![]() |
ในบรรดามโนห์ราที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช มโนห์รามดลิ้น ( มดชลิน ) เป็นบุคคลซึ่งมีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักแพร่หลายโดยทั่วไปทั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชและจังหวัดอื่นๆ แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร มโนห์รามดลิ้นก็เคยเข้าไปรำเผยแพร่หน้าพระที่นั่งหลายครั้งหลายคราวจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และเนื่องจากความสามารถในการรำมโนห์รานี้เอง ท่านผู้นี้จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ยอดระบำ" |
มโนห์รามดลิ้น ยอดระบำ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2421 ตรงกับเดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล เป็นบุตรนายทอง นางนุ่ม เป็นหลานปู่ของนายบัวจันทร์ และย่าชุม เกิดที่บ้านหัวสะพานขอย หมู่ที่ 4 ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันสี่คน คือ นางบึ้ง นายมดชลิน นางลิบ และนางลม |
เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ พ่อท่านทวดด้วงได้พาให้ไปศึกษาหนังสือไทยสมัยเรียนนอโม-พุท-ท่อ และเรียนเวทมนต์คาถากับพ่อท่านคงที่วัดเนกขัมมาราม (หน้ากาม) อำเภอร่อนพิบูลย์ เมื่อเรียนหนังสืออ่านออกเขียนได้ดีแล้ว ท่านอาจารย์คงได้ฝากให้ไปเล่าเรียนวิชาไสยศาสตร์เพิ่มเติมกับท่านอาจารย์เกิด ที่วัดป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง กระทั่งมีความรู้อ่านออกเขียนหนังสือขอมได้ |
ครั้นอายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดมัชฌิมภูผา อำเภอร่อนพิบูลย์ 1 พรรษา สมัยพระอาจารย์ภู่เป็นสมภาร และได้ศึกษาเล่าเรียนเวทมนตร์คาถาเพิ่มเติมด้วย ต่อมาอายุ 22 ปี ได้สมรสกับนางทิม ซึ่งเป็นบุตรของมโนห์ราปลอด นางศรีทอง บ้านวังไส ตำบลสามตำบล อำเภอร่อนพิบูลย์ มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือนายกลิ้ง นายคล่อง นายสังข์ นายไว นางพิน นางพัน และนายเจริญ |
มโนห์รามดลิ้นได้ฝึกหัดรำมโนห์ราเมื่ออายุ 14 ปี โดยฝึกหัดกับมโนห์ราเดชบ้านหูด่าน อำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นอาจารย์เดียวกับมโนห์ราหมื่นระบำบรรเลง (คล้าย พรหมเมศ หรือ คล้ายกินนร) เมื่อรำเป็นแล้วได้เที่ยวรำกับอาจารย์หมื่นระบำบรรเลงและมโนห์ราเถื่อน บ้านทุ่งโพธิ์ อำเภอรอ่นพิบูลย์ ในสมัยก่อนมโนห์ราส่วนมากไม่ค่อยจะมีสตรีร่วมแสดงเช่นเดียวกับสมัยนี้ เมื่อจะแสดงเรื่องก็ใช้ผู้ชายแสดงแทน มโนห์รามดลิ้นซึ่งกล่าวได้ว่าสมัยนั้นรูปหล่อ สุภาพอ่อนโยน ก็ทำหน้าที่แสดงเป็นตัวนางเอกแทบทุกครั้ง และแสดงได้ถึงบทบาทจนกระทั่งคนดูสงสารหลั่งน้ำตาร้องไห้เมื่อถึงบทโศก |
มโนห์ราลิ้นเที่ยวแสดงในงานต่างๆ แทบทั่ทั้งภาคใต้ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย นอกจากนี้เคยไปแสดงในงานสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ หลายครั้งก็คือ |
ครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2451 ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานราชพิธีหน้าพระที่นั่งสมัยรัชกาลที่ 5 มีมโนห์ราคล้าย พรหมเมศ เป็นหัวหน้าคณะไปทางเรือรวมทั้งหมด 13 คน ในการรำถวายครั้งนี้นายคล้าย พรหมเมศแสดงเป็นตัวพระ ส่วนผู้แสดงเป็นตัวนางคือมโนห์รามดลิ้น หลังจากแสดงเสร็จนายคล้าย พรหมเมศ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเป็นหมื่นระบำบรรเลง มโนห์รามดลิ้นได้รับพระราชทานนามสกุลให้ใหม่เป็น "ยอดระบำ" และในโอกาสเดียวกันนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปินในสำนักพระราชวัง ได้จดบทกลอนท่ารำมโนห์ราและบทต่างๆ ไว้หลายบท เพื่อถือเป็นแบบฉบับสำหรับการศึกษาต่อไป |
ครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2466 ได้ไปรำในงานราชพิธีที่ในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ 6 โดยหมื่นระบำบรรเลงเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยมโนห์รามดลิ้น ยอดระบำ มโนห์ราเสือ (ทุ่งสง) มโนห์ราพรัด (ทุ่งไห้ฉวาง) มโนห์ราคลิ้ง ยอดระบำ ไข่ร็องแร็ง (สามตำบล) พรานทองแก้ว พรานนุ่น กับลูกคู่รวม 14 คน |
