http://www.tungsong.com

        สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว กิติยากร
 
        สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชสมภพ ณ บ้านพักของท่านพระยาวงษานุประพันธ์ ถนนพระราม 4 กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า "สิริกิติ์"
 
        พระองค์ทรงศึกษาในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินีล่าง แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังต์ ซีสซาเวียร์ตำบลสามเสน เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้เสด็จตามพระราชบิดาซึ่งไปดำรงตำแหน่งแห่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีส และโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และทรงศึกษาด้านภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นอย่างดี
 
    
 
        สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชครั้งแรก ณ ฟองเทนโบล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2492 จนกระทั่งถึงวันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ.2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงประกอบพิธีหมั้นกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
 
        วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ได้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นในวังสระปทุม พร้อมทั้งได้มีพระราชโองการดำรัสให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ครั้นถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินีให้ทรงฐานันดรเพิ่มขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
 
        วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาได้ทรงผนวช สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นผลดีทุกประการ ต่อมาได้ทรงรับการสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ" นับเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถองค์ที่สองแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี
 
        สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทุกหนทุกแห่ง ทรงรับทราบทุกข์สุขของราษฎร ได้ทรงหาทางแก้ไข เพื่อให้ราษฎรได้กินดีอยู่ดี ด้วยการพระราชทานพระราชดำริเป็นโครงการอาชีพเสริม โดยต้นเป้นครั้งแรกที่กลุ่มแม่บ้านหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
 
        โครงการอาชีพเสริมได้แพร่หลายไปในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศจึงเป็นที่รับทราบกันอย่างกว้างขวาง จึงได้มีผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อใช้จ่ายในกิจการเหล่านี้ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นใน พ.ศ. 2519 พระราชทานชื่อว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" เพื่อสนับสนุนการประดิษฐ์ศิลปะพื้นบ้านให้เป็นอาชีพเสริมแก่ชาวไร่ชาวนาในยามว่างจากฤดูทำไร่ทำนา
 
        ได้ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วยเช่น
        1.    โครงการป่ารักน้ำ ณ ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
        2.    โครงการอนุรักษ์เต่าทะเล ที่เกาะมัน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
        3.    โครงการสวนสัตว์ธรรมชาติภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
        4.    โครงการศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่ช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว และที่โคกไม้เรือ จังหวัดนราธิวาส
        5.    โครงการสวนสัตว์เปิด ศูนย์ป่าตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
 
 
        นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติพระราชกิจเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ อาทิ การต้อนรับประมุขของนานาประเทศที่มาเยือนประเทศไทย และเสด็จไปเยี่ยมเยียนประเทศต่าง ๆ อันเป็นการผูกสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยในอนาคต
 
        เมื่อทรงว่างเว้นจากพระกรณียกิจดังกล่าว จึงจะมีเวลาว่างสำหรับถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ ทรงเป็นพระมารดาที่น่าเคารพของทูลกระหม่อม พระองค์ทรงอบรมทูลกระหม่อมด้วยพระองค์เองตามแบบไทย ให้รู้จักเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ และหัดทรงงานด้วยพระองค์เอง
 
        ด้วยพระกรณียกิจของพระองค์ท่านได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทยและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง จึงถือเอาวันที่ 12 สิงหาคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นวันสำคัญของไทย
 
 
 


แหล่งอ้างอิง :
                         หนังสือ วันสำคัญของไทย โดย สมเจตน์ มุทิตากุล
                         หนังสือ ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก โดย วรนุช อุษณกร
                         หนังสือ วันสำคัญของไทย โดย สุชิราภรณ์ บริสุทธิ์