ชื่อท้องถิ่น

ขุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), โคกแล้ะ (ละว้า-กาญจนบุรี), เจาะช้อก ช๊อก (ชอง-จันทบุรี), โตร้ก (ชาวบน-นครราชสีมา), เปา (มลายู-ภาคใต้), แป (ละว้า-เชียงใหม่), มะม่วงบ้าน (ทั่วไป), มะม่วงสวน (ภาคกลาง), สะเคาะ ส่าเคาะส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), สะวาย (เขมร), หมักโม่ง (เงี้ยว-ภาคเหนือ), มั่งก้วย (จีน), Mango Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์

Mangifera indica L.

วงศ์

ANACARDIACEAE

ชื่อสามัญ


ลักษณะ

เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูง 10 - 27 เมตร เปลือกต้นหนาสีเทาขรุขระ มีรูอากาศเล็ก ๆ จำนวนมาก เมื่อแก่เปลือกจะแตกออกเป็นเกล็ด ๆ ใบเรียวแหลม กว้าง 2 - 9 ซม. ยาว 10 - 30 ซม. ขยี้ดมมีกลิ่นหอม ก้านใบสั้นเกือบจะไม่มีก้าน ยาว 4 - 6 มม. ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ ช่อหนึ่งอาจมีดอกย่อยถึง 3,000 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอกย่อย 3 - 4 มม. ไม่มีก้าน ดอกย่อย กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบสีเหลืองอ่อน ผลลักษณะคล้ายไต 2 ข้างแบนเล็กน้อย ยาว 8 - 15 ซม. ผลสุกสีเหลืองรสหวาน ผลหนึ่งมีเมล็ดเดียว เมล็ดลักษณะรูปไข่รีแบนขนาดใหญ่

การขยายพันธุ์

เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ต่อยอด เป็นพืชชอบอากาศร้อนชื้นดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี และน้ำไม่ขัง พบปลูกตามบ้านไว้กินผล และปลูกเป็นสวนไว้เก็บผลขาย หรือปลูกไว้ริมทางให้ร่มเงา

ส่วนที่นำมาเป็นยา

ผลสด เมล็ด ใบ และเปลือกต้น

สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ

ผลมี mangiferonic acid, isomangiferolic acid, ambonic acid, ambolic acid, triterpenes , phenols
เมล็ด มีไขมัน 5.2 % ประกอบด้วย glyceride 14 % , monoolein 24 % , diolein 61 %
ใบ มี ascorbic acid 237 มก.% , มีมากในใบอ่อน
เปลือกต้น มี mangiferin, homomangiferin,

สรรพคุณทางยา
และวิธีใช้

   ใช้บำรุงกระเพาะอาหาร แก้คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน กระหายน้ำ และขับปัสสาวะ : ผลรสเปรี้ยว ชุ่มคอ กินพอสมควร
   แก้ไส้เลื่อน ท้องอืดแน่นและขับพยาธิ : ใช้เมล็ดในมะม่วง ตากแดดจนแห้งแล้วนำมาต้มสัก 2-3 เมล็ด ดื่มเฉพาะน้ำเป็นประจำ
   แก้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องอืดแน่น เด็กเป็นตานขโมย : ใช้ใบสด 15 - 30 กรัม ต้มกับน้ำพอท่วม ดื่มเฉพาะน้ำ ครั้งละ 2 ถ้วย วันละครั้ง
  ใช้แก้ไข้ตัวร้อน :ใช้เปลือกต้นต้มน้ำกิน
  แก้หิด กลาก เกลื้อน : ยางผล ผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมะนาว ทาแผลวันละ 2 - 3 ครั้ง จนกว่าแผลจะหาย แล้วทาต่อไปอีก 7 วัน
  ส้นเท้าแตก : เศษผลดิบ คั้นน้ำ ทาที่ส้นเท้าก่อนนอน แล้วสวมถุงเท้าทับทำเป็นประจำทุกวัน
  แก้ตกขาว : เปลือกผลสด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 1 ถ้วย ต้มกับน้ำ 3 แก้ว ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว ทิ้งไว้ให้อุ่นนำมาล้างช่องคลอดวันละ 1 ครั้ง จนกว่าอาการตกขาวจะหายไป
  แก้บิด ท้องเสีย : เมล็ดดิบอ่อน หั่นบาง ๆ ตากแดดให้แห้งกรอบ แล้วนำมาตำให้ละเอียด ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนตากแดด กินครั้งละ 5 - 7 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง จนอาการดีขึ้น
        ใช้เมล็ดในมะม่วง 2 เมล็ด ต้มกับน้ำ 2 แก้ว ให้เดือดนาน 10 นาที กินครั้งละ 1 แก้ว ทุกครั้งที่ถ่าย
  ชะล้างบาดแผล พอกบาดแผลสด : ใช้เปลือกมะม่วงสด 150 กรัม หรือใบมะม่วงสด ต้มกับน้ำพอท่วม ใช้น้ำที่ได้ล้างบริเวณที่เป็น วันละ 3 ครั้ง หรือ นำใบมะม่วงสด มาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด พอกแผล จะช่วยสมานแผลให้หายเร็วยิ่งขึ้น
  แผลมีหนอง : ใช้เมล็ดในมะม่วงสด ๆ มาฝนกับน้ำปูนใส ใช้ทาบาดแผล เช้าเย็น ทุกวัน แผลจะแห้งและหายภายใน 7 วัน
        ใช้เปลือกต้นมะม่วงที่ยังสดฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ทาที่แผลวันละ 3 ครั้ง แผลจะหายภายใน 7 วัน
  แก้หูด : รับประทานมะม่วงสดวันละ 1-2 ผล และใช้เปลือกทาบริเวณที่เป็น
  บำรุงฟัน แก้ฟันเสียว : ใช้ยอดมะม่วงอ่อนมาเคี้ยวบ่อย ๆ จะทำให้หายได้

ข้อควรรู้และควรระวัง

คนที่กินอาหารมากเกินหรือหลังจากฟื้นไข้ห้ามกินผลมะม่วงสุกและห้ามกินร่วมกับกระเทียมหรือของเผ็ดทั้งหลาย กล่าวว่ากินมะม่วงมากเกินไปอาจทำให้ไตอักเสบได้
ยางมะม่วงมีฤทธิ์กัดเนื้อเยื่ออ่อนบาง เช่น ปากและตาทำให้ระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน และอาจทำให้ตาบอดได้ ใบมะม่วงแก่มีพิษ มะม่วงสุกมีน้ำตาลสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง