เมื่อกล่าวถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการอนุรักษ์ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ หรือแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งทรัพยากรอันมีค่า หรือน้ำตก ชายหาด เกาะ แก่ง ปะการัง ที่มีทัศนียภาพสวยงามและมีคุณค่าทางนันทนาการ แต่สำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ป่าพรุหรือทุ่งหญ้าน้ำท่วมถึงนั้น สาธารณชนส่วนใหญ่มักมองข้ามคุณค่าไป โดยเห็นว่าเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ที่ไม่มีทรัพยากรที่มีค่า ไม่มีประโยชน์ เป็นเพียงพื้นที่เฉอะแฉะ มีหญ้าขึ้นรกรุงรัง ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่มีพิษ เช่น งู และพาหะนำโรคต่าง ๆ เช่น ยุง ที่รบกวนความเป็นอยู่ของชุมชนใกล้เคียงทั้ง ๆ ที่คนไทยทุกคนให้ความสำคัญกับพื้นที่ชุ่มน้ำมาตั้งแต่สมัยโบราณดังคำกล่าวที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" นอกจากนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นระบบนิเวศที่มีบทบาทอันสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตของชุมชนชนบท จนมีผู้กล่าวว่า "พื้นที่ชุ่มน้ำเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เกตของชุมชน" ที่ชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน
"พื้นที่ชุ่มน้ำ" เป็นคำที่ใช้เรียกระบบนิเวศที่ปกคลุมด้วยพื้นน้ำบางส่วนหรือทั้งหมดอย่างถาวรหรือในช่วงเวลาหนึ่ง จึงมีลักษณะก้ำกึ่งกันระหว่างระบบนิเวศบกและระบบนิเวศน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำส่วนมากจะเป็นพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างระบบนิเวศบกและระบบนิเวศน้ำ เช่น ป่าชายเลน ป่าพรุ ที่มีน้ำขังอยู่ชั่วคราวหรือเป็นระยะ ๆ นอกจากนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำยังรวมถึงพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำจืด พื้นที่ชายฝั่ง และในทะเล โดยที่ความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร เมื่อน้ำลงต่ำสุด
พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่มีระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของพืชและสัตว์นานาชนิดที่อาศัยทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรชีวภาพที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต พื้นที่ชุ่มน้ำโลกมีคุณประโยชน ์คือ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ลดการพังทลายหน้าดิน ควบคุมการไหลเวียนของน้ำไปยังแหล่งน้ำใต้ดินและรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ

จากนิยามดังกล่าวทำให้พื้นที่มากมายมีลักษณะที่จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำได้แก่ บริเวณปากแม่น้ำบริเวณชายฝั่งทะเล บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง บริเวณที่ลุ่มน้ำจืดชื้นแฉะ ทะเลสาบ พื้นที่พรุ และบริเวณป่าที่ลุ่มน้ำขัง หรือแม้กระทั่งพื้นที่น้ำขังที่พัฒนาโดยมนุษย์ เช่น นาข้าว นากุ้ง นาเกลือ บ่อปลา อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการจำแนกรวมกับพื้นที่ที่ไม่ได้รับการจำแนกและคุ้มครองในรูปพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ที่รวมถึงป่าชายเลน ป่าพรุ ทะเล หนองและบึง ต่าง ๆ ฯลฯ คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 15.7 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 5 ของพื้นที่ประเทศ
จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำใน ประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรวมประชาชนทั่วไปและองค์กรที่เกี่ยวข้องก็ยังขาดความเข้าใจต่อความสำคัญทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้มีการบุกรุกทำลายและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่หลากหลาย

นอกจากนั้น ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน ชุมชนท้องถิ่น ก็ได้ส่งผลคุกคามต่อความเสื่อมโทรม การลดลงและสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นจึงเกิดอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ อนุสัญญาแรมซาร์ เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้น เพื่อมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายใต้เงื่อนไขการจัดการในแต่ละประเทศนั้น ๆ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ นานาชาติได้ร่วมยกร่างและลงนามในการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่ของนกน้ำขึ้นใน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 ณ เมือง Ramser ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาเป็นรู้จักในนามอนุสัญญาแรมซาร์ วัตถุประสงค์หลักในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อม

หลายปีที่ผ่านมาอนุสัญญาฯ ได้พัฒนาตนเองจากข้อตกลงที่เน้นเพียงการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยนกน้ำ มาเป็นกลไกระดับนานาชาติ ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ ดังนั้นประเทศไทยได้มอบสัตยาบันสาร ต่อผู้แทน UNESCO ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 กันยายน 2541 ส่งผลให้ ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา
แรมซาร์ลำดับที่ 110
โดยเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำ ควนขี้เสียน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตาม พันธกรณีของอนุสัญญา คือ ประเทศภาคี จะต้องกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหมาะสมในดินแดนของตนเพื่อรวมไว้ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (List of Wetland of International Importance) โดยคำนึงถึงความสำคัญในระดับนานาชาติ ทั้งด้านนิเวศวิทยา พฤกษศาสตร์ สังคมศาสตร์ ชีววิทยา และอุทกวิทยา และต้องดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำนั้น ๆ อย่างชาญฉลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งได้รับการเสนอให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของทะเลสาบสงขลาในเขตจังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2525 มีเนื้อที่ประมาณ 281,625 ไร่ และเป็นหนึ่งในจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำ 42 แหล่งของประเทศที่สหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ขึ้นบัญชีไว้ในฐานะพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย

