ชื่อท้องถิ่น

ดอกจันทร์ (เชียงใหม่) จันจี่ (ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Syzygium aromaticum (L.) Merr. et Perry (Eugenia caryophyllus Bullock et Harrison)

วงศ์

MYRTACEAE

ชื่อสามัญ

Clove

ลักษณะ

กานพลูเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เป็นพืชที่แตกกิ่งก้านสาขาเป็นระเบียบ ใบเรียวยาว สีเขียวเข้มและเป็นมัน ดอกอ่อน ๆ มีสีเขียว ดอกแก่มีสีแดงเข้ม ช่อดอกออกที่ยอดของลำต้นหรือกิ่งตรงซอกใบ กลีบดอกสีขาวและร่วงง่าย ผลสดเป็นรูปไข่

การขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด โดยใช้เมล็ดที่เด็ดจากต้นมาเพาะทันที ถ้าเก็บไว้เกินหนึ่งสัปดาห์จะทำให้การงอกของเมล็ดลดลง เมล็ดใช้เวลาในการงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นอ่อนประมาณ 6 เดือนหลังจากนั้น นำไปปลูกในที่ที่มีแดดรำไร พออายุได้ 1-1.5 ปี จึงย้ายไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้

ส่วนที่ใช้เป็นยา

ดอกที่โตเต็มที่ แต่ยังไม่บาน

สารเคมีที่สำคัญ

กรดแกลโลแทนนิค วานิลลิน และสารโครโมนส์ ยูจีนอล ยูจีนอลอะซีเตท แครีโอฟีลลีนและเมททิล-เอ็น-เอมิลคีโทน

สรรพคุณทางยา
และวิธีใช้

  แก้ปวดฟัน:  ใช้น้ำมันกานพลูใส่ตรงฟันที่ปวด หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวด
- ใช้ดอกกานพลูตำพอแตก ผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ใช้อุดฟันที่ปวด และใช้แก้โรครำมะนาดได้
- ใช้ดอกแห้ง แช่เหล้าดองไว้ ใช้สำลีชุบอุดฟันที่ปวด

  แก้ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลมในลำไส้ :
- ใช้ดอกกานพลูแห้ง 5-8 ดอก ชงในน้ำเดือดดื่มเฉพาะส่วนน้ำ หรือ ใช้เคี้ยว

ข้อควรระวัง
ควรเก็บดอกในช่วงขณะที่ตูม คือตอนที่ดอกเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง ถ้าเก็บเร็วเกินไปจะได้กานพลูที่มีคุณภาพไม่ดี

กล้วยน้ำว้า สมุนไพร 67 ชนิด ที่ใช้ในสาธารณสุขมูลฐาน ขมิ้นชัน