หน้าแรก > รายละเอียดข่าว >

 

 

 

เทศบาลเมืองทุ่งสง  ร่วมรณรงค์ป้องกัน  และเฝ้าระวังการระบาดของโรคคอตีบ

 

   
   

โรคคอตีบ หรือ ดิพทีเรีย เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย

โรคติดต่อชนิดนี้ เชื้อจะพบได้ในคนเท่านั้นโดยจะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ
โดยไม่มีอาการติดต่อกันได้ง่ายโดยได้รับเชื้อจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจบางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน  เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือ การดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ  ในชุมชน ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยโรคคอตีบในชุมชนแออัด  เป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบ และพบในเด็กโตได้มากขึ้น           

ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง ๒ – ๕ วัน อาจจะนานกว่านี้ได้ เชื้อจะอยู่ในลำคอของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาได้ประมาณ ๒ สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจนานถึงหลายเดือนได้ ผู้ที่ได้รับการรักษาเต็มที่เชื้อจะหมดไป ภายใน ๑ สัปดาห์

อาการของโรค หลังระยะฟักตัวจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ส่วนเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ

การรักษา  โรคนี้รักษาให้หายได้  ด้วยการไปพบแพทย์  เพื่อสั่งยาปฏิชีวนะให้รับประทานนาน  ๑๔  วัน  ซึ่งสามารถหยุดการแพร่เชื้อโรคได้ภายใน  ๔๘  ชั่วโมง  หลังเริ่มให้ยา  บางรายอาจได้รับยาทำลายพิษของเชื้อโรคคอตีบร่วมด้วย  ในผู้ป่วยที่มีอาการอุดกั้นทางเดินหายใจต้องเจาะคอ  เพื่อช่วยหายใจ  หลังจากเป็นปกติ  ผู้ป่วยต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตามเกณฑ์  ๒  ครั้ง  เพราะการป่วยด้วยโรคคอตีบไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคคอตีบในอนาคตได้

การป้องกัน          

๑) นำบุตรหลานไปรับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด  แม้ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคคอตีบแล้ว ก็ต้องได้รับวัคซีน  เพื่อป้องกันโรคคอตีบในอนาคต  เพราะการป่วยเป็นโรคคอตีบ  ไม่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อการเกิดโรคซ้ำได้

๒) โรคนี้รักษาให้หายได้  ถ้ามีอาการไข้  ไอก้อง  เจ็บคอ  รีบมาพบแพทย์ เพื่อสั่งยาปฏิชีวนะให้รับประทาน  ห้ามซื้อยามารับประทานเอง

๓) มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี  และถูกสุขลักษณะ  เช่น  ไอหรือจามให้ปิดปาก  ปิดจมูก  หากเป็นหวัด   หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัย  ล้างมือให้สะอาด  เป็นต้น

๔) หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคคอตีบ  โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ  และที่มีผู้คนอยู่อย่างแออัด

๕) ถ้ามีผู้ป่วยในบ้านควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก  น้ำมูก  น้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยต้องทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ  หรือราดน้ำยาฆ่าเชื้อ

๖)      ในเด็กทั่วไป การป้องกันนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกันคอตีบ ๕ ครั้ง เมื่ออายุ ๒, ๔, ๖ และ ๑๘ เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ ๔  ปี 

งานประชาสัมพันธ์  เทศบาลเมืองทุ่งสง  จึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนทุกท่าน  ในการเฝ้าระวัง  และดูและบุตรหลาน จากการระบาดของโรคคอตีบ  และหากมีการติดเชื้อโรคคอตีบโปรดรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป อีกทั้งขอให้ทุกท่านดูแลรักษาสุขภาพ  ระมัดระวังอันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บ         เพื่อสุขภาวะที่ดีของครอบครัวท่าน ด้วยความปรารถนาดีจากเทศบาลเมืองทุ่งสง

 

แหล่งที่มา : งานประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองทุ่งสง

ลงประกาศเมื่อ : ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