ทะเลน้อย เป็นทะเลสาบน้ำจืดมีลักษณะค่อนข้างกลมมีอาณาเขตผืนน้ำประมาณ 30 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 20,000 ไร่ มีชุมชนขนาดเล็กกระจายอยู่โดยรอบพื้นที่ทางตอนเหนือเป็นป่าพรุเสม็ดขนาดใหญ่ มีระดับน้ำลึกเฉลี่ย 1.2 เมตร ต้นน้ำของทะเลน้อยมาจากเทือกเขาบรรทัดซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2,126 มิลลิเมตร
ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ สำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณ 10 ชนิด เช่น ลิงแสม เสือปลา นากใหญ่ ขนเรียบ นอกจากนี้ยังพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 8 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานอีก 25 ชนิด ซึ่งรวมถึงเต่ากระอาน ที่ถูกจัดอยู่ในสถานภาพที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย พันธุ์ปลา ที่พบอย่างน้อย 45 ชนิด และในจำนวนนี้มี 4 ชนิด ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ คือ ปลากะทิ ปลาดุกลำพัน ปลาฝักพร้า ปลาตะลุมพุก และชนิดเด่นที่พบคือ ปลาตุม ปลากะแห เป็นต้น
มีการสำรวจพบนกอย่างน้อย 187 ชนิด ทะเลน้อยจัดเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของนกน้ำ ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกกาบบัว ซึ่งพบว่าทำรังวางไข่ที่นี่เพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งทำรังของนกกระสาแดง นกยางควาย และนกกาน้ำเล็ก รวมถึงนกแขวก ในฤดูหนาวจะพบนกอพยพที่สำคัญ คือ นกซ้อนหอยขาว รวมไปถึงเป็ดแดง และเป็ดคับแคนับหมื่นตัว

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของโลกตั้งแต่วันที่ 13  กันยายน 2541 และเป็นแห่งแรกของประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของเอเซียด้วย โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ของทุกปีจะมีนกอพยพหนีหนาวมาจากไซบีเรียนับแสนตัว และเป็นช่วงที่ธรรมชาติสวยงาม
ในทะเลน้อยสำรวจพบพันธุ์ไม้น้ำ 78 ชนิด อาทิ ธูปฤาษี กุ่ม กก ในบริเวณน้ำลึกพบพืชลอยน้ำ เช่น บัว ขึ้นอยู่กระจัดกระจายปะปนกับกระจูด ส่วนพืชบกที่พบในบริเวณพรุได้ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไป ภายหลังจากการเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2508 ทำให้เกิดสังคมพืชเสม็ดขึ้นทดแทน นอกจากนี้พันธุ์ไม้น้ำที่สำคัญคือ เตยน้ำ จัดเป็นชนิดพันธุ์ที่พบเฉพาะที่ทะเลน้อยเท่านั้น
ในอดีตก่อนการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ จัดเป็นป่าพรุเสม็ดผืนใหญ่ที่สุดของประเทศแต่ได้ถูกบุกรุกตัดไม้เสม็ดเพื่อใช้ในการสร้างบ้าน และเป็นเชื้อเพลิง ทำให้กลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าและบางส่วนได้ถูกบุกเบิกทำนา ซึ่งเป็นการทำลายแหล่งทำรังวางไข่และพื้นที่ผสมพันธุ์ของสัตว์ป่าต่าง ๆ รวมถึงมีการลักลอบล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารด้วย
ปัจจุบันพื้นที่ทะเลน้อยเป็นแหล่งหาปลาที่สำคัญของชาวประมงที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ เครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นตาข่ายดักปลา ลอบและเบ็ดราว และมีประชาชนที่ประกอบอาชีพเพาะปลูกข้าว โดยที่พื้นที่ทำนาบางส่วนในจำนวนนี้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และอยู่ภายในบริเวณเขตห้ามล่าฯ มีประชาชนประกอบอาชีพเลี้ยงวัว ควาย โดยอาศัยพื้นที่ทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ 3 แห่ง บริเวณทางตอนเหนือ ตะวันออกและใต้ รวมพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ และอาชีพที่สำคัญอีกอาชีพหนึ่งคือการทำเครื่องจักสานจากกระจูด ซึ่งได้ทำต่อเนื่องสืบทอดมาหลายชั่วอายุ โดยสมัยก่อนเป็นการเก็บกระจูดจากธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันเมื่อกระจูดเหลือน้อยลงได้มีการทำนากระจูดขึ้นในหลายพื้นที่ รวมพื้นที่ประมาณ 8,300 ไร่ และประชาชนบางส่วนได้รับรายได้จากการท่องเที่ยว จากสถิตินักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่ทะเลน้อยมีไม่ต่ำกว่า 200,000 คน ต่อปี

กลับหน้าแรกวันสำคัญ

ที่มา : http://www.deqp.go.th/news_pr/env_day/newspr_day_02_2.htm
http://www.reo12.in.th/news/news2002/january/jandoc3.html