หน้าแรก > รายละเอียดข่าว >

 

 

เทศบาลเมืองทุ่งสง ร่วมป้องกันและเฝ้าระวังโรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส(Leptospirosis)    
   

อำเภอทุ่งสงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา  ประสบกับปัญหาฝนตกหนักในหลายพื้นที่  รวมทั้งมีน้ำท่วมขังในหลายชุมชนในเขตเทศบาล ซึ่งเมื่อเกิดน้ำท่วมขัง โรคร้ายต่างๆ บางโรคที่ปกติไม่พบมากนัก ก็อาจพบอย่างแพร่หลายมากขึ้น หนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือที่ชาวบ้านคุ้นเคยกันดีกว่าในชื่อ “โรคฉี่หนู” นั่นเอง

 โรคฉี่หนู เป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์ มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โรคนี้พบได้ทั่วโลก โดยพบอย่างประปรายตลอดปี แต่พบระบาดรุนแรงในฤดูฝน ในประเทศไทย พบระบาดมากในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่น้ำฝนชะล้างเอาเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อม เข้ามารวมกันอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง ทำให้เชื้อโรคสามารถติดไปกับคนและสัตว์ต่างๆ ที่สัมผัสกับน้ำขังเหล่านั้นในที่สุด

แม้ว่าหนูจะเป็นพาหะสำคัญของโรคนี้จนมีผู้นำไปตั้งเป็นชื่อของโรค แต่อันที่จริงแล้ว สัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิดก็เป็นพาหะของโรคนี้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัว ควาย หรือสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่าง แมว และสุนัข เป็นต้น

การติดเชื้อ มักเกิดขึ้นผ่านทางบาดแผลที่เกิดจาการแช่น้ำเป็นเวลานานๆ ผู้ปกครองจึงไม่ควรปล่อยให้เด็กๆ ลงเล่นน้ำ เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้ ซึ่งอาจมีผลร้ายแรงทำให้เสียชีวิตได้

ขณะนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อโรคนี้แล้วทั่วประเทศมากกว่า 1,000 ราย

สาเหตุหนี่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคฉี่หนูไม่น้อย อาจเนื่องมาจากอาการของโรค ซึ่งในเบื้องต้นจะคล้ายกับโรคไข้หวัดธรรมดา หรือโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคอื่นๆ เช่น โรคไข้เลือดออก คือ ปวดศีรษะ โดยมักจะปวดบริเวณหน้าผาก หรือบริเวณหลังตา นอกจากนั้น ยังมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บริเวณขาและเอว มีไข้สูงร่วมกับมีอาการหนาวสั่น และอาจมีตาแดง สู้แสงไม่ได้

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค

  • เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ชาวสวน

  • คนงานฟาณืมเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา

  • กรรมกรขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์

  • กลุ่มอื่นๆ เช่น แพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง ทหารตำรวจที่ปฏิบัติงานตามป่าเขา

  • กลุ่มประชาชนทั่วไป มักเป็นเกิดในที่มีน้ำท่วม ผู้ที่บ้านมีหนูมาก ผู้ที่ปรุงอาหารหรือรับประทานอาหารที่ไม่สุก หรือปล่อยอาหารทิ้งไว้โดยไม่ปิดฝา

การติดต่อของโรค

สัตว์ที่นำเชื้อได้แก่ พวกสัตว์แทะ เช่น หนู โดยเฉพาะ หนูนา หนูพุก รองลงมาได้แก่ สุนัข วัว ควาย สัตว์พวกนี้เก็บเชื้อไวในไตเมื่อหนูปัสสาวะเชื้อจะอยู่ในน้ำหรือดิน เมื่อคนสัมผัสเชื้อซึ่งอาจจะเข้าทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือแผล ผิวหนังปกติที่เปียกชื้นเชื้อก็สามารถไชผ่านไปได้เช่นกัน เชื้ออาจจะเข้าร่างกายโดยการดื่มหรือกินอาหารที่มีเชื้อ

