ชื่อท้องถิ่น

กะเพราขาว กะเพราแดง กะเพราขน กะเพราบ้าน(ภาคกลาง) กอมก้อ หรือก่ำกอ(ภาคเหนือ) ผักอีตู่ไทย (ภาคอีสาน)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Ocimum tenuiflorum L.(O. sanctum Linn. )

วงศ์

LABIATAE

ชื่อสามัญ

Holy Basil, Sacred Basil

ลักษณะ

เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก พุ่มเตี้ยแตกกิ่งก้านสาขามาก สูงประมาณ 3-6 ฟุต เมื่ออายุมากโคนต้นที่แก่เป็นลักษณะไม้เนื้อแข็ง ส่วนยอดเป็นไม้เนื้ออ่อน ลำต้นและใบมีขน(ส่วนที่อ่อนจะมีขนปกคลุมมากกว่าส่วนที่แก่) ใบออกตรงกันข้าม ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีกลิ่นหอมฉุน ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้นไปเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร คล้ายดอกใบโหระพา หรือแมงลัก
บ้านเรามี 2 ชนิด คือกะเพราขาว ลำต้นและใบมีสีเขียว กลีบดอกสีขาว และกะเพราแดง ลำต้นและใบมีสีม่วง กลีบดอกสีชมพูอมม่วง

การขยายพันธุ์

เมล็ดแก่ เมล็ดแก่จะแพร่กระจายพันธุ์ได้ดี นิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ดมากกว่าอย่างอื่น กิ่งหรือลำต้นสามารถตัดชำได้ ปลูกง่ายในดินทุกชนิดและปลูกได้ตลอดทั้งปี ชอบดินร่วนซุย ไม่แฉะ มีความชื้นพอเหมาะ ขึ้นได้ดีในทั่วทุกภาคของไทย

ส่วนที่นำมาเป็นยา

ราก เมล็ด และใบ

สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ

Apigenin,Ocimol, Phenols, Chavibetol, Linalool, Organic Acid มีวิตามินเอและฟอสฟอรัสค่อนข้างมาก นอกจากนั้นยังมีวิตามินซี เกลือแร่ และวิตามินอื่นๆอีก

สรรพคุณทางยา
และวิธีใช้

   แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น แก้ลม ขับลม แก้จุกเสียด แน่นในท้อง :   ใช้ใบสดหรือยอดอ่อน 1 กำมือ (ประมาณ 25 กรัม ) หรือใบแห้ง 4 กรัม ต้มพอเดือดแล้วกรองเอาน้ำดื่ม

  ขับเสมหะ ขับเหงื่อ:   ใช้น้ำที่คั้นจากใบสดดื่ม

  แก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน:   ใช้น้ำที่คั้นจากใบสด ทาบริเวณที่เป็น

  แก้ไข้, โรคธาตุพิการ:  ใช้รากที่แห้งแล้วเป็นยาชง หรือยาต้ม ดื่มวันละ 3 ครั้ง อาการจะทุเลา

  แก้ผงเข้าตา:  นำเมล็ดไปแช่ในน้ำ จนพองตัวเป็นเมือกขาว ใช้พอกที่ตา จะทำให้ผงหรือฝุ่นละอองที่เข้าตาออกมาได้ และจะไม่ทำให้ตาช้ำอีกด้วย

  ฆ่ายุง แมลง และเชื้อจุลลินทรีย์:  ใช้น้ำมันหอมระเหยจากใบฉีดพ่น

ข้อควรรู้

เด็กอ่อนแรกเกิดในชนบท นิยมใช้ใบกะเพราสด 4-5 ใบแทรกเกลือเล็กน้อย บดจนละเอียด ละลายน้ำสุกเจือน้ำผึ้งหยอดในปากเด็กแรกคลอด ครั้งละ 2 - 3 หยด เป็นเวลา 2 - 3 วันเป็นยาถ่ายขี้เทา และช่วยผายลมได้ดีมาก

กระเทียม สมุนไพร 67 ชนิด ที่ใช้ในสาธารณสุขมูลฐาน กระวาน