยขอนำเสนอในส่วนของภาพถ่ายลักษณะทางกายภาพของพืชผักพื้นบ้านจำนวนทั้งหมด 103 ชนิด และนำเสนอข้อมูลประกอบพืชผักพื้นบ้านแต่ละชนิดเกี่ยวกับชื่อทางพฤกษศาสตร์ ชื่อท้องถิ่น คุณลักษณะทางกายภาพ การใช้ประโยชน์ทางอาหารและวิธีการขยายพันธุ์ ทั้งนี้ได้จัดกลุ่มพืชผักพื้นบ้านออกเป็น 3 กลุ่ม ตามประเภทของการใช้ประโยชน์เป็นอาหาร กล่าวคือ

กลุ่มที่ 1 เป็นพืชผักพื้นบ้าน ประเภทใช้เป็นผักเหนาะ (กินสด ลวก ดอง) จำนวน 42 ชนิด

กลุ่มที่ 2 เป็นพืชผักพื้นบ้าน ประเภทใช้ปรุงเป็นอาหาร (ต้ม แกง ผัด) และใช้เป็นผักเหนาะก็ได้จำนวน 38 ชนิด

กลุ่มที่ 3 เป็นพืชผักพื้นบ้านประเภทใช้ปรุงเป็นอาหารอย่างเดียว (เป็นผักเหนาะไม่ได้) จำนวน 23 ชนิด

พืชผักพื้นบ้านแต่ละกลุ่มนำเสนอโดยการเรียงตามลำดับตัวพยัญชนะและสระ

ข้อมูลทั้งที่ได้นำเสนอ ได้มาจากการใช้แบบสำรวจสอบถามภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ที่ศึกษา และถ่ายภาพประกอบจากตัวอย่างของจริงในพื้นที่ที่ได้ศึกษาเช่นกัน