หน้าแรก > รายละเอียดข่าว >

 

 

 

เทศบาลเมืองทุ่งสง  พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน  พ.ศ. ๒๕๕๘

"หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม" (One Vision, One Identity, One Community)
 

   
   

สภาวะแห่งยุคทุนนิยม ที่เศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเทศต่าง ๆ นั้นอยู่รวมกันเป็นสังคมโลก จึงต้องมีการรวมตัวกันของประเทศในแต่ละภูมิภาคเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ร่วมและพัฒนาประเทศในภูมิภาคไปพร้อม ๆ กัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน ได้มีข้อตกลงให้อาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันโดยให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ. 2015)

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งประชาคมอาเซียน   เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกมีแนวโน้มกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น ทำให้อาเซียนได้หันมามุ่งเน้นกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันมากขึ้น  โดยวัตถุประสงค์หลักที่กำหนดไว้ในปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) มี ๗ ประการ ดังนี้

๑.  ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรม

๒.  ส่งเสริมการมีเสถียรภาพ สันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค

๓.  ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และด้านการบริหาร

๔.  ส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกันในการฝึกอบรมและการวิจัย

๕.  ส่งเสริมความร่วมมือในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การค้า การคมนาคม การสื่อสาร และปรับปรุง  มาตรฐานการดำรงชีวิต

๖.  ส่งเสริมการมีหลักสูตรการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๗.  ส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ

โดยอาเซียนหรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (ASEAN : The Association of South East Asian Nations)  ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๐ มีประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๒๗  บรูไน ดารุสซาลาม ได้เข้ามาเป็นสมาชิก ตามด้วยเวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘  ขณะที่พม่าและลาวเข้ามาเป็นสมาชิกใน พ.ศ.๒๕๔๐ และประเทศสุดท้ายคือกัมพูชา เข้าเป็นสมาชิก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒  ปัจจุบันอาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ คือ 

๑.บรูไนดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)   ประเทศบรูไน มีชื่อเป็นทางการว่า "เนการาบรูไนดารุสซาลาม" มีเมือง "บันดาร์เสรีเบกาวัน" เป็นเมืองหลวง ถือเป็นประเทศที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีประชากร 400,000 คน (ข้อมูลปี พ.ศ.2550) ซึ่งประชากรเกือบ 70% นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการ

๒.ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)    เมืองหลวงคือ กรุงพนมเปญ  เขตติดต่อกับประเทศไทยทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก มีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย มีประชากร 14 ล้านคน  95% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ แต่ก็มีหลายคนที่พูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเวียดนามได้

๓.สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)   เมืองหลวงคือ จาการ์ตา ถือเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  มีประชากรประมาณ  242 ล้านคน   โดย 61% อาศัยอยู่บนเกาะชวา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษา Bahasa Indonesia (บาฮาซา  อินโดเนซียา) เป็นภาษาราชการ

๔. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) (The Lao People's Democratic Republic of Lao PDR) เมืองหลวงคือ เวียงจันทน์ ติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก ประเทศลาวมีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่กว่า 90% เป็นภูเขาและที่ราบสูง และไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเล ปัจจุบัน ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม โดยมีประชากรประมาณ  6.8 ล้านคน ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาหลัก แต่ก็มีคนที่พูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสได้ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

๕.ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)  เมืองหลวงคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร แบ่งเป็นมาเลเซียตะวันตกบคาบสมุทรมลายู และมาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว ทั้งประเทศมีพื้นที่  3แสนกว่าตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 27 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ   ใช้ภาษา Bahasa Melayu (บาฮาซา  มาลายู) เป็นภาษาราชการ

๖. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)    เมืองหลวงคือ กรุงมะนิลา ประกอบด้วยเกาะขนาดต่าง ๆ รวม 7 พันเกาะ โดยมีพื้นที่ประมาณ 2 แสนกว่าตารางกิโลเมตร มีประชากร 94 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาตากาลอก เป็นภาษาราชการ

๗.สาธารณรัฐสิงคโปร์ (The Republic of Singapore)   เมืองหลวงคือ กรุงสิงคโปร์ ตั้งอยู่บนตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางเรือของอาเซียน จึงเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในย่านนี้ มีพื้นที่ราว 699 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ  5  ล้านคน ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ แต่มีภาษามาเลย์เป็นภาษาประจำชาติ ปัจจุบันใช้การปกครองแบบสาธารณรัฐ (ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว)

๘.ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)    เมืองหลวงคือกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 5 แสนกว่าตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 6 ล้านคน  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขของประเทศ

๙.สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam)   เมืองหลวงคือ กรุงฮานอย มีพื้นที่ประมาณ 3 แสนตารางกิโลเมตร  มีประชากรประมาณ 90 ล้านคน ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ ปัจจุบัน ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

๑๐. สหภาพพม่า (Union of Myanmar)  มีเมืองหลวงคือ เนปิดอว ติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันออก  มีพื้นที่ประมาณ 6 แสนกว่าตารางกิโลเมตร ประชากร 58 ล้านคน กว่า 90% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท หรือหินยาน และใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน  ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อม โดยจะมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาซึ่งจัดอยู่ในประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ที่มีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาคมด้านอื่น ๆ ให้มีความเข้มแข็ง เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน และจะมีการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาเซียนศึกษา เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนด้วยการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน ความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ หลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในประชาคมอาเซียน

เทศบาลเมืองทุ่งสง  จึงขอประชาสัมพันธ์ความเป็นมาของอาเซียนเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ  และพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาตค

 

แหล่งที่มา : งานประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองทุ่งสง

ลงประกาศเมื่อ : ตุลาคม ๒๕๕