ความเป็นมา

        ชาวใต้ที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งตะวันออกรู้จักนำกระจูด ซึ่งเป็นพืชจำพวกกกมาสานทำเสื่อและกระสอบใช้กันในครัวเรือนมานานแล้ว เสื่อกระจูดเป็นของสำคัญทีเดียวในเวลาไปชมมหรสพตามงานวัด แต่หากไม่ได้หอบหิ้วไปเอง ก็มีผู้นำไปขายอย่างดาษดื่น เมื่อหนังหรือละครเลิกแล้วก็สามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้อีกนานเพราะมีความแข็งแรงคงทน

        การสานเสื่อกระจูดนี้ มีทำกันมากที่ตำบลทะเลน้อย อำเภอ ควนขนุน เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านที่ทำรายได้ดีไม่น้อย ทะเลน้อยอยู่ห่างจากควนขนุนประมาณ 17 กิโลเมตร ชาวบ้านที่ว่างจากงานประมงจะมานั่งสานเสื่อตรงลานทรายหน้าบ้าน นอกจากทำไร่นาจับปลาน้ำจืดที่มีชุกชุมในทะเลน้อยแล้ว ยามว่างพ่อบ้านก็เลี้ยงลูก แม่บ้านบางคนมีลูกหลับอยู่บนตักขณะที่นั่งสานเสื่อ เป็นงานยามว่างที่เพิ่มพูนรายได้ดีทีเดียว หนุ่มชาวใต้เจ้าถิ่นอธิบายว่าต้นกระจูดนี้มีลักษณะคล้ายต้นกก ต้นหนึ่งยาวเกือบสองวา ใหญ่ประมาณ 1 ซ.ม. ขึ้นอยู่ตามน้ำ มีมากที่ตำบลตะเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

        กระจูดเป็นพืชล้มลุก มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Lepironia articulata อยู่ในวงศ์ Cyperanceae ลักษณะลำต้นกลมสีเขียวอ่อน ขนาดตั้งแต่เท่าก้านไม้ขีดไฟไปจนถึงเท่าแท่งดินสอดำ สูงประมาณ 1-2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุก กระจูดชอบขึ้นในพื้นที่น้ำขังซึ่งเรียกกันว่าโพระหรือพรุ เครื่องสานทุกชนิดที่ผลิตขึ้นจากต้นกระจูด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้มาเป็นเวลาช้านาน มีความทนทานใช้สะดวก วัสดุหาง่าย ผลิตได้ทั้งในรูปภาชนะบรรจุสิ่งของและเครื่องปูลาดที่ชาวบ้านในภาคใต้ทั่วไปเรียกกันว่า "สานจูด" ซึ่งชาวชนบทยังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจึงถือได้ว่า เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของปักษ์ใต้ประเภทหนึ่ง


ประเภทผลิตภัณฑ์