สำเนา
พระบรมราชโองการ
ประกาศ
ให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
---------------------------
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ.พิชเยนทรโยธิน
          โดยที่จารีตประเพณีของไทยแต่โบราณ ได้ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องต้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งถือฤดูเหมันต์เป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาจารีตอันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นภายหลังเมื่อทางราชการนิยมใช้สุริยคติ ซึ่งได้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันต้นปี มาตั้งแต่พุทธศักราช 2432
          แต่ในนานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ๆ ทางปลายบุรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปี การนิยมใช้วันที่ 1 มกราคม มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนาจารีตประเพณี หรือการเมือง ของชาติใดประเทศใด แต่เป็นการคำนวณโดยวิทยากรทางดาราศาสตร์และนิยมใช้กันเป็นเวลากว่าสองพันปี เมื่อประเทศไทยได้นิยมถือสุริยคติตามอย่างนานาประเทศแล้ว ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีเหมือนอย่างประเทศทั้งหลาย เพราะวันที่ 1 มกราคม ก็ใกล้เคียงกับวันแรม 1 ค่ำ ของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี การใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ จะเป็นการสอดคล้องต้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนา และได้ระดับกับนานาอารยประเทศทั้งมวล
          อนึ่ง ได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติประดิทิน พุทธศักราช 2483 โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2483 และได้พระราชบัญญัตินั้นก็เป็นอันใช้ได้ตั้งแต่ 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 นี้ จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ทั่วกัน เทอญฯ
          ประกาศมา ณ วันที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2483 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
(คัดจาก "ราชกิจจานุเบกษา" เล่ม 58 หน้า 31 วันที่ 1 มกราคม 2484)