เจ้าพ่อดำ (อนุสาวรีย์วีระไทย)

          ในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์โลกอยู่ในขั้นวิกฤต ด้วยค่ายมหาอำนาจตะวันตกมีความขัดแย้งระหว่างกันสูง และญี่ปุ่นเองก็ปูกระแสต่อต้านมหาอำนาจตะวันตกที่เข้ามายึดครองมีอาณานิคมในเอเซีย โฆษณาว่าจะปลดแอกชาวเอเซียให้พ้นจากชนชาติผิวขาว ขณะที่ชาวไทยรวมทั้งชาวนครศรีธรรมราช กำลังตื่นเต้นกับการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ และที่สนาม
หน้าเมือง  และเช้าวันนั้นมีฝนตกหนัก เวลาประมาณ 05.30 น. ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้รับโทรเลข แจ้งข่าวจากสงขลาว่าญี่ปุ่นส่งเรือรบและยกพลขึ้นบกที่สงขลาแล้ว กระทั่ง 06.30 น. กองทหารญี่ปุ่นก็มาปรากฏตัวที่ท่าแพพร้อมเรือท้องแบนขนอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย ซึ่งขณะนั้นทหารไทยที่ค่ายวชิราวุธ ภายใต้การนำของพลเอกหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกได้ประชุมและสั่งการวางกำลังเตรียมพร้อมไว้ตลอดแนว จากท่าแพถึงโรงทหารและได้บันทึกรายงานว่า "...การอำนวยการรบทำได้ไม่สะดวกนักเพราะตลอดเวลาฝนได้ตก มาอย่างหนัก จริงอยู่ก่อนที่หน่วยทหารจะเข้ายึดแนวนั้น ถึงหากจะได้เตรียมตัวไว้แล้วแต่โดยเหตุที่ไม่แจ่มแจ้งพอ คือไม่ทราบว่าทางฝ่ายญี่ปุ่นมีกำลังเท่าใดมาขึ้นบกจริงที่ใดบ้าง แนวจึงสับสนกันอยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้นก็นับว่าได้ปฏิบัติการทันเหตุการณ์ กล่าว คือพอกระผมสั่งการต่อสู้ต้านทาน เจ้าหน้าที่ต่างๆ ก็เริ่มดำเนินงานตามหน้าที่ของตนหน่วยทหารก็เคลื่อนที่เข้าประจำแนวตามลำดับได้ปฏิบัติตามอย่างรวดเร็วกล้าหาญเป็นที่น่าชมเชยยิ่ง ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่แสดงความอิดเอื้อนหรือหวาดกลัว บางคนที่ไม่มีหน้าที่ รบโดยตรง เช่น พลทหารประจำตัว ก็ได้มารับจ่ายอาวุธกระสุน และอาสาเข้าทำการรบด้วย..." ซึ่งพอจะลำดับเหตุการณ์จากบันทึกต่างๆ ได้ดังนี้

03.00 น. - 04.00 น.
ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปราจีนบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และปัตตานี

05.00 น.
ข้าหลวงประจำจังหวัดและผู้บังคับบัญชามณฑลทหารบก ค่ายวชิราวุธได้รับทราบข่าวทางโทรเลขจากจังหวัดสงขลาแล้วเตรียมพร้อมทั้งทหาร พลเรือนและประชาชน รวมทั้งยุวชนทหารหลายร้อยคนด้วย

06.30 น.
ทหารญี่ปุ่น 1 หมู่พร้อมเรือท้องแบนหลายลำปรากฏที่ท่าแพ

06.50 น.
เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นจากทหารไทยแล้วมีเสียงตอบโต้ระหว่างกันทั้งด้วยปืนเล็ก ปืนกลติดต่อกัน บางครั้งได้ยินเสียงปืนใหญ่ การต่อสู้รุนแรงขึ้นตามลำดับ

07.20 น.
ระงับการส่งกองกำลังจากนครศรีธรรมราชที่จะไปเสริมกำลังรบที่สงขลา แต่ให้มาต่อสู้กองกำลังญี่ปุ่นที่ท่าแพ

