การแพทย์แผนไทย ยาจากพืชสมุนไพรเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากธรรมชาติ อันมีค่าของยิ่งของเราชาวไทย ที่สืบทอดกันมานานหลายศตวรรษ ต่อมาเมื่อมีการนำระบบการแพทย์ทางตะวันตกเข้ามาใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้การแพทย์แผนไทยค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของเรา
        จากสภาพของเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ประเทศของเราต้องมีการใช้จ่ายเงินทองอย่างประหยัดและคุ้มค่า ป้องกันการไหลออกของเงิน ลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ ดังนั้น….ถึงเวลาแล้วที่เราคนไทยจะต้องช่วยชาติ หันกลับมาสนใจภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้พืชสมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ ที่ไม่มองแบบแยกส่วน และคำนึงถึงทุกมิติที่เกี่ยวข้องเป็นองค์รวมเพื่อดำรงคงไว้ และสืบสานพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
        ซึ่งหากจะกล่าวไปแล้วการใช้ยาสมุนไพรก็มิได้แตกต่างไปจากการใช้ยาแผนปัจจุบัน ในแง่วัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการของโรค แต่จะแตกต่างในเรื่องรายละเอียดและวิธีการใช้ยา และสิ่งที่ต้องจำไว้ในการดูแลสุขภาพ คือ ยามีไว้รักษาโรคหรืออาการทางร่างกายเท่านั้น ไม่รวมถึงด้านจิตใจและสิ่งแวดล้อม การมีสุขภาพดีอย่างแท้จริง จะต้องดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ดังคำกล่าวที่ว่า "แม้จะมียาดีและวิเศษสักเพียงใด หากผู้ป่วยสิ้นหวัง หมดกำลังใจที่จะอยู่หรือต่อสู้ ก็ไม่อาจช่วยให้รอดได้" ในทางตรงกันข้ามบางคนเป็นโรคร้ายแรง แต่มีกำลังใจที่จะต่อสู้ ได้รับความรัก ความอบอุ่น ก็อาจมีชีวิตรอดได้เช่นกัน
ความหมาย
ตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525
            สมุนไพร น. ผลิตผลธรรมชาติได้จากพืช สัตว์ แร่ธาตุ ที่ใช้เป็นยาหรือผสมกับสารอื่นตามตำรับยา เพื่อบำบัดโรค บำรุงร่างกาย หรือใช้เป็นยาพิษ เช่น กระเทียม น้ำผึ้ง รากดิน(ไส้เดือน) เขากวางอ่อน กำมะถัน ยางน่อง โล่ติ๊น
ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
            "สมุนไพร เป็นยาที่ได้จากพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุ ซึ่งได้ผสมปรุงแปรสภาพ"
พืชสมุนไพร
           การใช้พืชสมุนไพรในปัจจุบัน คือการนำเอาส่วนต่าง ๆ ของพืช มาใช้ โดยมีวิธีการเก็บ การแปรสภาพ และการเก็บรักษา ดังนี้
ช่วงการเก็บ
ราก เหง้า(หัว) ให้เก็บช่วงที่พืชหยุดเจริญเติบโต ใบดอกร่วงหมด หรือช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน
ใบ กิ่ง ควรเก็บช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุดหรือบางชนิดอาจระบุช่วงเวลาการเก็บที่ชัดเจน
ดอก โดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน
ผล สามารถเก็บได้หลากหลาย แล้วแต่ชนิดของพืช เช่นช่วงผลยังไม่สุก หรือช่วงที่ผลแก่เต็มที่แล้ว
