หน้าแรก > รายละเอียดข่าว >

 

แจ้งเตือนประชาชนระวังโรคอันตรายที่มากับหน้าฝน

เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน  โดยมีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมักมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นช่วงๆ   ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศเช่นนี้  เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลายชนิด ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว   เทศบาลเมืองทุ่งสง  มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของพี่น้องประชาชนในช่วงฤดูฝนนี้เป็นอย่างยิ่ง  จึงขอแจ้งให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโรคที่เกิดในฤดูฝน  และวิธีการป้องกัน ดังนี้

1.โรคที่เกิดจากแมลงพาหะ  ได้แก่

1.1 โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดประมาณ 5-8  จะมีอาการไข้สูงลอย (38.5-40.0 องศาเซลเซียส) ติดต่อกันประมาณ 2-7 วัน หน้าแดง  ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา บางรายมี ปวดท้อง อาเจียน เบื้ออาหาร มีจุดแดงเล็กๆ ตามตัว แขน ขา รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาไหลและเลือดออกไรฟัน  อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด  แต่มักไม่ไอและมักไม่มีน้ำมูก  ผู้ที่อาการไม่รุนแรงหลังจากไข้ลดลง  อาการต่างๆจะดีขึ้น แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง  ขณะที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว  จะเกิดภาวะช็อก  ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลง  กระสับกระส่าย  กระหายน้ำเหงื่อออก ตัวเย็น  ปากเขียว  ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตลดลง  บางรายมีอาการปวดท้องกะทันหัน  อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้  ถ่ายเป็นเลือด  ปัสสาวะน้อยลง  ไม่ค่อยรู้สึกตัว  ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง  ทันเวลา  ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน  12-24  ชั่วโมง  โรคนี้เป็นได้ทั้งเด็ก  ผู้ใหญ่ และเนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีน  วิธีการป้องกัน  คือ  ป้องกันยุงกัด  ขจัดลูกน้ำ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

1.2 โรคมาลาเรีย  ไข้มาลาเรียเกิดจากเชื้อโปรโตซัว  โดยมียุงก้นปล่องซึ่งมีแหล่งอาศัยในป่าเป็นพาหนะนำโรคเมื่อถูกยุงนำเชื้อกัด  ประมาณ  15-30  วัน จะมีอาการป่วยมีอาการไข้สูงอาจมีอาการหนาวสั่น  ร่วมด้วยได้  ต้องไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจและรับการรักษาโดยเร็ว  โรคมาลาเรียรักษาให้หายได้ง่ายเพียงรับประทานยาไม่กี่วันเท่านั้น แต่หากรับการรักษาช้า  อาจมีปัญหาทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงมีภาวะแทรกซ้อน  เช่น  ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง  ภาวะปอดบวมน้ำ  ภาวะไตวายฯ    ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ  ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จะใช้ในการป้องกันโรคนี้  การป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด  เช่น  การทายากันยุง  การนอนในมุ้งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้  ในประเทศไทยไม่แนะนำให้รับประทานยาป้องกัน  เนื่องจากไม่มียาที่มีประสิทธิภาพสูงและก่อให้เกิดปัญหาการดื้อของเชื้อมาลาเรียต่อยาได้ง่าย

 1.3 โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำในทุ่งนา ยุงชนิดนี้ได้รับเชื้อไข้สมองอักเสบเจอีขณะกินเลือดสัตว์โดยเฉพาะหมูเป็นแหล่งโรคที่สำคัญ จากนั้นเมื่อยุงมากัดคน ก็จะปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้คนติดโรคได้ ส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการ ในรายที่มีอาการจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย หากอาการรุนแรงผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิต บางรายเมื่อหายป่วยอาจมีความพิการทางสมองสติปัญญาเสื่อมหรือเป็นอัมพาตได้ โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดและการฉีดวัคซีนป้องกัน  ดังนั้นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับวัคซีน  เช่น  เด็กเล็ก  ผู้ปกครอง  ต้องพาไปรับวัคซีน  ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

2. โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ 

โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษที่พบมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน  จากรายงานการเฝ้าระวังโรค  กรมควบคุมโรค  พบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษทุกปี ส่วนใหญ่  ในช่วงต้นฤดูฝน  ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  จนถึงเดือนพฤศจิกายน  ซึ่งพบว่ารับประทานเห็ดที่ขึ้นเองในป่า สวน ไร่  หรือ เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อพิจารณาสถิติโรครายภาค  พบว่าส่วนมากที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จากวิถีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามชนบท นอกจากจะทำนา แล้วยังมีการหารายได้หลังว่างเว้นการทำไร่ทำนา  คือการเก็บเห็ดป่าขาย  ดังนั้นผู้ที่เก็บเห็ดมาขาย หรือนำมาปรุงเป็นอาหารจะต้องมีความรู้และมีความชำนาญและที่สำคัญจะต้องเป็นคนในพื้นที่ซึ่งเคยเก็บเห็ดชนิดนั้นๆมารับประทานแล้ว  มีความปลอดภัย  ดังนั้นพึงระวังอย่ารับประทานเห็ดที่สงสัยไม่รู้จักและไม่แน่ใจ ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจเท่านั้น  และหากเก็บเห็ดมาแล้วให้นำมาปรุงอาหารเลยไม่ควรเก็บไว้นานเพราะเห็ดจะเน่าเสียเร็วหรืออาจแช่ตู้เย็นไว้ได้ และห้ามกินเห็ดดิบๆโดยเด็ดขาด  หากเป็นเห็ดที่ไม่เคยกิน  ควรกินแต่เพียงเล็กน้อยในครั้งแรก  เนื่องจากเห็ดที่ไม่เป็นพิษสำหรับคนอื่น อาจเป็นพิษและทำให้มีอาการแพ้ต่อเราได้ 