07.30 น.
รัฐบาลไทยสั่งการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อรอคำสั่งจากผลการเจรจาที่กรุงเทพฯ

08.00 น.
กองกำลัง ร.พัน 39 กลับทัพจากลงใต้มามุ่งเหนือ สู่สมรภูมิระหว่างค่ายวชิราวุธกับท่าแพ

08.40 น.
ยุวชนทหารประมาณ 170 -350 คน ชุมชนกันที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศด้วยความรู้สึก "...อยากไปรบกับผู้รุกรานเป็นพวกแรก ถ้าไปพร้อมกับส่วนหลังเกรงจะไม่ได้รบ..." แล้วลำเลียงพลผ่านย่านตลาดท่าวังซึ่งมีทั้งพระภิกษุสงฆ์ ประชาชนชาวนครศรีธรรมราช เฝ้าคอยอวยชัยให้พรเนืองแน่น ถึงสมรภูมิแล้วรับอาวุธและแยกย้ายจัดขบวนรบร่วมกับกองกำลังทหาร ด้วย ขณะนั้นมีรายงานว่ารัฐบาลมอบคำขวัญในการต่อสู้ว่า "ถ้าแม้ปราชัยแก่ไพรี ให้ได้แต่ปฐพีไม่มีคน" ซึ่งทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ปฏิบัติตาม ด้วยการเผาศาลากลางจังหวัดเมื่อสถานการณ์คับขัน

09.20 น.
หลังจากประชุมหัวหน้าส่วนที่ศาลากลางจังหวัด มทบ.6 ราย งานสถานการณ์ว่าฝ่ายเราอยู่ในฐานะเสียเปรียบทั้งทางกำลังพลและกำลังอาวุธ ก่อนจะเดินทางมาศาลากลาง เครื่องบินรบและช่วยรบของ ฝ่ายข้าศึก 4-5 เครื่องมาบินวนอยู่เหนือเขตทหาร แต่ไม่มีการใช้อาวุธกับฝ่ายเรายังสูญเสียนายทหารผู้กล้าหาญไปแล้วหลายนายรวมทั้ง พันตรีหลวงราญรอนสงคราม รองเสธ.มทบ.6 และร้อยตรีประยงค์ ไกรจิตติ ผบ.หมวดป.พัน.15

09.30 น.
ข้าหลวงได้รับโทรเลขรหัสจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยข้อความ "ให้หยุดรบ กับให้ญี่ปุ่นผ่านและพักในประเทศไทยได้"

09.50 น. ผบ.มทบ.6 ได้รับคำสั่งทางวิทยุจากผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด (จอมพลแปลก พิบูลสงคราม) ว่า "ให้หยุดรบ หลีกทางให้ญี่ปุ่นผ่านไป แล้วรอฟังคำสั่ง"

10.10 น. มทบ.6 แต่งตั้งคณะผู้เจรจาการศึกฝ่ายไทยพร้อมธงขาวเพื่อเจรจาการศึกกับญี่ปุ่น

10.20 น. คณะผู้เจรจาการศึกฝ่ายญี่ปุ่นพร้อมธงขาวปรากฏตัว

10.40 น. เปิดเจรจากันบนถนนราชดำเนินได้ผลสรุปว่า "ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นได้ทราบคำสั่งให้หยุดรบแล้ว" ขณะนั้นปรากฏว่าทหารญี่ปุ่นมีการเคลื่อนไหว วิ่งระหว่างต้นไม้กำบัง ซึ่งนับว่าเป็นการฉกฉวยโอกาสระหว่างที่ฝ่ายเราหยุดยิงแล้วเคลื่อนที่เข้ามา ทหารไทยจึงยิงเพื่อให้ยุติการเคลื่อนที่จนขยายเป็นโต้ตอบกันรุนแรงถึงขั้นตะลุมบอน มีผู้เสียชีวิตต่อหน้าคณะผู้เจรจาทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องหลบเข้าที่กำบังในบ่อดินลูกรังข้างทาง

