Tradition of Nakhon Sri Thammarat

        ประเพณีการแห่นางดาน' หรือ 'นางกระดาน'
        ประเพณีพราหมณ์โบราณในเมืองนคร

         อาณาจักรนครศรีธรรมราชเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาลทั้งโดยอารยธรรมของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธจนเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ศาสนาสู่แคว้นต่าง ๆ ทั้วภูมิภาคนี้ประเพณีและพิธีกรรมตามศรัทธาความเชื่อของผู้คนจึงผสมผสานอยู่ทั้งคตินิยมในศาสนาพราหมร์และศาสนาพุทธ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

        ในส่วนของคตินิยมทางศาสนาพราหมณ์นั้นพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชที่นับถือพระอิศวรเป็นเจ้านั้นเชื่อว่า พระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ในช่วงเดือนบุษยมาส (เดือนยี่)ทุกปี เมื่อพระอิศวรผู้เป็นเจ้าเสด็จมาก็จะประทานพรให้โลกมนุษย์อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พระองค์จะบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าบริบูรณ์ ทั้งนี้โดยเชื่อว่าพระอิศวรจะเสด็จลงมาทางเสาชิงช้า ดังนั้นจึงได้จัดประเพณีโล้ชิงช้าหรือประเพณีตรียัมปวายขึ้นในเดือนยี่ทุกปี และก่อนที่จะถึงเวลาที่พระอิศวรจะเสด็จมาถึงนั้น ก็จะทำพิธีอันเชิญเทพชั้นรองสี่องค์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี และพระคงคา มาเตรียมการรอรับเสด็จพระอิศวรก่อนด้วย

            

        ในการอัญเชิญเทพชั้นรองทั้งสี่องค์ดังกล่าวนั้นได้แกะสลักพระรูปของเทพดังกล่าวลงบนแผ่นไม้กระดาน ขนาดกว้างหนึ่งศอก สูงสี่ศอก เป็นสัญลักษณ์สมมุติจำนวน 3 แผ่น คือ พระอาทิตย์และพระจันทร์แผ่นหนึ่ง พระธรณีแผ่นหนึ่ง และพระคงคาอีกแผ่นหนึ่ง (ชาวนครเรียกไม้แกะสลักนี้ว่า "นางดาน หรือ นางกระดาน" ) จากนั้นจะร่วมกันทำพิธีแห่อัญเชิญไม้กระดานสัญลักษณ์เทพทั้งสี่ไปยังเสาชิงช้าซึ่งอยู่ในบริเวณหอพระอิศวร แล้วอัญเชิญประดิษฐานไว้ในหลุมหน้าเสาชิงช้า เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรต่อไป โดยชาวนครศรีธรรมราชเรียกพิธีนั้นว่า "ประเพณีแห่นางดาน" หรือ ("ประเพณีแห่นางกระดาน")

         ประเพณีแห่นางดาน จึงเป็นส่วนหนึ่งของ ประเพณีตรียัมปวายหรือประเพณีโล้ชิงช้า ที่พราหมณ์เมืองนครในอดีตได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา รวมทั้งได้ถ่ายทอดพิธีกรรมดังกล่าวไปสู่ภูมิภาคอื่นที่อารยธรรมพราหมณ์เผยแพร่ไปถึง

        ประเพณีแห่นางดาน ในเมืองนครสมัยก่อนนั้น จะอัญเชิญนางดานประดิษฐานบนเสลี่ยง นางดานละเสลี่ยง แล้วจัดขบวนหามแห่กันมาในเวลาพลบค่ำ โดยจัดนำขบวนด้วยเครื่องดนตรีประโคม (ปี่นอก กลองแขก และฆ้อง) มีเครื่องสูง (ฉัตร พัดโบก บังแทรก และบังสูรย์) โดยมีพระราชครูและปลัดหลวงเดินนำหน้าเสลี่ยงละคน มีพราหมณ์ถือสังข์เดินตาม และปิดท้ายขบวนด้วยนางละครหรือนางอัปสรและผู้ถือโคมบัว จนเมื่อแห่มาถึงหอพระอิศวรแล้วหามเสลี่ยงนางดานเวียนรอบเสาชิงช้าสามรอบ จากนั้นจึงทำพิธีอัญเชิญนางกระดานทั้งสามลงหลุมในมณฑลพิธีราชวัตรฉัตรธง เพื่อรอเวลาที่พระอิศวรลงมาต่อไป

        ประเพณีแห่งนางกระดานนี้ถือเป็นประเพณีที่ควรค่าการอนุรักษ์และฟื้นฟูเพื่อให้เพื่อให้ชาวนครศรีธรรมราชได้เห็นถึงความสำคัญของ เมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางศาสนาทั้งพราหมณ์และพุทธศาสนา ที่ยิ่งใหญ่ในภาคใต้

ประเพณีตั้งเปรต