ชื่อท้องถิ่น

แคบ้าน (ภาคกลาง) แคแดง (เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Sesbania grandiflora Desv., Sesbania grandiflora (L.) Pers.

วงศ์

Leguminosae (FABACEAE) - PAPILIONOIDEAE

ชื่อสามัญ

Vegetable Humming bird, Sesban, Agasta

ลักษณะ

เป็นไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 3-4 ซม. ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดใหญ่ ยาว 8-10 เซนติเมตร มี 2 ชนิดคือ ดอกสีขาว และดอกสีแดง ผลเป็นฝักยาว

การขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

ส่วนที่นำมาเป็นยา

ดอก ยอดอ่อน และฝักอ่อน

สารเคมีและสารอาหารสำคัญ

มีฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ ซี บี1 บี2 โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และใยอาหาร

สรรพคุณทางยา
และวิธีใช้

  แก้ไข้หัวลม แก้ร้อนใน: ใช้ยอดแคอ่อน ดอกแคไม่แกะไส้ แกง หรือลวกเป็นผักจิ้ม
  แก้ท้องเดิน : ใช้เปลือกต้นปิ้งไฟ ต้มกับน้ำ หรือน้ำปูนใส 10 ส่วน รับประทาน 1-2 ช้อนโต๊ะ
  แก้แผลมีหนอง : ใช้เปลือกต้นแคที่แก่ ๆ ตากแห้ง ฝนกับน้ำสะอาดหรือน้ำปูนใส ทาแผล เช้า - เย็น ก่อนทายาควรใช้น้ำต้มเปลือกแคล้างแผลก่อน จะช่วยให้แผลหายไวขึ้น
  ยาล้างแผล : ใช้เปลือกแคต้มกับน้ำเดือดนาน 15 นาที เติมเกลือเล็กน้อย ใช้ล้างแผล วันละ 3 ครั้ง
  แก้บิด แก้ท้องเสีย : ใช้เปลือกแค 2-3 ชิ้น ขนาดเท่าฝ่ามือ ต้มกับน้ำเดือดประมาณ 15 นาที โดยใช้น้ำ 2-3 ขัน ใช้หม้อดินต้ม กินยาขณะยังอุ่นอยู่ กิน 1-2 แก้ว วันละ 3 เวลา
  แก้ฟกช้ำ : ใช้ใบสดตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น
  ปวดฟัน รำมะนาด : ใช้เปลือกแคต้ม ใส่เกลือให้เค็มจัด นำมาอม
  ตานโขมย : ใช้แคทั้งห้าอย่าง ๆ ละ 1 กำมือ ใส่น้ำท่วมยาต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที กินวันละ 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ช้อนโต๊ะ ประมาณครึ่งเดือน