10.50 น. หลังจากเป่าแตรสัญญาณหยุดยิงหลายครั้ง ก็ไม่หยุดยิงด้วยต่างฝ่ายต่างไปม่ยอมหยุดก่อน โต้ตะลุมบอนกันไปมา คณะผู้เจรจาทั้ง 2 ฝ่ายจึงให้จัดผู้ห้ามยิงฝ่ายละ 1 คน เดินคล้องแขนเคียงคู่กันไปทางทิศเหนือ ซึ่งกำลังญี่ปุ่นตรึงอยู่แล้ววกมาทางกำลังฝ่ายไทย นับว่าการรบของทั้งสองฝ่ายยุติลงตั้งแต่นั้น

11.40 น. ผู้ห้ามยิงทั้งสองเดินกลับมาถึงที่เจรจาการศึก

11.45 น. เริ่มเจรจาการศึกใหม่ได้ความว่าทางญี่ปุ่นไม่ได้ตั้งใจรุกรานประเทศไทยหรือบุกเมืองนคร แต่เข้าใจว่า รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้เจรจาทำความตกลงอนุญาตให้กำลังรบของ ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยไปมะลายูและสิงคโปร์ เพื่อขับไล่ชนชาติผิวขาวได้แล้ว ผลการเจรจาทางญี่ปุ่นขอ 5 ข้อ คือ พัก-ผ่าน-ฐานบิน-เขตทหารและรักษาสนามบิน

12.10 น. เจรจาศึกครั้งที่สอง ฝ่ายไทยยินยอมเพียง 4 ข้อ ยกเว้นข้อ 5 ซึ่งญี่ปุ่นจะต้องรักษาสนามบินเอง โดยกำหนดให้คลองท่าวัง เป็นเส้นแบ่งเขตทหารไทยและทหารญี่ปุ่น และฝ่ายญี่ปุ่นต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เสื่อมเสียเกียรติแก่ชาวไทยและชาติไทยเป็นอันขาด และนัดเจรจาทำความตกลงรายละเอียดในเวลา 13.00 น. หากพ้นเวลากำหนดโดยฝ่ายญี่ปุ่นไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนเวลาการรบของทั้ง 2 ฝ่าย อาจเริ่มขึ้นเพื่อขับไล่กำลังรบฝ่ายญี่ปุ่นให้พ้นจากเขตแดนไทย (ภาคใต้) ต่อไป

13.00 น. เจรจายุติการรบ

14.00 น. ยุติการรบ


กองทหารไทยในสงครามมหาเอเซียบูรพา           สำหรับการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นบนดินแดนไทยครั้งนี้ นับว่าสมรภูมิเมืองนครศรีธรรมราชนั้นรุนแรงที่สุด โดยทหารและพลเรือนได้ร่วมกันประกอบ วีรกรรมอย่างกล้าหาญ พลเอกหลวงเสนาณรงค์ ผบ.มทบ.6 ขณะนั้นบันทึกไว้ว่า "...การรบได้เป็นไปโดยกระชั้นชิดในเวลารวดเร็ว ฝ่ายเราได้รุกเข้าไปจนถึงท่าเรือห่างจากข้าศึกเพียง 100 เมตร ส่วนย่อยของเราได้ตะลุมบอนเสียงไชโยดังลั่นทุกแนวที่เรา
ยึดคืนได้ - ข้าศึกถอยแล้วๆ ๆ - เราร้องบอกกัน...ไม่มีครั้งใดที่จะได้เห็นการต่อสู้อย่างทรหดจนถึงตะลุมบอนเหมือนอย่างในครั้งนี้..." และ ณ สมรภูมิแห่งนี้ 39 ชีวิตของทหารไทยได้พลีไว้เพื่อ พิทักษ์รักษาเอกราชของชาติ จารึกรายชื่ออยู่ที่ฐานของอนุสาวรีย์วีระไทย (เจ้าพ่อดำ) ซึ่งออกแบบโดยอาจารย์สนั่น ศิลากร ประติมากรเอกของชาติชาวนครศรีธรรมราชยังรำลึกถึงวีรกรรมครั้งนั้น โดยทุกวันที่ 8 ธันวาคม จะร่วมทำบุญตักบาตรและวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์เสมอมา


ถ้ำเขาขุนพนม อัลบั๊มภาพ มหาวาตภัย...