 |
 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร
ประสูติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2405 ในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระจอมมารดาชุ่ม ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกสำหรับภาษาไทยจากสำนักคุณแสง และคุณปาน ภาษาบาลีจากสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา
(เปี่ยม) และหลวงธรรมนุวัติจำนง (จุ้ย) และภาษาอังกฤษจากสำนักโรงเรียนหลวง ซึ่งมีนายฟรานซิส ยอร์ซ แปทเตอร์สัน เป้นอาจารย์ ต่อมาทรงศึกษาวิชาทหารในสำนักหลวงรัฐรณยุทธ์ เมื่อพระชนมายุได้ 14 พรรษาทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อย กรมมหาดเล็ก
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาทรงเข้ารับราชการเป็นทหารในตำแหน่งนายร้อยตรี บังคับกองแตรวงกองทหารมหาดเล็ก ทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น
ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกระทรวงธรรมการ ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ ทรงรับราชการในตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการเป็นที่พอพระทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นเวลานานถึง 23 ปี
เมื่อทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยด้วยประชวรจนพระวรกายทรุดโทรมอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยเมื่อทรงรักษาอาการจนพระวรกายเป็นปกติแล้วจึงทรงเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทูลเสนอพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภาพระองค์แรก
ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับหอสมุดพระนคร และพิพิธ๓ัณฑสถาน ในปี พ.ศ.2472 ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศพระบรมวงศ์ต่างกรมเป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กระมพระยาดำรงราชานุภาพ"ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งสูงที่สุดสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ |
หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปประทับที่เกาะปีนัง เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายทางการเมือง ต่อมาเสด็จกลับประเทศไทยด้วยทรงประชวรด้วยพระโรคพระหทัยพิการ และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2486 รวมพระชนมายุได้ 81 พรรษา |
 |
[ ประวัติ ] [ ความสำคัญ ] [ พระกรณียกิจ ] [
back ] |