![]() ![]() |
![]() |
![]() หัตถกรรมพื้นบ้าน ทำจากใบพ้อ(ใบกะพ้อ) เหตุที่เรียกว่า "พัดโคกยาง" ก็เพราะพัดนี้ทำที่บ้านโคกยาง หมู่ที่ 6 ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันพัดโคกยางนอกจากจำหน่ายในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ยังส่งไปจำหน่ายต่างจังหวัดทั้งในภาคใต้และภาคกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร การทำพัดโคกยางเริ่มมาประมาณ 20 ปี นายอ่ำ ทองเทพ อายุ 77 ปี (พ.ศ. 2527) ชาวบ้านโคกยางเล่าว่า คือ นายเอื้อน กำเนิดดี เป็นคนคิดค้น บุคคลผู้นี้เดิมเป็นชาวบ้านเขาพังไกร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อพยพครอบครัวมาสร้างสวนยางที่บ้านโคกยาง ว่างจากการทำสวนก็คิดทำพัดจากใบกะพ้อขึ้น ระยะแรก ๆ ลักษณะพัดที่ทำไม่ค่อยสวยงามนักและทำช้ากว่าจะแล้วเสร็จสักอัน แต่ต่อมาเรียนรู้และพัฒนาขึ้นโดยลำดับจนมีลักษณะสวยงาม เหมาะแก่การใช้สอย และทำได้เร็ว คือคนหนึ่งประมาณ 25-30 อันต่อวัน อีกทั้งได้ขยายจำนวนผู้ประกอบหัตถกรรมชนิดนี้เพิ่มขึ้น จากนายเอื้อนเพียงคนเดียว (ปัจจุบันเอื้อนได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดสงขลา และเลิกทำพัดแล้ว) เป็นทำกันถึง 15 ครัวเรือนในปัจจุบัน |
![]() |
![]() ![]() ใบกะพ้อ สำหรับจักสาน เชือกไนลอนสำหรับผูกด้าม ใบกะพ้อที่ใช้ต้องเป็นยอดอ่อนในลักษณะเดียวกับใบกะพ้อที่ใช้แทงต้ม โดยตัดมาทั้งยอดให้ติดก้านใบยาวอย่างน้อย 1 คืบ ใบพ้อซื้อขายกันในราคา 100 ยอดต่อ 100 บาท หลังจากที่ซื้อยอดกะพ้อมาแล้วก็นำมาเฉือนสันใบลึกราวครึ่งมิลลิเมตร วิธีเฉือนสันใบให้รวดเร็วและมีดไม่บาดมือ โดยวางยอดกะพ้อให้หันก้านใบเข้าหาตัว ใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบก้านใบไว้โดยให้สันใบอยู่ด้านบน จากนั้นใช้ใบมีดเฉือนสันใบจากโคนไปจนปลายยอด การเฉือนจะใช้ผ้าขี้ริ้วพันนิ้วมือข้างที่ไม่ใช้จับมีด เฉือนหมดทุกยอดแล้วก็นำใบมาฉีกให้ใบแยกกัน ตัดใบย่อยตรงกลางซึ่งเรียกว่า "ดือ" ออก นับใบย่อยซีกซ้ายและขวาของดือให้ได้จำนวนเท่ากัน เสร็จแล้วนำไปแขวนบนราวไม้ตากแดดไว้ 1 วัน ใบก้อพ้อจะมีสีเขียวเหลือง ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ตากแดดไว้ 1 วัน ลวกน้ำร้อน 1 นาที ตากแดดไว้อีก 3 วัน |
![]() ![]() |
นำใบกะพ้อที่เตรียมไว้วางลงบนพื้น หันก้านใบเข้าหาตัวผู้ทำ ใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบก้านใบกะพ้อให้กระชับแผ่ใบกะพ้อออกเป็นตอน ๆ ตอกเหล่านี้ทำเป็นตอกยืน ใช้ใบกะพ้อแต่ละใบย่อยที่ฉีกออกจาก้านใบแล้ววางซ้อนกัน 2 ตอกจำนวน 3 คู่ สานเข้ากับตอกยืนเป็นแบบลายขัดคือยก 1 ข่ม 1 แล้วดึงตอกขัดให้แน่นและให้ปลายทั้ง 2 ข้างของตอกขัดโค้งลงมาหาก้านใบ จากนั้นดึงตอกยืนคู่ในสุดไขว้กันทำเป็นตอกขัด ขัดเข้ากับตอกยืนรอบนอกแบบลายขัดแล้วดึงตอกคู่ถัดออกมาขัดในลักษณะเช่นเดียวกันจนหมดตอกยืนจัดตอกที่ขัดให้ได้ระเบียบชิดแน่นเป็นรูปกลมมน จากนั้นจับปลายตอกทุกตอกสอดขัดและรวบเข้าไว้ที่ก้านใบของกะพ้อเป็นอันเสร็จขั้นการจักสาน ในกรณีที่ต้องการทำพัดซึ่งย้อมสีตอกบางตอก วิธีการจักสานก็เหมือนกันทุกประการ เพียงแต่นำตอกที่ย้อมสีแล้วมาแทรกเข้าเป็นตอกยืนหรือตอกขัดตามแนวที่ต้องการเท่านั้น ![]() ![]() ![]() |
![]() ![]() |
![]() การทำพัดโคกยางเป็นงานที่ช่วยกันทำทั้งครอบครัวในช่วงที่ว่างจากการทำสวน แต่ภาระส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะในตอนเฉือนสันใบ ฉีกตอกและจักสานส่วนผู้ชายจะรับภาระในการเหลาหวาย ต้ม และย้อมตอกเป็นส่วนใหญ่ ในด้านตลาด เดิมทีชาวบ้านจะนำพัดออกไปเที่ยวเร่จำหน่ายเองตามท้องตลาด งานสวนสนุกและงานประเพณีต่าง ๆ ระยะแรกจำหน่ายอันละ 1-2 บาท แต่ในปัจจุบัน ชาวบ้านโคกยางไม่เที่ยวเร่ขายเอง จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านจนขณะนี้ไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการของตลาด แต่ในด้านราคาถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำมาก คือขณะนี้พัดด้ามมัดหวายขายส่งเพียงอันละ 10 บาทและพัดด้ามมัดไนลอนขายส่งเพียงอันละ 5 บาท เท่านั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าใบกะพ้อ หวาย สี ออก ไปแล้วก็คงเหลือกำไรน้อยมาก หากจะประกอบหัตถกรรมทำพัดเป็นอาชีพก็ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวให้สมบูรณ์เพียงพอได้หัตถกรรมทำพัดโคกยางจึงเป็นงานรองของครอบครัวชาวบ้านโคกยางเท่านั้น |
ที่มา : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 11. กรุงเทพ. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย,
ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542, 3 หน้า. |