ระยะฟักตัวของโรค

  • โดยเฉลี่ยประมาณ 10 วันหรืออยู่ระหว่าง4-19 วัน

ระยะติดต่อ

  • การติดต่อจากคนสู่คนเกิดได้น้อยมาก

อาการที่สำคัญ  อาการทางคลินิกของโรคแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ไม่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรือกลุ่มที่อาการไม่รุนแรง กลุ่มนี้อาการไม่รุนแรง หลังจากได้รับเชื้อ 10-26 วันโดยเฉลี่ย 10 วันผู้ป่วยก็จะเกิดอาการของโรคได้แก่ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการอาจจะมีตั้งแต่ 1-หลายวัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ระยะ

1. ระยะเชื้อเข้ากระแสเลือด Leptospiremic เมื่อเชื้อเข้าร่างกายจะเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้คือ

  • ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะทันที มักจะปวด บริเวณหน้าผาก หรือหลังตา บางรายปวดบริเวณขมับทั้งสองข้าง

  • ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงมากโดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา กล้ามเนื้อหลังและมีอาการกดเจ็บกล้ามเนื้อ

  • ไข้สูง 28-40 องศา เยื่อบุตาแดง

อาการต่างๆอาจอยู่ได้ 4-7 วัน นอกจากอาการดังกล่าวผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง

การตรวจร่างกายในระยะนี้ที่สำคัญจะตรวจพบ ผู้ป่วยตาแดง มีน้ำตาหรือขี้ตาไหล คอแดง มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง บางรายมีผื่นตามตัว

2. ระยะร่างกายสร้างภูมิ ระยะนี้ถ้าเจาะเลือดจะพบภูมิต่อเชื้อเพิ่ม ผู้ป่วยจะมีไข้ขึ้นใหม่ ปวดศีรษะ คอแข็งมีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง และมีเชื้อออกมาในปัสสาวะ

3. กลุ่มที่มีอาการเหลือง กลุ่มนี้ไข้จะไม่หายแต่จะเป็นมากขึ้นโดยพบมีอาการเหลือง และไตวาย มีผื่นที่เพดานปาก มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ตับและไตวาย ดีซ่าน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ อาจจะมีอาการไอเป็นเลือด อาการเหลืองจะเกิดวันที่ 4 ของโรค ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตในระยะนี้หรือในต้นสัปดาห์ที่สามจากไตวาย

อาการแสดงที่สำคัญ ได้แก่

1. ภาวะเยื่อบุตาบวมแดงเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้างภายใน 3 วันแรกของโรค และอยู่ได้นานตั้งแต่ 1-7 วัน อาจจะพบร่วมกับเลือดออกที่ตาขาวข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้

2. กดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง

3. มีเลือดออกแบบต่างๆ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง เช่นจุดเลือดออกตามผิวหนัง petichae ผื่นเลือดออก purpuric spot เลือดออกใต้เยื่อบุตา conjunctival haemorrhage หรือเสมหะเป็นเลือด

4. ผื่น อาจจะพบได้หลายแบบ ผื่นแดงราบ ผื่นแดง ผื่นลมพิษ

5. อาการเหลือง อาการเหลืองมักเกิดวันที่4-6 ของโรค

การรักษาตามอาการและภาวะแทรกซ้อน

  • การให้ยาลดไข้

  • การให้ยาแก้ปวด

  • การให้ยากันชัก

  • การให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน

  • การให้สารน้ำและเกลือแร่

ดังนั้น  เทศบาลเมืองทุ่งสง  จึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยูในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง  ระมัดระวังอันตรายจากโรคฉี่หนู    รวมทั้ง  พ่อค้า  แม่ค้า  ที่ประกอบอาชีพค้าขายน้ำอัดลม  หรือค้าขายภาชนะที่บรรจุน้ำต่างๆ  ควรรักษาความสะอาดปลอดภัย  และถูกสุขลักษณะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ  เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า และเพื่อเมืองทุ่งสงปลอดภัยจากการระบาดของโรคฉี่หนู

 

แหล่งที่มา : งานประชาสัมพันธ์ เทศบาลเมืองทุ่งสง

ลงประกาศเมื่อ : 25/11/2552  16:30:23 น.