อาการที่สำคัญได้แก่  อาเจียน , ปวดท้อง , อุจจาระร่วง  พิษบางชนิดที่รุนแรง  อาจทำให้เกิดตับวาย  ตัวเหลือง  ไตวายและเสียชีวิต

3.โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย

3.1 โรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดต่อทางเดินหายใจ   เมื่อเข้าสู่หน้าฝนอากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว  มักจะเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ  โรคที่พบบ่อย  ได้แก่  โรคหวัด  ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)        คออักเสบ  หลอดลมอักเสบ  ปอดอักเสบหรือปอดบวม  สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย  ที่มีมากมายหลายชนิดในอากาศ  สามารถติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม  ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก (หรือสวมหน้ากากอนามัย) หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน  และควรล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ  กลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษได้แก่  ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ  และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า  5  ปี  เนื่องจากหากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ  โดยเฉพาะโรคปอดบวมจะเป็นอันตรายมากถึงเสียชีวิตได้  ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กต้องสังเกตุอาการ  หากมีไข้ไอ  หายใจเร็ว หรือ หอบเหนื่อย  ให้รีบพาไปพบแพทย์  เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

3.2 โรคมือ เท้า ปาก  เกิดจากเชื้อไวรัสที่เจริญเติบโตได้ในลำไส้  ซึ่งมีหลายชนิดพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า  10 ปี โรคเกิดประปรายตลอดปี  แต่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงอากาศเย็นและชื้น  การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรงจากการติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย  น้ำมูก  น้ำจากตุ่มพองและแผล  หรืออุจจาระของผู้ป่วย  โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย 3-5 วัน หลังได้รับเชื้อ  เริ่มด้วยมีไข้  อ่อนเพลีย  ต่อมามีอาการเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร  เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม  แล้วจะเกิดตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็กๆ (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ  นิ้วมือ  ฝ่าเท้า  และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส ซึ่งต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆอาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน  โรคนี้ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยของเด็กและผู้เลี้ยงดูเด็กให้สะอาด  ตัดเล็บให้สั้น  หมั่นล้างมือบ่อยๆ (ด้วยน้ำและสบู่) โดยเฉพาะหลังขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร  รวมทั้งใช้ช้อนกลาง  หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ  หลอดดูด  ผ้าเช็ดหน้าเป็นต้น  หากพบเด็กป่วยต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ  ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์  ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด  ให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเทที่ดี เด็กป่วยควรหยุดโรงเรียน  พักที่บ้านจนกว่าจะหายดี

4.โรคที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมและสัตว์พาหะ

 โรคเลปโตสไปโรซีส  เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  ที่อยู่ในฉี่หนูหรือสัตว์  เช่น  สุนัข  สุกร  โค  กระบือ  รวมทั้งสัตว์ป่าและสัตว์ฟันแทะที่เป็นสัตว์รังโรค โดยเชื้อจะปะปนอยู่ในน้ำและสิ่งแวดล้อม  เช่น  ดิน  โคลน  แอ่งน้ำ  ร่องน้ำ  น้ำตก  ที่ชื้นแฉะมีน้ำท่วมขัง  เมื่อคนเดินย่ำน้ำหรือเล่นน้ำนานๆ เชื้อก่อโรคจะไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่เปื่อยยุ่ย  ทางบาดแผล  รอยถลอก  รอยขีดข่วน  เยื่อบุจมูก  เยื่อบุตา  หรือเข้าทางเยื่อบุในช่องปาก  บางครั้งอาจติดเชื้อโดยการกินอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อที่หนูมาเยี่ยวรดไว้  ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-29  วัน  ส่วนมากประมาณ ๒ อาทิตย์ อาการที่พบบ่อย  ได้แก่  มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ  ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง  โดยเฉพาะที่น่อง และโคนขา  อาจมีอาการตาแดง  คอแข็ง  มักมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด  อาจมีผื่นที่เพดานปาก หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ  ระยะท้ายอาจมีตับและไตวาย  ปอดอักเสบ  กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  เป็นต้น  ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดศีรษะฉับพลัน มีไข้สูงปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงหลังจากมีประวัติและพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว  2-29  วัน  ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน  เพื่อขอรับการรักษาอย่างถูกต้อง  เพราะถ้าทิ้งไว้นานอาจเสียชีวิตได้

ดังนั้น  เทศบาลเมืองทุ่งสง  จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนชาวทุ่งสงได้รับทราบ เพื่อเตรียมป้องกัน และระมัดระวัง  โรคอันตรายที่มาพร้อมกับหน้าฝน  รวมทั้งขอให้พี่น้องประชาชนดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หากมีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา  ด้วยความปรารถนาจากเทศบาลเมืองทุ่งสง

แหล่งที่มา : ประชาสัมพันธ์ เทศบาลเมืองทุ่งสง/24  กันยายน  2557

ลงประกาศเมื่อ :  30  กันยายน  2557