เมล็ด สามารถเก็บได้หลากหลาย แล้วแต่ชนิดของพืช เช่นช่วงผลยังไม่สุก หรือช่วงที่ผลแก่เต็มที่แล้ว
เปลือกต้น โดยมากเก็บระหว่างช่วงฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน
เปลือกราก โดยมากเก็บระหว่างช่วงฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน
ลำต้น ควรเก็บช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุดหรือบางชนิดอาจระบุช่วงเวลาการเก็บที่ชัดเจน
การแปรสภาพ
          ทำได้โดยการหั่น ผึ่งแดด ผึ่งในร่ม อบแห้ง
การเก็บรักษา
          ก่อนเก็บจะต้องแน่ใจว่าพืชสมุนไพรเหล่านั้นแห้งสนิท เพื่อป้องกันการขึ้นรา และการเปลี่ยนแปลงลักษณะ โดยแบ่งแยกการเก็บให้เป็นสัดส่วน ในที่ซึ่งหนอน หนู หรือแมลงต่าง ๆ ไม่สามารถมาทำลายได้
ข้อปฏิบัติในการใช้สมุนไพร
ใช้ให้ถูกต้น ใช้ให้ถูกส่วน ใช้ให้ถูกขนาด ใช้ให้ถูกวิธี ใช้ให้ถูกกับโรค
ใช้ให้ถูกต้น เพราะสมุนไพรมีชื่อพ้องและซ้ำกันมาก และบางท้องถิ่นก็เรียกไม่เหมือนกัน ผู้ใช้จึงต้องรู้จักสมุนไพรเป็นอย่างดี ลำต้นอย่างใด มีลักษณะแบบไหน เรียกชื่อว่าอะไร
ใช้ให้ถูกส่วน ทั้งนี้เพราะต้นสมุนไพรไม่ว่าเป็นราก ดอก ใบ เปลือก ผล เมล็ด จะมีฤทธิ์ต่างกัน จะต้องรู้ว่าส่วนใดใช้เป็นยาได้
ใช้ให้ถูกขนาด พบว่าหากใช้สมุนไพรน้อยไปก็รักษาไม่ได้ผล มากไปก็อาจเป็นอันตราย หรือเกิดพิษต่อร่างกายได้
ใช้ให้ถูกวิธี พืชสมุนไพรบางชนิดจะต้องใช้สด บางชนิดต้องใช้ปนกับเหล้า บางชนิดต้องต้ม จึงต้องรู้วิธีใช้ และใช้ให้ถูกวิธี
ใช้ให้ถูกกับโรค เช่นหากท้องผูกต้องใช้พืชที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ไม่ใช้ยาที่มีฤทธิ์ฝานสมาน เพราะจะทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น
ความหมายที่ควรรู้
ใบเพสลาด หมายถึง ใบไม้ที่จวนแก่
ทั้งห้า หมายถึงส่วนของราก ต้น ผล ใบ ดอก
เหล้า หมายถึงเหล้าโรง (28 ดีกรี)
แอลกอฮอล์ หมายถึงแอลกอฮอล์ชนิดสีขาว สำหรับผสมยา ห้ามใช้แอลกอฮอล์ชนิดจุดไฟ
น้ำปูนใส หมายถึงน้ำที่ทำขึ้นโดยการนำปูนที่กินกับหมาก มาละลายน้ำสะอาดตั้งทิ้งไว้ในภาชนะแล้วนำรินน้ำใสที่อยู่ด้านบนมาใช้
ต้มเอาน้ำดื่ม หมายถึงต้มสมุนไพรด้วยการใส่น้ำพอประมาณ หรือสามเท่าของปริมาณที่ต้องการใช้ ต้มพอเดือดอ่อน ๆ ให้เหลือ 1 ส่วนจาก 3 ส่วน ข้างต้น รินเอาน้ำดื่มตามขนาด
ชงเอาน้ำดื่ม หมายถึงใส่น้ำเดือดหรือน้ำร้อนจัด ลงบนสมุนไพรที่อยู่ในภาชนะเปิดฝาทิ้งไว้สักครู่จึงใช้ดื่ม
1 กำมือ มีปริมาณเท่ากับสี่หยิบมือหรือสองฝ่ามือ หรือหมายความถึงปริมาณของสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือเพียงข้างเดียวกำโดยให้ปลายนิ้วจรดอุ้งมือโหย่ง ๆ
1 กอบมือ มีปริมาณเท่าสองฝ่ามือ หรือหมายความถึงปริมาณของสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือสองข้างกอบเข้าหากันให้ส่วนปลายของนิ้วแตะกัน
1 ถ้วยแก้ว มีปริมาตรเท่ากับ 250 มล.
1 ถ้วยชา มีปริมาตรเท่ากับ 75 มล.
1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาตรเท่ากับ 15 มล.
1 ช้อนคาว มีปริมาตรเท่ากับ 8 มล.
1 ช้อนชา มีปริมาตรเท่ากับ 5 มล.