http://www.tungsong.com


        ่กองลูกเสือกองแรกของโลกได้ถูกตั้งขึ้นมา ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2450 โดยท่าน ลอร์ด บาเดน เพาเวลส์ และกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายขยายตัวไปทั่วโลกโดยได้รับการยอมรับว่า ลูกเสือเป็นขบวนการของเยาวชน ที่ทรงคุณประโยชน์ทั้งตัวของเยาวชนเอง และสังคม

        สำหรับประเทศไทย หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกองลูกเสือป่าขึ้นมา เพื่อให้บรรดาข้าราชการพลเรือน ได้รับการฝึกอบรมให้เป็นบุคคลที่มีใจรักชาติ มีความเสียสละและมีความสามัคคีต่อกัน ดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรัสไว้ว่า " ชาติจะเจริญรุ่งเรืองได้ คนในชาติต้องเป็นคนดีก่อน การที่จะสอนให้คนรักชาติก็ดี ให้คิดทำประโยชน์เพื่อชาติก็ดี ต้องมุ่งอบรมคนในชาติเป็นประการแรก" และได้ทรงพิจารณาเห็นว่า บรรดาบุตรของเสือป่าทั้งหลายควรได้รับการอบรมให้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติแต่เยาว์ในทำนองไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก สิ่งที่ดีงามทั้งหลายทั้งปวงที่พลเมืองที่ดีพึงจะมีจะได้ฝังแน่นในกระแสเลือดของเยาวชนไทย คุณภาพแห่งการเป็นมนุษย์ จะได้เกิดขึ้นมาในสังคมไทย

        เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2454 นั้นเอง จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เรียกว่า กองลูกเสือกรุงเทพ ที่ 1 ภายหลังที่ทรงตั้งกองเสือป่าได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น ประเทศไทยจึงนับว่าเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่มีกิจการลูกเสือ รองมาจากอเมริกา จากนั้น นานาชาติในยุโรปจึงได้จัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้น ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลกเป็นสื่อผูกไมตรีกันโดยใช้กฎของลูกเสือ 10 ประการ ผูกสัมพันธ์กันได้ไม่เว้นเชื้อชาติใด ศาสนาใดทั้งสิ้น ถือว่า ลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด

        กองลูกเสือกองแรกทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกองลูกเสือหลวง กระทำพิธีเข้าประจำกอง เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2454 ทรงพระราชทานคติพจน์แก่ลูกเสือว่า "เสียชีพ อย่าเสียสัตย์" และผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรก คือ นาย ชัพพ์ บุนนาค

        หลังจาก ทรงสถาปนา กิจการลูกเสือขึ้นมาแล้ว ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ และตั้งสภากรรมการจัดการลูกเสือแห่งชาติขึ้นโดยพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก ต่อมาทุกครั้งที่พระองค์เสด็จไปยังจังหวัดใดก็ตามก็จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีเข้าประจำกองลูกเสือประจำจังหวัดนั้น ๆ ให้ด้วย

        ต่อมา กิจการลูกเสือไทยได้เจริญก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับของนานาชาติดังจะเห็นได้จากการที่ กองลูกเสือที่ 8 ของประเทศอังกฤษ ได้ขอพระราชทานนามกองลูกเสือของตนกองนี้ต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม" (The King of siam own boy scout group) มีเครื่องหมายช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์

        เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟื้นฟูกิจการลูกเสือไทยต่อไปอีก โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2470 และจัดการชุมนุม ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2473 ณ พระราชอุทยาน สราญรมย์ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้า ฯ ให้มีการอบรมผู้กำกับลูกเสือที่โรงเรียนผู้กำกับ ที่เคยเปิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรีโดยคัดเลือกเอาผู้กำกับจังหวัดละหนึ่งคนเข้ามาอบรมช่วงเวลาปิดภาคเรียน ปีละครั้ง จนถึง พ.ศ.2475 เป็นรุ่นสุดท้าย

        หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองกิจการลูกเสือไทยได้มุ่งไปในการบำเพ็ญประโยชน์เสียเป็นส่วนใหญ่ มีการอบรมควบคู่กันไปกับการอบรมยุวชนทหารและเหตุการณ์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กิจการลูกเสือซบเซาลงไปมากต่อมาได้มีการฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2498 โดยที่กิจการลูกเสือไทยได้เข้าสู่ระบบสากลมีการสร้างค่ายลูกเสือแห่งชาติ ที่ตำบล บางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัด ชลบุรี มีชื่อว่า "ค่ายวชิราวุธ" มีการเปิดอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือสำรองขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2501 และจัดตั้งกองลูกเสือสำรองกองแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2501 และในที่สุดกิจการลูกเสือก็เข้าสู่ยุคของประชาชนทั่วไป โดยมีการพระราชทานกำเนิดลูกเสือชาวบ้าน และเปิดอบรมขึ้นเป็นครั้งแรกที่ บ้านเหล่ากอหก ตำบลแสงพา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2514

        นับว่าเป็นการบังเอิญที่กิจการลูกเสือไทย และลูกเสือโลกมีจุดมุ่งหมายในการสถาปนาคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ระยะเริ่มต้นการลูกเสือไทยมุ่งเน้นเรื่อง ความรักชาติการป้องกันภัยของประเทศเป็นหลัก พร้อมกับวางแนวทางอบรมเยาวชนให้เป็นคนดีมีคุณภาพ ในปัจจุบันกิจการลูกเสือไทยก็ดำเนินไปเหมือนกับกิจการลูกเสือโลกเกือบทุกประการ จะมีความแตกต่างกับการลูกเสือประเทศอื่นก็คือ การเข้ามาสู่ขบวนการลูกเสือของเยาวชนในแต่ละประเทศนั้น จะเป็นลักษณะของสโมสร เอกชน และ กลุ่มสนใจ ไม่ผูกติดกับระบบโรงเรียน การเข้ามาของสมาชิกลูกเสือเข้ามาด้วยใจสมัคร ไม่มีการบังคับเป็นกิจกรรมนอกเวลาเรียน แต่สำหรับประเทศไทยปัจจุบัน ลูกเสือถือว่า เป็นกิจกรรมและวิชาหนึ่ง ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน เกือบทุกระดับชั้นเรียน ดังนั้นปริมาณลูกเสือในเมืองไทยจึงมีจำนวนมากมายกว่า ลูกเสือในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

        กิจการลูกเสือไทยเป็นกิจการที่พระราชทานกำเนิดโดยองค์พระประมุขของชาติแม้ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อกิจการนี้มาโดยตลอดทรงดำรงพระองค์ในฐานะ องค์พระประมุขแห่งการลูกเสือไทย ขบวนการและกิจการลูกเสือไทย เป็นขบวนการและกิจการที่ดีของเยาวชน

        กิจการลูกเสือไทยถือเป็นประเพณีว่าเมื่อถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี ลูกเสือจะได้จัดให้มีพิธี ทบทวนคำปฏิญาณตนและสวนสนาม ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เฉพาะที่กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพิธีนี้ ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ และอีกสิ่งหนึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานก็คือ ทุก ๆ 4 ปี จะจัดให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้น เพื่อให้พี่น้องลูกเสือทั่วประเทศ ได้มาร่วมกิจกรรมพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำกิจกรรมร่วมกัน



        การลูกเสือ    คือ ขบวนการเยาวชนที่ให้การศึกษานอกเหนือการเรียนทำให้เป็นคนดี มีความรักชาติเคารพศาสนา เทิดทูนพระมหากษัตริย์ อบรมให้ใช้ชีวิตกลางแจ้ง บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม รู้จักพัฒนาตนเอง ไม่มีกีดกันในเรื่องศาสนาหรือเชื้อชาติใด ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

        วัตถุประสงค์    การลูกเสือ คือ การฝึกอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นพลเมืองดีตามจารีตประเพณีของบ้านเมืองอุดมคติดังต่อไปนี้
            1. ให้มีนิสัยในการสังเกตและจำ เชื่อฟังและพึ่งตนเอง
            2. ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
            3. ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
            4. ให้รู้จักทำการฝีมือ
            5. ให้มีการพัฒนาในทางกาย จิตใจ และศีลธรรม
             ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิการเมืองใด ๆ

        จุดหรืออุดมการณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ
        เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดีมีความรับผิดชอบช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ตนอยู่ให้ดีขึ้น ประเทศชาติมีความมั่นคง

        วิธีการฝึกลูกเสือ
            1. ให้เยาวชนทั้งชาย หญิง เป็นสมาชิกของลูกเสือหรือเนตรนารีตามความสมัครใจโดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้แนะนำสั่งสอน อบรมฝึกการปกครองกันเองภายในกองของตน และเพิ่มวิธีการฝึกอบรมมากขึ้นตามอายุ
            2. ให้เด็กชายปฏิบัติกิจกรรมตามที่ตนถนัดในที่แจ้งเป็นส่วนใหญ่ และมีโอกาสบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นด้วย
            3. ให้เด็กชายได้ฝึกหัดการรับผิดชอบตัวเองและต่อบุคคลผู้อื่นเป็นขั้น ๆ และเพิ่มการฝึกให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อว่าจะได้เกิดความสามารถ ความเชื่อมั่นในตนเองมีนิสัยใจคอดีเป็นที่ไว้ใจได้ สามารถในการเป็นผู้นำและปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น

        สิ่งที่เด็กต้องการ
            1. ผจญภัย (Adventure) ได้แก่การเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ที่ตื่นเต้น และไม่คาดหมายมาก่อน
            2. ได้เพื่อน (Comradeship) ได้แก่การที่มีเด็กอื่น ๆ เป็นเพื่อน
            3. เถื่อนธาร (The Out Door World) ได้แก่ โลกภายนอกซึ่งประกอบไปด้วยป่าเขา ลำเนาไพรลำธารทุ่งนา
            4. การสนุก (Good Fun) ได้แก่ การสนุกสนานในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ
            5.สุขสม (Afeeling Of Achievement) ได้แก่ ความรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ตนได้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนประสบความสำเร็จ
 
ความหมายของสี
  สีเขียว   หมายถึง   ลูกเสือสำรอง
  สีเหลือง   หมายถึง   ลูกเสือสามัญ
  สีน้ำตาล   หมายถึง   ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
  สีแดง   หมายถึง   ลูกเสือวิสามัญ
 
ประเภทลูกเสือ, อายุชั้นเรียน
  ลูกเสือสำรอง   อายุ 8-11   เทียบชั้นเรียน ป.1-ป.4
  ลูกเสือสามัญ   อายุ 12-13   เทียบชั้นเรียน ป.5-ป.6
  ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่   อายุ 15-17   เทียบชั้นเรียน ม.1-ม.3
  ลูกเสือวิสามัญ   อายุ 17-23   เทียบชั้นเรียน ม.4-ม.6
  เนตรนารีเหมือนลูกเสือ
  ลูกเสือชาวบ้าน 15-18 ปี
 
คติพจน์ของลูกเสือประเภทต่าง ๆ
  ลูกเสือสำรอง   ทำดีที่สุด (DO YOUR BEST)
  ลูกเสือสามัญ   จงเตรียมพร้อม (BE PREPARED)
  ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่   มองไกล (LOOK WIDE)
  ลูกเสือวิสามัญ   บริการ (SERVICE)
  ลูกเสือทั่วไป   เสียชีพอย่าเสียสัตย์
  ลูกเสือชาวบ้าน   เสียชีพอย่าเสียสัตย์

เหล่าลูกเสือมี 3 เหล่า คือ


        ลูกเสือเสนา (SCOUT)
        ลูกเสือสมุทรเสนา (SEA SCOUT) เครื่องแบบกากี และขาว
        ลูกเสืออากาศเสนา (AIR SCOUT) เครื่องแบบสีเทา

องค์ประกอบที่สำคัญของลูกเสือคือ

        1. ลูกเสือ
        2. ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ
        3. กิจกรรมกลางแจ้ง
        4. อุดมการณ์
        5. การบริหารงานของลูกเสือ


แหล่งอ้างอิง : หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2538 โดย ทวี รัดงาม
                         หนังสือ วันสำคัญของไทย โดย มุทิตากุล
                         หนังสือ วันสำคัญของไทย โดย สภักดิ์ อนุกูล
                         หนังสือ ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก โดย วรนุช อุษณกร