หน้าแรก > รายละเอียดข่าว >

 

 


เทศบาลเมืองทุ่งสง  รณรงค์ให้ความรู้รับมือโรคมือ  เท้า  ปาก
 

   
   

 

โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth Disease)

        โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารก   และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น  โรงเรียนอนุบาล  สถานรับเลี้ยงเด็ก  ศูนย์เด็กเล็ก  สถานที่เล่นของเด็ก
ในห้างสรรพสินค้า  เป็นโรคที่เกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง

การติดต่อ

        โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อกันได้ง่ายพอสมควร โดยการติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง  โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย  น้ำมูก  น้ำจากตุ่มพองและแผล  หรืออุจจาระของผู้ป่วย  และเกิดจากการไอจามรดกัน  โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากอะอองฝอยของผู้ป่วย  ดังนี้

        ๑.  การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากจมูก , ลําคอ และนํ้าจากในตุ่มใส (respiratory route)

         ๒.  อุจจาระของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสอยู่ (fecal - oral route ) ช่วงที่แพร่กระจายมากที่สุด คือ

ในสัปดาห์แรกที่ผู้ป่วยมีอาการ และจะยังแพร่เชื้อได้จนกว่ารอยโรคจะหายไป แต่ก็ยังพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ เชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ 2-3 วัน โรคนี้ไม่สามารถติดติอจากคนสู่สัตว์ หรือจากสัตว์สู่คนได้

อาการ

หลังจากได้รับเชื้อ ๓ ๖  วัน  ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย  เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย  ต่อมาอีก ๑-๒ วัน      มีอาการเจ็บปาก  กลืนน้ำลายไม่ได้  และไม่ยอมทานอาหาร  เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น  เหงือก  และกระพุ้งแก้ม  จะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก (มักไม่คัน)  ที่ฝ่ามือ  นิ้วมือ  ฝ่าเท้า  และอาจพบที่ก้นด้วย  ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส  บริเวณรอบๆจะอักเสบและแดง  ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ  อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติ  ภายใน ๗-๑๐  วัน

การรักษา 

 โรคมือ เท้า และปาก หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน เป็นโรคที่สามารถหายได้เอง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน การรักษาจึงเป็นเพียงการประคับประคองและบรรเทาอาการ โดยเฉพาะการลดไข้ และลดอาการเจ็บปวด   จากแผลในปาก โดยอาจใช้ยาชาป้ายบริเวณที่เป็นแผลก่อนรับประทานอาหาร ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน   ให้รักษาตามอาการเป็นส่วนใหญ่ หลังจากการติดเชื้อผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรค แต่อาจเกิดโรคมือ เท้า ปาก ซ้ำได้  ตามปกติโรคมักไม่รุนแรง  และไม่มีอาการแทรกซ้อน  แต่เชื้อไวรัสบางชนิด  เช่น        เอนเทอโรไวรัส 71  อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้  จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด  หากพบมีไข้สูง  ซึม  ไม่ยอมทานอาหารหรือดื่มน้ำ  อาเจียนบ่อย  หอบ  แขนขาอ่อนแรง ชัก  ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที  เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ  กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  หรือน้ำท่วมปอด  ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

การป้องกัน

        โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน  แต่สามารถป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย  เน้นการล้างมือทั้งก่อน    และหลังรับประทานอาหาร และหลังขับถ่ายทุกครั้ง  ที่สำคัญที่สุดคือการแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคออกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก โดยเน้น contact isolation เป็นหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑.      แยกเด็กป่วยไม่ให้ร่วมกิจกรรมกับเด็กอื่น เช่น ว่ายนํ้าไปโรงเรียน ใช้สนามเด็กเล่น เป็นเวลา ๑ สัปดาห์

๒.      ผู้ดูแลเด็กหมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือ สัมผัสกับน้ำมูก และนํ้าลายของเด็ก

๓.   ทําความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื่อนเชื้อ ด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน

การควบคุมโรค

หากพบเด็กป่วย  ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ  ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์  และหยุดพักรักษาตัวที่บ้าน ประมาณ  ๕ ๗ วัน  หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ  ระหว่างนี้ควรสังเกตุอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น  ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด  เช่น  สนามเด็กเล่น  สระว่ายน้ำ  ตลาด  ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี  ใช้ผ้าปิดจมูก  หรือ ปาก  เวลาไอ จาม

ดังนั้น  เทศบาลเมืองทุ่งสง  จึงแจ้งประชาสัมพันธ์การเฝ้าระวังการเกิดโรคมือ  เท้า  ปาก    ในเด็กเล็ก ที่มีอายุต่ำกว่า  ๕  ปี  ผู้ปกครองควรหมั่นดูแล  และสังเกตุบุตรหลานอย่างใกล้ชิด  หากสงสัยว่า
จะมีการติดเชื้อ  ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว  ด้วยความปราถนาดีจากเทศบาลเมืองทุ่งสง

แหล่งที่มา : งานประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองทุ่งสง

ลงประกาศเมื่อ : ๑ กรกฎาคม ๒๕๕