เมื่อกลับจากแสดงครั้งนี้ชั่วระยะไม่ถึง 2 เดือน ทางราชการได้เรียกมโนห์ราให้ไปแสดงอีก แต่เนื่องจากครั้งนั้นมโนห์รามดลิ้นได้นำคณะมโนห์ราส่วนหนึ่งเดินทางไปแสดงที่จังหวัดกระบี่ พังงา และอำเภอตะกั่วป่า (เดินเท้า) จึงไม่สามารถกลับมาและร่วมไปแสดงได้หมื่นระบำบรรเลง จึงรวบรวมบรรดาศิษย์ไปแสดงเอง การแสดงครั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปากรได้ถ่ายรูปท่ารำมโนห์ราท่าต่างๆ ของหมื่นระบำบรรเลงกับมโนห์ราเย็นไว้เป็นแบบฉบับเพื่อการเผยแพร่และการศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง ดังปรากฏในหนังสือว่าด้วยตำราไทยในหอสมุดแห่งชาติ |
ครั้งที่สามเมื่อ พ.ศ. 2473 ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานพระราชพิธีหน้าพระที่นั่งสมัยรัชกาลที่ 7 ครั้งนี้หมื่นระบำบรรเลงแก่ชรามากจึงไม่ได้เดินทางไปจึงมองให้มโนห์รามดลิ้น ยอดระบำ เป็นหัวหน้านำคณะ 12 คน ไปรำถวายแทน |
หลังจากนี้ปลาย พ.ศ. 2479 สมัยหลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากรได้ริเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูมหรสพพื้นเมืองทั่วไป จึงได้เดินทางมาขอชมการรำมโนห์ราแบบโบราณที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มโนห์รามดลิ้น ยอดระบำ ได้นำคณะแสดงให้ชมที่เรือนรับรองของข้าหลวงประจำจังหวัดในสมัยนั้น ผู้แสดงมีมโนห์ราคลิ้ง อ้น เจริญ ปุ่น และพรานบก การแสดงเป็นที่พึงพอใจของอธิบดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขอตัวมโนห์ราเจริญและปุ่นไปอยู่ที่กรมศิลปากร เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับมโนห์ราแบบโบราณให้แก่นักเรียนของโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากรได้ศึกษา และได้ให้มโนห์ราทั้งสองได้เล่าเรียนหนังสือไทยเพิ่มเติม พร้อมทั้งศึกษาท่ารำแบบต่างๆ ของกรมศิลปากรให้มีความรู้ความชำนาญยิ่งขึ้น มโนห์ราเจริญ และปุ่นศึกษาอยู่ที่กรมศิลปากรเป็นเวลา 1 ปี จึงได้กลับมายังนครศรีธรรมราช นับได้ว่าเป็นผลงานริเริ่มของมโนห์รามดลิ้นส่วนหนึ่งด้วย |
ครั้งที่สี่เมื่อ พ.ศ. 2480 ได้ไปรำในงานวันชาติที่ท้องสนามหลวงอีกครั้งหนึ่งแต่คราวนี้มโนห์รามดลิ้นไปในฐานะหัวหน้าคณะเท่านั้น เพราะแก่ชรามากแล้วรำไม่ได้ จึงให้มโนห์ราคลิ้ง ยอดระบำ ซึ่งเป็นบุตรแสดงแทน |
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว มโนห์รามดลิ้น ยอดระบำ ได้เคยนำคณะไปรำในงานของทางราชการบ้านเมืองอีกหลายครั้ง ที่สำคัญเช่น |
1. ไปรำถวายรับเสด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสภาคใต้ซึ่งได้ทรงเสด็จในงานยกช่อฟ้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรวิหาร นครศรีธรรมราช |
2. ไปรำในงานต้อนรับพลเอก พระยาพหลพลยุหเสนา นากยรัฐมนตรี (สมัยนั้น) ซึ่งเดินทางมาเยี่ยพี่น้องข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช |
ส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานของเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง ในอำเภอหรือในจังหวัดใกล้เคียง มโนห์รามดลิ้นได้นำคณะไปช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเสมอ ในชีวิตของท่านจึงนับได้ว่าท่านได้ใช้ความสามารถให้เกิดประโยชน์มากที่สุด |
นอกจากความสามารถของการรำมโนห์ราแล้ว มโนห์รามดลิ้นยังสามารถบริการประชาชนในเรื่องยากลางบ้านอีกด้วย กล่าวคือท่านได้ศึกษาหาความรู้ทางแพทย์แผนโบราณภายหลังที่ฝึกฝนให้นายคลิ้งบุตรคนโตให้ฝึกรำมโนห์ราจนชำนาญแล้ว นอกจากรักษาคนเจ็บไข้โดยทั่วไปแล้ว มโนห์รามดลิ้นยังเป็นหมอประจำคณะมโนห์ราอีกทั้งเป็นหมอรักษาผู้ที่ถูกยาสั่ง ถูกคุณต่างๆ ตามหลักวิชาไสยศาสตร์อีกด้วย จึงนับได้ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างกว้างขวางจนตลอดชีวิตคนหนึ่ง |
มโนห์รามดลิ้น ยอดระบำ ถึงแก่กรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2511 เวลา 10.00 น. ด้วยโรคชรา ที่บ้านเลขที่ 181 หมู่ที่ 7 ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมอายุได้ 92 ปี |
คณะโนรา |